ที่มา มติชน
โดย รุจ ธนรักษ์
หมายเหตุ "รุจ ธนรักษ์" ได้เขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม และเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ http://www.roodthanarak.com ของเขา มติชนออนไลน์เห็นว่าบทความดังกล่าวมีเนื้อหาน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อดังนี้
วันนี้ผมอยากคุยเรื่องการแข่งขัน … จากในแง่มุมของสังคมไทย
ผมอยากตั้งข้อสังเกตจากมุมมองส่วนตัวว่า สังคมไทยดูจะมีมุมมองและท่าทีที่ “เฉพาะตัว” มากๆ ต่อคำว่า “การแข่งขัน”
ลองหลับตานึกถึง “การแข่งขัน”
แข่งขัน ก. ชิงเอาชนะเพื่อรางวัล, ขันสู้เอาชนะกัน
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒
ภาพ ที่มักจะผุดขึ้นในหัวคือภาพผู้ชายนับร้อย ใส่สูทผูกไทค์หรูเนี้ยบ เดินกันขวักไขว่บนถนนกลางเมืองใหญ่ที่ไหนสักแห่ง แก่งแย่ง ต่อสู้กัน เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สมบัติ
หรือลองสังเกตดูดีๆจะพบว่า กลุ่มคำในภาษาไทยที่เรามักพบร่วมกับคำว่า “แข่งขัน” คือกลุ่มคำประเภท ต่อสู้ แก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น ขัดแย้ง ช่วงชิง และบางครั้งเลยเถิดไปถึงคำพวก ทะเยอทะยาน ละโมภ ไม่รู้จักพอ
ทั้งหมดล้วนมีความหมายไปในทางลบ และสะท้อนให้เห็นถึงการเชื่อมโยงกับ “กิเลส” ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรลด ละ เลิก ในความเชื่อแบบพุทธ
เรามักรู้สึก (ไปเอง) ว่าแข่งขัน เหมือนๆกับ ต่อสู้ หรือ แก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่น ทั้งที่จริงแล้วมันไม่เหมือนกันเลย
นอก จากนั้น เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า มุมมองต่อการแข่งขันแบบไทยๆมักวนเวียนอยู่แค่กรอบของ “ตัวบุคคล” ไม่ค่อยมีมุมมองในกรอบขององค์กร หน่วยงาน ทีม หรือกระทั่งระดับประเทศ
เรา จึงมักมีภาพจางๆของสังคมที่แข่งขันสูงว่าเป็นสังคมที่ไม่ สงบ ทุกข์ร้อน ผู้คนในสังคมต่างจำเป็นต้องแย่งชิงสิ่งต่าง ชิงดีชิงเด่นระหว่างกัน อิจฉาริษยา มีชีวิตที่เร่งรีบ ไม่รู้จักคำว่าความสุข ไม่เคยเห็นความงามของโลกมนุษย์ฯลฯ
ทั้งที่ความจริงแล้วมัน “ไม่ใช่” และไม่จำเป็นจะต้องเป็นเช่นนั้น
มุม มองต่อการแข่งขันในสังคมไทย ล้วนเกิดจากการ“เชื่อมโยง” เอาเองตามความรู้สึกของคนไทย ที่มองออกไปนอกบ้านอย่างผิวเผิน ซึ่งมุมมองและท่าทีเช่นนี้จำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยน หากสังคมไทยยังอยากจะเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง
เพราะ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ โลกทุกวันนี้มันหมุนไปด้วยการแข่งขัน (ขออภัยที่ต้องพูดความจริงที่อาจตรงเกินไป) ไม่ว่าจะในระบบประเทศ ในระดับองค์กร ในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม กีฬา การศึกษา หรือกระทั่งชีวิตประจำวันของผู้คน
ลองคิดถึงตัวอย่าง “ภาพฝัน” ของคนไทยแบบง่ายๆ
มี บ้านหลังเล็กๆอยู่กลางขุนเขา ปลูกผัก เลี้ยงไก่ เอาขี้ไก่ไปเลี้ยงปลา อยู่ง่าย กินง่าย ไปวันๆ (นี่คือภาพแบบไทยๆ ที่อยู่ตรงข้ามคำว่าการแข่งขันเสมอ)
ถามว่าเราอยู่ได้ดี โดยไม่ต้องมีการแข่งขัน … จริงหรือ ?
