WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, January 4, 2011

นิธิ เอียวศรีวงศ์: กองทัพกับการเมืองไทย (2)

ที่มา ประชาไท

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นอกจากกองทัพแล้ว ใครเป็น "หุ้นส่วน" ในการเมืองไทยในปัจจุบันบ้าง?
ผมคิดว่ามีดังต่อไปนี้คือ อำนาจนอกระบบ, ทุน อันประกอบด้วยทุนธนาคาร, ทุนอุตสาหกรรม และทุนธุรกิจ บางส่วนของกลุ่มนี้อาจต้องรวมถึงนโยบายของมหาอำนาจตะวันตกด้วย เพราะถึงอย่างไรก็เชื่อมโยงกัน, ข้าราชการพลเรือนหรือเทคโนแครต (แต่นักเศรษฐศาสตร์บางท่านก็บอกว่าราชการไทยไม่เหลือเทคโนแครตอีกแล้ว) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการบริหารรัฐ จึงอาจต่อรองทางการเมืองได้สูง เพราะสามารถทำให้ผู้ได้อำนาจรัฐกลายเป็นง่อยไปได้ง่ายๆ, เทคโนแครตที่อยู่นอกระบบราชการก็มีบทบาทอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะอยู่ในตลาดหุ้น, มหาวิทยาลัย, หรือบริษัทเอกชน
คนเหล่านี้มีช่องทางในการ "ส่งเสียง" ของตน ทั้งที่เป็นคำพูดและการกระทำได้มาก ผมจึงขอรวมปัญญาชนไว้ในกลุ่มนี้ด้วย, คนชั้นกลาง ส่วนใหญ่คือพวกที่เป็นคนงานคอปกขาว พวกนี้เริ่มมีบทบาทอย่างเห็นได้ชัดมาตั้งแต่ 14 ตุลา และกลุ่มสุดท้ายคือสื่อ จะนับกลุ่มนี้ว่าอยู่ในกลุ่มทุนธุรกิจก็ได้ เพื่อสื่อในทุกวันนี้ล้วนเป็นการประกอบธุรกิจล้วนๆ ไปแล้ว แต่ผมนึกถึงคนทำงานสื่อ ซึ่งที่จริงก็คือคนงานเสื้อขาวประเภทหนึ่ง แต่เป็นพวกที่มีโอกาส "ส่งเสียง" มากกว่าคนงานเสื้อขาวธรรมดามาก และเสียงที่ส่งออกมาก็อาจไม่ตรงกับนายทุนเจ้าของสื่อเสมอไป, และแน่นอนมีกองทัพอยู่ด้วย
ต่อไปผมอยากพูดถึง "พลวัต" ของการเมืองไทย ที่มาจากการขยับขับเคลื่อนของ "หุ้นส่วน" หรือ "พันธมิตร" ของกองทัพ จะเห็นได้ว่าแต่ละกลุ่มที่ยกข้างบนนั้น ต่างเผชิญความเปลี่ยนแปลงในสังคม และทำให้ต้องขยับขับเคลื่อนปรับเปลี่ยนบทบาททางการเมืองของตนไปอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นความสัมพันธ์กับกองทัพจึงต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย
อำนาจนอกระบบก็เหมือนกองทัพ กล่าวคือไม่ได้ลอยอยู่ต่างหากออกไปจากระบบการเมือง และหาได้มีอำนาจเด็ดขาดเหนือการเมืองไม่ ยังต้องอาศัยการผูก "พันธมิตร" กับกลุ่มอื่นๆ เหมือนกัน หากไม่ร่วมมือกับกลุ่มอื่นแล้ว การเมืองก็อาจเปลี่ยนไปในทางที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่นรัฐประหารใน พ.ศ.2520 เป็นผลให้เกิดรัฐบาลที่พยายามประนีประนอมกับกลุ่ม "หุ้นส่วน" ต่างๆ มาก "เกินไป" จนอาจจะทำให้เสียดุลแห่งอำนาจในช่วงนั้นไปได้ ต้องรอกว่าการจัดระบบจะเข้าที่เข้าทางมากขึ้นในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จึงเป็นที่วางใจแก่อำนาจนอกระบบได้
