ที่มา ประชาไท
ช่วงเวลาผ่านไปยังไม่ทันจะครบชั่วโมง ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ในฐานะประธานที่ประชุมก็กล่าวสรุปและชิงปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้ค้าขายในตลาดชาวเขาดอยมูเซอ ขณะที่ชาวบ้านที่เกี่ยวข้องจำนวนมากยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นให้ผู้ว่าฯ ได้รับฟัง ความโกลาหลย่อย ๆ จึงเกิดขึ้นจากความไม่พอใจของชาวบ้านหลายร้อยคนจาก 7 หมู่บ้าน
การประชุมดังกล่าว มีที่มาจากการมีเสียงคัดค้านจากชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการปรับปรุงตลาดชาวไทยภูเขา (เก่า) ซึ่งงบประมาณดำเนินงานนั้นผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้วจำนวนกว่า 7 ล้านบาท
แต่เดิมนั้น ตลาดชาวไทยภูเขา (เก่า) จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของชาวเขาในพื้นที่ดอยมูเซอ มาตั้งแต่ปี 2521 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สร้างรายได้เสริมจากการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร เป็นการลดพื้นที่ปลูกฝิ่น รวมทั้งลดการบุกรุกทำลายป่า ฯลฯ ซึ่งในระยะหลังได้มีพ่อค้าแม่ค้าชาวไทยพื้นราบจำนวนมากมาจับจองพื้นที่จำหน่ายสินค้า ส่งผลกระทบต่อการค้าขายของชาวบ้านในพื้นที่เป็นอันมาก ทั้งในแง่การบดบังพื้นที่จำหน่ายเดิมและการรุกเข้าครอบครองพื้นที่เดิมของชาวบ้าน
ในแง่การปรับปรุงตลาดฯ นั้น ชาวบ้านมีบทเรียนจากในอดีตเมื่อคราวที่ อบต.ด่านแม่ละเมา ได้มาดำเนินการปรับปรุงและจัดระเบียบตลาดชาวไทยภูเขา (เก่า) แต่การดำเนินการนั้นก็มิได้เอื้อประโยชน์ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ในทางตรงกันข้ามการดำเนินการดังกล่าวกลับเอื้อประโยชน์ให้ชาวไทยพื้นราบที่ขึ้นมาค้าขายเสียเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้น ชาวบ้านทราบข้อมูลมาว่า ตลาดที่จะปรับปรุงใหม่นั้น ไม่สอดคล้องกับความต้องการและไม่สอดรับกับการแก้ปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ เช่น การลดขนาดของแผงวางจำหน่ายสินค้า การจำกัดจำนวนแผงซึ่งมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้าน ฯลฯ
.....
ในช่วงเริ่มต้นของการประชุม ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวถึงที่มาของโครงการฯ ที่จะต้องมีการปรับปรุงตลาดว่า ได้รับการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวถึงความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ความสกปรกรกรุงรัง ความไม่สะอาดปลอดภัยของสินค้า ฯลฯ และกล่าวเลยไปถึงว่ามีอดีตแกนนำบางคนไปพูดคุยกับชาวบ้านให้มาร่วมกันไม่ให้ยอมรับโครงการปรับปรุงตลาด และได้กล่าวในช่วงท้ายว่าการประชุมวันนี้เป็นเวทีพูดคุยรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้าขายในตลาดฯ ที่ได้ส่งหนังสือเชิญมาราว 200 กว่าคน
จะพือ หรือ จักรพงษ์ มงคลคีรี ชาวลาหู่แกนนำชาวบ้านจากบ้านห้วยปลาหลด ได้พยายามอธิบายต่อจากท่านผู้ว่าฯ ว่า การที่พวกเขารวมตัวกันนั้น มิได้ตั้งใจมาคัดค้านหรือต่อต้านโครงการฯ แต่อยากให้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง พวกเขาได้รวมตัวกันขอเข้าพบผู้ว่าฯ เพื่อชี้แจงความคิดเห็นและข้อเสนอแต่ก็ไม่ได้รับโอกาสให้เข้าพบพบ