ถ้าไม่มีการแข่งขัน เมล็ดพันธุ์ผักของเราจะเอาจากไหน ราคาแพงแค่ไหนเราก็จะซื้อมางั้นหรือ ?
แล้วอาหารไก่ล่ะ จะเอาจากไหน ?
ไก่ออกไข่ เราจะเอาไปขาย มีพ่อค้ามารับซื้อคนเดียว ให้ราคาฟองละ 50 สตางค์ เราจะมีความสุขไหม ?
จับปลามาทอดกิน แก๊สราคาแพง จะกลับไปใช้เตาถ่านกันไหม ?
ผมจึงเชื่อของผมเองว่า เราอยู่ในโลกที่หนีการแข่งขันไม่พ้นเสียแล้ว ไม่ว่าเราจะชอบความจริงข้อนี้หรือไม่
ที นี้ถามว่า ถ้าเราสมาทานลัทธิการแข่งขันนิยมเข้ามาอย่างเต็มตัว แปลว่าคนในสังคมเราจะพากันไปฆ่าตัวตายหมู่อย่างในญี่ปุ่น หรือจะต้องเป็นมนุษย์บ้าเงินตราเหมือนคนอเมริกันแถววอลสตรีทกันไปหมดหรือ เปล่า
คำตอบคือไม่จำเป็น
ใครที่ชอบคิดว่า สังคมอเมริกันแข่งขันสูง บ้างาน บ้าเงิน ชีวิตไม่มีความสุข หวาดระแวง แทงข้างหลัง หักโหม ฯลฯ ขอให้ลองถามเพื่อนรอบข้างที่เคยไปทำงาน หรือไปเรียนดู แล้วจะรู้ว่ามันตรงข้ามกับความเข้าใจเราอย่างสิ้นเชิง
คน อเมริกัน (ชั้นกลาง ส่วนมาก) มีบ้านหลังใหญ่ ไม่ต้องทำงานในวันหยุดยาว ไม่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อเบียดขึ้นรถตู้ นอนในรถ กินข้างถนน พวกเขาตื่นตีห้าออกมาจ๊อกกิ้งท่ามกลางต้นไม้นับร้อยทุกวัน กินอาหารเช้าพร้อมหน้าทั้งครอบครัว ขับรถเข้าที่ทำงานแล้วเดินไปซื้อสตาร์บักส์กิน จึงค่อยเริ่มงานตอนเช้า พวกเขามีเวลาดูทีวี อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกาย มีเวลาสนใจเรื่องราวรอบตัว มากกว่าชีวิตคนชั้นกลางแบบไทยๆ แน่นอน
ถาม ว่าทำไมเขาจึงใช้ชีวิตเช่นนั้นได้ คำตอบแบบง่ายๆคือการหันไปถามตัวเองว่าเราต้องขายข้าวกี่กระสอบ ขายน้ำแข็งยูนิตกี่ถุง ขายชาเขียวกี่ขวด จึงจะได้มูลค่าเท่ากับซอฟแวร์วินโดว์สหนึ่งแผ่น หรือกาแฟสตาร์บักส์หนึ่งแก้ว ?
ดังนั้นจะแปลกอะไรถ้าอเมริกันจะทำงานและเหนื่อยน้อยกว่าเรามาก ในเมื่อเขาทำงานหนึ่งชิ้น มีมูลค่าเท่ากับเราทำสิบชิ้น
ถามต่อว่าทำไมเขาจึงทำได้เช่นนั้น เพราะเขาฉลาดกว่า ? เพราะเขามีความรู้มากกว่า ? เพราะเขามีผมสีทอง ?
