ที่มา ประชาไท
8 ธ.ค. 53 - โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน โครงการวิจัยผลกระทบจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และนโยบายของรัฐกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ร่วมกับมูลนิธิไฮริช เบิลล์ จัดเสวนาหัวข้อ “ถอดรหัสฟ้า ตามหาเสรีภาพในโลกออนไลน์” ที่ห้องจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย อ.ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ, จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน, ดร.เดวิด สเตร็คฟัส นักวิชาการอิสระ และ พ.ต.ท.ดร.ศิริพล โกศลศิลป์วุฒิ รองผู้กำกับการ ส่วนตรวจสอบคดีอุทธรณ์และฎีกา สำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการอภิปรายโดย อ.สาวตรี สุขศรี กลุ่มนิติราษฎร์
ธีระ สุธีวรางกูร: หัวข้อการเสวนานี้เป็นหัวข้อที่ไม่น่าพูดโดยเฉพาะในประเทศที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกจับตามอง
เสรีภาพของโลกออนไลน์ คือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 45 และตามหลักกฎหมายแล้ว กรอบในการจำกัดเสรีภาพต้องเป็นไปอย่างได้สัดส่วน สมควรแก่เหตุ เสรีภาพในโลกออนไลน์ก็เป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และกฎหมายที่เป็นข้อจำกัดเสรีภาพที่สำคัญคือ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ซึ่งไม่ได้บัญญัติออกมาในช่วงที่ประเทศอยู่ในสถานการณ์ปกติ แต่เป็น พ.ร.บ. ที่สภานิติบัญญัติตราขึ้นในปีพ.ศ. 2550 เป็นการตรากฎหมายขณะที่คณะรัฐประหารยังมีอำนาจผ่านสภานิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร
ฉะนั้น ข้อสังเกตที่ควรตั้งเป็นเบื้องต้น อาจจะเป็นเรื่องที่ว่า แม้จะสมควรที่จะมีกฎหมายนี้ แต่บริบทของการกำเนิดไม่ใช่บริบทปกติ แต่เป็นบริบทที่รัฐต้องการใช้กฎหมายฉบับนี้จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิด เห็นของฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และเป็นเครื่องมือจำกัดการแสดงความเห็นเรื่อยมา
ดัง นั้นแม้รัฐธรรมนูญ จะรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ก็ถูกจำกัดได้ด้วย พ.ร.บ. คอมฯ และสามปีที่ผ่านมาหลัง พ.ร.บ. คอมฯ ประกาศใช้คือการที่รัฐบอกว่ามีการละเมิดกฎหมายฉบับนี้ แต่การกระทำผิดจำนวนไม่น้อยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น สถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งถูกนำมาบังคับใช้ผ่านทาง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ในมาตรา 14 อนุ 3 คำถามก็คือ ทำไม ? การกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาทสถาบันจึงปรากฏขึ้นอย่างมี นัยยะที่สำคัญไม่น้อย ซึ่งหากนำไปวิเคราะห์กับบริบททางการเมืองหลังการรัฐประหาร ทำไมเรื่องนี้จึงมีอยู่และไม่ลดจำนวนลง
