WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, January 19, 2011

คำแปลฉบับเต็มโทรเลขวิกิลีกส์ ฉบับลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2551: พระราชินีกับพันธมิตร, ในหลวงกับอนุพงษ์, พระอาการปวดหลัง

ที่มา Thai E-News



โดย ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ที่มา เฟซบุ๊คสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
19 มกราคม 2554

คำแปลฉบับเต็มโทรเลขวิกิลีกส์ ฉบับลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2551 ข้างล่างนี้ เดิมผมตั้งใจจะทำขึ้นเป็น "ภาคผนวก" ของบทความเรื่อง "บันทึกว่าด้วยโทรเลขวิกิลีกส์ (2) : กรณี พระราชินี กับ พันธมิตร" ซึ่งเป็นบทความที่ต่อเนื่องจากบทความในลักษณะเดียวกันที่เผยแพร่ไปแล้ว (ดู "บันทึกว่าด้วยโทรเลขวิกิลีกส์ (1): พลเอกสนธิ บอกทูตสหรัฐ 'ในหลวงทรงผ่อนคลายและมีความสุข ทรงยิ้มตลอดเวลาการเข้าเฝ้า' ในคืนรัฐประหาร และการประเมินผลสะเทือนการเข้าเฝ้าของทูตสหรัฐ" ที่นี่ http://www.prachatai3.info/journal/2010/12/32457 หรือไฟล์ pdf ที่นี่ http://www.mediafire.com/?541073avks966l3 ) แต่การเขียนบทความจริงใช้เวลามากกว่าที่คาดไว้มาก และคงอีกหลายวันกว่าจะเสร็จ ผมจึงตัดสินใจเผยแพร่ "ภาคผนวก" นี้ก่อน

เช่นเดียวกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่นๆ โทรเลขวิกิลีกส์ฉบับนี้ ยังต้องผ่านการวิเคราะห์ตีความของผู้ศึกษา ผมเพียงแต่เห็นว่า การได้รับรู้ข่าวสาร หรือ "ข้อมูลดิบ" ชิ้นนี้ในภาษาไทย น่าจะเป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผมเองจะพยายามนำเสนอบทความวิเคราะห์โทรเลขฉบับนี้ข้างต้นในเวลาไม่นานนัก

คำแปลโทรเลขวิกิลีกส์ ฉบับลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2551

คำชี้แจง: เช่นเดียวกับเอกสารการทูตอื่นๆ ส่วนหัวของโทรเลขวิกิลีกส์ฉบับนี้ จะเต็มไปด้วยอักษรย่อที่เป็นรหัสภายในของหน่วยงาน (สถานทูต, กระทรวงต่างประเทศ) ซี่งเกือบทุกกรณีผมไม่ทราบว่าย่อมาจากอะไร จึงแปลไม่ได้ (ยกเว้น NSC ที่น่าจะมาจาก National Security Council สภาความมั่นคงแห่งชาติ) และคิดว่าไม่มีความสำคัญอะไร ขอให้สังเกตส่วนที่เป็น “เอกสารอ้างอิง” ว่ามีการกล่าวถึงโทรเลขฉบับอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

รหัสของโทรเลขเหล่านี้ขึ้นต้นด้วย BANGKOK แล้วตามด้วยเลข 4 ตัว เช่นโทรเลขฉบับนี้ มีรหัส BANGKOK 3317 แสดงว่า ยังมีโทรเลขของสถานทูตที่กล่าวถึงสถานการณ์ขณะนั้นอีกหลายฉบับ ที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผย รวมทั้งที่อาจจะมีเนื้อหาพาดพิงถึงราชวงศ์ เช่น โทรเลข BANGKOK 3080 (ราชินีแสดงการสนับสนุน) [QUEEN SHOWS SUPPORT] (ไม่ทราบว่าหมายถึงสนับสนุนใครหรืออะไร)

สำหรับผู้สนใจการเมืองไทย ก็ได้แต่หวังว่า โทรเลขเหล่านี้จะได้รับการเปิดเผยในที่สุด (ผมไม่แน่ใจว่าอยู่ในความครอบครองของ วิกิลีกส์ หรือไม่)

