ที่มา ประชาไท
วันนี้ (20 ม.ค.54) มีข่าวมติชนออนไลน์สองข่าวสะดุดความรู้สึกของผม ข่าวแรก “หมอประเวศแนะติดอาวุธปัญญาประชาชนให้ทันก่อนหันไปจับอาวุธ” รายละเอียดของข่าวเป็นการสรุปประเด็นที่ คุณหมอประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง" ในงานสัมมนา "ยุทธศาสตร์ประเทศไทยในมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการบริหารระบบราชการ" เมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่ห้องประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า
ประเด็นที่คุณหมอประเวศพูดคือประเด็นเก่าๆ ได้แก่ ปัญหาการขาดความเป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำที่มากเกินไป เพราะโครงสร้างต่างๆ ที่ทำให้ขาดความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างการจัดสรรทรัพยากร การรวมศูนย์อำนาจ จะต้องแก้ด้วยการกระจายอำนาจ กระจายทรัพยากร ปฏิรูประบบภาษี ปฏิรูปที่ดิน แล้วคุณหมอก็พูดถึงการปฏิรูประเทศในภาพรวมว่า
“...เริ่มตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องยากไม่มีใครไปปฏิรูปได้สำเร็จ เพราะคนมีอำนาจ คนรวย คงไม่อยากให้เกิดการปฏิรูป ฉะนั้น ประชาชนจะต้องเป็นคนปฏิรูป โดยประชาชนจะมีพลังปฏิรูปได้ต้อง "ติดอาวุธด้วยปัญญา" ดังนั้นหน้าที่นักวิชาการ สถาบันต่างๆ ต้องสร้างความรู้ให้ชัดเจนว่าจะปฏิรูปอะไร ทำอย่างไร เอาความรู้ไปให้ประชาชน เพราะถ้าไม่ติดอาวุธให้ประชาชนด้วยปัญญาหนักเข้าประชาชนจะติดอาวุธด้วยอาวุธและก็จะเกิดความวุ่นวายต่างๆ ตามมา”
อีกข่าว “เปิดหมู่บ้านคนเสื้อแดงจากรากหญ้าสู่รากแก้ว” รายละเอียดระบุว่า "หมู่บ้านเสื้อแดง" การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ของคนรากหญ้าสู่รากแก้ว เพื่อประกาศเจตนารมณ์ว่าคนเสื้อแดงไม่ถอยไม่กลัวและจะสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยโดยการรวมกลุ่มชาวบ้านตั้งเป็น "หมู่บ้านคนเสื้อแดง" เริ่มต้นที่ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี มีเหตุผลที่สำคัญโดยสรุป คือ
1. เพื่อประกาศว่า "กลุ่มคนเสื้อแดงอุดรธานี" ที่ไม่มีวันยอมรับการปฏิวัติก่อรัฐประหารในเหตุการณ์ที่ผ่านมา และพร้อมที่จะต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ที่ตั้งมั่น และส่งสัญญาณให้ทุกหลังคาเรือนในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยจับมือกันให้มั่น เกาะกลุ่มกันให้เหนียวแน่น เพื่อลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องสิทธิของตัวเองเรียกร้องนายกรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหารโค่นล้มกลับมา และ
2. ภารกิจที่สำคัญที่สุด คือ การเรียกร้องเพื่อพี่น้องเสื้อแดงที่ต้องจบชีวิตลงในเหตุการณ์เมษาทมิฬด้วยน้ำมือของคนไทยที่มีบรรพบุรุษคนเดียวกัน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองที่เกิดขึ้น จารึกไว้ในความทรงจำจากรุ่นลูกสู่รุ่นหลานและต่อไปไม่มีวันจบสิ้น ในการจากไปของวีรชนคนเสื้อแดงในเหตุการณ์ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย
ขออนุญาตเรียนถามคุณหมอประเวศว่า เหตุผลทั้งสองข้อของชาวบ้านดังกล่าวนี้ แสดงว่าประชาชนยังขาดปัญญาอย่างไรครับ รัฐประหารที่ล้มรัฐบาลที่ประชาชนเลือกคือความไม่เป็นธรรมอย่างหนึ่งหรือเปล่าครับ การต่อสู้เพื่อให้อดีตนายกฯ ที่ถูกทำรัฐประหารกลับมา (ตามวิถีทางประชาธิปไตย) การเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ประชาชนที่ถูกฆ่า เป็นการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมไหม
ที่ชาวบ้านเขาปฏิเสธอำมาตย์ อำนาจนอกระบบการเลือกตั้ง หรือที่นักวิชาการเสื้อแดงบางส่วนเรียกร้องการวางระบบให้สถาบันกษัตริย์ องคมนตรี กองทัพไม่ให้เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือการจัดการอำนาจปกครองประเทศ เรียกร้องการวางระบบรองรับเสรีภาพและความเท่าเทียมในความเป็นคน ฯลฯ เหล่านี้เป็นข้อเรียกร้องเพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมหรือเปล่าครับ
คือผมได้ฟังคุณหมอประเวศพูดเหมือนท่องมนต์ว่า “ต้องติดอาวุธทางปัญญาแก่ประชาชนๆๆๆ!!!” มานานหลายปี แต่ในวิกฤตการเมืองกว่า 5 ปีมานี้ ผมไม่แน่ใจว่า “ชาวบ้านตาสีตาสาหรือราษฎรอาวุโสกันแน่ที่ขาดปัญญา” (ประโยคนี้ไม่ถือว่าล่วงเกินผู้หลักผู้ใหญ่นะครับ ถ้าคำว่า “ติดอาวุธทางปัญญาแก่ประชาชน” ไม่ได้ล่วงเกินผมในฐานะที่ผมเป็นหนึ่งใน “ประชาชน”)
เพราะจนป่านนี้ผมยังไม่เห็นคุณหมอแตะโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมอย่างที่คนเสื้อแดงและนักวิชาการเสื้อแดงพยายามแตะเลยครับ
คำพูดที่ว่า “ติดอาวุธทางปัญญาแก่ประชาชน” มันเป็นคำพูดของคนที่มีสมมติฐานว่าประชาชนขาดปัญญา (เป็นสมมติฐานที่ไม่ต้องพิสูจน์!) และแน่นอนคนที่พูดเช่นนี้ย่อมคิดว่าตัวเองมีปัญญาสูงส่งกว่าประชาชน คิดดูให้ดีนะครับคำพูดแบบนี้มันน่าหดหู่ ในฐานะที่เราแต่ละคนต่างก็เป็นหนึ่งใน “ประชาชน” เราถูกคนที่พูดแบบนี้ดูถูกตลอดมา!
ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า อาวุธทางปัญญาอะไรที่จะไปติดให้แก่ประชาชน? ในเมื่อประชาชนเขาก้าวล้ำหน้าไปแล้ว เขาออกมาเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเพื่อยืนยันเสรีภาพในการปกครองตนเอง เขาปฏิเสธโครงสร้างอำนาจอันอยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมา
แต่คุณหมอยังมัวแต่พูดถึงการแก้ปัญหาโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมอย่างคลุมเครือ โครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมอย่างชัดแจ้งไม่พูดถึงเลย แล้วจะเอาอาวุธทางปัญญาอะไรมาติดให้ประชาชน!