คำ ถามในทางกฎหมายคือ สิ่งที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบัน ผิดถูกเป็นเรื่องทางกฎหมาย แต่คำถามสำคัญทางการเมืองที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสมควรต้องหาคำตอบให้ดี เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องหาคำตอบ หากตั้งโจทย์ผิดก็ได้คำตอบที่ไม่ถูก เจ้าหน้าที่รัฐที่ติดตามการเสวนานี้ต้องคิดให้หนัก ถ้าท่านสนใจใคร่รู้จริงๆ ต้องหาคำตอบจากแท็กซี่ จากประชาชนในซอยบางซอย บางจังหวัด หรือบางภูมิภาค ซึ่งจะให้คำตอบได้ว่าทำไมวันนี้การละเมิดสถาบันยังปรากฏอยู่ไม่หาย
วันนี้ สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือในการแสดงความคิดเห็นอย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อนำมาวิเคราะห์กับสถานการณ์การเมืองซึ่งกำลังวิกฤตและอยู่ในช่วง เปลี่ยนผ่าน การใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือในการแสดงความเห็นจะถูกนำมาใช้อย่างไม่หยุด หย่อน คนที่แสดงความเห็นก็แสดงไป คนที่ทำหน้าที่จับกุมก็จับกุมไป แต่ไม่หยุด สุดท้ายความผิดเรื่องการหมิ่นสถาบันจะหยุดเมื่อไหร่ ก็คงต้องตอบแบบผู้นับถือศาสนาคริสต์ว่า พระเจ้าเท่านั้นที่จะเป็นผู้ให้คำตอบ
ดร.เดวิด สเตร็คฟัส นักวิชาการอิสระ อาชญากรรมคอมพิวเตอร์เพิ่งถูกใช้มากขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลัง โดยใช้ควบคู่ไปกับมาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
กฎหมาย หมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งต่างจากกฎหมายหมิ่นประมาทตามปกติที่อาจยกเว้น กรณีที่ผู้ถูกวิจารณ์เป็นบุคคลสาธารณะ ในทางหนึ่ง กฎหมายนี้ในตัวบทบัญญัติเองแล้วเป็นปัญหา และการบังคับใช้ก็เป็นเป็นปัญหาอย่างยิ่งเช่นกัน
เรา ไม่มีการพิสูจน์ว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหมิ่นสูงกว่ากัน แนวโน้มคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายนี้จะส่งต่อเรื่องไปเรื่อยๆ เช่นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งต่อคดีให้อัยการ และอัยการส่งต่อไปให้ศาล และศาลเองก็ตัดสินต่อไป ถึงขั้นศาลสูง
กฎหมาย หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้ว่าจะมีลักษณะเฉพาะมาก แต่ก็ควรมองในกรอบของหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วย จากข้อมูลที่ติดตามมาตั้งแต่ ค.ศ. 1996 ถึงปัจจุบันมีพบว่าตัวเลขการละเมิดกฎหมายนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ตัวกฎหมายเองดูเหมือนเป็นกฎหมายที่เก่ามาก
เมื่อ ห้าปีที่แล้วกฎหมายหมิ่นประมาทเองก็ถูกใช้โดยทักษิณ ชินวัตร ซึ่งทักษิณมีความสามารถในการใช้กฎหมายนี้กับศัตรูทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง แต่หลังจากนั้นก็เกิดรัฐประหาร แล้วเราก็คงทราบพระราชดำรัสของในหลวงว่ากฎหมายนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์แก่ สถาบันเสมอไป แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนคดีก็เพิ่มขึ้นหลังรัฐประหาร ในปีพ.ศ. 2550 อาจจะยังไม่มีปริมาณคดีเหล่านี้มาก เพราะคนเสื้อแดงยังไม่เกิดด้วยซ้ำในตอนนั้น แต่เท่าที่ทราบ ในปี 2550 มีกรณีที่ถูกฟ้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากกว่า 160 คดี แล้วปี 2551 ก็ลดลงมาเหลือ 80 คดี หลังรัฐบาลอภิสิทธิ์ขึ้นมาในตอนหลังก็ปวารณาตัวว่าจะควบคุมไม่ให้ใช้กฎหมาย ในทางที่ผิด มีการตั้งคณะกรรมการจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้เหตุผลว่าตัวบทบัญญัติของกฎหมายนี้ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาคือการใช้กฎหมายในทางที่ผิด
