ที่มา มติชน มติชนสุดสัปดาห์
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 10-16 ธันวาคม 2553 นำรูปอดีตนายกฯ "ทักษิณ ชินวัตร" และ "พญาอินทรีอเมริกา" มาขึ้นปก พร้อมคำโปรย ถึงครา "ทักษิณ" ต้องซุกใต้ปีก "มหาอินทรี"
รายงาน ข่าวในประเทศ ประกอบด้วย รายงานชื่อเดียวกับคำโปรยบนหน้าปก ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยการที่คณะกรรมาธิการด้านความมั่นคงและความร่วมมือใน ยุโรป ของรัฐสภาสหรัฐฯ ทำจดหมายเชิญอดีตนายกฯ ไปให้การเรื่องปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย, เปิดภาพหลักฐานใหม่ กรณีเผา "เซ็นทรัลเวิลด์" และคดี 6 ศพ วัดปทุมฯ ข้อมูลจาก "ตร.แตงโม", เลือกตั้งซ่อม 5 เขต 5 จว. พท.สู้ทุกทิศ พิชิตใจ "แดง" "มาร์ค" เทสต์แรงต้าน-เคานต์ดาวน์ยุบสภา, คราวนี้ "เรื่องบอล" ของจริง ควันหลง "โลกออนไลน์" หลังไทยร่วง "ซูซูกิ คัพ" และ บทความพิเศษ อ่านเกมเช็กบิลสัมปทานมือถือ "AIS" ลาม "ดีแทค-ทรู-ฮัทช์" บอนไซธุรกิจสื่อสาร โดย ศัลยา ประชาชาติ
ส่วนรายงานพิเศษ และ สัมภาษณ์พิเศษอื่นๆ ควรอ่าน ที่สุดแห่งความภักดี วันทหาร รอ. หลั่งน้ำตาถวายสัตย์ ภารกิจปกป้องสถาบัน กับ Army United ของ "ประยุทธ์" และ แม่ทัพหญิง "นปช." ธิดา ถาวรเศรษฐ ชูธง "ยุทธศาสตร์ใหม่" "อำนาจรัฐ" เหมือน "สาวผมบลอนด์" ซึ่งนอกจาก "แม่ทัพ" เสื้อแดงคนใหม่จะพูดเรื่องยุทธวิธีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนปช.โดยรวมแล้ว เธอยังเกริ่นถึงการจัดตั้ง "กลุ่มภรรยาผู้สูญเสีย" พร้อมความเห็นน่าสนใจที่ว่า
"พวก เมียแกนนำ ต้องก้าวข้ามเรื่องส่วนตัวเรื่องจุกจิกไปสู่เรื่องส่วนรวม เขากำลังเรียนรู้ เวลาจะช่วยทำให้พวกเขาแกร่งขึ้นและเข้าใจขึ้น เขาต้องก้าวข้ามเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เขาถึงจะไปทำงานใหญ่ได้..."
สำหรับบทความน่าสนใจมีอาทิ ชิมิ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เขียนถึงเรื่องภาษา อำนาจ ความเปลี่ยนแปลงและความสัมพันธ์ทางสังคม ตลอดจนการตั้งข้อสังเกตว่า "ชิมิ" ไม่ใช่ "ใช่ไหม", 78 ปีวงจรการต่อสู้ของรัฐธรรมนูญไทย ประชาธิปไตยกับเผด็จการ โดย มุกดา สุวรรณชาติ, เรื่องของ "ดินแดนและสมบัติสยามประเทศไทย" ของเสด็จพ่อ ร.5 กับ "บ้านทรายทอง" ของ ก. สุรางคนางค์ โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, นิธิ เอียวศรีวงศ์ : รัฐศาสตร์กระแสหลัก-มาร์กซิสม์-อาริสโตเติล โดย แพทย์ พิจิตร, คลุมเครืออันศักดิ์สิทธิ์ โดย วิษณุ โชลิตกุล
ความเขียวของจีนหลังยุคสามก๊ก (จบ) โดย สุรีย์ ภูมิภมร, พินิจความเป็นศาสตร์และสหศาสตร์ "ศิลป์" (1) โดย อารยา ราษฎร์จำเริญสุข และ เจ้าแม่นางแล้ง Nude ยุคดึกดำบรรพ์? โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์
และพลาดไม่ได้กับผลงานของนักเขียนขวัญใจนักอ่าน "แนวๆ" คือ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ใน เมื่อฉันไม่มีขน ฉันจึงเป็นศิลปะ (7) และ คำ ผกา ใน บาร์บี้แลนด์ ซึ่งมีตัวอย่างดุเด็ดเผ็ดมันส์ ดังนี้
"...สำหรับ ในบางสังคม เช่น อังกฤษ ก่อนศตวรรษที่ยี่สิบการโกนขนที่อวัยวะเพศกลับแสดงให้เห็นถึงความเร่าร้อนของ ผู้หญิง เพราะเป็นสิ่งที่นิยมปฏิบัติกันในหมู่โสเภณี
ส่วนรสนิยมในการ โกน ขนเป็นที่นิยมกันอย่างมากเมื่อเสื้อผ้าแขนสั้นกลายมาเป็นที่นิยมในช่วงหลัง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ดังนั้น การโกนขนรักแร้จึงกลายเป็นอะไรที่ได้รับความนิยม
ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่า การโกนขนที่อวัยวะเพศซึ่งนิยมปฏิบัติกันมาตั้งแต่ยุคโบราณนั้น เป็นเรื่องของการรักษาความสะอาดที่ดูเหมือนว่าด้วยระยะเวลาที่ดำเนินมาก็ยัง ถูกกำกับด้วยสุนทรียะ เพียงแต่จะได้รับการปฏิบัติกันในหมู่เพศหญิงเป็นหลัก
ในสังคมกรีกโบราณและอียิปต์โบราณ ต่างก็ถือว่าการโกนขนที่อวัยวะเพศเป็นการแสดงสถานะที่สูงส่งกว่าของสังคมด้วย..."