ผลจากการที่ทักษิณ ชินวัตร สามารถตั้ง ผบ.ทบ.ได้เอง บวกกับความแตกร้าวใน "สาย" ต่างๆ ของกองทัพหลังจากนั้น ย่อมกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและอำนาจนอกระบบ เพราะจำเป็นต้องถือข้างสายใดสายหนึ่งจนได้ เท่ากับเข้าไปอยู่ในความแตกร้าวของกองทัพเอง กองทัพเคยแตกร้าวมาแล้ว แต่อำนาจนอกระบบไม่จำเป็นต้องถือข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างออกหน้า และไม่ว่าผลที่สุดสายใดจะขึ้นก็ไม่ถึงกับคุกคามสถานะของอำนาจตนเองนัก สถานการณ์จึงดูคล้ายกับช่วงที่เกิดความพยายามจะยึดอำนาจในเหตุการณ์ที่เรียกว่า "เมษาฮาวาย" ขึ้นใหม่
สถานะของทุนในพื้นที่ทางการเมืองในช่วงนี้ อาจถือได้ว่ามีความมั่นคง ไม่ว่าจะออกหัวหรือออกก้อย ทุนก็ยังสามารถคุมการเมืองในระดับที่น่าพอใจ ทุนให้การอุดหนุนพรรคการเมืองทุกพรรคอยู่แล้ว และถึงจะมีการรัฐประหารโดยกองทัพ ทุนก็คงร่วมด้วยมาแต่ต้น และอย่างไรเสียทุนย่อมเข้าถึงคณะรัฐประหารได้อย่างแน่นอน ทุนจึงไม่เป็นปัญหาแก่กองทัพ และกองทัพก็ไม่เป็นปัญหาแก่ทุน
ทุนไม่กลัวเสื้อแดง ตราบเท่าที่แกนนำเสื้อแดงเป็นนักการเมืองในระบบ แต่น่าวิตกแก่ทุนมากกว่าก็คือเสื้อแดงอาจเปลี่ยนแกนนำไปสู่แกนนอน เพราะ "ความเป็นธรรม" ที่แกนนอนเรียกร้องดูจะมากกว่าทักษิณ "ความเป็นธรรม" ประเภทนั้นแหละที่ทุนไม่อยากเห็น แต่ถึงอย่างไรกองทัพในฐานะ "พันธมิตร" ก็น่าจะเอาอยู่ แม้จะเอาอยู่แบบเฉิ่มๆ บ้างเช่นจับรองเท้าแตะ และจับเสื้อยืดก็ตาม
ผมจะไม่พูดถึง "หุ้นส่วน" อื่นๆ อีก เพราะในช่วงนี้ ลักษณะความสัมพันธ์กับกองทัพคงไม่เปลี่ยน ยกเว้นแต่จะเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น ที่ทำให้ "พันธมิตร" เหล่านี้ต้องปรับเปลี่ยนท่าทีต่อกองทัพอย่างฉับพลัน เช่นเกิดเหตุการณ์ประเภทพฤษภามหาโหด สื่อย่อมเปลี่ยนท่าทีของตนเองทันที
ความสัมพันธ์กับกองทัพที่มีพลวัตสูงก็คือกลุ่ม "คนชั้นกลาง" เพราะที่จริงแล้วสัดส่วนของพื้นที่ทางการเมืองที่คนชั้นกลางช่วงชิงมาได้นั้น ไม่เกี่ยวอะไรกับกองทัพ ตรงกันข้ามด้วยซ้ำที่กองทัพกลับไปหดพื้นที่นี้ลง
อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าคนชั้นกลาง ไม่ว่าในสังคมใดก็ตาม ย่อมมีความหลากหลายอย่างมาก หลากหลายในแง่ผลประโยชน์, จินตนาการ, ระบบคุณค่า, วัย, รวมทั้งชาติพันธุ์และศาสนาด้วย ในระยะประมาณ 20 ปีมานี้ คนชั้นกลางขยายตัวขึ้นอย่างมากและรวดเร็วในสังคมไทย และทำให้คนชั้นกลางยิ่งมีความหลากหลายสูงขึ้น และด้วยเหตุดังนั้นคนชั้นกลางจึงไม่เป็น "พันธมิตร" ทางการเมืองที่ดีของกลุ่มใดเลย ผิดจากเมื่อช่วง 14 ตุลา ซึ่งยังมีคนชั้นกลางจำนวนน้อย และมีความหลากหลายน้อย (ส่วนใหญ่เป็นหรือจะเป็นคนงานคอปกขาว) หลายกลุ่มจึงมาร่วมเป็น "พันธมิตร" กับคนชั้นกลาง เพื่อโค่นล้มผู้นำกองทัพออกไป
