WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Monday, January 17, 2011

เขื่อนน้ำอูนอาดูรน้ำตาเกือบ50ปี ขอสิทธิ์เยียวยาแบบเดียวกับยายไฮโดยไม่ต้องพังเขื่อน..แค่นี้ให้ได้ไหม?!

ที่มา Thai E-News


ตำนานทรหด-ยายไฮ ขันจันทา หรือยายไฮพังเขื่อนเป็นวีรสตรีชาวบ้านที่ปลุกให้ประชาชนผู้ที่เคยทนแบกรับชะตาแบบเดียวกันออกมาขอใช้สิทธิ์นั้นบ้าง ล่าสุดคือกรณีชาวบ้านที่ได้รับความทุกข์แสนสาหัสจากกรณีเขื่อนน้ำอูนมานานเกือบ 50 ปี


โดย บรรพต ศรีจันทร์นิตย์
รายงานเพิ่มเติมจากการชุมนุม “เครือข่ายชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนน้ำอูน” หน้าสันเขื่อนน้ำอูน สกลนคร


น้ำอูนและน้ำตา-ภูมิทัศน์ของเขื่อนน้ำอูน สกลนคร อันสวยงาม แต่แลกมาด้วยการไล่ที่ชาวบ้านที่ยากจน3,000กว่าหลังคาเรือนที่เผชิญน้ำท่วม หมดสิ้นไร่นาทำกิน ต้องกลายเป็นขอทาน เพราะเมื่อจะลงหาปลาในเขื่อนก็โดนจับ หนีขึ้นภูไปหาของป่าก็เจออุทยานเล่นงาน (อ่านลำดับเหตุการณ์และสรุปข้อเรียกร้องท้ายรายงานข่าวนี้)



เรื่องราวการต่อสู้อันทนทรหด 32 ปีกว่าจะได้รับการเยียวยาของยายไฮ ขันจันทรา หรือยายไฮพังเขื่อน เป็นกรณีศึกษาซึ่งเป็นที่รับรู้แพร่หลายไปทั่วประเทศ...เชื่อหรือไม่ทรหดกว่ายายไฮ และมาราธอนกว่านี้คือเกือบๆจะ50ปีเข้าไปแล้วก็ยัง ท่านเคยได้ยินไหม? กรณีเขื่อนน้ำอูน

เส้นทางขึ้นภูเขาที่คดโค้งลัดเลาะเทือกเขาภูพานก่อนจะเข้าเมืองสกลทวาปี หรือสกลนครในปัจจุบัน ราว 52 กิโลเมตร เราเลี้ยวซ้ายเข้าอำเภอกุดบาก และน้ำอูนอีกราว 40 กิโลเมตร เพื่อตระเวนพบปะพูดคุยกับชาวบ้านในเขตอำเภอกุดบาก อำเภอน้ำอูน อำเภอพังโคน และพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร

ได้พบกับตัวแทนของคนทุกข์ยากที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูน กว่า 3,000 ครอบครัว ถูกปล่อยปละละเลยไม่มีการแก้ไขปัญหามานานมากกว่า 40 ปี เฉียดๆ50ปี แม้ว่าถนนหนทางจะคดเคี้ยวสักปานใด

แต่เส้นทางชีวิตของคนเหล่านี้กลับคดเคี้ยวยิ่งกว่าเส้นทางเสียอีก

40 ปีกว่าๆแห่งความหลัง
เจรจาขอให้เยียวยา-หลังเหตุการณ์ผ่านไป 40 ปีเศษผู้นำชาวบ้านได้เข้าเจรจากับนายสาธิต วงศ์หนองเตย ที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอให้เยียวยาย้อนหลังในแบบเดียวกับที่ยายไฮได้รับ โดยที่ไม่ต้องให้ชาวบ้านไปพังเขื่อนเลียนแบบ ข้อเจรจามีอยู่แค่ว่าขอรับสิทธิ์เดียวกับยายไฮ ส่วนรัฐบาลวนสู่โหมด"ตั้งกรรมการแก้ปัญหา"


พื้นที่ลุ่มน้ำอูนมีสภาพเป็นที่ราบลุ่มระหว่างลำน้ำ และมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนา พื้นที่ริมน้ำอูนประกอบด้วยทามที่มีน้ำไหลหลากในช่วงฤดูฝน จึงทำให้พื้นที่อุดมสมบูรณ์ทั้งพืชพรรณ และอาหารตามธรรมชาติ

จึงมีชุมชนตั้งถิ่นฐาน และหลากหลายทางด้านชาติพันธุ์พอสมควร ทั้งชุมชนชาวภูไท ไทโส้ ไทอีสาน และไทญ้อ ยึดทำเลทำมาหากินตั้งแต่ริมน้ำไปจนถึงภูเขา จนเกิดความสัมพันธ์พึ่งพาอาศัยของคนต่างวัฒนธรรมในการดำรงชีพอย่างน่าอัศจรรย์