ในปีที่ผ่านมา มีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จำนวน 164 คดี และหลายคดีก็สู้กันถึงศาลฎีกา ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะเราจะรอดูคำสั่งของศาลฎีกา
ข้อ สังเกตคือสภาทนายความก็สนับสนุนกฎหมายนี้ ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ได้รับข้อเรียกร้องในคดีเหล่านี้แต่ ไม่เห็นแสดงจุดยืนอะไรออกมา ไม่มีการแยกแยะระหว่างผู้ออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายหรือสถาบันกษัตริย์ กับผู้ที่ต้องการโค่นล้มสถาบัน
สิ่งที่น่าสนใจคือ การตัดสินของศาลพบว่ามีกรณีที่ตัดสินว่าผิดตามข้อกล่าวหาถึง 94 เปอร์เซ็นต์
อาจ จะดูเหมือนว่ากฎหมายนี้ชัดเจนว่าการปกป้องการกระทำที่ดูหมิ่นหรือการหมิ่น ประมาทกษัตริย์ ราชินี และรัชทายาท แต่ว่ากฎหมายนี้ก็ถูกใช้โดยอ้างเรื่องความมั่นคงด้วย คำถามคือจริงๆ แล้วกฎหมายปกป้องอะไรกันแน่
ท้ายที่สุด ขณะนี้มันเป็นเหมือนช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ของไทย นี่เป็นมากกว่าประเด็นทางกฎหมาย ไทย ที่สามารถจะอนุญาตให้กับการแสดงความเห็นทางการเมือง นี่เป็นการท้าท้ายที่สำคัญ เมื่อพูดถึงสถาบันกษัตริย์ ในหลายๆ ประเทศสถาบันกษัตริย์เข้มแข็งขึ้นในระบอบประชาธิปไตย เพราะการเปิดตัวให้เข้ากับสังคม มากกว่าการที่จะวางตัวบทกฎหมาย
จอน อึ๊งภากรณ์ ผม ฟังงานวิจัยวันนี้เกิดคำถามหลายคำถาม เช่น ประเทศไทยเองปิดกั้นเสรีภาพมากกว่าประเทศอื่นไหม อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ทางการสามารถเข้าไปดูได้ว่าแต่ละคนใช้เว็บอะไรบ้าง นี่เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก หรือในกรณีของประเทศเยอรมัน คุณจะแสดงความคิดเห็นซ้ายเกินไปก็ไม่ได้ ขวาเกินไปก็ไม่ได้ ผมยอมรับได้เรื่องการปิดกั้นการละเมิดหรืออนาจารเด็ก แต่ผมสรุปว่าอำนาจรัฐทั่วโลกเหมือนกันหมด คืออำนาจรัฐต้องการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยอ้างเรื่องความมั่นคง หรือศีลธรรมอันดีงาม หรือการต่อสู้กับสงครามก่อการร้าย และเมื่อดูพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ผมก็นึกถึง พ.ร.บ. ทางหลวงในสมัยทักษิณ ซึ่งเหมือนเป็นการบริหารพื้นที่ทางหลวง แต่ก็มีการสอดไส้ว่าห้ามชุมนุมบนทางหลวง ผมก็สู้เรื่องนี้ในสภา เขาก็บอกให้ไปชุมนุมในสวนสาธารณะ ผมก็ส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ เรื่อง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ก็ถูกสอดไส้เช่นกัน
ประเด็น ของคุณเดวิด ผมว่าสำคัญ การจำกัดเสรีภาพมีหลายรูปแบบ ไม่ได้มีเฉพาะพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ แต่มีกฎหมายหมิ่นประมาท โดยเฉพาะนักการเมืองก็ใช้กฎหมายนี้บ่อย