และได้อธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างการทำมาค้าขายในตลาดฯ กับการดำเนินวิถีชีวิตและการรักษาป่าว่า ตลาดฯ แห่งนี้ มีส่วนอย่างยิ่งในการบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่มีที่ดินจำกัด ซึ่งการประกอบอาชีพค้าขายนี้ มีส่วนช่วยยับยั้งการบุกรุกทำลายป่าเป็นอันมาก ทำให้ยังคงผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้ จะพือ ได้นำภาพถ่ายทางอากาศมาแสดงยืนยันให้เห็นว่าชาวบ้านใช้พื้นที่ปลูกพืชผักมาจำหน่ายในบริเวณที่ลุ่มเชิงเขาจำนวนเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ผืนป่าส่วนใหญ่ยังอุดมสมบูรณ์
แต่ยังมิทันที่จะอธิบายความได้อย่างครบถ้วน และใช้เวลาไปไม่มากนัก ท่านผู้ว่าฯ ก็กล่าวขึ้นถามถึงข้อเสนอที่ต้องการ
จะพือบอกว่า ขณะนี้ปริมาณของชาวบ้านมีเพิ่มมากขึ้น แต่พื้นที่ทำกินมีอยู่จำกัด จะไปทำงานนอกพื้นที่ก็ลำบาก การปรับปรุงตลาดบนพื้นที่เดิมไม่เพียงพอต่อความต้องการ รวมทั้งแผงวางจำหน่ายสินค้าที่จะจัดสร้างใหม่นั้นก็เล็กและแคบเกินไป จึงเสนอให้จัดสร้างอาคารแห่งใหม่ในพื้นที่ที่ติดกับพื้นที่เดิมขึ้นไป ซึ่งมีพื้นที่เพียงพอที่จะรองรับกับความต้องการของชาวบ้านได้ และได้บอกเพิ่มว่าชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างงานของหน่วยงานราชการในพื้นที่ รวมทั้งชาวบ้านที่มีความยากลำบากในการประกอบอาชีพก็จะได้รับการบรรเทาความเดือดร้อนด้วย และได้เสนอเงื่อนไขว่าหากเขาได้ใช้พื้นที่ขยายตลาดซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช ชาวบ้านจะรวมตัวกันไปปลูกและดูแลป่าให้เติบใหญ่สมบูรณ์ให้ในพื้นที่อุทยานฯ ในบริเวณที่ป่าไม่สมบูรณ์
ท่านผู้ว่าฯ กล่าวในทำนองเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว แต่ท่านก็บอกว่านั่นจะเป็นโครงการในอนาคต สามารถดำเนินการได้ในระยะต่อไป ซึ่งจะต้องมีการขออนุญาติใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้เสียก่อน สำหรับขณะนี้ควรจะทำการปรับปรุงของเดิมเสียก่อน ตามการออกแบบของสำนักงานโยธาธิการจังหวัดตาก และได้ให้โยธาธิการจังหวัดตากชี้แจงข้อมูลต่อที่ประชุม
อาคารที่ทางจังหวัดออกแบบนั้น เป็นอาคารโล่งชั้นเดียว หลังคาสูงโปร่ง ลดหลั่นเป็น 3 ระดับ ภายในมีแผงวางจำหน่ายสินค้าจำนวน 256 แผง ขนาดความกว้าง 1 เมตร ยาว 1.20 เมตรต่อหนึ่งแผง มีทางเดินระหว่างแถว 1.50 เมตร ด้านหน้าอาคารเป็นลานโล่งสำหรับจอดรถ มีห้องน้ำจำนวน 6 ห้องอยู่ด้านหลังอาคาร มีการประดับประดาด้วยไม้ดอก
ท่านผู้ว่าฯ ให้ข้อมูลเสริมว่าท่านได้มอบนโยบายการก่อสร้างว่าให้ดำเนินการโดยรีบด่วนภายในเวลาราว 3 เดือน เพื่อไม่ให้ชาวบ้านเดือดร้อนจากการไม่มีสถานที่วางจำหน่ายสินค้า
ชาวบ้านที่มาร่วมประชุมบางส่วนพยายามซักถามข้อสงสัยเพิ่มเติม เช่น สิทธิของผู้ค้ารายเดิม ขนาดของแผงวางจำหน่ายสินค้า ฯลฯ คำตอบแบบขอไปทีทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ และยิ่งมีการนำเสนอตัวเลขจากการสำรวจผู้ค้าของหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ทำให้บรรยากาศการประชุมตึงเครียดขึ้น กระทั่งท่านผู้ว่าต้องตัดบทปิดประชุมไป
.....
“...ผู้ว่าฯ ไม่ยอมฟังพวกเราเลย...”
“...ผมต้องเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย ต้องผ่อนรถ จะให้แผงผมแค่เมตรกว่า ๆ มันจะได้อย่างไร...”
“...ตัวเลขไม่ถูกต้อง บ้านของผมมีเยอะกว่านี้ แล้วที่หมู่บ้านนี้ไม่ใช่มีคนมาขายเยอะขนาดนี้...”
“...ไม่ให้เราขายของจะให้เราไปทำอะไร จะให้ไปบุกป่า หรือจะให้ไปขายยาบ้าหรืออย่างไร...”