พื้นที่ทางการเมืองของคนชั้นกลางระดับบนได้รับประกันค่อนข้างมั่นคงในระบบการเมือง แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก คนชั้นกลางต้องการขยายพื้นที่ให้กว้างขวางขึ้น เพื่อจะได้สามารถกำกับควบคุมการเมืองได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ (ประชาธิปไตยทางตรง, รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน, นายกฯพระราชทาน, ความเสมอภาค, การเลือกตั้งเป็นตัวตัดสินเด็ดขาด ฯลฯ)
แต่คนชั้นกลางกลุ่มนี้ แม้ได้เรียกร้องการเลือกตั้งมานาน แต่ที่จริงแล้วกลับไม่ชำนาญในระบบเลือกตั้งมากนัก มาพบว่าระบบเลือกตั้งไม่ประกันความมั่นคงในพื้นที่ทางการเมืองของตนนัก เพราะนักการเมืองซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของคนชั้นกลางระดับนี้สักเท่าไร แต่มีความเชี่ยวชาญกับกลไกการเลือกตั้งมากกว่า สามารถเก็บเกี่ยวคะแนนเสียงส่วนใหญ่ไว้ในมือได้ คนชั้นกลางแทบจะสูญเสียพื้นที่ทางการเมืองในระบบไปโดยสิ้นเชิง ถึงมีสื่อในมือ แต่รัฐบาล ทรท.ก็พิสูจน์ให้เห็นว่า สามารถจัดการกับสื่อได้ ปัญญาชนที่เคยยืนอยู่กับคนชั้นกลางกลายเป็นตัวตลกของทักษิณ คนชั้นกลางกลุ่มนี้จึงรู้สึกหมดตัวทางการเมือง
ไม่น่าแปลกอะไรที่พวกเขาหันกลับไปสนับสนุนกองทัพให้เข้ามามีบทบาททางการเมือง เพื่อถ่วงดุลนักการเมือง แม้แต่เรียกร้องให้กองทัพยึดอำนาจเสียเลย ก็ไม่แปลกอะไร เพราะการยึดอำนาจเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะสร้างระบบแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพได้ ปราศจากฐานความชอบธรรมที่แข็งแกร่ง คนชั้นกลางกลุ่มนี้ย่อมมีอำนาจต่อรองกับกองทัพเพิ่มขึ้น
ตรงกันข้ามกับคนชั้นกลางกลุ่มนี้ คือคนชั้นกลางที่เกิดใหม่และอยู่ในระดับต่ำกว่า (ทั้งในเชิงรายได้, ความมั่นคง, การศึกษา, และช่วงชั้นทางสังคม) การเมืองในระบบเลือกตั้งเป็นหนทางเดียวที่จะให้คนกลุ่มนี้ มีและขยายพื้นที่ทางการเมืองของตนได้ จึงเป็นธรรมดาที่คนกลุ่มนี้ย่อมหวาดระแวงและไม่ไว้ใจกองทัพซึ่งขัดขวางผลของการเลือกตั้งอยู่เสมอ คนชั้นกลางระดับล่างเหล่านี้มีจำนวนมากจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น จึงเป็นฐานคะแนนเสียงใหญ่ของนักการเมืองทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่น นอกจากนี้ในปัจจุบันก็ชัดเจนว่า คนชั้นกลางระดับล่างเป็น "ตลาด" ที่สำคัญของสื่อ ไม่ใช่ชาวบ้านนอกที่ไม่เคยดูข่าวหรืออ่านหนังสือพิมพ์ อย่างสมัยก่อนอีกต่อไป