เขื่อนน้ำอูนเริ่มดำเนินงานก่อสร้าง เมื่อปี 2506 มีชาวบ้าน และชุมชนที่ได้รับการอพยพย้ายออกจากพื้นที่ ราว 60 กว่าชุมชน ครอบคลุมพื้นที่รอยต่ออำเภอต่างๆ 5 อำเภอ คือ อำเภอพังโคน สถานที่ตั้งเขื่อน อำเภอพรรณนานิคม อำเภอวาริชภูมิ อำเภอกุดบาก และอำเภอน้ำอูน โรงเรียนถูกน้ำท่วมกว่า 10 แห่ง รวมผู้คนที่ต้องโยกย้ายหนีจากแผ่นดินถิ่นเกิดมาตุภูมิกว่า 3,000 คน

ทุกข์ของผู้เสียสละ

ยายไฮภาค2-ยายแขไข แสงสีลา ผู้นำสตรีเหล็กของชาวบ้านที่ต้องทนทุกข์กับการสร้างเขื่อนน้ำอูนปราศรัยกับการชุมนุมของชาวบ้านที่เริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว


ราษฎรกว่า 3,000 ครอบครัวเหล่านี้ต้องกลายเป็นผู้เสียสละ และต้องเผชิญสถานการณ์หักเหกลายเป็นจุดเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตครั้งสำคัญของพวกเขา

จากชาวนาเจ้าของที่ดินกลายเป็นชาวเขา ชาวนาบ้านแตก ชาวประมง ชาวนาขอทาน และชาวนารับจ้างไปโดยปริยาย โดยแต่ละคนไม่มีใครได้ตั้งตัวกันมาก่อน

ตอนเขาปั้นเขื่อนน้ำเริ่มท่วมไร่นา ชาวบ้านได้แต่ยืนเบิ่งดู ไม่รู้จะทำอะไร หาปลาก็ไม่เป็น เพราะน้ำมันหลาย ไม่เคยหาปลาน้ำมากๆ มาก่อน น้ำมันหลาย มีแต่คนทางอื่นมาหาปลากัน แต่ละคนย่านน้ำ ย่านแข้ (จระเข้) เพราะมันหลายนอนลี้อยู่ตามห้วยตามหนอง
(แกนนำชาวบ้านอภิปรายเกริ่นนำบนเวทีปราศรัยหน้าเขื่อนน้ำอูน เช้าวันที่ 5 ธันวาคม) ทำให้เห็นภาพคนทำนา แต่ต้องมาตื่นตะลึงกับน้ำท่วมหลังการสร้างเขื่อน จนไม่รู้จะทำอะไรกิน

นายเขามาบอกว่าจะชดใช้ค่าที่นาให้ไร่ละ 800 บาท จะจัดที่ทำกินให้ใหม่ในเขตนิคมสร้างตนเองน้ำอูน ตอนแรกทำนาอยู่กับ ฉันมีนากว่า 40 ไร่ ได้ข้าวเป็นพันถัง เอาเกวียนขนข้าวสี่เกวียนห้าเกวียน ขนขึ้นเล้ากว่าจะแล้ว พอสร้างเขื่อนน้ำท่วมหมด ไม่เหลือ ตอนนั้นอายุได้ 41 ปี อาศัยอยู่กับปู่ เขาให้ค่าที่นา 800 บาท/ไร่ ที่อยู่อาศัย 4,000 บาท
(ยายแขไข แสงสีลา วัย 62 ปี ชาวบ้านบ้านกลาง เท้าความถึงอดีตให้เราฟังถึงความยิ่งใหญ่ของชาวนาลุ่มน้ำอูนในอดีตให้เราฟัง)

ทุกวันนี้ไม่มีนา ต้องรับจ้างทั่วไป หาหน่อไม้ ผักตามห้วยหนอง ตามป่ามาขาย แลกข้าวกิน ช่วงไหนไม่มีงานทำก็ไปขอข้าววัดกิน ช่วงเดือนกันยายนแต่ละปีไม่มีงานทำ ต้องไปขอข้าววัดมาให้หลานกินทุกวัน
(ยายแขไข สาธยายความทุกข์ให้ฟังทั้งน้ำตาเพิ่มเติม จนเพื่อนบ้านร่วมวงเสวนาอดน้ำตาคลอตามไปด้วยไม่ได้ จนต้องหลบสายตาเบือนหน้าหนี หันไปมองท้องน้ำเวิ้งว้างหน้าบ้านยายแขไขที่น้ำเริ่มขึ้นมาเยือนถึงตีนหมู่บ้านแล้ว)

ตอนนี้อาศัยอยู่กับลูกกับหลาน 6 คน ลูกชายสติไม่ดี 1 คน หลาน 4 คน ชายสองคน หญิงสองคน ลูกสาวเอามาฝากให้ช่วยดูแล ตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ เพื่อหนีไปทำงานกรุงเทพฯ บอกว่าจะส่งเงินมาให้ใช้ จนทุกวันนี้ไม่ได้ข่าวคราวเธอเลย
ยายแขไข อาศัยเงินเบี้ยยังชีพคนชราเจียดเป็นค่าขนม ค่าข้าวให้หลานกินประทังชีวิต เวลากินให้หลานกินก่อน

