ที่มา thaifreenews
โดย bozo
สัญญาณล่าตัว "ทักษิณ" จากเมืองไทยแรง-เร็ว ส่งไปถึงนานาชาติ
ทำให้ปฏิกิริยาบางประเทศเปลี่ยนไป
อย่างน้อย นายฟาเบียง โบส์ซาร์
ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการเมืองและกิจการระหว่างประเทศ ฝรั่งเศส
ก็ยินดีที่จะ "ยกเลิก" กำหนดการบนพื้นที่โลกของ "ทักษิณ" ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา
ขณะที่ฝ่าย "ทักษิณ" ให้ข่าว "อ้างความปลอดภัย" จึงไม่ปรากฏตัวที่เวทีสาธารณะแห่งนี้
เช่นเดียวกับกระทรวงการต่างประเทศ มอนเตเนโกร แผ่นดินแม่-ผืนใหม่ ของ "ทักษิณ"
ที่แสดงท่าที "ปราม" ไม่ให้เขาใช้แผ่นดินแห่งนี้เคลื่อนไหวทางการเมือง
ชื่อ "ทักษิณ" บนแผนที่การเมืองประเทศไทย อาจเงียบหายไปหลายชั่วยาม
และปรากฏตัวอีกหน ในสังคมทวิตเตอร์ ด้วยคีเวิร์ดมีนัย "ขอเจรจา"
และแสดงความ "จงรักภักดี"
แม้ไม่มีเสียง-ภาพปรากฏใน "สื่อไทย"
แต่ยังมีขบวนการสร้างชื่อทักษิณให้อยู่ในพื้นที่ "สื่อต่างประเทศ"
ผ่าน 2 บุคคลเบื้องหลัง ร่วมอำนวยการสร้าง
การส่งลูก-รับลูกจากทนายความ ต่างประเทศ
นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ถูกจับคู่กับทนายคู่ใจในเมืองไทย นายนพดล ปัทมะ
ทั้งความเคลื่อนไหวจากอังกฤษถึงปักกิ่ง
และเข้ากัมพูชา ลัดเลาะไปถึงมาเลเซีย เข้าสิงคโปร์ ออกไปปรากฏตัวที่ฮ่องกง
จากรัสเซีย-พันธมิตรเก่า
เข้า-ออกเมืองดูไบไปตั้งหลัก ใช้พาสปอร์ตประจำตัวอยู่ที่มอนเตเนโกร
ล่าสุด นายนพดล ปัทมะ
ส่งข่าวว่า "ทักษิณ" จะปรากฏตัวที่ประเทศมหาอำนาจ สหรัฐอเมริกา
ตามคำเชิญของคณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนของสหรัฐอเมริกา คือ
คณะกรรมาธิการด้านความมั่นคงและความ ร่วมมือในยุโรป (ซีเอสซีอี)
ซึ่งมีสมาชิกประกอบไปด้วยวุฒิสมาชิก จำนวน 9 คน
และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัฐสภาสหรัฐอเมริกา จำนวน 9 คน จากทุกพรรคการเมือง
ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ และผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐอเมริกา
"วุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกาได้ส่งหนังสือเชิญเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
เพื่อเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณไปให้การและเป็นพยาน
หลักฐานรายละเอียดในการไต่สวน กลางเดือนนี้
ที่กรุงวอชิงตัน เกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
โดยเฉพาะช่วงเหตุการณ์การปราบปรามและสลายการชุมนุมของประชาชน
ที่ชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองในเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา
ซึ่งมีพี่น้องเสียชีวิตกว่า 90 คน และบาดเจ็บสองพันกว่าคน" ข่าว-จากนพดลระบุ
ทนายฝ่ายไทยทำนายล่วงหน้าด้วยว่า
คณะกรรมาธิการต้องการติดตามปัญหาและเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดน ภาคใต้
ปัญหาการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพ ของสื่อสารมวลชน
โดยเฉพาะที่เกิด จากการคงไว้ซึ่ง พ.ร.ก.สถานการณ์ ฉุกเฉิน
ทุกความเคลื่อนไหวของ "ทักษิณ" ล้วนถูก "โลก" จับตา
และไม่พ้นไปจากสายตา
"สุณัย ผาสุข" ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของ Human Right Watch
"สุณัย" อธิบายปรากฏการณ์ "ทักษิณ" บนแผนที่โลก เที่ยวล่าสุดว่า
"การเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นไม่แปลก เพราะเป็นตัวแสดงหลักทางการเมืองไทย
ทั้งในฐานะผู้กระทำ จากสมัยที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
มีเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายเหตุการณ์ รวมทั้ง
อาจเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรง
ในการชุมนุมของคนเสื้อแดงในช่วงต้นปี ที่ผ่านมา
และในฐานะผู้ถูกกระทำ จากเหตุการณ์รัฐประหาร 2549
ซึ่งเขา อาจจะได้รับเชิญไปในฐานะโจทก์ หรือจำเลยก็ได้"
ช่องว่างและจุดอ่อนของรัฐบาลไทยในพื้น "ข่าวต่างประเทศ"
ทำให้ "ทักษิณ" แทรกตัวเข้าไปในแผนที่โลก
ในนามประเทศไทย ตามข้อวิเคราะห์ของ "สุณัย"
"การเชิญบุคคลไปให้การแบบนี้
ก็เป็นเพราะรัฐบาลไทยไม่ได้แข็งขันในการชี้แจงให้ชาวโลกรับทราบ
สถานการณ์สิทธิ มนุษยชนในไทย ซึ่งกรณีดังกล่าวต้องติดตามดูว่า
