WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, January 18, 2011

นิธิ เอียวฯ:ทางตันและทางออกของชนชั้นนำไทย (2)

ที่มา Thai E-News


หากชนชั้นนำต้องการปรับตัว..ควรผลักดันให้มีการเลือกตั้งทั่วไปโดยเร็ว และไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ก็ต้องยอมรับผลนั้นโดยไม่แทรกแซง ควรเลิกอุ้มพรรคการเมืองที่ไม่มุ่งจะเล่นการเมืองในระบบเลือกตั้งเสียที..แต่ในความเป็นจริงแล้ว โอกาสที่จะเกิดขึ้นได้มีน้อยมาก


โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
ที่มา มติชน

เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่อเกิดคนกลุ่มใหม่จำนวนมากที่ต้องการเข้ามาแบ่งพื้นที่ทางการเมืองบ้าง ชนชั้นนำสามารถปรับตัวให้ทันการณ์ได้หรือไม่?

โอกาสเช่นนั้นเกิดขึ้นได้เหมือนกัน แต่ไม่ง่ายนัก และมักจะมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่กดดันชนชั้นนำร่วมไปด้วย

ดังกรณีอังกฤษหลังการปฏิวัตินองเลือดของครอมแวลล์ ชนชั้นนำสามารถประนีประนอมกันเองได้ เพื่อปราบปรามฝ่ายปฏิวัติ ในขณะเดียวกันก็จำกัดอำนาจของสถาบันกษัตริย์ลง โดยเชิญเจ้านายต่างประเทศขึ้นครองบัลลังก์ แล้วสร้างอำนาจที่แข็งแกร่งของสภาขึ้น

แต่เพราะชนชั้นนำอังกฤษมีรากฐานของผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน ชนชั้นนำจึงไม่ได้ประสานกันจนเป็นกลุ่มก้อนเนื้อเดียวกันนัก การแข่งขันของชนชั้นนำในสภาจึงเป็นผลให้ขยายสิทธิประชาธิปไตยออกไปกว้างขึ้นเรื่อยๆ เพื่อดึงเสียงสนับสนุนจากประชาชนระดับล่าง ซึ่งกำลังต้องการพื้นที่ทางการเมืองของตนเองพอดี

แม้จะขัดแย้งกัน แต่ชนชั้นนำอังกฤษก็ยังมีฉันทามติร่วมกันอยู่อย่างน้อยสามประการคือ

1) รักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้เพื่อเป็นผู้อำนวยความชอบธรรมทางกฎหมายของอำนาจที่จัดสรรกัน และแย่งกันมาได้

2) แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีใครเรียกร้อง ม.7 เพราะทุกฝ่ายเห็นพ้องว่าต้องจำกัดอำนาจของสถาบันกษัตริย์เอาไว้

และ 3) ต้องหลีกเลี่ยงการปฏิวัติของประชาชนระดับล่าง


บทเรียนในสมัยครอมแวลล์ชี้ให้เห็นว่า การปฏิวัติจะนำมาซึ่งการรื้อทำลายโครงสร้างอำนาจจนเละเทะ

โอกาสแห่งความสำเร็จเช่นนี้ไม่เกิดกับชนชั้นนำรัสเซีย, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, และไทย

ในกรณีของไทย แม้ว่าก่อนการปฏิวัติใน พ.ศ.2475 ชนชั้นนำระดับบนแตกร้าวกันเองอย่างหนัก แต่ที่จริงแล้วรากฐานของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชนชั้นนำไทยในช่วงนั้น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คืออภิสิทธิ์จากกำเนิด

ความแตกร้าวจึงมาจากการแย่งชิงความโปรดปรานของอำนาจสูงสุด ไม่ใช่การปรับเปลี่ยนสังคมเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของตนเอง

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยจึงออกจะแข็งทื่อ ไม่สามารถปรับตัวเองเพื่อรองรับการขยายตัวของคนชั้นกลางผู้มีการศึกษาซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นได้

ชนชั้นนำไทยอาจมีชื่อเสียงในการปรับตัว เพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงที่มาจากภายนอก เช่นจักรวรรดินิยมของคริสต์ศตวรรษที่ 19 หรือสงครามมหาเอเชียบูรพา หรือสงครามเย็น

แต่ชนชั้นนำไทยไม่เคยแสดงความสามารถเท่ากันเมื่อต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่มาจากภายใน

ร้ายไปกว่านั้น ชนชั้นนำไทยยังไม่มีองค์กร, สถาบัน หรือเครื่องมือสำหรับการปรึกษาหารือระดมความคิด แต่กลับเคยชินกับการตัดสินใจของผู้นำที่ชาญฉลาดและมีบารมีเพียงคนเดียว ปราศจากผู้นำลักษณะนั้น ชนชั้นนำก็เหลือกลวิธีในการเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างเดียว คือความรุนแรงซึ่งมักจะทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง (ดังเช่นการจัดการกับ พคท.)