ไม่แต่เป็นเพียงฐานคะแนนเท่านั้น คนชั้นกลางระดับล่างเหล่านี้ยังเป็นฐานอำนาจต่อรอง ที่นักการเมืองอาจใช้กับกองทัพได้ด้วย นักการเมืองในระบบไม่อาจถูกขจัดออกไปง่ายๆ ด้วยอำนาจรัฐประหารอย่างที่เคยเป็นมา อย่างน้อยก็มีคนชั้นกลางระดับล่างที่ต่อต้านอย่างแข็งขัน สายสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับคนชั้นกลางกลุ่มนี้ก็นับว่าน่าสนใจ การขยายพื้นที่ของกองทัพในการเมืองดังที่เป็นอยู่ขณะนี้ ทำให้ทั้งสองฝ่ายกลับต้องร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเหนียวแน่น แต่ไม่ได้หมายความว่านักการเมืองจะสามารถชี้นำคนชั้นกลางระดับล่างได้ตลอดไป ในสถานการณ์ที่มีทางเลือกทางการเมืองมากกว่านี้ คนชั้นกลางระดับล่างเสียอีกที่น่าจะชี้นำนักการเมืองได้มากกว่า
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดแก่ตัวละครต่างๆ เหล่านี้ ทำให้กองทัพอยู่ในฐานะลำบากพอสมควร อำนาจทางการเมืองที่กองทัพครอบครองอยู่เวลานี้ มี "พันธมิตร" ที่เอาจริงเอาจังด้วยเพียงกลุ่มเดียว คือคนชั้นกลางระดับบน ซ้ำยังอาจไม่พร้อมเพรียงกันนักด้วย การจัดสรรอำนาจเช่นนี้ทำให้อำนาจต่อรองของกองทัพกับนักการเมืองลดลงไปเรื่อยๆ ด้วย ในระยะแรกอาจมีมาก แต่นานวันไป อย่างไรเสียนักการเมืองก็ต้องโอนอ่อนต่อเสียงเรียกร้องของสังคม ไม่มากก็น้อย ในที่สุดก็ไม่สามารถตามใจกองทัพได้ตลอดไป ดังเช่นการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วยความลังเลใจของกองทัพในครั้งนี้เป็นต้น (ต่อรองกันจนเป็นการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง)
ในขณะที่ "หุ้นส่วน" ที่ดูเหมือนเป็น "พันธมิตร" ด้วยนั้น ก็วางใจไม่ได้ (ทุน, สื่อ, ปัญญาชน, เทคโนแครต, ข้าราชการพลเรือน ฯลฯ) อย่างดีก็เพียงยอมให้กองทัพมีส่วนแบ่งทางการเมืองไม่มากไปกว่านี้ หรืออาจต้องการให้น้อยกว่านี้ด้วย เพราะภาวะผู้นำทางการเมืองที่กองทัพแสดงออกแต่ละครั้งนั้นดูจะไร้เดียงสาเกินไป
เพราะหาความชอบธรรมยากขึ้นที่จะรักษาพื้นที่ทางการเมืองเอาไว้ คงเป็นเหตุผลสำคัญที่กองทัพต้องเน้นอุดมการณ์ "รักษาราชบัลลังก์" อย่างหนักและดังที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ปราศจากศัตรูที่ชัดเจนเช่นสมัยที่ยังมี พคท.อยู่ น่าสงสัยว่าอุดมการณ์นี้จะเพียงพอหรือไม่ ที่จะรักษา "พันธมิตร" ไว้ได้นานๆ
โดยนัยยะของบทความนี้ ก็เห็นแล้วว่าบทสรุปของผมก็คือ "หุ้นส่วน" ทางการเมืองทุกรายย่อมเป็นตัวละครอิสระ มีความต้องการของตนเอง มีผลประโยชน์ของตนเอง และมีเป้าหมายทางการเมืองของตนเอง ไม่สอดคล้องกับ "หุ้นส่วน" รายอื่นในทุกกรณีไป แต่ก็อาจร่วมมือกันเฉพาะกิจ เพื่อบรรลุเป้าหมายของแต่ละฝ่ายที่ไม่ขัดแย้งกันได้ ชนะแล้วก็ยังต้องมาต่อรองจัดสรรกันใหม่ทุกครั้งไปด้วย จึงไม่มีใครเป็นเครื่องมือของใครอย่างสยบราบคาบเด็ดขาด
ที่มา: มติชนออนไลน์ วันที่ 03 มกราคม พ.ศ.2554