ในส่วนของการแปลนั้น ผมได้พยายามแปลให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด แต่มีบางคำ (ประมาณ 2-3 คำ) ที่ผมจำเป็นต้องเลี่ยงใช้คำไทยที่ไม่ตรงกับคำภาษาอังกฤษเต็มที่ คือมีความหมายที่ “เบาลง” กว่าคำภาษาอังกฤษเล็กน้อย ซึงความจริงคำภาษาอังกฤษก็หาใช่รุนแรงอะไรไม่ ถ้าใช้ในบริบทของคนธรรมดาก็จะไม่มีใครสังเกตหรือสะดุดใจเลยด้วยซ้ำ

แต่ด้วยข้อจำกัดของกฎหมายที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และจารีตการตีความแบบครอบจักรวาลของ “กระบวนการยุติธรรม” ของไทยในเรื่องนี้ ผมจึงต้องเผื่อไว้ก่อน บางคำที่ผมคิดว่าอาจจะทำให้สงสัยว่ามาจากภาษาอังกฤษคำใด ผมจะใส่คำภาษาอังกฤษในวงเล็บเหลี่ยม

สำหรับส่วนที่เป็นชื่อบุคคล ที่ เดอะ การ์เดี้ยน ปกปิดไว้ด้วยการใส่ XXXXXXXXXXXX นั้น สำหรับ ผู้ใกล้ชิดราชสำนัก 2 คน ที่เป็นแหล่งข้อมูลของโทรเลขฉบับนี้ ผมใช้แทนที่ด้วย “ก” และ “ข” ตามลำดับ ส่วนที่เหลือ ผมเพียงแต่เว้นไว้ และระบุในวงเล็บเหลี่ยม ว่า “..... [ปกปิดชื่อ] .....”

ผมไม่ได้แปลข้อความที่เป็นพาดหัวและสรุปเนื้อหาโทรเลข (ไฮไล้ต์สีเทา ในภาพประกอบ) ของ เดอะ การ์เดี้ยน เอง ในส่วนราชาศัพท์นั้น ผมพยายามใช้คำธรรมดาๆแทนถ้าเป็นไปได้ เพื่อความเข้าใจง่าย (เช่น “ใจ” ไม่ใช่ “พระทัย” เป็นส่วนใหญ่) ต้นฉบับภาษาอังกฤษเองไม่มีราชาศัพพ์อยู่แล้ว


พฤหัสบดี, 6 พฤศจิกายน 2551, 07.30

ส่วนลับ 01 ใน 03 BANGKOK 003317

NOFORN

NSC [สภาความมั่นคงแห่งชาติ] สำหรับ WILDER และ PHU

EO 12958 DECL: 11/06/2018

TAGS PGOV, KDEM, MOPS, ASEC, TH

เรื่อง: คนวงในราชสำนัก [palace insider] คนหนึ่ง บอกทูต ถึงการคัดค้านรัฐประหารของในหลวง และ การประท้วงของพันธมิตร

เอกสารอ้างอิง: A. BANGKOK 3289 (การแยกเป็นสองขั้วจะคงอยู่ต่อไป) B. BANGKOK 3280 (ทักษิณกล่าวต่อ นปช) C. BANGKOK 3226 (ความหวังการมีตัวกลางให้มีการเจรจา) D. BANGKOK 3080 (ราชินีแสดงการสนับสนุน)

BANGKKOK 00003317 001.2 ใน 003

สรุปย่อและความเห็น

1. (C) “ก” ที่ปรึกษาราชินีบอกทูตเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ว่า ในหลวงภูมิพลบอกผู้บัญชาการทหารบกอนุพงษ์ เผ่าจินดา อย่างชัดแจ้งว่า อย่าทำรัฐประหาร. “ก” ยังอ้างว่า เมื่อพระราชินีเสด็จเป็นประธานในพิธีศพเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมนั้น พระองค์มิได้ตั้งใจที่จะส่งสัญญาณสนับสนุนวาระต่อต้านรัฐบาลของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย.

“ก” กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของพันธมิตรทำให้ในหลวงเคืองพระทัย เขาอ้างว่าพระองค์ทรงต้องการให้ผู้ประท้วงของพันธมิตรออกไปจากทำเนียบรัฐบาล.

“ก” พูดดีถึงนายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ว่าสมชายเปิดกว้างที่จะประนีประนอมกับพันธมิตร แม้ “ก” จะเดาว่า สมชายจะถูกปลดจากตำแหน่งภายในสิ้นปีนี้.