ฉะนั้น เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตแล้ว ความเป็นไปได้ที่ชนชั้นนำไทย จะปรับตัวเพื่อเผชิญวิกฤตที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงภายในในครั้งนี้ จึงดูจะเกิดขึ้นได้ยาก แต่ในทางตรงกันข้าม วิกฤตครั้งนี้ก็ดูจะไม่ร้ายแรงเท่ากับวิกฤตในอดีต

อย่างน้อยการเคลื่อนไหวของคนชั้นกลางระดับล่างไม่ได้มุ่งไปสู่การ "ปฏิวัติ" ไม่ถึงกับมุ่งจะโค่นล้มอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มอื่นอย่างเด็ดขาด จึงแตกต่างจากการเคลื่อนไหวของ พคท. ไม่น่ากลัวเท่าการเคลื่อนไหวของคณะราษฎร (ซึ่งในขณะนั้นถูกคนบางกลุ่มตีความว่าเป็นสาธารณรัฐนิยม) และไม่น่าหวั่นวิตกเท่ากับการเคลื่อนไหวของนักศึกษาหลัง 14 ตุลาด้วยซ้ำ

จนถึงนาทีนี้ คนเสื้อแดงเพียงแต่ต้องการเปิดพื้นที่ทางการเมืองผ่านระบบเลือกตั้ง และให้ทุกฝ่ายเคารพผลของการเลือกตั้งเท่านั้น

ในแง่นี้ หากชนชั้นนำต้องการปรับตัวเพื่อตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จึงไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไปนัก นั่นคือยอมให้การเมืองเลื่อนไหลเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยไม่ขัดขวางบิดเบือนอำนาจอธิปไตยอันเป็นของประชาชน

อย่างน้อยก็ต้องไม่ลืมว่า การเมืองระบอบนี้เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ต่อรอง และในเกมการต่อรอง ชนชั้นนำมีพลังในการต่อรองสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ

นับเป็นการสิ้นคิดอย่างมาก หากชนชั้นนำไปเข้าใจว่า เครื่องมือของการต่อรองมีแต่เพียงอำนาจดิบจากกองทัพ

ชนชั้นนำควรผลักดันให้มีการเลือกตั้งทั่วไปโดยเร็ว และไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ก็ต้องยอมรับผลนั้นโดยไม่แทรกแซง ไม่ว่าใครจะจัดตั้งรัฐบาล ชนชั้นนำก็ยังเป็นฝ่ายต่อรองได้สูงสุดอยู่นั่นเอง ชนชั้นนำจึงควรเลิกอุ้มพรรคการเมืองที่ไม่มุ่งจะเล่นการเมืองในระบบเลือกตั้งเสียที

การกลับคืนสู่บรรยากาศประชาธิปไตยยังหมายถึง การปลดปล่อยนักโทษทางมโนธรรมสำนึกซึ่งต้องจำขังหรือติดคดีใดๆ เวลานี้ทั้งหมด ประกันสิทธิพลเมืองตามกฎหมายอย่างจริงจัง รวมทั้งเสรีภาพของสื่อทุกชนิด ซึ่งจะไม่ถูกคุกคามโดยทางลับหรือเปิดเผย

อย่าลืมว่า บรรยากาศประชาธิปไตยนั้น แม้จะให้โอกาสแก่คนกลุ่มอื่นๆ แต่ก็ให้โอกาสการต่อสู้แก่ชนชั้นนำได้เหมือนกัน ซ้ำชนชั้นนำยังมีทรัพยากรทางการเมือง และวัฒนธรรมเหนือกลุ่มใด ที่จะใช้หลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาธิปไตยอย่างได้ผลกว่าด้วย

