ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ เหล็กใน
มันฯ มือเสือ
เหตุการณ์สภาล่ม 3 วันติดต่อกัน
ครั้งแรกในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือเจบีซี
ซึ่งพอเข้าใจได้ว่ากรณีเจบีซี เนื่องจากยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่หลายฝ่ายทั้งทหาร รัฐบาล และกระทรวงการต่างประเทศ
ม็อบพันธมิตรฯ ก็ปราศรัยข่มขู่ทุกวันว่าถ้าสมาชิกรัฐสภาคนใดรับรองเจบีซี จะถูกยื่นดำเนินคดีฐานทำให้ไทยเสียดินแดน
บรรดาส.ส.-ส.ว.เลยลังเล ไม่รู้ว่าเจบีซีขัดต่อรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ เกรงว่าถ้าเห็นชอบไปแล้วตนเองอาจเดือดร้อนภายหลัง
เลยหาทางเลี่ยงไม่เข้าร่วมประชุม
ต่อมาวันพุธ ประชุมสภาผู้แทนฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การยาง ตรวจสอบแล้วมีส.ส.อยู่ในห้อง 229 คน จากทั้งหมด 474 คน ไม่ครบองค์ประชุมกึ่งหนึ่ง 237 คน
หนนี้ นายชัย ถึงกับฟิวส์ขาด บอกจะเสนอนายกฯ ยุบสภาไปเลยรู้แล้วรู้รอด อยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์เพราะส.ส.ไม่ยอมทำหน้าที่
แต่ไม่ทันขาดคำปรากฏว่าการประชุมวันพฤหัสฯ สภาผู้แทนฯ ทำ "แฮตทริก" ล่มเป็นรอบที่สาม แถมหนักกว่าเดิมคือมีส.ส.มาประชุมเพียง 218 คน
แล้วก็เหมือนทุกครั้งที่สภาล่ม รัฐบาลจะโทษฝ่ายค้านว่าจ้องตีรวน ฝ่ายค้านก็จะโยนบาปรัฐบาลว่าเป็นเสียงข้างมากเสียเปล่า แต่ไม่มีความรับผิดชอบ
เหตุผลรับฟังได้ทั้งสองฝ่ายแล้วแต่ใครเลือกมองมุมไหน
แต่ขอยกตัวอย่างสภาล่มเมื่อวันพุธ มีการเปิดเผยจำนวนส.ส.รัฐบาลที่ขาดประชุม
ประชาธิปัตย์ 17 ภูมิใจไทย 4 เพื่อแผ่นดิน 21 ชาติไทยพัฒนา 13 รวมชาติพัฒนา 3 กิจสังคม 2 และมาตุภูมิ 2 รวมทั้งสิ้น 62 คน
ขณะที่ในห้องประชุมขาดอีก 8 เสียงก็จะครบองค์ประชุมกึ่งหนึ่ง แค่ประชาธิปัตย์มากันครึ่งเดียวของจำนวนที่ขาดไป สภาคงไม่ล่ม
ก่อนยุบสภาต้นเดือนพ.ค. เดือนเม.ย.ทั้งเดือนยังมีการประชุมสภาผู้แทนฯ อีก 8 ครั้ง เป็นพิจารณาร่างกฎหมาย 5 ครั้ง อีก 3 ครั้งพิจารณากระทู้ถามสด
ที่สำคัญกฎหมายลูก 3 ฉบับที่จะออกมารองรับการเลือกตั้ง ก็รวมอยู่ในจำนวนนี้ด้วย
ถ้าขืนสภายังล่มไม่เลิกอยู่อย่างนี้ ใครทิ้งหน้าที่ เบียดบังเอาเวลาของสภาที่เหลือน้อยอยู่แล้วไปหาเสียงเลือกตั้ง เอาตัวเองรอดไว้ก่อน ระวังประชาชนจะลงโทษ
ให้ "ตกงาน" ยาว