“...นักท่องเที่ยวเขาไม่อยากไปเดินซื้อของในอาคารหรอก ดูที่ตลาดใหม่สิ ไม่เห็นมีนักท่องเที่ยวเดินเข้าไปซื้อของในอาคารเลย...”
“...เงินตั้งเจ็ดล้านกว่า ทำได้แค่นี้เองเหรอ...”
เสียงพูดคุยกันเองของชาวบ้านหลังปิดการประชุม ซึ่งเกือบทั้งหมดแสดงสีหน้าและอาการไม่พอใจกับการประชุมที่ผ่านไป
พ่อค้าชาวลาหู่คนหนึ่งยืนกรานว่า
“...ตลาดแห่งนี้ พ่อแม่ผมเป็นคนสร้าง ใครจะมารื้อไม่ได้ ใครมารื้อผมจะแจ้งความ...”
หลังสิ้นสุดการประชุม ตัวแทนชาวบ้านจากแต่ละแห่งมาร่วมหารือกัน และมีความเห็นร่วมกันว่าเขาจะคัดค้านโครงการดังกล่าวจนถึงที่สุด
.....
ความพยายามในการอธิบายปัญหา และการหาทางออกจากปัญหาของชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดอยมูเซออย่างเป็นระบบไม่ได้รับการรับฟังจากผู้ว่าราชการจังหวัดรวมทั้งหน่วยงานราชการที่รายล้อมท่านอยู่ในขณะนั้น ดูเหมือนว่าท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและบรรดาผู้ติดตามทั้งหลายมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้เกิดการปรับปรุงตลาดในวงเงินกว่า 7 ล้านบาท
ซึ่งหากดำเนินการไปตามนั้น ปัญหาอุดจาดตาต่าง ๆ อาทิ ความไม่เป็นระเบียบ ความสกปรกรกรุงรัง ซึ่งเป็นปัญหาของคนมาท่องเที่ยวก็จะถูกจัดการให้หมดสิ้นไป (ซึ่งปัญหาเหล่านี้มิได้ทำให้ยอดจำหน่ายสินค้าของชาวบ้านลดลงแต่ประการใด และไม่แน่ใจว่าเป็นปัญหาในทัศนะของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่หรือไม่) แต่ปัญหาพื้นฐานของชาวบ้านในพื้นที่ก็จะยังถูกซุกเก็บไว้ รวมทั้งความขัดแย้งซึ่งจะเป็นปัญหาใหม่ที่ชาวบ้านคาดการณ์กันไว้จะก่อตัวขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ภายใต้อาคารหลังใหม่ที่เบียดเสียดยัดเยียดสภาพไม่ต่างจากตลาดสด
อย่างไรก็ตามหากท่านผู้ว่าฯ อดทนฟังต่ออีกนิด ซึ่งจะได้รับฟังข้อมูลเพิ่มเติมจากคนในพื้นที่ อย่างน้อยก็ให้สมดุลกับข้อมูลที่เอียงกระเท่เร่จากบรรดาหน่วยงานที่รายล้อม ท่านก็จะได้เข้าใจสภาพปัญหาที่แท้จริง และจะสามารถแก้ปัญหาได้มากกว่าการแก้ในเชิงเทคนิค และก็จะเห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่มากกว่าความสะดวกสบายที่จะได้รับของนักท่องเที่ยว
ท่านควรจะรับทราบปัญหาว่า บัดนี้ชาวบ้านในพื้นที่ดอยมูเซอซึ่งมีอยู่ถึง 7 หมู่บ้าน ซึ่งยังมิรวมถึงชาวบ้านในหมู่บ้านที่ลึกเข้าไปข้างในอีกหลายหมู่บ้านมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ทำกินก็มีอยู่เท่าเดิม การบุกรุกป่าทำได้ยากขึ้นด้วยความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ รวมทั้งสำนึกในการอนุรักษ์ผืนป่าของชาวบ้านก็มีเพิ่มมากขึ้น (ดังจะเห็นได้ในบางหมู่บ้านที่สามารถดูแลรักษาป่าจนฟื้นความอุดมสมบูรณ์ถึงขนาดได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ซึ่งเป็นรางวัลระดับประเทศ)
นอกจากนั้นยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นลูกจ้างของหน่วยงานราชการในพื้นที่ เมื่อคราวหน่วยงานเลิกจ้าง อีกทั้งชาวบ้านหลายสิบครอบครัวที่อพยพมาจากเชียงใหม่เพื่อเป็นคนงานปลูกป่าของกรมป่าไม้ ซึ่งภายหลังการเลิกจ้างก็มิได้มีการรองรับให้ชาวบ้านสามารถประกอบอาชีพอื่นใด ชาวบ้านเหล่านี้ก็ประสบความยากลำบากด้วยไม่มีทางเลือกอื่นในการทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว หลายครอบครัวจึงต้องส่งลูกหลานไปทำงานในเมือง ทั้งนี้มีบางรายที่หลงผิดเข้าไปสู่วงจรการค้าขายยาเสพติด
ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่สามารถจัดการให้หมดสิ้น แต่ก็สามารถบรรเทาลงได้ด้วยการปรับปรุงตลาดให้รองรับและสอดรับสภาพปัญหาที่ชาวบ้านพยายามสะท้อน
ชาวบ้านมีคิดออกว่าการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการทำมาหากินที่สอดคล้องกับการรักษาป่าที่ร่อยหรอลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในเชิงระบบ แต่ส่วนราชการมุ่งที่จะแก้ปัญหาเพียงในเชิงเทคนิค แค่ทำให้ตลาดดูดีเป็นหน้าเป็นตาเพื่อต้อนรับและได้รับความประทับใจจากนักท่องเที่ยว แต่มิได้สนใจปัญหาที่แท้จริงของชาวบ้านในพื้นที่
เพราะขีดจำกัดใดที่ทำให้ส่วนราชการมองไม่เห็นการแก้ปัญหาในเชิงระบบ จะเป็นเพราะปริมาณของงบประมาณในการก่อสร้าง 7 ล้านกว่าบาท เป็นเพราะขีดจำกัดในการเร่งใช้งบประมาณ หรือเพราะเห็นปัญหาของนักท่องเที่ยวสำคัญกว่าปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ ใครก็ได้ช่วยตอบที
000
ความเป็นมา-พัฒนาการและบทบาทของตลาดชาวไทยภูเขา (เก่า)
ทวน จันทรุพันธุ์
ความเป็นมาและพัฒนาการ
ชาวบ้านหลายกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่ดอยมูเซอ เขตรอยต่อระหว่าง ต.แม่ท้อ อ.เมือง จ.ตาก และ ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อกว่า 50 ปีล่วงมาแล้ว อาชีพดั้งเดิมคือการทำไร่ข้าวควบคู่กับการทำไร่ฝิ่น ในส่วนการทำไร่ฝิ่นของชาวบ้านนั้นได้ส่งผลต่อการลดจำนวนของผืนป่าเป็นอันมาก นอกจากนั้นฝิ่นก็เป็นยาเสพติดที่ส่งผลร้ายต่อสังคมอย่างเอนกอนันต์
ในปี พ.ศ. 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงษ์ เสด็จเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านห้วยปลาหลด พระองค์ทรงมีพระราชดำริส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกทดแทนฝิ่น และต่อมาหน่วยงานราชการได้เข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชผักเศรษฐกิจหลายชนิด อาทิ กาแฟ กล่ำปลี หัวไชเท้า ผักกาดขาว บล็อคเคอรี่ คะน้า ฯลฯ
กลุ่มชาวลาหู่เริ่มรู้จักการค้าขายจากการนำพืชผักในไร่มาจำหน่ายให้กับคนงานที่มาทำการตัดถนนเส้นทางสายตาก-แม่สอด และหลังจากการสร้างเส้นทางแล้วเสร็จ ชาวลาหู่จากบ้านห้วยปลาหลดและบ้านใหม่ ได้ออกมาสร้างเพิงพักริมเส้นทางสายตาก-แม่สอด บริเวณ ก.ม. 29 ซี่งเป็นที่ตั้งของตลาดชาวเขา (เก่า) ในปัจจุบัน เพื่อนำสินค้าจำพวกพืชผักและของป่ามาวางจำหน่ายให้แก่ผู้ที่ใช้เส้นทางสัญจรไปมา รวมทั้งเป็นจุดพักเพื่อจะเดินทางต่อเข้าเมืองเพื่อซื้อสินค้าจำเป็นมาใช้ในครัวเรือน
เมื่อปี 2521 ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดตาก ได้รับงบประมาณมาดำเนินการสร้างตลาดชาวไทยภูเขา และได้ชักชวนให้ชาวบ้านที่ทางศูนย์ฯ เข้าไปส่งเสริมให้ปลูกพืชผักเศรษฐกิจต่าง ๆ และนำออกมาจำหน่าย ซึ่งนอกจากการจัดทำสถานที่จำหน่ายสินค้าแล้ว ยังได้สร้างเรือนชาวเขาเผ่าต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สัญจรไปมาได้แวะชมและจับจ่ายซื้อหาสินค้าของชาวบ้าน ตลาดชาวไทยภูเขาแห่งนี้เริ่มเป็นที่รู้จักและเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งกลายเป็นจุดแวะพักที่สำคัญของเส้นทางนี้ในระยะเวลาไม่นานหลังจากนั้น
