ที่มา thaifreenews
โดย lovethai
”เมาต่างมุม”ณ.โบนันซ่า ตามสไตล์”สุภาพบุรุษไพร่” ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
รายงานพิเศษ
ตั้งแต่ช่วงบ่ายๆ เย็นๆ ของวันเสาร์ที่ 26 มีนาคม ถึงช่วงเช้าตรู่ของวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา กลุ่ม นปช. และคนเสื้อแดงไปรวมตัวกันในงานคอนเสิร์ต "รุ่งอรุณแห่งความยุติธรรม" ที่โบนันซ่า เขาใหญ่ กันอย่างคึกคักพร้อมเพรียงน่าตื่นตาตื่นใจ
ว่ากันว่าจำนวนคนเสื้อแดงที่ไปร่วมงานคอนเสิร์ตดังกล่าว มีไม่น้อยหน้าจำนวนคนดูในงานคอนเสิร์ตวัยรุ่นแนวฮิปๆ คูลๆ อื่นๆ ที่เคยจัดขึ้น ณ สังเวียนโบนันซ่าเช่นเดียวกัน
และเผลอๆ จำนวนคนดูในคอนเสิร์ต "รุ่งอรุณแห่งความยุติธรรม" อาจมีมากกว่าด้วยซ้ำไป
แม้จะเป็นงานคอนเสิร์ตที่เน้นการร้องเพลงเป็นหลัก มากกว่าการปราศรัยทางการเมือง กระทั่งอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ก็ยังใช้เวลาส่วนใหญ่ในวิดีโอลิงก์ไปกับการร้องเพลง "เชียงรายรำลึก" และ "สั่งนาง"
แม้จะมี "เซอร์ไพรส์" เล็กๆ จำนวนหนึ่ง อาทิ การกลับมาปรากฏกายบนเวทีเสื้อแดงอีกครั้งหนึ่งของอดีตประธาน นปช. "วีระกานต์ (วีระ) มุสิกพงศ์" ซึ่งชี้แจงว่า ที่ผ่านมาไม่ได้ขึ้นเวทีคนเสื้อแดงเพราะติดเงื่อนไขการปล่อยตัวของศาล ซึ่งเป็นคนละเงื่อนไขกับ 7 แกนนำ นปช. รุ่นหลัง ที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัว
ดังนั้น เมื่อได้รับการลดทอนเงื่อนไขการปล่อยตัวในวันที่ 25 มีนาคม 2554 ให้มีความเท่าเทียมกับแกนนำรุ่นน้อง วีระกานต์จึงสามารถกลับมาร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงได้ พร้อมประกาศจะเดินหน้าจัดรายการโทรทัศน์ในสถานีทีวีดาวเทียม "เอเชียอัพเดต" อีกด้วย
หรือการขึ้นแสดงดนตรีเป็นเวลายาวนานพอสมควรของ "วัฒน์ วรรลยางกูร" และสมาชิกวงดนตรีคณะ "ท่าเสา" ซึ่งถือเป็นไม่กี่ครั้งในการชุมนุมช่วงหลังๆ ที่คนเสื้อแดง "กระแสรอง" กลุ่มเล็กๆ มีโอกาสได้ขึ้นเวทีใหญ่ของกลุ่ม นปช. หรือคนเสื้อแดง "กระแสหลัก"
แต่ไฮไลต์สำคัญในงานคอนเสิร์ตครั้งนี้ ก็ยังคงอยู่ที่การขึ้นเวทีปราศรัย-ร้องเพลงในช่วงเวลาเช้ามืดวันอาทิตย์ของ "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" เช่นเคย
และณัฐวุฒิ ณ โบนันซ่า เขาใหญ่ ก็ไม่ได้มีแค่ลีลาการปราศรัยที่ดึงดูดคนฟังหรือเหล่าแม่ยก, ท่าเต้นที่เขาเรียกว่า "การเต้นกวนตีนอำมาตย์" รวมถึงการร้องเพลงที่ล่มไปล่มมาอยู่หลายครั้งหลายหนเท่านั้น
เนื่องจากวันนั้น ณัฐวุฒิมีอีกหนึ่งลีลาสุดพิเศษในงานบันเทิงเฉลิมฉลองผ่อนคลายสำหรับกลุ่มคนเสื้อแดง นั่นคือ แกนนำ นปช. "ขวัญใจแม่ยก" ผู้นี้มีอาการ "เมา"
มีมุมมองแตกต่างกันในโลกออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์คอการเมืองและเครือข่ายสังคมอย่างเฟซบุ๊ก ต่อกรณีนี้
บ้างก็ตำหนิติเตียนอาการเมาของณัฐวุฒิ ว่าถือเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม
บ้างก็ยังมองโลกในแง่สวยงามว่าณัฐวุฒิแกล้งเมา ซึ่งอาจถือเป็นกลยุทธ์การปราศรัยด้วยยุทธวิธีแบบ "ลับ ลวง พราง" ในอีกลักษณะหนึ่ง