แหล่งข่าวอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นนักธุรกิจผู้มีบทบาทการเมืองและมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชสำนักบอกเราว่า การเสด็จงานศพของพระราชินีทำความเสียหายให้ภาพลักษณ์สถาบันกษัตริย์ ซึ่งทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร กลายเป็นฝ่ายได้ประโยชน์. นักธุรกิจผู้นี้ยังได้พูดคุยถึงความเป็นไปได้ของแผนลอบสังหารทักษิณ และแผนการก่อความรุนแรงของพันธมิตร.

แหล่งข่าวทั้งคู่อ้างว่า ในหลวงทรงเจ็บหลังและมีสภาพพระพลานามัยที่เปราะบาง.

2. (S/NF) ความเห็น: ข้ออ้างของ “ก” ที่ว่าในหลวงสั่งอนุพงษ์ไม่ให้ทำรัฐประหาร เป็นข้อมูลที่หนักแน่นที่สุดเท่าที่เราได้ยินมาถึงขณะนี้เกี่ยวกับการคัดค้านของในหลวงต่อการรัฐประหาร และการที่พระองค์ได้แจ้งต่ออนุพงษ์ถึงการคัดค้านของพระองค์นี้ นี่ก็จะเป็นคำอธิบายได้ว่าทำไมองคมนตรีเปรมและสิทธิ ซึ่งทั้งคู่ถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลปัจจุบัน จึงให้หลักประกันกับทูตได้ว่าจะไม่มีรัฐประหาร.

ขณะที่ “ก” ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าเขาได้ยินในหลวงบอกอนุพงษ์ได้อย่างไร แต่ข้ออ้างของเขาที่ว่าในหลวงมีคำสังกับอนุพงษ์เช่นนั้นก็ดูเหมือนจะสอดคล้องกับท่าทีของอนุพงษ์, กับการให้หลักประกันของแหล่งข่าวทางทหารต่อทูต, และรายงานจากช่องทางอื่นๆ.

ทูตและ “ก” เห็นตรงกันว่า การเสด็จงานศพของพระราชินีเป็นความผิดพลาดสำคัญ ที่สร้างความเสียหายให้แก่ความเข้าใจ [perception] ของสาธารณะที่ว่าราชสำนักมีความเป็นกลาง.

พันธมิตรดูเหมือนจะแตกแยกกันมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งความแตกแยกนี้ บวกกับสถานการณ์การเมืองไทยที่เข้มข้นและเปลี่ยนแปลงเร็ว อาจจะทำให้ดูเหมือนจะเป็นไปได้ที่จะหวังว่าจะมีการประนีประนอมระหว่างพันธมิตรกับรัฐบาล.

อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่จะเกิดความรุนแรงขึ้นอีกยังคงเป็นเรื่องที่น่าห่วง.

จบสรุปย่อและความเห็น.

ความสัมพันธ์ราชสำนัก-พันธมิตร

3. ( C) ทูตได้พบเป็นการส่วนตัวที่บ้านพักทูต เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน กับ “ก” ที่ปรึกษาใกล้ชิดพระราชินีสิริกิตต์ ซึ่งในอดีตยังเคยเป็นผู้ที่ในหลวงทรงให้ความไว้วางพระทัยด้วย.

“ก” ตั้งข้อสังเกตว่า เขาเสียใจกับการที่พระราชินีเสด็จไปงานศพของผู้สนับสนุนพันธมิตรคนหนึ่งเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม (เอกสารอ้างอิง D).

เขาอ้างว่า พระราชินีทรงสะเทือนใจเมื่อทรงทราบว่าเหยื่อผู้หนึ่งของความรุนแรงวันที่ 7 ตุลาคม เป็นหญิงสาวที่กำลังจะแต่งงาน, และเธอได้บอกพ่อของเธอว่าจะไปร่วมประท้วงเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์.

แรกทีเดียว พระราชินีทรงต้องการส่งเจ้าหญิงจุฬาภรณ์ไปงานศพ. แต่ทรงตัดสินใจเสด็จเองก็ต่อเมื่อฟ้าหญิงจุฬาภรณ์และพระสวามี ชัยชน โลว์เจริญกุล ขอร้อง.

“ก” กล่าวว่า พระราชินีมิได้มีความตั้งใจจะนำพระองค์หรือสถาบันกษัตริย์เข้าไปเกียวข้องกับเรื่องที่เป็นการเมือง แต่, โชคไม่ดี, สาธารณชนจำนวนหนึ่งอาจจะตีความการเสด็จงานศพนั้นแตกต่างออกไปจากนี้.