พื้นที่ตั้งหมู่บ้านชาวเขาในเขตพัฒนาพื้นที่ดอยมูเซอ อยู่ในความดูแลของศูนย์ฯ ชาวเขา จ.ตากมาโดยตลอด จนกระทั่งปี 2524 กรมป่าไม้ได้ประกาศพื้นที่อุทยานต้นตระบากใหญ่ ครอบคลุมเขตพัฒนาพื้นที่ดอยมูเซอบางส่วน รวมทั้งพื้นที่ตั้งตลาดชาวไทยภูเขาที่ได้จัดตั้งขึ้นมาด้วย ศูนย์ฯ ชาวเขา จ.ตาก จึงถอนตัวออกมาจากการดูแลพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ
หลังจากการพ้นหน้าที่การดูแลของศูนย์พัฒนาฯ จ.ตาก ก็เริ่มมีชาวพื้นราบขึ้นมาจับจองพื้นที่แถบเรือนจำลองในบริเวณตลาดชาวไทยภูเขา ซึ่งต่อมาได้ร่วมมือกันสร้างเป็นอาคารแถวหลายคูหาขึ้น ทำการค้าขายสินค้าต่าง ๆ อาทิ อาหาร ของฝาก ฯลฯ ให้กับนักท่องเที่ยวที่แวะพัก และในปี 2528 ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้รวมตัวกันขอติดตั้งไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งหลังจากการติดตั้งไฟฟ้าก็มีชาวพื้นราบขึ้นมาจับจองพื้นที่ทำการค้าขายมากขึ้นเรื่อย ๆ
เช่นเดียวกับชาวบ้านในพื้นที่ จากการทำมาค้าขายสินค้าทางการเกษตร ซึ่งเป็นผลิตผลจากเทือกสวนไร่นา ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เข้าครอบครัวมากขึ้น เริ่มมีชาวบ้านเริ่มหันเหมาทำการค้าขายเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ อาทิ การเพิ่มขึ้นของประชากรภายใต้ข้อจำกัดที่ทำกินซึ่งมีอยู่เท่าเดิม ความเข้มงวดกวดขันของกรมป่าไม้ในการทำมาหากินในเขตป่าของชาวบ้านในพื้นที่ การใช้เงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างความสำเร็จของชาวบ้านในการประกอบอาชีพค้าขาย ฯลฯ
ปี 2535 คณะลูกศิษย์ของพระอาจารย์เด่น นันทิโย ซึ่งจำพรรษาอยู่ในหมู่บ้านห้วยปลาหลด ได้จัดสร้างอาคารสหกรณ์ร้านค้า สำหรับเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าจำพวกของระลึกให้กับนักท่องเที่ยว เป็นการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านอีกทางหนึ่ง ซึ่งตัวอาคารอยู่ห่างจากถนนหลวงเข้าไปด้านใน ต่อมาพื้นที่ว่างระหว่างตัวอาคารและถนนหลวง ถูกพ่อค้าชาวพื้นราบตั้งร้านค้าบังหน้าสหกรณ์ จนทำให้สหกรณ์ไม่สามารถทำการค้าขายได้อีกต่อไป
ในปี 2537 ซึ่งขณะนั้นมีชาวบ้านในพื้นที่ออกมาทำการค้าขายจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้รวมตัวกันโดยการนำของนายจักรพงษ์ มงคลคีรี จากบ้านห้วยปลาหลด ทำการรวบรวมเงินซื้อวัสดุก่อสร้างมาปรับปรุงอาคารและแผงวางจำหน่ายสินค้าเพื่อให้ทำการค้าขายสะดวกและรองรับปริมาณชาวบ้านที่ออกมาค้าขายที่มีมากขึ้น
ในการปรับปรุงการดำเนินงานดังกล่าวนั้น นายจักรพงษ์ มงคลคีรี ในฐานะแกนนำได้เชิญชาวบ้านอีกสองหมู่บ้านคือบ้านม้งและบ้านลีซอ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ดอยมูเซอให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงตลาด และได้จัดสรรพื้นที่ค้าขายให้กับชาวบ้านทั้งสองแห่งนั้นด้วย