ทว่า ส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องต้องกันว่า ในงานวันนั้นณัฐวุฒิเมาจริงๆ เพียงแต่เขามีอาการเมาแบบ "กรึ่มๆ" เท่านั้น
หากลองปรับเปลี่ยนมุมมองให้พ้นไปจากสายตาของเหล่าวิญญูชนคุณธรรมจัด ผู้มักมาพร้อมกับสโลแกนประเภท "จน เครียด กินเหล้า"
อาการกรึ่มๆ ของณัฐวุฒิก็อาจแสดงให้เห็นถึงความเป็น "สุภาพบุรุษไพร่" หรือ แกนนำทางการเมืองที่มีความเป็นมนุษย์ธรรมดาสามัญ และมีกิเลสตัณหาราคะเฉกเช่นคนปกติทั่วไป มิใช่ผู้นำประเภท "สูงซึ้งดึงไม่ลง" ลอยมาจากไหน
ขณะเดียวกัน ท่ามกลางการถูกกล่าวหาจากบางคนในฝ่ายรัฐบาลว่ากลุ่มคนเสื้อแดงมีลักษณะการจัดตั้งรวมตัวแบบพรรคคอมมิวนิสต์หรือฝ่ายซ้ายเก่า
อาการเมาแบบกรึ่มๆ ของ "แดงแม่เหล็ก" อย่างณัฐวุฒิ ก็คงไม่ใช่ "ความถูกต้องทางการเมือง" แบบซ้ายๆ หรือแบบ พคท. แต่อย่างใด
นอกจากนี้ ในการปราศรัยที่หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยครั้งก่อน ณัฐวุฒิก็เคยยอมรับอย่างเปิดเผยเองว่า เขานั้นเป็น "คนดื่มเหล้า"
อันนำมาสู่การอุปมาถึงความหลากหลายของแนวคิดทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างคมคายว่า มีทั้งคนที่ชอบดื่มวิสกี้เพียวๆ แบบ "ออน เดอะ ร็อก" และคนที่ชอบดื่มวิสกี้ผสมโซดา ซึ่งเขายอมรับว่าตนเองเป็นคนประเภทหลัง พร้อมกับแสดงความหวังว่าคนดื่มวิสกี้ทุกแบบน่าจะสามารถต่อสู้ทางการเมืองร่วมกันได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อลองปรับเปลี่ยนมุมมองให้เขยิบออกไปจากอาการเมาแบบกรึ่มๆ ที่แสดงออกมาบนเวทีคอนเสิร์ต "รุ่งอรุณแห่งความยุติธรรม" แล้ว การปราศรัยในช่วงประมาณ 20 นาทีแรก ก่อนจะร้องเพลงของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก็ยังคงความน่าสนใจไว้เหมือนเดิม
โดยเฉพาะการปราศรัยช่วงต้นซึ่งณัฐวุฒิพูดว่า คนไทยจำนวนมากต้องการใครสักคนที่จะมาพูดแทนหัวใจของพวกเขาว่า หากบรรดาผู้มีอำนาจในสังคมคิดว่าตนเองอยู่สูงและประชาชนอยู่ต่ำ จึงสามารถจะเหยียบย่ำประชาชนอย่างไรก็ได้ ทั้งสองฝ่ายก็ต้องต่อสู้กันไปจนตาย
ซึ่ง "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ครุ่นคิดเกี่ยวกับประเด็นการเคลื่อนไหวต่อสู้ของกลุ่มคนเสื้อแดงมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เห็นว่า ความเห็นดังกล่าวของณัฐวุฒินั้นมีความสอดคล้องต้องกันกับความคิดที่เขาเคยเสนอไว้
นั่นคือ แนวคิดเรื่อง "to be the voice of the voiceless" ซึ่งแปลว่า "การเป็นเสียงให้แก่ประชาชนคนอื่นที่ไม่มีเสียง"
อย่างน้อย นี่ก็เป็น "ดอกไม้" อีกหนึ่งดอกที่ถูกหยิบยื่นให้แก่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ยามเมื่อเขาปราศรัยในลักษณาการมึนเมานิดๆ ณ โบนันซ่า เขาใหญ่
แต่ในอีกด้านหนึ่ง สมศักดิ์ก็ยังแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการปราศรัยในช่วงต่อมาของณัฐวุฒิที่ยังคงยืนกรานถึงแนวทางการต่อสู้แบบ "กระซิบ ไม่ต้องตะโกน ตาสว่าง ไม่ต้องปากสว่าง" ของแกนนำ นปช.
นักวิชาการจากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้นี้เห็นว่า แนวทางการต่อสู้ของณัฐวุฒิเป็น "ยุทธวิธี" ที่ต้องใช้การ "ลับ ลวง พราง" ในกรณีที่มีคนในสังคมจำนวนไม่น้อยอาจไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของตนเอง ซึ่งสมศักดิ์และรักษาการแกนนำ นปช. อย่าง "ธิดา ถาวรเศรษฐ" ก็ล้วนเคยเติบโตขึ้นมาใน "สำนัก" วิธีคิดเช่นนี้
ทว่า สำหรับปัญญาชนที่ผ่านการศึกษาในต่างประเทศหลังคริสต์ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา จะเห็นว่าสังคมไทยมี "อุดมการณ์ครอบงำ" หรือ "อำนาจนำ" (Hegemony) ซึ่งต้องทำการต่อสู้ด้วยการนำเอา "อุดมการณ์-วิธีคิด" อีกแบบหนึ่ง เข้ามาแทนที่ "อุดมการณ์ครอบงำ" ที่ดำรงอยู่เดิม
ผ่านการโต้แย้ง ถกเถียง และนำเสนอ อย่างตรงไปตรงมา ภายใต้กรอบของกฎหมายที่ทำได้ในขณะนั้น
ด้วยเหตุนี้ จากมุมมองของสมศักดิ์ที่แตกต่างจากณัฐวุฒิและแกนนำ นปช. การต่อสู้ทางการเมืองที่สำคัญ (และอาจจะที่สุด) ของสังคมไทย จึงเป็นการต่อสู้ระหว่าง "อุดมการณ์-วัฒนธรรม" แบบใหม่ กับ "อุดมการณ์-วัฒนธรรม" แบบเดิม
ไม่ใช่การเอาชนะกันทาง "ยุทธวิธี" ซึ่งเป็น "ประเด็นเรียกร้องทางการเมือง" เป็นประเด็นๆ ไป เช่น การเรียกร้องให้ยุบสภา เป็นต้น
ในปัจจุบัน สมศักดิ์เห็นว่า ณัฐวุฒิและแกนนำ นปช. สามารถ "ตะโกน" ในบางประเด็นได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย มิใช่ต้อง "กระซิบ" อยู่เสมอไป
จากเสียงสะท้อนด้านบวกและการวิพากษ์วิจารณ์ของ "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" ที่มีต่อการปราศรัยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2554 ณ โบนันซ่า ของ "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ"
ทำให้เห็นได้ว่าการปราศรัยแบบมึนๆ เมาๆ กรึ่มๆ ของณัฐวุฒิ ยังคงมีประเด็นแหลมคมทางการเมือง
ในท่ามกลางอาการมึนๆ เมาๆ กรึ่มๆ ดังกล่าว ยังคงมี "เสียง" ที่เปรียบเป็นตัวแทนของ "ผู้ไม่มีเสียง" ดังก้องออกมา
แม้จะเป็นการพูดเรื่องการต่อสู้ทางการเมืองแบบเมาๆ แต่ก็ยังสามารถดึงดูดมุมมองอื่นๆ มาร่วมสนทนาด้วยได้อีกครั้งหนึ่ง
นี่จึงเป็นการ "เมา" แบบ "สุภาพบุรุษไพร่" ที่เป็นทั้ง "เสียง" สำหรับ "คนไม่มีเสียง" และนำมาสู่การ "มองต่างมุม" อย่างน่าสนใจ
(ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ , ฉบับวันที่ 1-7 เม.ย. 2554)