“ก” กล่าวว่าหลังงานศพพระราชินีทรงยื่นมือเข้าช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บาดเจ็บสาหัส อันเป็นความพยายามที่จะแสดงให้เห็นความเป็นกลางของพระองค์, แต่การแสดงออกในด้านนี้ไม่ได้เป็นที่รับรู้เป็นส่วนใหญ่.

4. (C) “ก” ให้ข้อสังเกตว่า ในหลวงภูมิพลทรงเคืองพระทัยอย่างสูงต่อการยึดครองทำเนียบรัฐบาลของพันธมิตรและความปั่นป่วนอื่นๆที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลดังกล่าวก่อขึ้น

แต่ในหลวงไม่มั่นพระทัยว่าจะมีวิธีใดที่ดีที่สุด ที่จะทำให้พันธมิตรถอนตัวออกจากทำเนียบรัฐบาล.

“ก” กล่าวว่า ในหลวงทรงสั่งให้ผู้รับใช้ใกล้ชิดพระองค์ 2 คน สื่อสารความต้องการของพระองค์ที่ให้พันธมิตรออกจากทำเนียบรัฐบาล. (หนึ่งใน “ผู้ถือสาร” ดังกล่าว คือผู้ใกล้ชิดในหลวงที่รู้จักกันดี ดิศธร วัชโรทัย ซึ่งได้กล่าวอย่างเปิดเผยเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ว่า คนไทยที่รักในหลวงควรจะ “กลับบ้าน”: ดูเอกสารอ้างอิง A)

อย่างไรก็ตาม “ก” มองว่า ..... [ปกปิดชื่อ]* ..... เป็นคนดื้อ เขากล่าวว่า สนธิหมกมุ่นอยู่กับความรู้สึกของตัวเองว่าเขามีภารกิจสูงส่งที่ต้องทำ. ในทางตรงข้าม “ก” คิดว่า ..... [ปกปิดชื่อ] ..... เป็นคนมีเหตุผลและพร้อมจะประนีประนอม.

ทัศนะในทางบวกต่อสมชาย

5. (C) “ก” อ้างว่าได้พูดกับนายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เกี่ยวกับการเผชิญหน้ากันในขณะนี้. “ก” บอกทูตว่า สมชายเห็นด้วยว่า รัฐบาลสามารถพบตัวแทนพันธมิตรและบรรลุข้อตกลงประนีประนอม แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาเช่นนั้น.

ในการสนทนากับทูต “ก” พูดถึงสมชายอย่างยกย่อง บอกว่าสมชาย “ดีมาก” มีคุณสมบัติหลายอย่างที่ทำให้เขาเหมาะเป็นนายกรัฐมนตรี เช่น ความสำนักในเรื่องความแฟร์และอารมณ์ที่ไม่ฉุนเฉียวโกรธง่าย.

กระนั้นก็ตาม “ก” คาดว่าสมชายคงไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งได้นานนักเพราะเขาคงจะถูกปลดโดยคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ใน8fuยุบพรรคพลังประชาชน (เอกสารอ้างอิง A)

ซึ่ง “ก” เชื่อว่า ศาลจะมีคำตัดสินก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษา (5 ธันวาคม). “ก” คาดว่าสมชายคงจะยุบสภาก่อนที่จะถูกปลดจากตำแหน่ง.

ในหลวง บอก อนุพงษ์: อย่ารัฐประหาร

6. (C) “ก” ทำนายว่าความปั่นป่วนวุ่นวายในขณะนี้จะไม่นำไปสู่การยึดอำนาจของทหาร. เขากล่าวว่า ระหว่างมีพระราชดำรัสกับอนุพงษ์ ในหลวงได้ทรงพูดถึงรัฐประหาร 2549 แล้วทรงมีพระราชดำรัสในลักษณะที่ว่าไม่ควรมีรัฐประหารอีก.

การทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นการเมือง [POLITICIZATION OF THE MONARCHY]

7. (C) เรายังได้พบเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน “ข” (ให้ปกปิดชื่ออย่างเข้มงวด) ทายาทตระกูลมั่งคั่งผู้กว้างขวาง และมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชสำนัก. “ข” มีบทบาทสำคัญใน ..... [ปกปิดชื่อองค์กร] ..... ภรรยาของเขา ..... [ปกปิดชื่อ] ..... มีราชสกุลยศว่า “... [ปกปิด] ....” และทำงานใกล้ชิดกับพระราชินี. “ข” เห็นด้วยว่า การเสด็จไปงานศพเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ของพระราชินีมีผลสะเทือนด้านลบอย่างสูง

เขากล่าวว่า แม้แต่คนไทยที่เป็นกลางทางการเมืองจำนวนมากก็รู้สึกว่าพระองค์ได้นำสถาบันกษัตริย์เข้าสู่การเมืองอย่างไม่เหมาะสม.

