ที่มา มติชน
โดย ธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ
มิเชล ฟูโก (Michael Foucault) ปรัชญาชาวฝรั่งเศส ได้ให้ความหมาย “วาทกรรม” (Discourse) ไว้ว่า เป็นเรื่องที่มากกว่าการเขียน และการพูด ยังรวมถึงระบบและกระบวนการในการสร้าง การผลิต(Constitute) เอกลักษณ์(Identity) และความหมาย(Significant) ให้กับสรรพสิ่งในสังคมที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นอำนาจ ความรู้ ความจริง หรือแม้กระทั่งตัวตนของเรา และนอกจากวาทกรรมจะทำหน้าที่ดังกล่าวแล้ว ยังทำหน้าที่ในการยึดตรึง สิ่งที่สร้างขึ้นให้ดำรงอยู่และเป็นที่ยอมรับของสังคมต่อไป
ขณะเดียวกันยังทำหน้าที่ในการเก็บกดปิดกั้น มิให้เอกลักษณ์ หรือความหมายของบางอย่าง หรือความหมายอื่นเกิดขึ้น หรือไม่ก็ทำให้เอกลักลักษณ์และความหมายของบางสิ่งที่ดำรงอยู่ในสังคมเลือนหายไปได้ พร้อมๆ กันอีกด้วย วาทกรรมสามารถแสดงบทบาทหน้าที่ดังกล่าวได้ โดยผ่านทางภาคปฏิบัติการของวาทกรรม (Discursive Practice) ได้แก่ จารีตประเพณี ความคิด ความเชื่อ คุณค่า ค่านิยม ผ่านทางสถาบัน และช่องทางในการเข้าถึงผู้คนในสังคม
ส่วนคำว่า วาทกรรมการเมือง (Political Discourse) มีนักปรัชญาหลายคน สรุปไว้ว่า เป็นแนวคิดที่ให้ความสนใจและความสำคัญในกิจกรรมของการสื่อความหมายทางภาษา การแสดงความคิดทางการเมือง และกลไกในการควบคุมระบบการสื่อความหมาย ของการแสดงความคิดทางการเมืองนั้น โดยมีการถ่ายทอดและอบรมสั่งสอน เพื่อการบังคับ ดำรงรักษา หรือนำการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไปด้วยในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ชุดของความคิดทางวาทกรรมการเมืองจะต้องใช้ความชอบธรรม (Legitimacy) ในการสื่อวาทกรรมแต่ละชุดออกไป เพื่อเปลี่ยนแปลง ยึดตรึงสิ่งต่างๆ ด้วยความถูกต้อง
นอกจากนั้น Thomas Jefferson ประธานาธิบดีคนที่สามของสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำนิยามว่าวาทกรรมการเมือง “คือหัวใจของระบอบประชาธิปไตย” โดยวาทกรรมการเมืองก็คือการแลกเปลี่ยนความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลอันจะนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาของสังคม และชุดของความคิดนี้มีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของพลเมือง จูงใจให้เชื่อถือด้วยหลักตรรกะและข้อมูลที่ชัดแจ้ง และแสดงให้เห็นชัดเจนว่ากระบวนการใดที่จะมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาให้สังคมได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม “วาทกรรมการเมือง” จึงมีความสัมพันธ์กับอำนาจในสังคมการเมือง เพราะทุกบริบทในสังคมการเมืองย่อมมีการใช้อำนาจแทรกซึมอยู่ทั่วไป ซึ่งพลังแห่งอำนาจนั้น แสดงผ่านทางวาทกรรมการเมือง และวาทกรรมแต่ละชุดจะสามารถกำหนดความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ทัศนคติ ของมนุษย์ นั่นคือ วาทกรรมการเมืองจึงเป็นกิจกรรมทางการเมืองทั้งความคิดและทางการปฏิบัติ ไปพร้อม ๆ กัน
ในอีกแง่มุมหนึ่งจึงสามารถกล่าวได้ว่า วาทกรรมการเมืองคือกระบวนการต่อสู้ แย่งชิง อำนาจในการนิยามความหมายของสิ่งที่ดี หรือไม่ดี ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้องในทางการเมือง และผู้อยู่ในอำนาจจะได้เปรียบในการต่อสู้แย่งชิงนี้