ภายหลังการปรับปรุงตลาดสิ้นสุดลง ชาวบ้านในพื้นที่ทั้งชาวลาหู่ ม้งและลีซู ก็นำสินค้าทางการเกษตรมาวางจำหน่ายในแผงที่ได้รับการจัดสรรซึ่งอยู่ภายในบริเวณอาคารที่ได้รับการปรับปรุง
อย่างไรก็ตามลักษณะการค้าขายของชาวบ้านมิได้ดำเนินการในลักษณะผู้ประกอบการค้าขายเสียทีเดียว เนื่องจากอาชีพหลักของชาวบ้านยังคงเป็นการทำไร่และปลูกพืชผักบางชนิด การออกมาค้าขายในตลาดฯ โดยมาเป็นช่วงที่ชาวบ้านว่างเว้นหรือปลีกตัวจากงานหลักในเทือกสวนไร่นา นอกจากนั้นด้วยความที่ยังคงยึดมั่นในขนบธรรมเนียมที่สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ที่จะต้องมีการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ หลากหลายเกือบทั้งปี เมื่อถึงคราวประกอบพิธีซึ่งมักจะใช้ระยะเวลายาวนา ช่วงดังกล่าวชาวบ้านจะไม่ทำงานประกอบอาชีพใด ๆ แต่จะหยุดอยู่กับบ้านเพื่อเข้าร่วมพิธีกรรมนั้น ๆ โดยพร้อมเพรียงกัน
ลักษณะดังกล่าว จึงทำการทำมาค้าขายของชาวบ้านมิได้เป็นไปอย่างต่อเนื่องทุกวัน ในวันที่ชาวบ้านมิได้มาใช้พื้นที่ค้าขาย พื้นที่เหล่านั้นก็จะถูกชาวพื้นราบที่เริ่มทะยอยขึ้นมาทำการค้าขายรุกใช้พื้นที่แทนชาวบ้านทีละเล็กละน้อย โดยเฉพาะการวางแผงจำหน่ายสินค้าบังหน้าตลอดทั้งอาคาร ซึ่งไม่เพียงกีดกั้นไม่ให้นักท่องเที่ยวที่จะมาจับจ่ายซื้อสินค้าเข้าไปภายในอาคารได้ยากลำบากเท่านั้น แต่ก็ยังทำให้ชาวบ้านที่จะนำสินค้าของตนเองซึ่งจะต้องเดินผ่านแผงจำหน่ายสินค้าของชาวพื้นราบที่ตั้งบังด้านหน้าอยู่ด้วยความยากลำบาก ในหลายกรณีชาวบ้านแบกนำสินค้าของตนเข้าไปด้านในต้องไปพลาดถูกสินค้าของชาวพื้นราบเสียหายก็ต้องชดใช้ความเสียหายในราคาสูงเท่ากับราคาจำหน่าย
ตลาดชาวไทยภูเขาเติบโตไปอย่างไร้ทิศทาง ขณะที่มีชาวบ้านจำนวนมากเข้ามาใช้พื้นที่จำหน่ายสินค้า ในปี 2541 ศูนย์ฯ ชาวเขา จ.ตาก จึงได้จัดตั้งตลาดชาวไทยภูเขาแห่งใหม่ขึ้น อยู่บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้านส้มป่อย บนถนนเส้นทางสายตาก-แม่สอด
การดำเนินงานของตลาดชาวไทยภูเขาแห่งใหม่นี้ ทำท่าจะไปด้วยดี มีชาวบ้านจากตลาดฯ เก่าเข้ามารับจัดสรรค้าขายในพื้นที่ตลาดแห่งใหม่จำนวนมาก แต่ในระยะหลัง ศูนย์ฯ ชาวเขาในฐานะผู้ดูแลพื้นที่ ไม่สามารถบริหารจัดการให้เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมาได้ ในที่สุดชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ต้องย้อนกลับไปจำหน่ายสินค้าที่ตลาดแห่งเดิม
สำหรับที่ตลาดแห่งเดิมนั้น เนื่องจากไม่มีหน่วยงานใดมาบริหารจัดการ จึงทำให้สภาพตลาดไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย สกปรกรกรุงรัง ถูกนักท่องเที่ยวร้องเรียนไปยังจังหวัดหลายครั้ง ซึ่งทางจังหวัดได้สั่งการให้องค์การบริหารส่วนตำบลด่านแม่ละเมาเข้ามาจัดการดูแล และในปี 2548 ทาง อบต.แม่ละเมา จึงเข้ามาจัดระเบียบตลาดฯ เสียใหม่ ซึ่งได้ดำเนินการสร้างหลังคาคลุมพื้นที่ตั้งแผงสินค้า ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นที่วางแผงสินค้าของพ่อค้าแม่ค้าชาวพื้นราบตลอดทั้งแนว การดำเนินงานดังกล่าวก็ยิ่งทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่มีพื้นที่ขายสินค้าอยู่ในอาคารด้านในได้รับความลำบากมากขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวมักจะไม่เดินเข้าไปซื้อสินค้าของชาวบ้าน (ดูแผนผังและคำอธิบายประกอบแนบท้าย)