กรรมาธิการชุดนี้ได้เชิญตัวแทนจากรัฐบาลไทยไปชี้แจงด้วยหรือไม่
อาจจะมีการเชิญตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนพิเศษ
หรือกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือเชิญใคร
เพื่อให้มีข้อมูลหลายด้าน ไม่เฉพาะข้อมูลจาก พ.ต.ท.ทักษิณ"
สถานภาพของ "ทักษิณ" จากเคยเป็น ผู้ล่า กลายเป็นผู้ถูกล่า
จึงมีการคาดการณ์ว่า ชื่อของเขาอาจได้รับรองจากประเทศมหาอำนาจ หรือไม่
คำตอบของนักสิทธิมนุษยชน คือ "ยังต้องดูท่าทีของทางการสหรัฐ"
"ต้องดูว่า ฝ่ายบริหารจะให้วีซ่าเข้าประเทศหรือไม่
เพราะกรรมาธิการอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติ
ขณะที่การอนุญาตให้เข้าประเทศ เป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่แน่นอนว่า
ในฝ่ายการเมืองของไทย ก็พยายามจะทำให้เป็นประเด็นการเมืองว่า
สหรัฐอเมริกาเชิญอดีตนายกฯไปชี้แจง"
"หาก พ.ต.ท.ทักษิณได้วีซ่าเข้าสหรัฐอเมริกาจริง ก็มีประเด็นที่น่าสนใจว่า
เขาจะใช้พาสปอร์ตเล่มไหน จากประเทศใด ในการเข้าสหรัฐ รวมทั้งการขอวีซ่า
จะเป็นการขอวีซ่าจากสถานทูตสหรัฐอเมริกา ณ ประเทศใด มีที่อยู่ไหนเป็นหลัก"
เนื้อหาที่ "ทักษิณ" จะพูดบนเวทีโลก อยู่ในความใส่ใจของนักการเมือง
ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติในเมืองไทย
"สุณัย" ร่างสคริปต์ล่วงหน้าไว้ว่า
"เท่าที่ทราบจากข่าว การเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณไปให้การนั้น ไม่ได้มีเฉพาะประเด็น
กรณีเหตุการณ์ความรุนแรง
ในการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม
แต่มีประเด็นเหตุการณ์ภาคใต้และ
ปัญหาการละเมิด สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
และเสรีภาพของสื่อสารมวลชน"
"รวมทั้งเรื่อง พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน จะยังขาดไปก็คือ
เหตุการณ์ฆ่าตัดตอนในช่วงนโยบายปราบปรามยาเสพติด
ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณน่าจะเป็นจำเลยใน หลายเหตุการณ์
เพราะสหรัฐก็มีข้อมูลว่า
พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นผลงาน สมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณมีอำนาจฝ่าย บริหาร
และออกมาโดยไม่ผ่านสภา
ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ ไม่ต้องรับผิด"
ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า "ทักษิณ" จะอยู่ในเวทีประเทศมหาอำนาจในฐานะใด
สุณัย-ตั้งประเด็นว่า
"บางที พ.ต.ท.ทักษิณอาจจะเป็นจำเลยมากกว่าเป็นโจทก์ อย่างไรก็ตาม ต้องดูว่า
รัฐบาลไทยจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร เช่น
หากได้รับเชิญเช่นกัน แล้วรัฐบาลจะส่ง ตัวแทนไปหรือไม่"
"เรื่องนี้เป็นที่สนใจของสหรัฐอเมริกา
เพราะไทยเป็นมิตรประเทศของสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และสหรัฐก็ให้ความสำคัญกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย ต้องเข้าใจว่า
เรื่องนี้ หากรัฐบาล ไม่แข็งขันในการให้ข้อมูล อย่างน้อย
ก็ควรจะมีข้อมูลความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนหาสาเหตุความเสียหาย
ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน"
"ควรมีข้อมูลแถลงออกมาเป็นระยะ โดยในซีกรัฐบาล
ควรจะบอกได้ว่า สอบพยานไปแล้วกี่ปาก หรือรูปแบบ อาวุธ วิถีกระสุน
ควรมีการรายงานเป็นระยะ
โดยมีเจ้าภาพในการแถลง อาจจะเป็นดีเอสไอ
หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
หรือ คอป.
หรือโฆษกที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา แต่ขณะนี้ยังหาเจ้าภาพ ไม่เจอ"
ในแผนที่โลก ทั้งฝ่ายทักษิณ ฝ่ายอภิสิทธิ์ ต่างมีเครือข่าย
และอำนาจที่ปรากฏตัว ทั้งเบื้องหน้า-เบื้องหลัง
ปรากฏการณ์การปรากฏตัวของ "ทักษิณ" ครั้งล่าสุด
"จึงเป็นช่องโหว่ให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลนำมาเป็นประเด็นการเมือง
และอย่าลืมว่า ทุกฝ่ายมีล็อบบี้ยิสต์" สุณัย-สรุป
แทบทุกจังหวะก้าว จังหวะคิดของ "ทักษิณ"
คนเสื้อแดงทั้งแผ่นดินได้ยิน- รับทราบและติดตาม
กลยุทธ์การเคลื่อนไหว มีทั้งใต้ดิน- บนดิน และกลางอากาศ
ผีเสื้อขยับปีกที่เมืองไทย อาจทำให้เกิดลมพายุที่มอนเตเนโกร
http://www.prachachat.net/view_news.php?newsid=02pol01091253§ionid=0202&day=2010-12-09