ที่มา ประชาไท
ชีวิต และการตัดสินใจทางการเมืองของ “คนใต้” มักถูกอธิบายผ่านบุคลิกภาพหรือ “ความเป็นคนใต้” เป็นหลัก ในด้านหนึ่งคนใต้ถูกวาดภาพให้เป็นคนมีใจนักเลง กล้าได้กล้าเสีย รักพวกพ้อง เชื่อมั่นในตนเอง และรักความเป็นอิสระ ขณะที่อีกด้านเพราะความที่เชื่อมั่นในตนเองและรักความเป็นอิสระ ภาพของคนใต้จึงเป็นคนที่ไม่ไว้ใจและไม่หวังพึ่งรัฐ รวมทั้งยังมักโต้เถียงคัดค้านเจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการอยู่เสมอจนถูกขนาน นามว่าเป็นคน “หัวหมอ” ฉะนั้น คนใต้จึงเลือกพรรคประชาธิปัตย์เพราะความที่เห็นว่าเป็น “พวก” เดียวกันรวมทั้งคอยทำหน้าที่ตรวจสอบและทัดทานรัฐแทนพวกเขา ขณะเดียวกันคนใต้ก็ไม่เลือกพรรคเพื่อไทยรวมถึงพรรคอื่นๆ ที่ตั้งตามหลังมาเพราะไม่ต้องการอยู่ภายใต้รัฐบาลที่พวกเขาเห็นว่าแข็งแกร่ง ทว่าไร้ศีลธรรมและไม่สามารถตรวจสอบได้
อย่างไรก็ดี งานศึกษาเชิงมานุษยวิทยาเกี่ยวกับการเมืองเลือกตั้งในภาคใต้ของ Marc Askew ชี้ให้เห็นว่าชีวิตและการตัดสินใจทางการเมืองของ “คนใต้” ไม่สามารถอธิบายผ่านบุคลิกภาพของคนใต้ในลักษณะดังกล่าวได้ เพราะแม้ “ความเป็นคนใต้” จะก่อตัวขึ้นภายใต้เงื่อนไขเฉพาะทางนิเวศวิทยาและประวัติศาสตร์ แต่สาเหตุที่ “ความเป็นคนใต้” กลายเป็นความจริงทางสังคมขึ้นมาก็เพราะได้รับการตอกย้ำโดยนักวิชาการท้อง ถิ่นด้านคติชนวิทยา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือถูกขยายความโดยพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งชู “ความเป็นคนใต้” ในการหาเสียง โดยพรรคประชาธิปัตย์ชูภาพคนใต้ที่แตกต่างจากคนภาคอื่นในแง่ที่เป็นผู้มีความ กระตือรือร้นทางการเมือง ชื่นชอบนักการเมืองที่มีคุณธรรม และต่อต้านอำนาจรัฐที่ฉ้อฉล ขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ก็เสนอตัวว่าเป็น “พรรคคนใต้” ที่มีหัวหน้าพรรคที่ซื่อสัตย์และต่อต้านอำนาจรัฐที่อยุติธรรมมาอย่างต่อ เนื่องเช่นกันเพราะความที่มักเป็นฝ่ายค้าน ฉะนั้น เมื่อผนวกกับการอาศัยเครือข่ายสมัครพรรคพวกรวมทั้งกลวิธีการหาเสียงอื่นๆ เช่น การปราศรัย การเดินเคาะประตูบ้าน รวมทั้งการสัญญาว่าจะให้และการแจกเงิน การสร้างและชู “ความเป็นคนใต้” ในการหาเสียงก็ช่วยให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถยึดครองสนามเลือกตั้งภาคใต้ได้ อย่างค่อนข้างเบ็ดเสร็จนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ Askew เสนอว่าการที่คนใต้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นแต่เพียงผลพวงของ กลยุทธ์ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ที่อิงแอบกับ “ความเป็นคนใต้” หากแต่สาเหตุที่คนใต้เลือกพรรคประชาธิปัตย์ก็เพราะพวกเขาต้องการสร้างตัวตน และชุมชนทางการเมืองในอุดมคติของพวกเขาด้วย คนใต้เห็นว่าการสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์คือการแสดงให้เห็นว่าพวกเขาได้ กระทำในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อระบบการเมือง คือ ไม่ขายเสียง ต่อต้านการทุจริต และตรวจสอบรัฐบาล ฉะนั้น ยิ่งพรรคไทยรักไทยมีอิทธิพลและสามารถตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้เท่าใด พวกเขาก็ยิ่งสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์มากเท่านั้น เพราะเห็นว่าเป็นการทำให้ระบบการเมืองมีคุณธรรม ความรักและความภักดีที่คนใต้มีให้กับพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นผลของกระบวนการ ทั้งสองนี้
อย่างไรก็ดี การศึกษาการเมืองเลือกตั้งในภาคใต้ส่วนใหญ่ (ซึ่งรวมงานของ Askew ชิ้นนี้ด้วย) มักให้ความสำคัญกับความสำเร็จของกลวิธีทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่สู้จะกล่าวถึงความตึงเครียดหรือข้อจำกัดที่แฝงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือไม่กล่าวถึงตัวตนและกระบวนการสร้างตัวตนทางการเมืองใน ลักษณะอื่นของคนใต้ที่แตกต่างหรือตรงกันข้าม เพราะคนในภาคใต้จำนวนหนึ่งไม่ได้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเห็นว่าเป็นพรรคการเมืองที่ไม่เคยแก้ไขปัญหาหรือว่าสร้างประโยชน์เชิง รูปธรรมให้กับคนในพื้นที่ พวกเขาเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ “แหลงหรอย” หรือเชี่ยวชาญในการใช้โวหาร แต่ไม่มีความสามารถในการบริหารประเทศ พวกเขาจึงเลือกพรรคการเมืองอื่นมาโดยตลอดในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ แม้พวกเขาเห็นด้วยว่า “คนใต้” มีบุคลิกเป็นคนใจนักเลงและรักพวกพ้อง แต่ก็ไม่เห็นว่าบุคลิกดังกล่าวจำเป็นจะต้องผูกอยู่แต่กับพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งยังเห็นว่าความเป็น “พรรคคนใต้” ของพรรคประชาธิปัตย์เป็นกลยุทธ์ในการหาเสียงเสียมากกว่า เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยทำประโยชน์เป็นชิ้นเป็นอันให้กับภาคใต้และคนใต้
