ที่มา thaifreenews
โดย bozo
อนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงเหตุสลายการชุมนุมของ คอป. แฉหมดเปลือก
พนักงานสอบสวนบางรายที่ทำคดีคนเสื้อแดงยอมรับมุ่งสนองคำสั่งผู้ใหญ่มากกว่ายึดความยุติธรรม
แถมผู้ต้องหาบางรายที่ไม่มีทนายถูกหลอกให้รับสารภาพ
อ้างโทษเบาเหมือนเล่นไพ่แต่พอขึ้นศาลกลับถูกสั่งจำคุกเป็นปี
เผยได้ข้อมูลบางเรื่องที่ไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อนจากสื่อทั้งในและต่างประเทศ
ขณะที่ ศอฉ. ไม่ยอมให้ข้อมูลใดๆ ยันวันที่ 24 ม.ค. มีรายงานฉบับแรกออกสู่สาธารณชนแน่
ศาลนัดสืบพยานคดีก่อการร้ายนัดแรกวันที่ 28 ก.พ. ห้ามคนไม่เกี่ยวข้องเข้าฟัง
กำชับ “จตุพร-วีระ-การุณ” ที่ได้รับประกันตัวให้เข้าฟังสืบพยานด้วย
นักวิชาการจวกรัฐบาลเวลาผ่านมาเกือบ 1 ปีชี้แจงไม่ได้ความรุนแรงเกิดจากอะไร
ใครต้องเป็นคนรับผิดชอบ
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 908 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก วันที่ 17 ม.ค. 2554
ศาลนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานคดีพนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์
ฟ้องนายวีระ มุสิกพงศ์
ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน,
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ,
นายจตุพร พรหมพันธุ์,
นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.,
นายการุณ โหสกุล ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย กับพวกรวม 19 คน เป็นจำเลย
ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป
กระทำการเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายและก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง
โดยผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก
และฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
เริ่มสืบพยานคดีก่อการร้าย 28 ก.พ.
ศาลอธิบายคำฟ้องให้นายจตุพรและนายการุณฟังจนเป็นที่เข้าใจแล้ว
สอบคำให้การ จำเลยให้การปฏิเสธ
ประกอบกับทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยยื่นคำร้องเข้ามาหลายกรณี
จึงนัดสืบพยานครั้งแรกวันที่ 28 ก.พ.
โดยกำชับให้นายจตุพร นายการุณ และนายวีระ ที่ได้รับการประกันตัวให้มาฟังการสืบพยาน
และสั่งห้ามไม่ให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมฟังการพิจารณา
นายคารม พลทะกลาง ทนายความ นปช. เปิดเผยว่า
เตรียมยื่นคำร้องขอเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาต่อนายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา
เนื่องจากเห็นว่าไม่เปิดโอกาสให้จำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ไม่พิจารณาคดีอย่างเปิดเผย
จวกรัฐบาลคิดปิดกั้นการชุมนุม
นายประแสง มงคลศิริ รักษาการเลขาธิการ นปช. กล่าวว่า
รัฐบาลกำลังพยายามปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชนชน
ด้วยการเร่งผลักดันออกกฎหมายควบคุมการชุมนุมในที่สาธารณะ
“การชุมนุมของประชาชนทุกกลุ่มที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากจำเป็นต้องใช้พื้นที่สาธารณะ
แต่วันนี้เราไม่มีพื้นที่ใช้ชุมนุม สนามหลวงก็ถูกปิดกั้น
เมื่อไม่มีสถานที่ที่จะชุมนุมได้ก็ต้องชุมนุมในพื้นที่ที่กระทบต่อประชาชน” นายประแสงกล่าว
พร้อมยืนยันว่า การชุมนุมใหญ่ที่ราชประสงค์ในวันที่ 23 ม.ค. นี้จะมีตามกำหนดเดิม
โดยจะมีการเคลื่อนการชุมนุมไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ส่วนกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่อ้างว่าได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุมนั้น
อยากขอร้องว่าอย่าร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อทำลายความชอบธรรมของผู้ชุมนุม