เมื่อชาวบ้านไม่สามารถจำหน่ายสินค้าในแผงของตนเองได้ จึงได้นำสินค้าออกมาจำหน่ายบริเวณริมถนนหลวง โดยการทำเป็นแผงจำหน่ายชั่วคราวตลอดแนวถนน
บทบาทของตลาดฯ ต่อการดำเนินชีวิตของชาวเขา
ชาวเขาในพื้นที่ดอยมูเซอเริ่มรู้จักการทำมาค้าขายมาแล้วหลายสิบปี เริ่มจากการนำพืชผักในเทือกสวนไร่นาออกมาจำหน่ายให้กับคนงานที่ก่อสร้างเส้นทางสายตาก-แม่สอด และเมื่อเห็นว่าผลิตผลของตนเองขายได้ก็เริ่มนำมาวางจำหน่ายโดยการสร้างเป็นเพิงจำหน่ายสินค้าในบริเวณที่ตั้งตลาดชาวไทยภูเขา (เก่า) ในปัจจุบัน
อาชีพดั้งเดิมของชาวเขาในพื้นที่เหล่านี้คือการทำไร่ฝิ่นควบคู่ไปกับการทำไร่ข้าวและเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งการหาผลิตผลจากป่าในการยังชีพ หลังจากที่รัฐบาลรับสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการส่งเสริมพืชทดแทนฝิ่น ชาวบ้านก็เริ่มหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ทั้งพืชผักและไม้ผลยืนต้น ผลผลิตจากการส่งเสริมนั้นจำนวนหนึ่งชาวบ้านนำไปเป็นสินค้าจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านไปมาและวะพักจับจ่าย ณ ตลาดชาวไทยภูเขา
ตัวอย่างความสำเร็จของชาวบ้านที่ทำการค้าขาย รวมทั้งปัจจัยบีบคั้นในการทำมาหากินและความจำเป็นการใช้เงินจับจ่ายใช้สอย ทำให้ชาวบ้านหันมาทำการค้าขายในพื้นที่ตลาดชาวไทยภูเขาเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ชาวไทยพื้นราบก็เห็นช่องทางในการเข้ามาค้าขายในพื้นที่ตลาดชาวไทยภูเขาก็ทะยอยขึ้นมาจับจองพื้นที่ค้าขาย กระทั่งได้ก่อสร้างและต่อเติมเป็นอาคารถาวรจำนวนมาก และกลายเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในตลาดไปโดยปริยาย
การเกิดและเติบโตของตลาดชาวไทยภูเขา เป็นทางเลือกที่สำคัญของชาวบ้านในการปรับตัวและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ชาวบ้านสามารถใช้เป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ที่นับวันรายจ่ายในครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นการเติบโตตามเจตนารมย์ในการก่อสร้างตลาดแห่งนี้
การมีตลาดเป็นพื้นที่รองรับผลิตผลทางการเกษตร ทำให้ชาวบ้านใช้ที่ดินที่ครอบครองอยู่อย่างประณีตยิ่งขึ้น ใช้พื้นที่น้อยลงแต่สามารถสร้างผลิตผลได้มากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการลดปัญหาการบุกรุกเข้าไปเปิดพื้นที่ทำกินใหม่ ๆ ในผืนป่าด้วย นอกจากนั้นยังเป็นการรองรับคนรุ่นใหม่ให้อยู่ติดพื้นที่ไม่เดินทางออกไปทำงานนอกพื้นที่อีกจำนวนไม่น้อย
ตลาดชาวไทยภูเขา โดยเฉพาะตลาดเก่า เป็นจุดพักและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางสัญจรไปมาบนเส้นทางสายตาก-แม่สอด มีการจับจ่ายเงินค่อนข้างสะพัดโดยเฉพาะในช่วงวันหยุด การได้รับความนิยมในการแวะจับจ่ายซื้อของเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นปัจจัยดึงดูดให้พ่อค้าแม่ค้าจากพื้นราบขึ้นมาจับจองพื้นที่จำหน่ายสินค้าในพื้นที่ว่าง รวมทั้งการรุกคืบเข้าไปจับจองพื้นที่วางจำหน่ายสินค้าดั้งเดิมของชาวบ้านในพื้นที่