มี อีกคำถามหนึ่งคือ ประเทศไทยค่อนข้างมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นตราบใดที่ไม่พูดถึงสถาบัน กษัตริย์ใช่หรือไม่ ผมคิดว่าจริงในทางปฏิบัติ แต่ไม่จริงในทางทฤษฎี ความน่ากลัวของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินและ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ รวม ถึงกฎอัยการศึกและพ.ร.บ. ความมั่นคง เปิดโอกาสการเซ็นเซอร์การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งจริงๆ แล้ว คนที่ทำลายสถาบันกษัตริย์ก็คือคนที่แสดงตัวว่าปกป้องสถาบันกษัตริย์ เป็นการปิดปากประชาชน เมื่อปิดปากประชาชน เขาก็ไปคุยกันที่บ้าน แต่ไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้เลย และกฎหมายที่ทำลายสถาบันกษัตริย์ คือกฎหมายที่ปิดปากการแสดงความคิดเห็น หลัง 2549 คนอยากพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ ก็เพราะคนอยากรู้และมีคำถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ การปิดกั้นการแสดงความเห็นทำให้เรามีสิ่งที่เรียกว่าเรามีระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่สถาบันกษัตริย์ที่ปกติสังคมจะให้ความเคารพโดยธรรมชาติไม่ต้องมีใครมาบอก ให้ใครเคารพ ในอังกฤษมี ส.ส. ที่ชอบตั้งคำถามเรื่องงบประมาณของสำนักพระราชวัง หรือเสนอให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่มีใครสนใจ คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้คิดอยากจะเลิก ฉะนั้นในระบบประชาธิปไตยที่เป็นปกติ ไม่ได้ปิดกั้นรุนแรงแบบประเทศไทย ใครอยากจะพูดก็พูดไป อยากจะตั้งคำถามก็ตั้งไป จะล้อเลียนก็ได้ ผมเองเห็นว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตราทั้งหลายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพต้องยกเลิกให้ได้ และยกเลิกโดยพลังของประชาชน ไม่ใช่ยกเลิก พ.ร.บ.ทั้งหมด แต่ต้องยกเลิกเนื้อหาที่จำกัดเสรีภาพ
กฎหมายอาญามาตรา 112 ควรจะต้องมีดีเบตว่าจะจัดการอย่างไรดี ผมเองไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกมาตรา 112 โดยสิ้นเชิง ผมคิดว่าคนที่เป็นสถาบันต้องมีโอกาสที่จะปกป้องตัวเองจากการดูหมิ่นในระดับ เดียวกับบุคคลทั่วไป แต่ต้องไม่มีโทษแบบปัจจุบันซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ ปัจจุบันเราจะเห็นสภาพแปลกคือทุกฝ่ายสามารถถูกคดีหมิ่นได้หมด และใครก็ได้สามารถไปกล่าวหาที่สถานีตำรวจที่ไหนในประเทศไทยก็ได้
อีก ประเด็นคือ เรื่องการปิดเว็บไซต์โดย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพราะเว็บไซต์มันไม่มีภูมิศาสตร์ แต่ พ.ร.ก. ฉุกเฉินมีภูมิศาสตร์ เช่นการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินที่อยุธยา คุณจะปิดกั้นเว็บไซต์อย่างไร คุณจะบังคับใช้กฎหมายอย่างไร