หลานเรียนหนังสืออยู่ ป.4, ป.1 อนุบาล 1 คน และอายุ 2 ขวบอีกหนึ่งคน ลูกชายคนที่สติไม่ดี อายุ 35 ปี สานสุ่มไก่ขายพอช่วยงานได้บ้าง

ไร่นาก็ไม่มีทำ มีที่อยู่อาศัย ประมาณ 1 งาน แบ่งขายออกไปบางส่วนแล้ว เพราะไม่มีเงินซื้อข้าวให้หลานกิน หลานไม่ได้เงินไปโรงเรียนทุกวัน มีคนมาขอไปเป็นลูกบุญธรรม ก็ให้เขาไปแล้ว 2 คน เหลืออีก 2 คน ตอนแรกว่าจะมาดู เขาอยากได้ผู้หญิง ก็จะให้เขาไปเพราะเลี้ยงบ่ไหว

อายุมากขนาดนี้ต้องไปทำงานรับจ้างทุกวัน แบกอ้อย ขนอ้อยขึ้นรถกับพวกเด็กน้อย กลับมาต้องกินยาแก้ปวดทุกวัน ย่านตายปะหลานก่อน (ยายแขไข กล่าวพร้อมทั้งน้ำตา สงสารหลายน้อย 4 ชีวิตที่รอคนมารับไปช่วยเลี้ยงดูอีก 2 คน)

ลูกๆ เขาโตมาแล้วไม่มีที่ดินทำกินเขาก็ต่างคนต่างออกไปทำงานที่อื่นกันหมด ญาติพี่น้องเขาก็พอช่วยได้เป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น

หลานๆ ย่านเรียนบ่จบ เคยไปบอกครูว่าจะไม่ให้เรียน ยายไปคุยกับ ผอ. แล้ว แกก็บอกว่ามีปัญหาอะไรก็บอก (ยายกล่าวเสริมอีก ก่อนที่เราจะหันไปถามข้อมูลกับแกนนำชาวบ้านที่พาไปตระเวนพื้นที่ต่อ)


ครอบครัวที่อยู่ในสภาพเดียวกับยายแขไข ในหมู่บ้านนี้มีประมาณ 10 ครัวเรือน ฝ่ายรัฐก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลืออะไร การดูแลไม่ทั่วถึง (แกนนำชาวบ้านตอบคำถามเราถึงเรื่องคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก ครอบครัวแตกสลายเช่นนี้หลังการสร้างเขื่อนน้ำอูน)

ลงน้ำเจอประมง ขึ้นภูเจออุทยานฯ จับ


ร้องขอความเป็นธรรม-ชาวบ้านที่เข้าร่วมการประท้วงที่น้ำอูน สกลนคร


ทางนิคมสร้างตนเอวฯ เขาก็มาบอกว่าจะจัดที่ดินให้คนละ 15 ไร่ พอย้ายมาไม่มีที่ดินจัดให้ชาวบ้าน ตอนนี้อาศัยอยู่ที่ดินที่ขายให้คนอื่นไปแล้ว เพราะไม่มีจะกิน ทุกข์มา 40 กว่าปีแล้ว เขาไม่มีที่ดินจะจัดให้คนที่ถูกย้ายออกมาจากเขื่อนน้ำท่วม ไปจัดที่ดินที่อยู่อาศัยตามหัวไร่ปลายนาของคนอื่น มีเจ้าของอยู่แล้ว ไม่กล้าไปอยู่เพราะกลัว จะมีเรื่องกับเจ้าของที่ดินเดิม

ส่วนมากรับจ้างได้เงินมาเอาเงินไปซื้อกะยัง 50 บาท/ใบ หรือช่วงไหนไม่มีงาน เอากะยัง (ตะกร้า) ไปแลกข้าวเปลือกได้ 2 กระป๋อง/ใบ (ประมาณ 8-9 กก.) หาผัก หน่อไม้ตามริมห้วยไปแลกข้าวด้วย บางทีเหมารถไปเก็บผือแถวหนองหาน อำเภอพังโคน ค่ารถ 80 บาท/คน ทอเสื่อแลกข้าวเหมือนกัน เมื่อก่อนแถวบ้านมีเยอะ แต่ตอนนี้น้ำท่วมตายหมด เลยไปหาที่อื่น

เด็กลูกหลาน โอกาสการศึกษาด้อยกว่าเด็กในหมู่บ้านอื่นๆ ส่วนมากจบภาคบังคับเท่านั้น จบแล้วไปหาทำงาน กทม. พอได้กินดูแลตนเองเท่านั้น ไม่พอจะช่วยเหลือพ่อแม่
(อุทิศ แสงสีลา อายุ 54 ปี ชาวบ้านเหยื่อการพัฒนาอีกคน กล่าวอย่างหมดอาลัย และหมดอนาคต)