ในขณะที่การต่อสู้ทางการเมืองที่อาศัยการโฆษณาชวนเชื่อไม่ได้ผลแล้ว บรรยากาศประชาธิปไตยจะทำให้ต้องหันมาต่อสู้กันด้วยเหตุผลและข้อมูลความรู้ ชนชั้นนำกุมทรัพยากรการเมืองประเภทนี้ไว้มากที่สุด จึงไม่ควรคิดว่าบรรยากาศประชาธิปไตยจะนำความอัปราชัยย่อยยับแก่ตนง่ายๆ

ยิ่งกว่านั้นการโต้เถียงกันด้วยเหตุผลยังช่วยทำให้ชนชั้นนำรู้ตัวว่า จะต้องปรับตัวในก้าวต่อไปอย่างไร จึงจะสามารถรักษาการนำทางการเมืองของตนไว้ได้

การปิดกั้นความคิดเห็นของผู้อื่นจึงมีผลเท่ากับปิดกั้นตนเอง

กองทัพหมดความสำคัญทางการเมืองเสียแล้ว ฉะนั้นควรเร่งนำกองทัพกลับกรมกอง กองทัพจะไม่สามารถได้งบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนเดิม และจะหมดภาวะการนำไปจนสิ้นเชิงในอนาคต ในส่วนกองทัพเองก็ยังอาจมีบทบาทใหม่ ปรับตัวเองให้มีศักยภาพในการเผชิญกับภัยคุกคามทางทหารจากศัตรูภายนอก ในสถานการณ์ใหม่ ไม่เกี่ยวอะไรกับการเมืองภายใน กองทัพก็จะเป็นที่ต้อนรับของประชาชน เพราะไม่คุกคามใคร เป็นกลไกของรัฐที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าจำเป็นขาดไม่ได้ สถานะของกองทัพกลับจะมีความมั่นคงทางการเมืองมากกว่าการเป็นเครื่องมือของกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด

นี่เป็นเพียงตัวอย่างว่า ชนชั้นนำจะสามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงเท่าใดนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว โอกาสที่จะเกิดขึ้นได้มีน้อยมาก

ชนชั้นนำไทยนั้นประกอบขึ้นจากหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มไม่ได้มีการนำภายในกลุ่มของตนเอง และมักจะแก่งแย่งผลประโยชน์กันพอสมควร ฉะนั้นในแง่ของบทบาทและสถานะทางการเมืองของชนชั้นนำ จึงต้องอาศัยการนำของผู้ที่มีอำนาจทางวัฒนธรรมสูง เกาะเกี่ยวกันอยู่ได้ด้วยการยอมรับการนำของผู้นำ

แต่ภาวะการนำของผู้นำหลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา อ่อนแอลงตามลำดับ เป็นผลให้กลุ่มต่างๆ ในเครือข่ายเกิดความแตกร้าวภายในมากขึ้น (เช่นผู้สื่อข่าวต่างประเทศบางรายวิเคราะห์ว่า มีความหวาดระแวงและแตกร้าวในกองทัพมากขณะนี้ ยังไม่พูดถึงทุนธุรกิจและพรรคการเมือง)

ปีกเสรีนิยมของชนชั้นนำที่เคยอาศัยบารมีของผู้นำสร้างการปรับตัวครั้งใหญ่ในพ.ศ.2540 สูญเสียอิทธิพลของตนลง การจัดระบบของรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ได้รับความเชื่อถือว่าจะประกันความมั่นคงของชนชั้นนำได้ (จนนำมาสู่การรัฐประหาร) ในขณะที่ตัวบุคคลในปีกนี้ก็ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนน้อยลง ไม่เฉพาะในหมู่คนเสื้อแดงเท่านั้น แต่รวมถึงคนชั้นกลางระดับบนบางส่วนด้วย

ดังนั้นผมจึงเชื่อว่า แม้การปรับตัวของชนชั้นนำไทย เพื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมที่เกิดในประเทศไม่ใช่เรื่องยากเกินไป แต่โอกาสที่จะทำได้มีน้อยมาก

และหากชนชั้นนำไม่ปรับตัว ก็จำเป็นต้องเลือกทางเลือกที่เลือกไม่ได้ อันจะนำไปสู่ความระส่ำระสายครั้งใหญ่ในสังคมไทย