ผู้ประกอบการควรตั้งหลักใหม่ เพราะทุกคนรู้ดีว่าคราวที่แล้วใครเป็นคนเผา
ญี่ปุ่นเกาะติดความคืบหน้าคดีช่างภาพ
ที่พรรคเพื่อไทย นายโนบุอากิ อิโตะ อัครราชทูตญี่ปุ่นฝ่ายการเมืองประจำประเทศไทย
เข้าพบ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย โดยใช้เวลาพูดคุยกันนานกว่า 1 ชั่วโมง
จึงเดินทางกลับโดยไม่มีใครเปิดเผยรายละเอียดของการหารือครั้งนี้
แต่คาดการณ์ว่าน่าจะมาติดตามเรื่องช่างภาพญี่ปุ่นเสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปีที่แล้ว
เนื่องจากคดีไม่คืบหน้าเท่าที่ควร
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งว่า
จะมีการสรุปผลสอบสวนการเสียชีวิตของประชาชนจากเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือง 89 ศพ
ภายในสัปดาห์นี้ และจะแถลงให้ประชาชนได้รับทราบ
แต่ส่วนใหญจะไม่ระบุว่าใครเป็นคนทำให้เสียชีวิต
อนุ คอป. แจงคืบหน้าสอบข้อเท็จจริง
ด้านการประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา
ที่มีนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ เป็นประธาน
ได้เชิญนายสมชาย หอมลออ ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
เหตุวุ่นวายทางการเมืองช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553
ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง
เพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มาชี้แจงความคืบหน้าการทำงาน
นายสมชายชี้แจงกับที่ประชุมว่า คอป. ทำงานภายใต้กรอบ 3 ข้อคือ
ค้นหาความจริงของเหตุการณ์
หามาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย
และหาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง
ยันวันที่ 24 ก.พ. สรุปรายงานรอบแรก
“คอป. ต้องรายงานความคืบหน้าการทำงานต่อรัฐบาลทุก 6 เดือน
ซึ่งวันที่ 24 ม.ค. นี้จะสรุปรายงานความคืบหน้าครั้งที่ 1
นอกจากเสนอต่อนายกรัฐมนตรีแล้วยังจะเปิดเผยต่อสาธารณชนด้วย
ซึ่งในรายงานจะไม่มีการสรุปว่าฝ่ายใดผิด ฝ่ายใดถูก
แต่จะเป็นการนำเสนอข้อมูลเพื่อให้เกิดความปรองดองมากกว่า”
นายสมชายระบุว่า การทำงานของคณะอนุกรรมการมีข้อจำกัดตรง
ที่ไม่มีอำนาจบังคับผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงหรือให้ข้อมูลได้
ได้แต่ขอความร่วมมือ แต่ก็พยายามทำความเข้าใจกับทุกฝ่าย
ซึ่งได้รับความร่วมมือด้วยดีทั้งผู้ชุมนุม ญาติผู้ชุมนุม แกนนำ และเจ้าหน้าที่รัฐ
ได้ข้อมูลที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน
“ข้อมูลที่ได้จากผู้สื่อข่าวทั้งในและต่างประเทศมีประโยชน์มาก
เพราะว่ามีพยานหลักฐานที่เชื่อถือได้ทั้งที่เป็นภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว
การทำงานของคณะอนุกรรมการได้ข้อมูลบางอย่างที่ไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณชนมาก่อน
อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการยังไม่ได้ข้อมูล
ในส่วนของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
ทั้งที่ขอความร่วมมือไป 2 ครั้งแล้ว
หากยังไม่ได้คงต้องรายงานต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้สั่งการ”
นายสมชายกล่าวอีกว่า
การทำงานของ คอป. หากเห็นว่ามีเรื่องจำเป็นสามารถเสนอต่อรัฐบาลได้ตลอดเวลา
ซึ่งที่ผ่านมาอย่างเรื่องข้อเสนอให้ประกันผู้ชุมนุมที่อยู่ในเรือนจำทั้งผู้ชุมนุมทั่วไปและแกนนำ
โดย คอป. เห็นว่าหากปราศจากเหตุผลอันควร
ในการควบคุมตัวจะทำให้มีปัญหาจนเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความสมานฉันท์ปรองดองได้
แฉเสื้อแดงโดนหลอกให้รับสารภาพ
“รัฐบาลก็ตอบสนองข้อเสนอดี แต่ติดที่บางคนถูกตั้งข้อหาแรงไป เช่น ก่อการร้าย
แม้การให้หรือไม่ให้ประกันจะเป็นดุลยพินิจของศาล
แต่คู่ความคือพนักงานสอบสวนสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อจำเลยได้
คอป. จึงแนะไปว่าหน่วยงานฝ่ายรัฐ
ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและหนทางไปสู่ความปรองดอง
ซึ่งการทำงานที่ผ่านมาพบว่าผู้ต้องหาคดีเล็กน้อย เช่น
ละเมิดเคอร์ฟิว หรือละเมิดข้อห้ามในการชุมนุม
แต่ไม่มีทนายช่วยสู้คดีเพราะไม่มีเงินก็ได้รับความเสียหายเกินจำเป็น เช่น
มีคนร้องเรียนว่าพนักงานสอบสวนให้คำแนะนำให้รับสารภาพเพราะโทษเบาเหมือนเล่นไพ่
ศาลก็จะรอลงอาญา แต่สุดท้ายเมื่อรับสารภาพศาลก็ลงโทษสถานหนักจำคุก 1 ปี
ตรงนี้ คอป. อาจเสนอให้มีกองทุนช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นจำเลยด้านกฎหมาย
เพราะถ้ามีทนายก็อาจจะสู้ในชั้นอุทธรณ์หรือขอประกันตัวออกมาก่อนได้
ไม่เช่นนั้นคนจนจะยิ่งรู้สึกกระทบจิตใจ
ตอกย้ำสิ่งที่เขารู้สึกว่ามี 2 มาตรฐาน” นายสมชายกล่าวและว่า
อีกประเด็นสำคัญที่ คอป. พบคือ
มีพนักงานสอบสวนบางคนยอมรับว่าการทำงานคำนึงถึงการตอบสนองผู้ใหญ่บางราย
ที่สั่งการมามากกว่าความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน
เรื่องนี้สำคัญ เพราะถือว่าไม่เป็นมืออาชีพ ไม่ยึดหลักนิติรัฐ
จึงต้องเสนอให้ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมต่อไป
ห่วงใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่สุด
นายสมชายกล่าวอีกว่า
ในประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้คุมขังเท่าที่ตรวจพบไม่มีอะไรร้ายแรง
อาจมีบางรายที่ได้รับบาดเจ็บระหว่างการจับกุม
หรือถูกขังในสถานที่ไม่สมควรระหว่างใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
แต่สิ่งที่ คอป. ห่วงมากที่สุดคือการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินมากกว่า
เพราะมีคนตั้งคำถามเข้ามามากโดยเฉพาะชาวต่างชาติว่ามากเกินไปหรือไม่
ในวงการทูตแต่ละประเทศมีความเห็นแตกต่างกัน
มีทั้งที่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาลและไม่เห็นด้วย
ไม่ควรปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น
ส่วนเรื่องการชุมนุมเชิงสัญลักษณ์หลังเหตุการณ์ นายสมชายกล่าวว่า
สิทธิการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย
หากไม่สามารถใช้กลไกอื่นๆในการปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตนเองได้
สิ่งที่เกิดขึ้นได้สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ทางการเมือง
ที่เคยมีไม่เพียงพอต่อการพัฒนาความคิดทางการเมืองที่เติบโตมากขึ้นของคนกลุ่มต่างๆ
แต่ฝ่ายรัฐยังไม่เข้าใจจึงไปปิดพื้นที่การแสดงความคิดเห็น
ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมในการสร้างความปรองดอง
โดยเฉพาะการอ้างเรื่องความั่นคงในการปิดสื่อ
ซึ่ง คอป. เห็นว่าจะกระทบต่อการสร้างความปรองดอง การควบคุมสื่อ
ควรให้องค์กรวิชาชีพทำกันเอง หลักคือ
ควรเปิดกว้างให้มีการพูดคุยกันมากกว่าไปปิดปาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
การประชุมของคณะกรรมการครั้งต่อไปในวันที่ 24 ม.ค. ได้เชิญเจ้าของเว็บไซต์
ที่ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดของรัฐบาลมาให้ข้อมูลต่อที่ประชุม
จวก 1 ปีไม่สรุปใครต้องรับผิดชอบ
รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกูล นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวในงาน
เสวนาเรื่อง “นักโทษ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อนมนุษย์ที่ถูกลืม”
ที่กลุ่มนักศึกษาและอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
ในนามชมรมกังหันความคิดเป็นผู้จัด ตอนหนึ่งว่า
ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาถูกคนในสังคมลืมและละเลย
ทั้งที่มีผู้เสียชีวิตและถูกจับเป็นจำนวนมาก
แต่ผ่านมาเกือบ 1 ปียังคงไม่มีคำตอบจากรัฐบาลว่าอะไรเป็นสาเหตุ
และผู้กระทำความผิดที่แท้จริงเป็นใคร
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=9400