ชุมชนคนขอทาน...ชีวิตคนหลังเขื่อน

น้ำท่วมปี 2511-2512 ไม่มีนาทำ เมื่อก่อนมี 30 ไร่ ตอนนี้เอาไม้ไผ่มาสานหวดนึ่งข้าว 50-70 บาท/ใบ ใช้เวลาประมาณ 3 วันต่อใบ ตีเป็นเงิน แต่ส่วนมากเอาไปแลกข้าว เสียค่ารถไปหาขอข้าว 120 บาท/คน แถวอำเภออากาศอำนวย และพรรณนานิคม (จังหวัดสกลนคร)

บางทีไม่มี เอาข้าวเขามากินก่อน เวลาหาหน่อไม้บนภูพาน 3-4 กิโล เอามาคืนให้เขาทีหลัง เวลามีปลาก็ซื้อเขามาทำปลาส้ม ปลาแห้ง ห่อเป็นถุงๆ เอาไปแลกข้าวเรือนละถุง แล้วแต่เขาจะให้ข้าวมากน้อยเท่าไหร่ก็เอา (ยายแจ เรือรีรักษ์ วัย 60 ปี ชาวบ้านนาทันบอกเล่าชีวิตชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ดำรงชีพด้วยการขอข้าวคนอื่นมากิน)

ในชีวิต เกิดมาทุกข์ที่สุด หลังน้ำท่วมนา ชีวิตเมื่อก่อนม่วนหลาย เวลาว่างไปวัดฟังธรรม แต่ทุกวันนี้สมองมีแต่หาอยู่หากิน พระมาอยู่ไม่กี่พรรษาก็หนีไปอยู่ที่อื่น เพราะแม้แต่พระก็อดข้าว (ยายแจ กล่าวเพิ่มเติม)

ชาวบ้านในหมู่บ้านเดียวกันมีนาทำแค่ 6 รายเท่านั้น ส่วนที่เหลือหาของป่าเพื่อมาแลกข้าว เข้าป่าเจอแต่คนหาหน่อไม้เต็มไปหมด แย่งกันหากินระหว่างชาวบ้านระหว่างหมู่บ้านต่างๆ

ลงน้ำเจอประมงไล่จับ ขึ้นเขาเข้าป่าเจออุทยานฯ จับอีก เคยไปลงหาปลาในอ่างฯ ถูกจับ 1,000-30,000 บาท หากินก็ยาก ไม่มีนาทำยังพึ่งพาธรรมชาติไม่ได้อีก
(พ่อเฒ่า บ้านนาทันกล่าวเสริมสะท้อนปัญหาชาวบ้านอีกคน)

บทเรียนจากน้ำอูน เพื่อแก้ปัญหาเขื่อนอื่นๆ ในประเทศ

วิถี-ผู้ชุมนุมใส่บาตรทำบุญแต่เช้า พวกเขาปรารถนาชีวิตที่ปกติเรียบง่าย และการเยียวยาที่เป็นธรรม


ปัญหา และผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูนที่กล่าวมาแล้ว ยังพบว่ามีเขื่อนอื่นๆ ในภาคอีสาน และประเทศที่ปัญหาผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขปัญหาอย่างสมน้ำสมเนื้อกับการเสียสละอาชีพ ประวัติศาสตร์รากเหง้าของบรรพบุรุษ และอนาคตของตนเอง จนสถานภาพต้องตกระกำลำบาก

หากเจาะลึกถึงกลไกการดำเนินงานนับตั้งแต่ขั้นตอนแรกในการทำงาน สิ่งหนึ่งที่พบ ก็คือ ความไม่โปร่งใสในกระบวนการดำเนินงาน และการมีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบของสังคมอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนลำตะคอง เขื่อนพองหนีบ และอื่นๆ อีกมากมาย ลองล้วงลูกเจาะลึกกันดูปะไรล้วนแต่พบข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันทั้งนั้น

ยอมรับความจริงกันเสียทีกับมาตรการปัดฝุ่นไว้ใต้พรม จริงใจในการแก้ปัญหาให้ชาวบ้านที่ต้องทนทุกข์มากกว่า 40 ปี ทั้งในด้านค่าชดเชยที่เสียโอกาสไม่ได้ที่ดินทำกินตามสัญญา รวมทั้งค่าเสียโอกาสในการดำรงชีพที่สูญเสียไป และมาตรการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ สังคม และจิตใจในระยะยาว

เพราะเงินไม่อาจเยียวยาคนในชาติได้จริง นอกจากความจริงใจ และความมีน้ำใจของผู้ปกครองบ้านเมืองเท่านั้น

***********

อะไรนะ?เขื่อนน้ำอูน สาหัสกว่ากรณียายไฮพังเขื่อน



*โครงการชลประทานเขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร และนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน ไม่สามารถจัดหาที่ดินแก่ราษฎรที่ถูกอพยพออกจากเขตน้ำท่วมตามนโยบายได้ 15 ไร่/ราย (ที่อยู่อาศัย 2 ไร่ และที่ทำกิน 13 ไร่) เนื่องจากไม่มีที่ดินเพียงพอ และปัญหาซ้อนทับสิทธิ์ในที่ดินกับราษฎรในพื้นที่เดิมก่อนการดำเนินการโครงการ