คนกลุ่มเดียวที่ผมหวังว่า จะเป็นผู้นำปรับระบบการเมืองไทยโดยสงบ เพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่คนชั้นกลางระดับล่างซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็วก็คือคนชั้นกลางระดับกลางและระดับบน มีช่องทางมากกว่าที่คนชั้นกลางระดับนี้จะประสานประโยชน์ทางการเมืองกับคนชั้นกลางระดับล่าง เช่นการเลื่อนไหลเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น ย่อมเพิ่มอำนาจต่อรองของคนชั้นกลางระดับกลางและระดับบนไปด้วยในตัว ไม่ว่าจะเป็นการต่อรองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวทางเศรษฐกิจหรือการเมือง ในทางเศรษฐกิจ ตัวเองก็ถูกเอาเปรียบจากชนชั้นสูงอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน การเมืองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะสามารถต่อรองเพื่อสร้างกติกาที่เป็นธรรมในตลาดขึ้นได้

ในทางการเมือง แม้ว่า ส.ส.ของตนจะเป็นคนละกลุ่มกับคนชั้นกลางระดับล่าง แต่การต่อรองทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้มีอยู่เฉพาะในสภา ยังมีพื้นที่ต่อรองอื่นๆ อีกมาก ซึ่งคนชั้นกลางระดับกลางย่อมได้เปรียบกว่า เช่น พื้นที่สื่อ, พื้นที่วิชาการ, พื้นที่เคลื่อนไหวอื่นๆ หรือพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น ในระยะยาว คนชั้นกลางระดับล่างเองเสียอีกที่จะหันมาเลือก ส.ส.คนเดียวกับคนชั้นกลางระดับกลางและบน

แท้ที่จริงแล้ว การนำเอาสถานะและความมั่นคงของตนไปผูกไว้กับชนชั้นสูง ไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรที่แท้จริงแก่คนชั้นกลางระดับกลางและบนมากนัก ยกตัวอย่างเช่น การที่พวกเขาต้องซื้อที่อยู่อาศัยในราคาแพงลิบลิ่วขึ้นทุกทีในเวลานี้ ก็เพราะชนชั้นสูงเก็งกำไรกับที่ดินอย่างบ้าคลั่ง ทำให้ที่ดินไปกระจุกตัวอยู่ในมือของคนไม่กี่คน

เงินฝากที่คนชั้นกลางระดับกลางถือบัญชีอยู่ในธนาคาร ประกอบเป็นสัดส่วนเพียงยี่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือทั้งหมดอยู่ในมือของคนเพียงหมื่นกว่าคนซึ่งเป็นชนชั้นสูง

ทรัพย์สินจำนวนมากของชนชั้นสูงนี้เกิดขึ้นได้ ก็เพราะระบบที่ทำให้การเฉลี่ยทรัพย์สินเป็นไปอย่างไร้ความเป็นธรรม หากจะมีการเฉลี่ยทรัพย์สินที่ดีกว่านี้ คนชั้นกลางระดับกลางก็มีส่วนที่จะเป็นฝ่ายได้เหมือนกัน ไม่เฉพาะแต่คนชั้นกลางระดับล่างและคนจนเท่านั้น

สำนึกเช่นนี้ในหมู่คนชั้นกลางระดับกลางคงจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก และเมื่อเกิดสำนึกเช่นนี้ขึ้นแล้ว พวกเขาก็จะคิดได้เองว่า จะเป็นหนูที่กระโจนลงจมทะเลเมื่อเรือล่ม หรือควรจะยึดเรือเสียก่อนที่จะล่ม โดยร่วมมือกับคนชั้นกลางระดับล่างในการพัฒนาประชาธิปไตยให้ก้าวหน้าขึ้นในทุกด้าน

ไม่ว่าจะเป็นการเมือง, สังคม หรือเศรษฐกิจ

*********
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:ทางตันและทางออกของชนชั้นนำไทย (1)

การแทรกแซงทางการเมืองของกลุ่มคนที่มีภาวะการนำสูงเด่น หมดความศักดิ์สิทธิ์ไปนานแล้ว อย่างน้อยก็นับตั้งแต่การรัฐประหารใน พ.ศ.2549 เป็นต้นมา ว่ากันที่จริงแล้ว อะไรที่เคยเป็น"อาญาสิทธิ์"ในประเทศไทย ถูกท้าทายจนสูญเสียความชอบธรรมไปจนหมดแล้ว