เมื่อพิจารณาถึงกระบวนการสร้าง ผลิต (Constitute) กำหนดเอกลักษณ์(Identity) และความหมาย(significant) ให้กับสรรพสิ่ง อันจะเป็นที่มาของการสั่งสมอำนาจ ความนิยมชมชอบจากประชาชน(Populist) เพื่อที่จะเป็นกลไกช่วยผลักดันและเกื้อหนุนให้เกิดเสถียรภาพในการดำรงอยู่ และมีความ “เป็นต่อ” ฝ่ายตรงกันข้ามให้มากที่สุด นั่นคือ กระบวนการต่อสู้แย่งชิงอำนาจในการนิยาม ความหมายของสิ่งต่างๆ ซึ่งอำนาจในการนิยามสิ่งนั้นๆ จะต้องมีที่มาจากความชอบธรรม (Legitimacy)
การผลิตวาทกรรมการเมืองของพรรคการเมือง ของรัฐบาล แต่ละยุคสมัย รวมถึงยุคปัจจุบัน มีกระบวนการผลิตชุดของวาทกรรม ขึ้นมามากมาย แม้บางอย่างจะเป็นการผลิตซ้ำ อาทิ วาทกรรมเพื่อสร้างประชานิยม(Populism) ทั้งหลาย เช่น ในสมัยที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี วาทกรรม “เงินผัน” อันเป็นแนวคิด “เคนเซี่ยน” (Keyensianism) คือการหว่านเม็ดเงินกระตุ้นรากหญ้าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็นับเป็นวาทกรรมการเมือง ที่ได้ผลในการสร้างและยึดตรึงความพึงพอใจของประชาชนในแง่ของผลที่ได้รับ อันนำมาซึ่งเสถียรภาพของรัฐบาลในระดับที่น่าพึงพอใจ
เมื่อมองให้ลึกซึ้ง การผันเงินสู่ชนบทของรัฐบาลในขณะนั้น ก็เป็นเพียงการสร้างชุดของวาทกรรม ที่เนื้อแท้แล้ว ประโยชน์ของประชาชนเป็นเรื่องรอง และผลสะท้อนด้านประชานิยมต่างหากที่เป็นวัตถุประสงค์หลัก อีกทั้งไม่สามารถฝ่าอุปสรรคความไม่โปร่งใสทั้งมวลไปได้ ว่ากันว่า “เงินผันคึกฤทธิ์” คนหลายกลุ่มร่ำรวยกันถ้วนหน้า
หลังจากนั้น รัฐบาลในยุคต่างๆ ก็พากันผลิตวาทกรรมการเมือง เพื่อจูงใจประชาชนทั้งสิ้น กระทั่งรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เสนอวาทกรรมการเมือง “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า” นับเป็นวาทกรรมที่ยังได้รับการกล่าวขานถึงในแง่มุมของวิสัยทัศน์ผู้นำในการก้าวสู่เวทีโลก แต่ “ สนามการค้า” ดังกล่าวได้นำมาซึ่งเค้าลางแห่งการก่อเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่(Bubble Economy ) และการคอร์รัปชั่นแบบ “ Buffet Cabinet”
ในที่สุดการเลือกตั้งแต่ละยุคพรรคการเมืองจะรังสรรค์วาทกรรมการเมืองใหม่ๆ ขึ้นเสมอเพื่อช่วงชิงพื้นที่ทางการเมือง เป็นต้นว่า “ไม่เลือกเราเขามาแน่” หรือ “คนของเราพรรคของเรา” หรือ “เลือกคนบ้านเราเป็นนายก” หรือ “ จำลองพาคนไปตาย”เป็นต้น จนกล่าวกันว่าเป็นการเอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้คนอื่น
ก่อนการเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ได้ก่อให้เกิดการรังสรรค์ วาทกรรมจากบรรดานักวิชาการ(Technocrat) เช่น การเมืองภาคประชาชน การมีส่วนร่วม (participation) ประชาสังคม(civil society) ซึ่งนับเป็นวาทกรรมการเมืองที่เสมือนเป็นการหยิบยืมมาจากโลกเสรีประชาธิปไตยที่มีการพัฒนาประชาธิปไตยให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมาเนิ่นนานแล้ว
ทั้งๆที่ในบริบทของการเรียกร้องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน หรือประชาสังคม (civil Society) ของไทยมีมานานพร้อมๆ กับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน (Civic Movement) จนก่อให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดมาหลายครั้ง แต่วาทกรรมดังกล่าวก็เพิ่งจะถูกขานรับเมื่อไม่นานมานี้เอง ทำให้ประชาสังคม (civil Society) เสมือนเป็นวาทกรรมใหม่สำหรับสังคมไทย ที่ได้สร้างกระบวนการให้เกิดความรับรู้ ความเชื่อ และอุดมการณ์ตามมา