*ราษฎรที่ได้รับผลกระทบ จึงเรียกร้องให้รัฐจ่ายค่าชดเชยเป็นเงินทดแทนที่ดินที่ไม่ได้รับหลังจากการสร้างเขื่อนน้ำอูนให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับพื้นที่อื่นๆ ที่รัฐได้ให้ความช่วยเหลือ เช่น กรณียายไฮ และเขื่อนอื่นๆ

*การพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการชลประทานน้ำอูน จังหวัดสกลนคร ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยด้านราคาที่ดินของท้องถิ่นในปัจจุบัน ซึ่งไม่สามารถหาซื้อได้ในราคาไร่ละ 10,000 บาท

*การพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการชลประทานน้ำอูน จังหวัดสกลนคร ไม่ได้คำนวณค่าเสียโอกาสทางด้านเศรษฐศาสตร์ และสังคมของราษฎรผู้เดือดร้อนที่ต้องสูญเสียโอกาสไป รวม 43 ปี (2510-2553)

เนื่องจากรัฐไม่สามารถจัดสรรที่ดินให้ตามนโยบาย และเลือกปฏิบัติไม่เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันกับพื้นที่อื่นๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นเขื่อนน้ำก่ำ 50,000-100,000 บาท/ไร่, เขื่อนห้วยหลวง ไร่ละ 30,000 บาท/ไร่, เขื่อนราศีไศล 32,000 บาท/ไร่ และยายไฮ ที่ได้รับทั้งที่ดินคืน ค่าเสียโอกาสในการทำกิน และค่าเสียโอกาสทางการศึกษาของบุตร

*ราษฎรผู้ได้รับความเดือดร้อนบางส่วนได้อพยพย้ายครอบครัวหนีไปตั้งภูมิลำเนาในพื้นที่อื่นๆ หลังจากถูกอพยพออกจากเขตน้ำท่วมของโครงการชลประทานน้ำอูน และไม่ได้รับความช่วยเหลือตามสิทธิ และโอกาสที่ควรจะได้รับ

*ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการชลประทานน้ำอูน จังหวัดสกลนคร จำแนกออกได้ 2 กลุ่ม รวมทั้งหมด 2,798 ราย คือ
ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเวนคืนที่ดิน และให้เป็นเขตชลประทานน้ำอูน รวม 75,000 ไร่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

.ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ และตกสำรวจข้อมูลจาก กรมชลประทาน เนื่องจากที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ และไม่ได้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ (อาจจะสาเหตุจากการไม่รู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารของราษฎรที่ประกอบด้วยชนเผ่าชาติพันธุ์ต่างๆ) รวมประมาณ 1,076 ราย ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐ

.ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ และมีรายชื่อในผลการสำรวจ ของ กรมชลประทาน ที่ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินให้ หรือบางส่วนได้ไม่เต็มจำนวน 15 ไร่ บางส่วนต้องซื้อที่ดินเอง ยังคงหลงเหลืออีก รวม 527 ราย (จากทั้งหมด 3,351 ราย)

*ราษฎรที่สมัครเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน และไม่ได้รับ หรือได้รับการจัดสรรที่ดินได้ไม่เต็มจำนวน 15 ไร่ บางส่วนต้องซื้อที่ดินเอง รวม 1,195 ราย

*แม้ว่าราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการชลประทานน้ำอูน จังหวัดสกลนคร ที่มีรายชื่อในผลการสำรวจ ของ กรมชลประทาน จะได้รับความช่วยเหลือจากค่าชดเชยที่ดินไปแล้ว รวม 1,961 ราย แต่ไม่สามารถหาซื้อที่ดินได้ เพราะการอนุมัติจ่ายค่าชดเชยไม่เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับพื้นที่อื่นๆ จึงมีเรียกร้องให้จ่ายค่าชดเชยในมาตรฐานเช่นเดียวกับพื้นที่อื่น และสอดคล้องกับราคาที่ดินในปัจจุบัน


*******

ลำดับเหตุการณ์ 48 ปีแห่งความขมขื่น

ปัญหา และผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร



ปี พ.ศ. 2506

*มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2506 เสนอโดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รมต. กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ เกี่ยวกับการช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเวนคืนที่ดิน เนื่องจากการสร้างการชลประทาน-พลังงาน รวม 2 ประการ คือ

.ให้ กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง เพื่อสงเคราะห์ราษฎรที่ถูกเวนคืนที่ดินเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของรัฐ (เขื่อนน้ำอูน) ตลอดจนราษฎรที่อยู่นอกเขตเวนคืน แต่จะต้องถกระทบกระเทือนได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากเวนคืน (โดยจัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละ 15 ไร่ (ที่อยู่อาศัย 2 ไร่ และที่ดินทำกิน 13 ไร่))