(เมื่อฉันไม่มีขน ฉันจึงเป็นศิลปะ (7))
"...ฉัน เชื่อว่า เราอยากอยู่ในสังคมที่อนุญาตให้เราเป็นคน และเราคงไม่อยากเป็นตุ๊กตาบาร์บี้ที่ร้องไห้เมื่อเขาบอกให้เราร้อง ยิ้มเมื่อเขาบอกให้เรายิ้ม วิ่งเมื่อเขาบอกให้วิ่ง เดินเมื่อเขาบอกให้เดิน รักในสิ่งที่เขาบอกให้รัก เกลียดในสิ่งที่เขาบอกให้เกลียด ดูหนังที่เขาบอกว่าควรดู และไม่เดือดร้อนเมื่อเขาออกมาสั่งห้ามฉายหนังที่เขาบอกว่าเราไม่ควรดู และเราไม่มีสิทธิมีส่วนร่วมในการถกเถียงว่าหนังเรื่องนี้สมควรถูกห้ามจริง หรือไม่
มีความสุขใน วัน เดือน ปี ที่เขาบอกให้เรามีความสุข กินในสิ่งที่เขาบอกให้กิน ปี้ กับคนที่เขาบอกว่าเราควรปี้ และหมกมุ่นอยู่แต่กับเรื่องการสร้างสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง อบอุ่น ดังนั้น ควรใช้เวลาส่วนใหญ่ในการกอดลูก จูบเมีย เดินห้าง กินข้าว เที่ยวสวนสัตว์ ดูทุ่งดอกทานตะวัน
ไม่ใช่ออกมาประท้วงบนถนนหรือมาเสือก เรื่องการเมือง ฉันหลับไป ตื่นขึ้นมาแล้วกลับพบว่าสังคมไทยที่ฉันรู้จักกำลังเคลื่อนเข้าสู่ความเป็น บาร์บี้ สมองของเราถูกทำลายและการทำงานของร่างกายของเราถูกขับเคลื่อนด้วยก้อน แบตเตอรี่และมีคนกลุ่มหนึ่งถือรีโมตคอนโทรล
ที่ชวนสยดสยองคือ คนไทยจำนวนไม่น้อยปรีดาต่อกระบวนการแทนที่ก้อนสมองของเราด้วยแบตเตอรี่และรีโมตคอนโทรล"
(บาร์บี้แลนด์)
ด้านคอกวี มติชนสุดสัปดาห์เล่มนี้ อัดแน่นไปด้วยบทกวีชิ้นเยี่ยม เช่น มรรคาอารยะ โดย พงศ์ศักดิ์ ไพรอังกูร, กบฏ โดย บุดดา มหายาน, กวี โดย เฉินซัน, พิราบขาว โดย จิตฯ คัมภีรภาพ, แตะไหล่อันแผ่วเบา โดย ประกาย ปรัชญา, อยากกอดสาวเกาหลี โดย อุดร ทองน้อย, เชิงอรรถฆาตกรรม โดย รางชางฯ, ฝนไม่ตกลงมาเป็นปลากระป๋อง โดย วิวัฒน์ เลิศฯ และ ธรรมศาสตร์ ร.ศ.229 โดย ชนะ คำมงคล ซึ่งมีวรรคทองว่า
"ใครขายธรรมศาสตร์
เป็นขี้ครอกข้าทาสรัฐทหาร
บ้างเป็นถึงครูบาอาจารย์
แต่หมอบคลานแทบเท้าเหล่าขุนนาง
ใช้วิชาหากินกันปลิ้นปล้อน
หักดินสอโดมเป็นท่อนแล้วทิ้งขว้าง
ชักแม่น้ำเจ้าพระยามาอำพราง
เผด็จการจำแลงร่างปัญญาชน
ฉีกประวัติศาสตร์ขาดสะบั้น
ทรยศทางชนชั้นอย่างฉ้อฉล
มหาวิทยาลัยวีรชน
กลายเป็นโจรร่วมปล้นประชาธิปไตย
..."
เวย์
นิตยสารเวย์ ฉบับที่ 38 ปีที่ 4 นำเสนอประเด็นหลักว่าด้วยผู้นำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า "ออง ซาน ซูจี" โดยงานน่าสนใจคือ Walk on Suu Kyi โดย รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ ที่นอกจากจะเขียนถึงซูจีแล้ว ยังกล่าวถึงบริบททางด้านสังคมการเมืองสำคัญๆ ที่รายล้อมชีวิตการต่อสู้ของเธอ ได้แก่ เหตุการณ์ 8888, ความเป็นดินแดนพหุชาติพันธุ์ของพม่า รวมทั้ง ดุลอำนาจระหว่าง 3 ชาติมหาอำนาจ คือ จีน อินเดีย และอเมริกา ที่ส่งผลสำคัญต่อความเป็นไปของประเทศพม่า
ส่วนงานเกี่ยวกับพม่าอีกหนึ่งชิ้นที่ไม่ควรพลาด ก็ได้แก่ Nobody home รอยเท้าเขา...ในบ้านเราเอง โดย วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ ที่พูดถึงชีวิตของสามัญชนพม่าผู้อาศัยอยู่ในประเทศไทย
ขณะที่งานเขียนน่าอ่านชิ้นอื่นๆ ในเวย์ ฉบับนี้ มีอาทิ "จดหมายรัก" จาก เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กรณี "คนเดือนตุลา" และ ว่าด้วยเรื่องจักรยานกันอีกสักที โดย โตมร ศุขปรีชา