คำ ตอบมีหลายสาเหตุ แต่สิ่งสำคัญอันหนึ่งคือสังคมเขามีรากฐานเชื่อมั่นใน “การแข่งขัน” ซึ่งอันที่จริงควรพูดด้วยว่าสังคมในโลกสมัยใหม่แทบทุกแห่ง ล้วนให้คุณค่ากับการแข่งขันกันทั้งนั้น (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินเดีย เวียดนาม ฯลฯ)
เอาเฉพาะสังคมอเมริกัน พวกเขาแข่งกัน “ผลิต” อะไรสักอย่างให้มันดีที่สุด เจ๋งที่สุด สุดยอดที่สุด ด้วยความเชื่อมั่นว่าสิ่งนั้นจะทำกำไรได้มากที่สุดในตลาด ซึ่งจะทำให้เขาได้รับผลตอบแทนคุ้มค่ากับความเหนื่อย
และด้วยปรัชญาเช่นนี้เอง จึงทำให้พวกเขามุ่งมั่นคิดค้น “ความเป็นที่สุด” ในหลายๆด้าน ตั้งแต่กาแฟ(ซึ่งเอามาจากอิตาลี) ไปจนถึงไอแพด
หลัง จากสงครามครั้งใหญ่ ทั้งญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ รู้ตัวดีว่าหากไม่มุ่งมั่นผลิตอะไรสักอย่างที่ “เจ๋ง” ออกมาขาย “แข่ง” กับคนอื่น ประเทศคงล่มจม อดตายกันทั้งเมืองแน่ๆ
ส่วนสิงคโปร์ไม่ต้องพูดถึง ประเทศที่ต้องซื้อน้ำจืดจากเพื่อนบ้านทุกวัน หากไม่ “แข่งกันหาเงิน” แล้วจะเอาชีวิตรอดกันอย่างไร
กลับมาดูเมืองไทย
จากประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจที่ผมได้สัมผัส ผมพบว่าธุรกิจไทยแข่งกันแบบ “ไทยๆ” ซึ่งไม่ค่อยเหมือนใครในโลก (เช่นเคย)
ธุรกิจไทยมักไม่ค่อยมีแนวคิดแข่งขันกันผลิตสิ่งที่ “เจ๋ง” และให้รางวัลกับคนที่ทำได้ “เจ๋งที่สุด”
ใน ทางกลับกัน เรามักเน้นหนักไปทางด้านการประนีประนอมกับคู่แข่ง ประนีประนอมกับลูกค้า และเน้นที่สุดในด้านภาพลักษณ์ ต้องดูดี ต้องสง่า ต้องดูเป็นธุรกิจที่ดีน่าเคารพนับถือ ทุกสิ่งรอบตัวเราไกล่เกลี่ยได้ แบ่งๆ กันบ้าง ไม่ก็ช่วยๆ กันไป
ใครที่ “แข่ง” กับเรามากๆ เรามักมองว่า “แม่งบ้า” หรือ “จะจริงจังไปมั้ย” หรือหลายครั้งพาลมองเป็น “ศัตรู” ไปเสียเลย ทั้งที่จริงแล้วคู่แข่งขันของเรา ไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกับเราเลยด้วยซ้ำ (โรเจอร์ เฟดเดอเรอ กับ ราฟาเอล นาดาล ??)
นอกจากนั้น ที่น่าสนใจที่สุดคือ เรายังเน้นการทำธุรกิจเชิง “อุปถัมภ์”
หมาย ความว่าหากเราเลือกได้ เราไม่อยากแข่งหรอก แต่ถ้าจะต้องแข่ง เราก็จะแข่งเพื่อเอาชนะใจใครบางคน เพื่อให้ได้รับการ “อุปถัมภ์” จากคนผู้นั้น (ส่วนคนผู้นั้นเกิดมามีบุญ จึงได้เป็นผู้อุปถัมภ์ ไม่ต้องแข่งกับใครเขาให้เหนื่อย)
ส่วนรางวัลที่ได้จาก การแข่งขัน ก็มักถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “การอุปถัมภ์” ทั้งที่จริงแล้วผู้ชนะการแข่งขันก็สมควรได้รับรางวัลตอบแทนตามกติกาปกติ มิใช่เรื่องของการอุปถัมภ์แต่อย่างใด