อย่างไรก็ดี วาทกรรมการเมืองเดิมๆ กลับไม่ยืนยงและครอบงำ(Domination) ประชาชนอย่างท่วมท้น เฉกเช่นที่พรรคไทยรักไทยนำเสนอ ทั้งนี้ว่ากันว่ามีกระบวนการผลิตวาทกรรมการเมืองที่ลึกซึ้งแยบยล จูงใจให้ประชาชนรู้สึกถึงความดูแลเอาใจใส่ เป็นต้นว่า “โครงการเอื้ออาทร” “โครงการเอสเอ็มอี” หรือ “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณธ์” ที่รัฐกลายเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชู ( Policy Patronage ) วาทกรรมชุดนี้ได้สร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาอย่างเด่นชัด ทำหน้าที่ปิดกั้นมิให้เอกลักษณ์ ของพรรคฝ่ายค้านมีพื้นที่ (sphere )ได้แม้แต่น้อย จนต้องสร้างวาทกรรม “ธนกิจการเมือง” ขึ้นมา ก่อให้เกิดดุลภาวะในสมรภูมิทางการเมืองบ้างพอสมควร
วาทกรรม “โครงการเอื้ออาทร” หรือ “ โครงการเอสเอ็มอี” หรือ “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” แม้ถูกมองว่าเป็นประชานิยมแต่รัฐบาลจากรัฐประหารที่ห่อหุ้มด้วยอำนาจทหาร ก็มิได้ยกเลิก ทำได้เพียงแต่เปลี่ยนชื่อใหม่ หรือเปลี่ยนอัตลักษณ์ใหม่ให้เป็นของตน แต่วิธีการยังคงเดิม นั่นหมายความว่ารัฐบาลทหารยอมรับวาทกรรมการเมืองเหล่านั้นเช่นเดียวกับประชาชน
วาทกรรม“ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” ทั้งๆที่อำนาจรัฐคืออำนาจประชาชนที่ไม่ต้องมีใครมากำหนดให้เพิ่มหรือลด เป็นความผิดพลาดในการรังสรรค์วาทกรรม ที่รัฐเข้าใจว่ามีอำนาจเหนือประชาชน ทั้งๆ ที่รัฐมิได้มีอำนาจอยู่แต่เดิม แต่เป็นอำนาจที่ได้รับมอบหมายประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการปกครองโดยประชาชน ของประชาชน และเพื่อประชาชน ที่เป็นวาทะอมตะของ อับราฮัม ลินคอร์น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
การสร้างชุดวาทกรรมการเมือง ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ก็เพื่อเป็นการตอกย้ำว่าอำนาจรัฐที่มีบริบูณณ์เหนือประชาชนนั้น ต่อไปนี้จะได้แบ่งสรรมาให้ประชาชนด้วยตระหนักว่าประชาชนมีความสำคัญและไม่เคยมีอำนาจนั้นอยู่เลย ความเมตตานี้จึงเป็นความเอื้ออาทรอีกประการหนึ่ง ที่ประชาชนมีหน้าที่ต้องตอบแทนความมีน้ำใจของรัฐอีกเช่นเคย
นอกจากนั้นยัง ได้สร้างวาทกรรมใหม่ที่ให้เข้าใจกันว่า “ประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง” หรือ “คนรวยใช่ว่าจะไม่โกง” หรือ “ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเป็นพวกไม่รักชาติรักแผ่นดิน” ซึ่งเป็นวาทกรรมที่แยกเขาแยกเราทำให้เขากลายเป็นอื่นที่ไม่ใช่พวกเดียวกันในสังคม และที่สำคัญวาทกรรมการเมืองยังทำให้รัฐบาลที่เข้มแข็งต้องพังครืนลงมาแล้วอย่างคำว่า “ระบอบทักษิณ” แม้แต่ลูกเล็กเด็กแดงยังคงรู้จัก
ดังนั้นชุดของวาทกรรมทางการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นแต่ละยุคสมัยได้ก่อให้เกิดความหมาย และสัญลักษณ์ต่างๆ ในสังคมการเมือง ที่สามารถครอบงำ ยึดตรึง ปิดกั้นความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ของผู้คนในสังคมเป็นอย่างดี การเสพย์วาทกรรมจึงต้องแยกแยะความถูกต้องชอบธรรมและที่มาของวาทกรรมนั้นๆด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกครอบงำ และการบิดเบือนที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกทางสังคมโดยผู้เสพย์เองก็ไม่ทันตั้งตัว
( เรื่อง: ธนชาติ แสงประดับ ธรรมโชติ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์การเมือง Thanajaithai@hotmail.com)