พ.ต.ท.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ: กฎหมาย หมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นสิ่งที่ถูกทุกคนใช้เป็นเครื่องมือ กฎหมายอาญามาตราดังกล่าวเป็นกฎหมายที่เหนือกว่ารัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป และกรณีนี้ก็เคยเป็นเรื่องที่ถูกถามมายังประเทศไทยด้วย ผมเชื่อว่านักกฎหมายไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ ศาล ต้องตีความ คือหลักกฎหมายอาญาจะตีความโดยการใช้ขนบธรรมเนียมขยายตัวบทไม่ได้ ถ้าทุกคนยึดมั่นในหลักวิชาชีพเมื่อไหร่ ผมเชื่อว่าคดี 112 จะน้อยมาก
ถ้า เราย้อนกลับไปที่สามก๊ก ยุคล่มสลายก็คือขันทีทั้งสิบแอบอ้างฮ่องเต้ รอยัลลิสต์คือตัวทำลายสถาบันโดยแท้ ถ้าท่านซื่อสัตย์ในหลักวิชาชีพ จะต้องดูองค์ประกอบ ซึ่งกฎหมายมาตรา 112 กำหนดองค์ประกอบไว้ 3 ประการคือ การดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย ไม่รวมการวิพากษ์วิจารณ์ นี่คือหลักการตีความตามวิชาชีพนักกฎหมาย แต่ตอนนี้มีปัญหามาก สาธารณชนอาจถามว่ายังมีเหลืออยู่หรือนักกฎหมายตามวิชาชีพ ผมก็คิดว่าไม่เหลือแล้ว ต้องเผาตำราหลักวิชาชีพทิ้ง และตีความอย่างกว้าง ปัจจุบันนี้เจ้าหน้าที่รัฐสร้างมาตรฐานที่ผิด ทำให้ถูกตั้งคำถามว่าสมควรจะมีองค์กรเหล่านี้อยู่ต่อไปหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นองค์กรตำรวจ อัยการ หรือองค์กรสิทธิมนุษยชน ซึ่งผมไม่ถือว่ามีองค์กรสิทธิมนุษยชนอยู่เพราะถ้ามีอยู่เขาต้องออกมาแล้ว ตั้งแต่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ในทางปฏิบัติ เมื่อมีการฟ้องร้องคดี 112 ผู้ทำหน้าที่จะดูในพฤติการณ์ผู้กระทำ เช่น ย้อนไปว่า 10 ปีที่แล้ว หรือตีความ เช่น รูปการโพสต์ตู้กดเอทีเอ็ม ก็จะตีความไปเรื่อยๆ ว่าโพสต์เพื่อให้เกิดการด่าทอหรือไม่ จนกระทั่งผู้กระทำเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในที่สุด หรือกรณีการไม่ยืนในโรงภาพยนตร์ก็จะตีความไปจนกลายเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุ ภาพ ซึ่งในทางปฏิบัติไม่มีใครกล้าตีความตามหลักวิชาชีพ และผลักภาระโดยการฟ้องไปก่อน แม้ตำรวจจะมีคณะกรรมการกลั่นกรอง แต่ท้ายที่สุดทุกคนก็ผลักภาระไปยังผู้ถูกกล่าวหา ต่างคนต่างเอาตัวรอด
อีก ตัวอย่างคือ เคยมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงเรียกผมไปถาม เพราะมีคอลัมนิสต์ภาษาอังกฤษเขียนว่าการเดินทางกลับประเทศลำบากมากในช่วงที่ พันธมิตรยึดสนามบิน และเขียนว่าแม้กระทั่งพระเจ้าอยู่หัวก็ต้องเป็นกลางอย่างยิ่งไม่สามารถออกมา จัดการปัญหาได้ ผมบอกว่ากรณีนี้ไม่ผิด เพราะคอลัมนิสต์ระบุว่าทรงเป็นกลางทางการเมือง
พระ มหากษัตริย์ไทยทรงเป็นเอนกนิกรสโมสรสมมติ นั่นแปลว่าทรงฟังเสียงประชาชน กระทั่งมาถึงสมัยรัชกาลที่เจ็ด ทรงยอมรับว่าพระมหากษัตริย์ไทยต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และจะทรงกระทำการใดๆ ได้ต้องผ่านองค์กรหลัก ในฐานะนี้จะทรงอยู่เหนือการติชม เพราะการทำอะไรต้องทำผ่านองค์กร
สำหรับ สถาบันตำรวจเองก็ต้องเคารพในอำนาจอธิปไตยของประชาชน คนที่ทำลายสถาบันคือคนที่อ้างว่ารักสถาบันและฉวยโอกาสจากสถาบัน ที่สังคมไทยเป็นเช่นนี้ เพราะปัญหาหลักนอกจากตัวบทไม่ชัดเจนแล้ว ก็คือไม่มีความเป็นมืออาชีพ