ด้วยเหตุนี้ ในแวดวงธุรกิจจึงพบได้เสมอว่าต่างคนต่างแข่งกันเอาใจ “ผู้ใหญ่” แทนที่จะเอาเรี่ยวแรงกำลังไปแข่งกัน “ผลิตสิ่งที่เจ๋งที่สุด”
ปัญหาจึงเกิดได้ง่าย เพราะ “ใจผู้ใหญ่” อาจเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา หรืออาจไม่เป็นไปอย่างที่ถูกที่ควร
เราจึงพบได้บ่อยๆว่า ธุรกิจอเมริกันจะตั้งเป้าไว้ที่ “กำไรสูงสุด” เสมอ ซึ่งทำให้วัดผลง่าย ชัดเจน เป็นธรรม
แต่ธุรกิจไทยอาจตั้งเป้าไว้ที่การ “สนองนโยบาย” ของผู้ใหญ่
ด้วย เหตุนี้ เราจึงยินดี “ประนีประนอม” กับคู่แข่งของเรา หากมันคือสิ่งที่จะทำให้ผู้ใหญ่พึงพอใจ เพราะเรามองว่าเป้าหมายในสนามไม่ใช่การชนะการแข่งขัน
แต่คือการชนะใจผู้ใหญ่ (ดูตัวอย่างได้จากหลายวงการ … ที่ไม่อาจเอ่ยนาม)
นอกจากนั้น เรายังชอบมองว่าลูกค้ามี “บุญคุณ” มากเกินจริง ที่ต้องนอบน้อมตอบแทนกันไม่จบสิ้น
และในทางกลับกันเมื่อเราเป็นลูกค้า เราก็ชอบ “เบ่ง” เกินตัว
เพราะเราเชื่อว่าการ “ให้รางวัล” จากการแข่งขัน คือการ “อุปถัมภ์” อย่างหนึ่ง
และ ด้วยแนวคิดระบบอุปถัมภ์เช่นนี้ ทำให้คนไทยไม่ค่อยเชื่อในเรื่อง “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” เพราะเราเชื่อกันลึกๆว่าโลกนี้มันมีของฟรี (สิวะ) เพียงแต่ต้อง “ขอ” ให้ถูกคน
ทั้งที่จริงๆแล้ว “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” หรอก
เพียงแต่ของฟรีที่เราได้นั้น เขาคิดรายจ่ายพร้อมกำไรไปแล้วในแง่มุมอื่น
ทีนี้หลายคนอาจสงสัยว่า … เราจะแข่งกันไปทำไม ไม่เหนื่อยหรือ ?
เป็นความจริงที่การแข่งขันทำให้คนในสนามเหนื่อย คนทำงานเหนื่อย
แต่เราต้องไม่ลืมว่ายังมีอีกด้านหนึ่งของเหรียญ มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่จะได้ประโยชน์จากการแข่งขัน
นั่นคือ “ผู้บริโภค”
การแข่งขัน ทำให้เราเหนื่อยเวลาทำงาน
แต่เลิกงานแล้วก็จะได้ “สิ่งดีๆ” ที่อยู่รอบตัว ซึ่งคนอื่นก็แข่งกันผลิตของดีๆมาให้เราใช้เช่นกัน
ฟุตบอลยุโรปที่คนไทยชื่นชอบเพราะมันดูสนุกนั้น ก็เป็นเพราะการแข่งขันกันเป็น “ที่หนึ่ง” อย่างรุนแรง
สิ่ง ที่ทำให้นักฟุตบอลระดับโลกเหล่านั้นมีฝีเท้าระดับเทพ ไม่ใช่เพราะพวกเขาทำบุญมาดีแล้วเกิดมาเป็นเทวดา แต่เป็นเพราะการแข่งขันในสังคมของเขาสูงมาก และเดิมพันรางวัลก็สูงมากพอ (โดยไม่ต้องคิดว่าใครจะมาอุปถัมภ์) ที่จะทำให้พวกเขาทุ่มเทชีวิตเล่นฟุตบอลให้ดีที่สุด
นักดนตรีระดับโลก
เชฟทำอาหารระดับโลก
นักวิจัยระดับโลก
ดารานักแสดงระดับโลก
หรือกระทั่ง .. นักการเมืองระดับโลก