.ทรัพย์สินของราษฎรที่อยู่นอกเขตการเวนคืนที่ดิน แต่ปรากฏว่าจะต้องได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานตามโครงการ ให้พิจารณาจ่ายเงินค่าทดแทนให้ด้วย

การอนุมัติให้สร้างเขื่อนน้ำอูน ใช้ระยะเวลาก่อสร้างตามแผนงานจนเสร็จสิ้นโครงการรวม 15 ปี (ปี พ.ศ.2510 – 2524)

ปี พ.ศ. 2507

*มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2507 เสนอโดย กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ในเรื่องการช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเสนคืนที่ดิน เนื่องจากการสร้างชลประทาน-พลังงาน รวม 2 ประการ คือ

-การจ่ายเงินค่าทดแทนต้นไม้ และบ้านเรือน ให้จ่ายแก่ผู้ได้รับความเดือดร้อนทุกราย

-สำหรับค่าทดแทนที่ดิน ให้จ่ายแก่ผู้ไม่ประสงค์จะเข้าไปอยู่ในนิคมสร้างตนเอง ที่รัฐจัดสรรให้ทุกราย ส่วนผู้ที่ประสงค์จะเข้าไปอยู่ในนิคมฯ ควรพิจารณาจ่าย ดังนี้

-ถ้าที่ดินที่ได้รับจัดสรรให้มีสภาพคล้ายคลึงกัน และมีจำนวนเท่าเทียมกับที่ดินเดิมของราษฎร ก็ไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนที่ดินให้
-ถ้าที่ดินที่ได้รับจัดสรรมีสภาพแตกต่างกัน หรือมีพื้นที่น้อยกว่าที่ดินเดิม ก็ควรจ่ายค่าทดแทนที่ดินให้ตามสมควร เพื่อให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนใช้เป็นทุนทำกินในที่ดินใหม่ในขั้นต้น หรือพิจารณาจ่ายให้เป็นทุนกู้ยืม

ปี พ.ศ. 2509

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2509 เสนอโดย กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ คือ

เปลี่ยนแปลงหลักการจ่ายเงินชดเชย และการจัดสรรที่ดินใหม่ให้เหมาะสม โดยไม่ก่อให้เกิดความยุ่งยากเดือดร้อนแก่ราษฎรที่จะต้องอพยพ และเห็นควรจ่ายเงินชดเชยให้แก่ทุกครอบครัวที่จะต้องอพยพจากเขตโครงการ รวมตลอดถึงการช่วยเหลือในการโยกย้ายไปยังที่ดินใหม่ ส่วนการราษฎรจะเลือกไปอยู่ในนิคมฯ หรือสถานที่อื่นควรจะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของราษฎรเอง

ในหลักการควรถือว่า รัฐบาลมีพันธะที่จะต้องให้ความคุ้มครองแก่ผู้อพยพ โดยจัดให้ได้ประกอบอาชีพดีกว่า หรือ/หรือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดิม และจะต้องให้ความช่วยเหลือในการอพยพทุกประการ โดยมิให้ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกบังคับอพยพ

ปี พ.ศ. 2510-11

เริ่มมีการอพยพราษฎรออกจากเขตน้ำท่วมในพื้นที่โครงการชลประทานน้ำอูน จังหวัดสกลนคร (ในขณะที่โครงการจัดตั้งนิคมฯ พื้นที่รองรับการอพยพไม่มีความพร้อมดำเนินการ)

ปี พ.ศ. 2511

มติที่ประชุมในการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน จากจังหวัดสกลนคร ให้ใช้พื้นที่ภูวง-ป่าภูล้อมข้าว-ป่าภูเพ็ก เขตอำเภอวาริชภูมิ และพรรณนานิคม ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนฯ ซึ่งผู้แทน กรมป่าไม้ ไม่เห็นด้วยในการจัดสรรแก่ราษฎร จึงต้องเสนอรับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยมอบให้ กรมประชาสงเคราะห์ เป็นเจ้าของเรื่องดำเนินขอใช้พื้นที่ต่อไป

ปี พ.ศ. 2512

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2512 เสนอโดย พลเอกประภาส จารุเสถียร รมต. กระทรวงมหาดไทย ในการขอใช้พื้นที่ป่าภูวง และป่าภูล้อมข้าว จัดตั้งนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูนรองรับการอพยพราษฎรออกจากเขตน้ำท่วมตามโครงการชลประทานน้ำอูน รวม 2 แปลง คือ

พื้นที่ป่าภูวง ในท้องที่อำเภอวาริชภูมิ อำเภอพรรณนานิคม และอำเภอกุดบาก เนื้อที่ประมาณ 35.820 ตารางกิโลเมตร หรือ 22,387.5 ไร่

พื้นที่ป่าภูล้อมข้าว-ภูเพ็ก ในท้องที่อำเภอพรรณนานิคม และอำเภอกุดบาก เนื้อที่ประมาณ 58.550 ตารางกิโลเมตร หรือ 36,593.75 ไร่