เขายังยอมรับว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์แบบกึ่งเปิดเผยเพิ่มมากขึ้น โดยรวมศูนย์อยู่ที่พระราชินี (ดูโทรเลขต่างหากอีกฉบับหนึ่ง). “ข” กล่าวอย่างมั่นใจว่า ในหลวงทรงพยายามรั้ง [deter] พระราชินีไม่ให้เสด็จงานศพ โดยทรงตั้งคำถามกับความเหมาะสมของการเสด็จนั้น แต่ก็มิได้ถึงขั้นทรงห้ามพระราชินีมิให้เสด็จ.


8. (C) “ข” พูดถึงข้อความในคำปราศรัยของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณต่อผู้สนับสนุน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน (เอกสารอ้างอิง B) ที่ว่า มีแต่ “พระเมตตาของในหลวงหรือพลังของประชาชน” อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่จะสามารถทำให้เขากลับประเทศไทยได้.**

“ข” กล่าวว่า การยก 2 ทางเลือกนี้มาคู่กันซึ่งเขามองว่าเป็นการจงใจอย่างสำคัญมาก [highly strategic] มีผลสะเทือนที่เดาได้ล่วงหน้าในแง่ที่ไปกระตุ้นฝ่ายตรงข้ามทักษิณในค่ายรอยัลลิสต์ [ให้มีปฏิกิริยาต่อต้าน]. แล้วปฏิกิริยาเช่นนี้ก็ทำให้ทักษิณสามารถใช้ไปอ้างต่อสาธารณะได้ว่าบุคคลของราชสำนักหลายคน [many palace figures] กำลังรวมตัวกันต่อต้านเขา, ซึ่งก็ทำให้เกียรติภูมิของราชสำนักที่เกิดจากความเป็นสถาบันที่อยู่เหนือการเมืองถูกบั่นทอนลง.

(ในการพบปะกับเรา หลังการปราศรัยของทักษิณ, สมาชิกหญิงในทีมกฎหมายของทักษิณคนหนึ่ง บอกเราว่า ประโยคที่กล่าวถึงนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “การเตรียมการอย่างละเอียดละออมาก” และเธอได้ยินทักษิณพูดซักซ้อมประโยคนี้ “4 หรือ 5 ครั้ง” ในระหว่างที่เขาซ้อมเตรียมปราศรัยครั้งนี้.)

ศัตรูทักษิณวางแผนก่อความรุนแรง

9. (C) “ข” เชื่อว่า พันธมิตร ยังคงมีเป้าหมายที่จะให้เกิดการปะทะรุนแรงเพื่อเป็นชนวนให้เกิดการรัฐประหาร. เขายืนยันว่า เขาได้พบกินอาหารกับผู้นำพันธมิตรคนหนึ่ง (เขาไม่ได้บอกว่าใคร) เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ซึ่งผู้นำพันธมิตรคนนั้นได้อธิบายให้เขาฟังว่า พันธมิตรจะยั่วยุให้เกิดความรุนแรงในการชุมนุมวันที่ 7 ตุลาคม ที่หน้ารัฐสภา. ผู้นำพันธมิตรที่ไม่ระบุชื่อผู้นั้นคาดการณ์ (ซึ่งผิด) ว่า กองทัพจะเข้าแทรกแซงในลักษณะปฏิปักษ์กับรัฐบาล ภายในค่ำวันที่ 7 ตุลาคม.

“ข” ยืนยันต่อเราว่า พันธมิตรยังคงมุ่งมั่นจะให้เกิดการปะทะ ที่จะทำให้มีคนตายอย่างน้อย 20 กว่าคน ซึ่งจะทำให้การรัฐประหารของทหารเป็นเรื่องที่ดูว่าจำเป็นและมีความชอบธรรม.

10. (C) เรากล่าวกับ “ข” ถึงการอ้างของ ..... [ปกปิดชื่อ] ..... ผู้ร่วมงานกับทักษิณที่ว่า ทักษิณตกเป็นเป้าของแผนลอบสังหาร (เอกสารอ้างอิง C). (หมายเหตุ: หลังจากทูตได้พบปะกับ “ข” แล้ว ผู้ร่วมงานกับทักษิณอีกคนหนึ่งได้อ้างกับเราถึงเรื่องนี้อีก และกล่าวว่าตัวทักษิณเองก็พูดถึงแผนลอบสังหารนี้.)

