ที่มา ประชาไท
นับ แต่ประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 พบว่า มีการดำเนินคดีตามกฎหมายนี้แล้วทั้งสิ้น 185 คดี และ มีคำสั่งศาลให้ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ 117 ฉบับ เพื่อปิดกั้นการเข้าถึง 74,686 ยูอาร์แอล
สถิติการดำเนินคดี
จากคดี ความทั้งหมด 185 คดี พบว่าส่วนใหญ่เป็นการฟ้องร้องจาก "เนื้อหา" ในอินเทอร์เน็ต เช่น การด่าทอ การหลอกลวง การดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ฯลฯ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 14 - 16 มีจำนวนทั้งสิ้น 128 คดี ขณะที่คดีอันเกี่ยวกับ "ระบบ" เช่น การเข้าสู่ระบบโดยมิชอบ การฉ้อโกงโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ การเผยแพร่โปรแกรมที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 5-13 มีจำนวนทั้งสิ้น 45 คดี และไม่ทราบข้อมูลจำนวน 12 คดี
หากลองจัดหมวดหมู่ความผิด สามารถเรียงลำดับจากมากไปน้อยได้ดังนี้ หนึ่ง การหมิ่นประมาทบุคคล 54 คดี สอง การฉ้อโกง 38 คดี สาม การดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ 31 คดี สี่ การเผยแพร่สิ่งลามก 12 คดี ห้า การขายโปรแกรมที่ผิดกฎหมาย 10 คดี หก ความผิดในแง่ตัวระบบคอมพิวเตอร์โดยตรง 8 คดี เจ็ด เนื้อหาเกี่ยวกับความมั่นคง 6 คดี และแปด เรื่องอื่นๆ และเรื่องที่ไม่สามารถระบุได้อีก 26 คดี
มีข้อสังเกตว่า คดีส่วนใหญ่เป็นความผิดเช่นเดียวกับความผิดทั่วไป แต่เมื่อมีระบบคอมพิวเตอร์มาเกี่ยวข้องก็อาจเป็นอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ได้ เช่น มาตรา 14 (1) กล่าวถึงความผิดอันเกิดจากการปลอมแปลงหรือนำเข้าสู่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อัน เป็นเท็จ ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ได้ตั้งใจให้ใช้กับการหมิ่นประมาท แต่พบว่ามีคดีหมิ่นประมาทที่ฟ้องด้วยพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์สูงมาก ทั้งที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทก็มีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 กับ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 บังคับใช้อยู่แล้ว และการตั้งข้อหาตามมาตรา 14 (1) นี้ยังถูกนำมาใช้กับกรณีการหลอกลวงกันตามเว็บบอร์ดสนทนา ทั้งที่ก็มีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 เรื่องการฉ้อโกง
ในทางปฏิบัติ การฟ้องคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มักตั้งข้อหาควบคู่กับกฎหมายอื่นๆ การตีความอาชญากรรมคอมพิวเตอร์เช่นนี้แสดงให้เห็นว่า เนื้อหาของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เปิดโอกาสให้สามารถตีความได้ และผู้บังคับใช้กฎหมายก็มักนำพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาใช้อย่างสับสน จนกระทบกระเทือนต่อการสื่อสารบนโลกออนไลน์
ความผิดที่เนื้อหากระทบ ต่อ ความมั่นคงซึ่งกำหนดไว้ทั้งในมาตรา 14(2) อันว่าด้วยการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อความ มั่นคง และมาตรา 14 (3) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย น่าสงสัยว่าในเมื่อมี (3) ซึ่งฐานความผิดเชื่อมโยงไปยังประมวลกฎหมายอาญาที่เขียนไว้ชัดเจนแน่นอนอยู่ แล้ว เหตุใดจึงต้องมี (2) ซึ่งใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือไว้อีกด้วย มาตรา 14 (2) และ (3) จึงอาจเปิดช่องให้มาตรานี้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ประกอบกับสถานการณ์บ้านเมืองที่มีความขัดแย้ง จำนวนคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกมาก
ทั้ง นี้ คดีความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ มักจะถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 14(2) และ (3) และมีถึง 25 จาก 31 คดี ที่ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลทุกชุดให้ความสำคัญเป็นนโยบายเร่งเอาผิด เมื่อประกอบกับตัวบทกฎหมายที่กล่าวมานี้ซึ่งยังมีปัญหาความคลุมเครือของถ้อย คำอยู่มาก จึงมีคดีจำนวนไม่น้อยที่อาจกล่าวได้ว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้าม
สำหรับ ความผิดฐานเผยแพร่ภาพลามก เป็นความผิดทั้งตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (4) และตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 287 ซึ่งสองมาตรานี้น่าจะมีลักษณะเป็นกฎหมายเฉพาะกับกฎหมายทั่วไป เพราะฉะนั้นหากเป็นการเผยแพร่ในโลกออนไลน์จึงต้องใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับเดียวเท่านั้น ในฐานะที่เป็นกฎหมายเฉพาะยกเว้นกฎหมายทั่วไป แต่ในทางปฏิบัติพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการ ตั้งข้อหาควบคู่กันไปทั้งสองมาตรา จนอาจมีคำถามว่าถูกต้องหรือไม่
สถิติการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์
สิทธิ ของ ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารตามกรอบที่ปรากฏในพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้น เขียนขึ้นบนความคาดหวังของสังคมที่หวังให้สถาบันศาลมีบทบาทช่วยกลั่นกรองการ ใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ โดยมาตรา 20 ให้อำนาจไว้ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่อาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลเพื่อขอให้มีคำ สั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ แทนที่การปฏิบัติแบบเดิมๆ ที่เจ้าหน้าที่อาจใช้อำนาจสั่งปิดเว็บต่างๆ ได้ทันที
จากสถิติพบว่า ในปี 2550 มีคำสั่งศาล 1 ฉบับ เพื่อระงับการเข้าถึง 2 ยูอาร์แอล ปี 2551 จำนวน 13 ฉบับ เพื่อระงับการเข้าถึง 2,071 ยูอาร์แอล ปี 2552 จำนวน 64 ฉบับ เพื่อระงับการเข้าถึง 28,705 ยูอาร์แอล ปี 2553 จำนวน 39 ฉบับ เพื่อระงับการเข้าถึง 43,908 ยูอาร์แอล รวมทั้งสิ้น สามปีนับแต่ประกาศใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีหมายศาลออกมาแล้วทั้งสิ้น 117 ฉบับ เพื่อระงับการเข้าถึง 74,686 ยูอาร์แอล
เหตุผลของคำสั่งปิดกั้น ที่สูงเป็นอันดับหนึ่งคือ มีเนื้อหาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ จำนวน 57,330 ยูอาร์แอล อันดับสองคือ มีเนื้อหาและภาพลามก 16,740 ยูอาร์แอล อันดับสามคือ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำแท้ง 357 ยูอาร์แอล อันดับสี่คือ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเล่นการพนัน 246 ยูอาร์แอล และอันดับห้า เป็นเรื่องอื่นๆ อีกเล็กน้อย เช่น การดูหมิ่นศาสนา การทำ Phishing/Pharming (การทำหน้าเว็บปลอมลอกเลียนแบบ) กระทั่งเคยมีหมายศาลให้ระงับการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาที่อาจทำให้เข้า ใจรัฐบาลผิดเกี่ยวกับเหตุการณ์การควบคุมการชุมนุมจนอาจก่อให้เกิดความปั่น ป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน
นอกจากการปิดกั้นโดยคำสั่ง ศาล ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แล้ว ทีมวิจัยยังพบอีกว่า เจ้าหน้าที่รัฐปิดกั้นด้วยวิธีการอื่นด้วย เช่น การส่งหนังสือขอความร่วมมือไปยังผู้ให้บริการ และที่สำคัญคือ การใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งแหล่งข้อมูลบอกว่า เว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นตามคำสั่งศอฉ.นั้น เป็นตัวเลขหลักหลายหมื่น ในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่ศอฉ. มีคำสั่งปิดกั้นโดยใช้วิธีระบุเป็น “ช่วงตัวเลข” ของหมายเลขไอพี ลักษณะนี้ย่อมกระทบต่อเว็บไซต์จำนวนมากซึ่งอาจเป็นเว็บไซต์ทั่วไปทั้งที่ผิด และไม่ผิดกฎหมายแต่มีที่อยู่อยู่ในช่วงหมายเลขไอพีดังกล่าวเท่านั้น