ปี พ.ศ. 2514

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2514 เสนอโดย นายบุญรอด บิณฑสันต์ รมช. กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ขอเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีเดิมเฉพาะแห่ง โดยจำแนกพื้นที่ป่าภูวง เนื้อที่ 63.093 ตารางกิโลเมตร หรือ 39,433.125 ไร่ ให้ กรมประชาสงเคราะห์ ไปดำเนินการจัดสรรให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการชลประทานน้ำอูน

ปี พ.ศ. 2515

เริ่มปิดเขื่อน และเก็บกักน้ำในเขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร และการอพยพราษฎรสิ้นสุดลง

ได้มีการประชุมปัญหาราษฎรไม่อพยพไปอยู่ในนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน ของ จังหวัดสกลนคร เนื่องจากมีราษฎรกลุ่มอื่นเข้ามาบุกเบิกจับจองพื้นที่ บ้านดงคำโพธิ์ (เขตนิคมฯ) เมื่อปี 2503 เนื้อที่ประมาณ 15,000 ไร่ อยู่ก่อนแล้ว จึงไม่สามารถจัดสรรให้ราษฎรที่จะอพยพหนีเขื่อนเข้าไปอยู่ได้ (การประกาศพื้นที่ซ้อนทับกับที่ดินของราษฎรที่ทำกินก่อนการขอใช้พื้นที่ของโครงการฯ)

ปี พ.ศ. 2516

น้ำท่วมพื้นที่เก็บกักสูงสุดของเขื่อนน้ำอูน

-เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2516 คอมมิวนิสต์ นำกำลังบุกเข้าโจมตีนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน เผาทำลายอาคารสถานที่ และเครื่องจักรกล ผู้ปกครองนิคมฯ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เสียชีวิต

-มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2516 เสนอโดย พลเอกประภาส จารุเสถียร รมต. กระทรวงมหาดไทย อนุมัติหลักการเพื่อดำเนินการตามโครงการนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน จังหวัดสกลนคร

-แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาจ่ายเงินค่าชดเชยแก่ราษฎรผู้ต้องอพยพออกจากเขตน้ำท่วมในการสร้างเขื่อนน้ำอูน ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2516

-แต่งตั้งกรรมการ และเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ราษฎรที่ต้องอพยพออกจากเขตน้ำท่วมเขื่อนน้ำอูน ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2516

ปี พ.ศ. 2518

ได้มีการตรวจสอบรายชื่อผู้อพยพจากเขตน้ำท่วม ระหว่างโครงการชลประทานน้ำอูน และนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน รมช. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางไปตรวจสอบพื้นที่เพื่อขอขยายเขตนิคมฯ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2518 เพื่อแก้ไขปัญหาผู้เดือดร้อนจากน้ำท่วม

ปี พ.ศ. 2520

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2520 ให้โอนภารกิจการจัดสรรที่ดินให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนน้ำอูน จาก กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย ให้เป็นหน้าที่ของ กรมชลประทาน กระทรงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการแทน

ปี พ.ศ. 2532

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 อนุมัติหลักการให้ กรมชลประทาน จ่ายค่าชดเชยที่ดินให้ราษฎรที่ถือครองที่ดิน การทำประโยชน์ในที่ดิน ป่าสงวนฯ อุทยานฯ ที่ดินสาธารณะประโยชน์ ซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่จะต้องเข้าถือครองทำประโยชน์ก่อนที่ กรมชลประทาน จะเข้ามาดำเนินโครงการสร้างเขื่อนน้ำอูน

ปี พ.ศ. 2537

เริ่มมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน โดยมี นายทองดี ตุพิลา เป็นประธานเครือข่ายราษฎรผู้ได้รับผลกระทบ และได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร และ กอ.รมน. กองทัพภาค 2 (ตรงกับสมัย นายบรรหาร ศิลปะอาชา นายกรัฐมนตรี)

ปี พ.ศ. 2539

เครือข่ายราษฎรผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเขื่อนน้ำอูน ได้เข้าร่วมกับสมัชชาเกษตรกรรายย่อย ภาคอีสาน (สกย.อ.) นายบำรุง คะโยธา เป็นเลขาธิการและเครือข่าย ผรท.-ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เพื่อจัดทำเอกสารข้อร้องเรียน และนำไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกเชาวลิต ยงใจยุทธ ผ่านสำนักงานเลขาฯ

ปี พ.ศ. 2541

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2541 เรื่องราษฎรร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนน้ำอูน (ตั้งแต่ปี 2539 ข้างต้น) คือ

.ให้คณะกรรมการที่ทางราชการได้แต่งตั้งขึ้นที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดำเนินการตรวจสอบพิสูจน์ข้อเท็จจริง

.หากคณะกรรมการเห็นว่าได้รับความเดือดร้อนจริงให้แจ้งผลการพิจารณาไปให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณาดำเนินการให้ความช่วยเหลือเป็นรายๆ ไป

ปี พ.ศ. 2546

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2546 เห็นชอบในหลักการที่จะต้องให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูน

ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปพิจารณาทบทวนความจำเป็นและความเหมาะสมในการให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้ราษฎรมีโอกาสได้รับที่ดินสำหรับการประกอบอาชีพ