“ข” เสนอว่ารายชื่อผู้ร่วมวางแผนลอบสังหารตามการอ้างของผู้ร่วมงานกับทักษิณ ..... [ปกปิดชื่อ – คนเดียวกับคนแรกข้างต้น] ..... ซึ่งมีผู้พิพากษาผู้มีชื่อเสียง 2 คนรวมอยู่ด้วยนั้น ไม่น่าเชื่อถือ, แต่ “ข” กล่าวว่า เขาสามารถยืนยัน (คงจะเพราะเขาเคยพูดคุยด้วยตัวเองกับหนึ่งในผู้วางแผน) ว่าศัตรูทักษิณบางคน (เขาไม่ได้บอกว่าใคร) ได้พยายามที่จะฆ่าทักษิณจริง.

“ข” กล่าวว่าเขารู้สึกแปลกใจที่ได้ทราบว่าค่าจ้างฆ่าทักษิณเป็นเงินที่ค่อนข้างน้อยเพียงไม่กี่แสนบาท (ประมาณ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ), แต่นอกจากเงินจำนวนนี้แล้วยังมีสัญญาที่จะจัดการให้ผู้มีส่วนลงมือโดยตรงได้ไปอยู่ต่างประเทศ.

ข้อสังเกตเกี่ยวกับสุขภาพของในหลวง

11. (C ) “ข” (ปลายสิงหาคม/ต้นกันยายน). ตอนนั้น, เขากล่าวว่าในหลวงทรงมีผิวพรรณหน้าตาที่ดูมีสุขภาพดี, แต่โดยรวมแล้ว ทรงดูเปราะบางไม่แข็งแรง.

เขากล่าวว่า ในหลวงทรงเคืองพระทัยกับแพทย์ไทยผู้รวบรวมทีมทำการผ่าตัดกระดูกสันหลังของพระองค์เมื่อ 2 ปีก่อน, เนื่องจากการผ่าตัดไม่ได้ผลดีตามที่ในหลวงทรงได้รับบอกให้คาดหวังไว้.

ขณะที่ “ก” ในการพบกับทูต ก็บอกว่าในหลวงทรงปวดหลัง และทรงเคลื่อนไหวได้อย่างจำกัดมากกว่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา. จอห์น.
_______________________________

* ผมคิดว่า ตรงนี้น่าจะหมายถึง สนธิ ลิ้มทองกุล เพราะในข้อความต่อมาในประโยคเดียวกัน มีพูดถึงสนธิในประเด็นเรื่อง “ดื้อ” นี้ ผมสงสัยว่า เดอะ การ์เดี้ยน คงจะเผลอ ลืมปกปิดชื่อสนธิในข้อความที่ตามมา ส่วนผู้นำพันธมิตรอีกคนหนึ่ง ที่กล่าวว่า “มีเหตุผล” ในประโยคถัดมา ผมไม่แน่ใจว่าจะหมายถึงใครได้ (จำลอง, พิภพ?)

** ข้อความนี้ ในต้นฉบับภาษาอังกฤษคือ “either ‘royal mercy or the people’s power’ could allow his return to Thailand”ข้อความจริงๆที่ทักษิณพูด ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการหยิบยกขึ้นมาพูดกันพอสมควรในช่วงนั้น รวมทั้งในการสนทนาระหว่าง “ข” กับทูตสหรัฐนี้ด้วย คือ “ไม่มีใครที่จะเอาผมกลับประเทศไทยได้หรอก นอกจากพระบารมีที่จะทรงมีพระเมตตา หรือไม่ก็พลังของพี่น้องประชาชน” ดูรายงานข่าวที่นี่ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1225547818&grpid=04&catid=01 และฟังคลิปเสียงคำปราศรัยของทักษิณ ที่นี่ http://www.matichon.co.th/mtc-flv-window.php?newsid=1225549893

คำแปลฉบับนี้ในไฟล์pdf
********
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:

-ข่าวคึกโครมระดับโลกที่เงียบเชียบในสื่อไทย วิกิลีกส์ตีแผ่อีกเปรม-อานันท์ปูดข้อมูลลับระดับสูงสู่ทูตสหรัฐ