ไป ดูเถิดครับ สิ่งที่เป็น “ระดับโลก” ทั้งหลายนั้น เกิดขึ้นได้เพราะปรัชญาการแข่งขันเพื่อสร้าง “สิ่งที่ดีที่สุด” ทั้งนั้น (ส่วนเราจะนิยามคำว่า ดีที่สุด อย่างไร ก็ค่อยมาถกเถียงกันต่อไป)
และด้วยเพราะสังคมไทยยังไม่เชื่อในพลังของการแข่งขัน เราจึงยังไม่มีสำนึกถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภค
เรายินดีจะทำงานเฉื่อยๆ เพื่อกลับบ้านไปแบบมึนๆ
เสพสิ่งรอบตัวแบบไทยๆ ชีวิตไม่ต้องเจ๋งไปเสียหมดหรอก หนักนิด เบาหน่อย ก็ปล่อยๆ กันไป
เละบ้าง มั่วบ้าง ห่วยบ้าง อย่าไปเครียด
(แต่เราชอบ iPhone 4 มาก และอยากให้แม่น้ำลำคลองใสสะอาดเหมือนในเกียวโต)
ยิ่งกว่านั้น หลายครั้งเราลืมไปด้วยซ้ำว่าหลายปัญหาในโลกนี้ สามารถแก้ได้ง่ายๆด้วยการเพิ่ม “ระดับการแข่งขัน” ให้สูงขึ้น
ตัวอย่างเช่น
ถ้าเรารู้สึกว่าค่าไฟที่จ่ายทุกวันนี้แพงเกินไป เราควรส่งเสริมให้มีผู้ผลิตไฟฟ้าขายในประเทศเพิ่มมากขึ้น
หรือ ถ้าเราคิดว่าราคาข้าวมันต่ำเกินไป เราควรทำให้ “คนซื้อข้าว” มีจำนวนมากขึ้น (เช่น ลดจำนวนผู้ซื้อรายใหญ่ เพิ่มทางเลือกในการขนส่ง สร้างโอกาสให้ผู้ขายได้สต๊อกสินค้าเอาเอง ฯลฯ)
ด้วยความที่เรา ไม่เคยมองประโยชน์ของการแข่งขัน ทำให้เรายังต้องนั่งรถเมล์เก่าๆ คนขับแย่ๆ รถตู้ป้ายดำ รถไฟที่ไม่เปลี่ยนแปลงมาหลายสิบปี จ่ายค่าไฟแบบไม่ต้องตั้งคำถาม และสวดภาวนาขอให้เทวดาประทาน 3G ลงมาจากสวรรค์
ด้วยเหตุนี้
ผมจึงได้แต่หวังให้สังคมไทยเปลี่ยนมุมมองต่อคำว่า “การแข่งขัน” เสียใหม่บ้าง เพื่อให้เรามีท่าทีต่อมันให้เหมาะสมกว่านี้
เปล่า – ผมไม่ได้บอกให้เราเฮโล พากันไปวิ่งแข่งอย่างไม่ลืมหูลืมตา ขอทุกคนจงเป็นมนุษย์บ้างาน ทำงานกันให้คลุ้มคลั่ง
เราสามารถแข่งกันคิดเลขได้ เลิกแข่งแล้วก็ไปกินเบียร์กัน
เราสามารถแข่งกันทำอาหารสุดอร่อยได้ เลิกแข่งแล้วก็ไปเที่ยวทะเล
เราสามารถแข่งกันผลิตปูนซีเมนต์ แสดงหนัง ทำวิจัยทางทะเล ถ่ายภาพโฆษณา หรือกระทั่งกวาดถนน
เราแข่งกันเป็น “ที่สุด” ได้เสมอ โดยไม่เกี่ยวอะไรกับการมีชีวิตแย่ๆ
เพราะ แก่นของ “การแข่งขัน” มันน่าจะอยู่ที่การเชื่อมั่นใน “การทำอะไรด้วยตัวเอง” และตั้งใจทำสิ่งนั้นอย่าง “เอาจริงเอาจัง” ให้มากที่สุด
แทนที่เราจะเห็นภาพ “การแข่งขัน” เป็นคนใส่สูทผูกไทค์ พูดจาตลบแตลง ปัดขา หักหลัง เพื่อแสวงหาทรัพย์สินเงินทอง
ผม คิดว่าภาพของชายชาวญี่ปุ่นหนึ่งคน นั่งเงียบๆอยู่คนเดียวเป็นแรมเดือน เฝ้าเพียร “ตีดาบซามูไร” ให้คมกริบ จนกลายเป็นอาวุธที่ยอมรับกันว่าดีที่สุดในโลก น่าจะเป็นภาพแทนการ “แข่งขัน” ได้เป็นอย่างดี
เพราะมันคือการเพียรพยายามทำอะไรสักอย่างให้ “ดีที่สุด”
และยังนับได้ว่าเป็นการแข่งกับตัวเอง … เงียบๆ คนเดียว