ปี พ.ศ. 2547

มติคณะรัฐมนตรี (สมัย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี) เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2547 อนุมัติในหลักการให้ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (สปก.) จัดหาที่ดินส่วนเกินสิทธิ์จากผู้ถือครองทำประโยชน์ในที่ดินเดิม และส่วนที่ถือครองทำประโยชน์ในที่ดินเดิมขาดคุณสมบัติที่จะได้รับที่ดินตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน

จัดที่ดินให้แก่ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูน รายละ 15 ไร่ และขออนุมัติงบประมาณ (กลาง) เพื่อจ่ายเป็นค่าชดเชยการสูญเสียโอกาสในการทำประโยชน์จากที่ดินที่รัฐตกลงจะจัดสรรให้หลังจากการอพยพออกจากเขตน้ำท่วม อัตราไร่ละ 10,000บาท (ข้อเรียกร้องสิทธิ์ของราษฎร และมติกรรมการที่เกี่ยวข้อง คือ อัตราไร่ละ 30,000 บาท ให้เป็นมาตรฐานเดียวกับมติ ครม. ในการจ่ายค่าชดเชยที่ดินแก่ราษฎรในพื้นที่ได้รับผลกระทบเขื่อนอื่นๆ เช่น ยายไฮ, เขื่อนปากมูล, เขื่อนราษีไศล)

มติมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 ให้จ่ายค่าชดเชยที่ดินแก่ราษฎรที่ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดิน รายละ 15 ไร่ๆ ละ 10,000 บาท (นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รัฐมนตรีเสนอให้จ่าย 32,000 บาท/ไร่ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง และให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับพื้นที่อื่นๆ)

ปี พ.ศ. 2548

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2548 เห็นชอบในการจ่ายเงินชดเชยแก่ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูนที่ขอรับเป็นเงินทดแทนที่ดิน ไร่ละ 10,000 บาท (15 ไร่/ราย รวม 150,000 บาท) (ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้องของราษฎร และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องได้มีมติ และนำเสนอให้จ่ายค่าชดเชยไร่ละ 30,000 บาท รวม 450,000 บาท/ราย)

ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูน รวม 894 ราย (จากการเสนอรายชื่อราษฎรผู้เดือดร้อนรอบแรกทั้งหมด 895 ราย) ได้รับเงินชดเชยค่าที่ดินที่ไม่ได้รับการจัดสรรให้ตามโครงการนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน ไร่ละ 10,000 บาท รวม 150,000 บาท/ราย (เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม)

ปี พ.ศ. 2550

จังหวัดสกลนคร ได้มีการพิจารณาตรวจสอบข้อมูลราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการชลประทานเขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร
ปี พ.ศ. 2551

ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูน รวม 888 ราย ได้รับเงินชดเชยค่าที่ดินที่ไม่ได้รับการจัดสรรให้ตามโครงการนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน ไร่ละ 10,000 บาท รวม 150,000 บาท/ราย

ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนน้ำอูน รวม 179 ราย ได้รับเงินชดเชยค่าที่ดินที่ไม่ได้รับการจัดสรรให้ตามโครงการนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน ไร่ละ 10,000 บาท รวม 150,000 บาท/ราย เช่นเดียวรุ่นก่อนๆ

ปี พ.ศ. 2552

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 การแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับตัวแทนราษฎรผู้เดือดร้อน ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงความเดือดร้อน

วันที่ 24 มิถุนายน 2552 กรมชลประทาน ได้มีการกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหารายชื่อราษฎรที่ตกค้างถึงจังหวัดสกลนคร ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหา

วันที่ 27 สิงหาคม 2552 หนังสือแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงแก้ไขปัญหา ลงนามโดยผู้ว่าราชการจังหวัด เฉพาะผู้ที่มีรายชื่อในผลการสำรวจ ของ กรมชลประทาน รวม 2,653 ราย เท่านั้น

ปี พ.ศ. 2553

วันที่ 24 มิถุนายน 2553 ยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายก เพื่อให้แก้ปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนทุกกลุ่มปัญหา (ดูข้อมูลจากสรุปข้อเท็จจริงปัญหาเขื่อนน้ำอูน)

วันที่ 23 พฤศจิกายน-17 ธันวาคม 2553 เครือข่ายราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนน้ำอูน ได้มีการเคลื่อนไหวชุมนุมเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาแบบยืดเยื้อ และมีตัวแทนรัฐบาลลงมารับเรื่องร้องเรียน คือ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์

วันที่ 29 ธันวาคม 2553 ยื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่อ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ปัจจุบัน-ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบชุมนุมต่อที่เขื่อนน้ำอูน โดยทอดผ้าป่าระดมทุน รวมทั้งขายข้าวเปลือกหาทุนชุมนุมเรียกร้อง ส่วนรัฐบาลกลับสู่โหมดเดิม"ตั้งคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปัญหา"เหมือน 40 กว่าปี เกือบๆจะ50 ปีที่ผ่านมา