พ่อค้าแม่ค้าชาวพื้นราบได้รวมตัวกันและร้องขอให้หน่วยงานเข้ามาปรับปรุงเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบการหลายประการ เช่น การขอติดตั้งไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การปรับปรุงสร้างหลังคามุงพื้นที่ขายของซึ่งอยู่ด้านหน้าอาคารเดิม ฯลฯ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องตามกฏหมายด้วยประการทั้งปวง
ในความเป็นจริงนั้น แม้ว่าการประกอบการของชาวบ้านในพื้นที่จะมีปัญหาข้อขัดข้องหลายประการ แต่ตลาดฯ ก็เป็นทางออกที่สำคัญในการจัดการปัญหาด้านการทำมาหากินของชาวบ้านในพื้นที่ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น และหากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเอาใจใส่อย่างจริงจังก็จะเป็นช่องทางในการให้ความช่วยเหลือชาวเขาที่อยู่ในเขตป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แผนผังและคำอธิบายพื้นที่ตลาดชาวไทยภูเขา (เก่า)
¡ เสาไฟฟ้า
๑ คือพื้นที่ค้าขายเดิมของตลาดฯ ซึ่งตั้งอยู่หลังแนวเสาไฟฟ้า เดิมเป็นเพิงชั่วคราว ต่อมาในปี ๒๕๒๑ ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จ.ตาก ได้รับงบประมาณจากทางจังหวัดมาปรับปรุง และต่อมาในปี ๒๕๓๗ อาคารเดิมชำรุดและคับแคบชาวบ้านในพื้นที่ได้รวบรวมเงินและแรงงานปรับปรุงอาหารและแผงวางขายสินค้าในบริเวณนี้
๒ เดิมคือพื้นที่สร้างบ้านจำลองชาวเขาเผ่าที่ดำเนินการโดย ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จ.ตาก พร้อมกับการปรับปรุงตลาดเมื่อปี ๒๕๒๑ ต่อมาในปี ๒๕๒๔ ศูนย์ฯ ชาวเขา จ.ตาก ได้ถอนตัวออกจากการดูแล เนื่องจากกรมป่าไม้ประกาศให้พื้นที่ส่วนนี้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ จากนั้นได้มีชาวบ้านจากพื้นราบเข้ามาจับจองพื้นที่ทำการค้าขาย และทำการก่อสร้างอาคารห้องแถวขึ้น จากนั้นในปี ๒๕๒๘ พ่อค้าแม่ค้ากลุ่มนี้ได้รวมตัวขอติดตั้งไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ภายหลังการติดตั้งไฟฟ้าก็เริ่มมีพ่อค้าแม่ค้าจากพื้นราบขึ้นมาค้าขายในพื้นที่นี้มากขึ้นเรื่อย ๆ
๓ ป้อมตำรวจ
๔ อาคารสหกรณ์
๕ - ๖ เดิมเป็นแผงของพ่อค้าแม่ค้าชาวพื้นราบ ซึ่งตั้งบังหน้าอาคารแผงขายสินค้าของชาวบ้าน (หมายเลข ๑) และการรุกออกมาจากอาคารห้องแถวของพ่อค้าแม่ค้าชาวพื้นราบ (หมายเลข ๒) และในปี ๒๕๔๘ อบต.ด่านแม่ละเมา ได้ทำการก่อสร้างหลังคาคลุมพื้นที่บริเวณนี้ ซึ่งอยู่ถัดจากอาคารหมายเลข ๑ และ ๒ ออกมา และอยู่ในเขตพื้นที่ทางหลวงด้านหน้าแนวเสาไฟฟ้า
๗ เป็นพื้นที่ว่างข้างถนนหลวง ซึ่งถูกจับจองเป็นแผงจำหน่ายสินค้าจำพวกพืชผักผลิตผลจากชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากไม่สามารถวางจำหน่ายสำค้าในพื้นที่ด้านในได้ ด้วยถูกบดบังจากพ่อค้าแม่ค้าชาวพื้นราบที่ตั้งแผงบังหน้า
๘ เดิมเป็นพื้นที่ว่าง ต่อมาพ่อค้าแม่ค้าชาวพื้นราบได้รุกใช้พื้นที่บังด้านหน้าของสหกรณ์ จนทำให้สหกรณ์ต้องเลิกกิจการไป
๙ เป็นพื้นที่ที่พ่อค้าแม่ค้าชาวพื้นราบมาจับจองสร้างเป็นอาคารร้านค้าและบ้าน เรือน กลุ่มอาคารดังกล่าวนี้มีหนังสือจากกรมป่าไม้ให้ทำการรื้อถอน แต่ก็ยังมิได้ทำการรื้อถอนแต่ประการใด
๑๐ พื้นที่ที่ถูกรุกล้ำโดยพ่อค้าชาวพื้นราบ เป็นการขยายเพิ่มเติมออกไปจากพื้นที่หมายเลข ๙