มี ข้อสังเกตว่า ศาลใช้เวลารวดเร็วพิจารณาคำร้องวันต่อวันก่อนสั่งปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ จากคำสั่งศาล 117 ฉบับ มีถึง 104 ฉบับที่ศาลมีคำสั่งในวันเดียวกับที่ยื่นคำขอ ซึ่งมีผลปิดกั้นเว็บไซต์ทั้งหมด 71,765 ยูอาร์แอล เฉลี่ยแล้วเท่ากับสั่งปิดกั้นวันละ 690 ยูอาร์แอล นอกจากนี้ยังพบว่า จำนวนเว็บไซต์ที่ถูกสั่งปิดกั้นจะเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณในช่วงที่มีการชุมนุม เรียกร้องทางการเมือง
นอกจากแนวนโยบายเร่งปิดกั้นเว็บไซต์ ดำเนินคดีกับผู้ใช้และผู้ให้บริการแล้ว รัฐบาลยังมีจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยอินเทอร์เน็ต (ลูกเสือไซเบอร์) มีการเซ็นสัญญาความร่วมมือ (MOU) 3 กระทรวง คือ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อช่วยตรวจสอบอินเทอร์เน็ต แจ้งเตือนเนื้อหาไม่เหมาะสม ด้านหน่วยทหารก็มีหน่วยงานสร้างสื่อของรัฐในเชิงตอบโต้ เช่น เครือข่ายกรมพลาธิการทหารเรือเพื่อส่งเสริมและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์บน เครือข่ายอินเทอร์เน็ต
เปรียบเทียบสถานการณ์ กฎหมายกับสื่อออนไลน์ในต่างประเทศ
เมื่อเปรียบเทียบการใช้กฎหมายและนโยบายในต่างประเทศที่มีต่อการแสดงความคิดเห็นและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในอินเทอร์เน็ต พบว่า ประเทศมาเลเซีย แม้ไม่มีกฎหมายที่กล่าวถึงสื่อออนไลน์โดยตรง แต่พบว่ารัฐบาลสามารถใช้วิธีตีความกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่ให้กว้างออก เช่น ระหว่างที่รัฐตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ฝ่ายบริหารมีอำนาจออกกฎหมายได้ เช่น ห้ามแลกเปลี่ยนกันเรื่องความเป็นพลเมือง อำนาจอธิปไตย ยังมีกฎหมายเรื่องความลับของราชการ มีกฎหมายความมั่นคงภายใน และกฎหมายว่าด้วยการจลาจล
ด้านประเทศจีน เพื่อความมั่นคงของรัฐบาลจีนและพรรคคอมมิวนิสต์ ประชาชนแทบจะไม่สามารถแสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ มีทั้งนโยบายและกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและควบคุม สื่ออย่างเป็นระบบ โดยผูกขาดการให้บริการโทรคมนาคม กำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้สร้างเว็บไซต์มีหน้าที่ตรวจสอบ เนื้อหา และยังมีซอฟต์แวร์ที่ปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสมบูรณ์
ขณะที่สหพันธรัฐเยอรมนี นอกจากการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากสื่อลามกแล้ว การเผยแพร่ลัทธิฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้ายหัวรุนแรง การพนันที่ไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่เนื้อหาเหล่านี้ กฎหมายกำหนดองค์ประกอบไว้ชัดเจนไม่คลุมเครือ สามารถขอให้ศาลตรวจสอบได้
ด้านสหรัฐอเมริกา ถือว่ามีเสรีภาพในสื่อออนไลน์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความคิดเห็นทางการเมือง แต่มีข้อจำกัดสองประการ คือ การคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากสื่อลามกและความหวาดกลัวต่อภัยก่อการร้าย ซึ่งทำให้รัฐบาลมีมาตรการสอดส่องเฝ้าระวังข้อมูลออนไลน์ได้ โดยมีกฎหมายเฉพาะที่นำไปสู่การปิดกั้นเว็บไซต์และจับกุมผู้ต้องสงสัยจำนวน มาก
รายงานสถานการณ์การควบคุมและปิดกั้นสื่อออนไลน์ด้วยการอ้างกฎหมายและแนวนโยบายแห่งรัฐไทย
รายงานสถานการณ์การควบคุมและปิดกั้นสื่อออนไลน์ด้วยการอ้างกฎหมายและแนวนโยบายแห่งรัฐไทย