นอกจากนี้ ผมคิดว่ามีเงื่อนไขการเมืองร่วมสมัยสำคัญ 2 ประการที่จะทำให้การอาศัย “ความเป็นคนใต้” ในการหาเสียงไม่สะดวกราบรื่นเหมือนเก่า ประการแรก การที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นพรรคฝ่ายค้าน ทำให้พรรคใช้คุณสมบัติข้อการตรวจสอบและคัดคานรัฐของพรรคในการบ่งชี้เข้ากับ “ความเป็นคนใต้” ที่มีนัยของความไม่ไว้ใจรัฐได้ค่อนข้างลำบาก ขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้ใช้อำนาจรัฐที่มีอยู่ในมือในการปราบ ปรามการทุจริตคอรัปชันเมื่อคราวที่สามารถกระทำได้ แต่กลับปล่อยให้เกิดการทุจริตคอรัปชันอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าในรัฐบาลใดๆ ที่ผ่านมา ยิ่งกว่านี้ ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐกับคนท้องถิ่นในหลายพื้นที่ในภาคใต้ก่อให้ เกิดช่องว่างระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับคนใต้จำนวนหนึ่ง เช่น ชาวบ้านที่คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ในเขต จ.นครศรีธรรมราช จำนวนมากเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์มีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับโครงการดังกล่าว และกล่าวว่าจะไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าหากว่าพรรค ไม่แสดงจุดยืนคัดค้านโครงการให้ชัดเจนกว่านี้
ประการที่สอง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน “การเมืองสีเสื้อ” ทำให้คนใต้ประสบความยุ่งยากในการจัดความสัมพันธ์กับการเมืองเลือกตั้งและการ เคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะนอกจากความเห็นพ้องในการขับไล่อดีตนายกฯ ทักษิณที่พวกเขาเห็นว่าเป็นนักการเมืองที่ขาดศีลธรรม สาเหตุประการหนึ่งที่คนใต้สนับสนุนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตยในช่วงแรกก็เพราะว่าพันธมิตรฯ มีสายสัมพันธ์อันดีกับพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น ฉะนั้น การที่ปัจจุบันพันธมิตรฯ ประกาศตัวเป็นศัตรูกับพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นรัฐบาลจึงส่งผลให้คนใต้จำนวน ไม่น้อยต้องจัดความสัมพันธ์กับพรรคประชาธิปัตย์และพันธมิตรฯ ใหม่ ซึ่งก็ไม่ง่ายทั้งสองทาง เพราะหากเลือกพรรคประชาธิปัตย์พวกเขาก็ประสบปัญหาในการจัดวางตัวเองในการ เคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะอย่างไรเสียพวกเขาก็ไม่หันไปสนับสนุนกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นการทดแทน ขณะเดียวกันหากเลือกพันธมิตรฯ พวกเขาก็อาจประสบปัญหาเมื่อถึงเวลาเข้าคูหาเลือกตั้ง เพราะยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าพรรคการเมืองใหม่จะส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งใน เขตพวกเขาหรือไม่ คนใต้จำนวนมากจึงหันหลังให้กับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันเพราะประสบกับ ความยุ่งยากลำบากใจในลักษณะดังกล่าวนี้
กล่าวอีกนัยหนึ่ง เงื่อนไขการเมืองร่วมสมัยตั้งคำถามต่อ “ความเป็นคนใต้” ทั้งต่อพรรคประชาธิปัตย์และคนใต้อย่างแหลมคม พรรคประชาธิปัตย์ถูกถามว่าจะยังอ้างความเป็น “พรรคคนใต้” ที่มีศีลธรรมและตรวจสอบคัดคานรัฐต่อไปได้อย่างไรในสถานการณ์ที่พรรคได้รับ การ “อุ้มสม” ให้เป็นรัฐบาลที่แปดเปื้อนเสียเอง ขณะที่คนใต้ก็ถูกถามว่าจะยังสร้างตัวตนและชุมชนทางการเมืองเฉพาะบนพรรคประชา ธิปัตย์ต่อไปอีกนานเพียงไหนในสมัยที่การเมืองไทยกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง ครั้งใหญ่โดยมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นตัวแปรหลักขณะที่พรรคประชา ธิปัตย์มีแนวโน้มที่จะเป็นปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์หรือคนใต้จะตอบคำถามเหล่านี้อย่างไร ผมเชื่อว่าการเมืองเรื่อง “ความคนใต้” จะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ
[เขียนโดย อนุสรณ์ อุณโณ เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ คิดอย่างคน ในหนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ประจำวันที่ 25-31 มีนาคม 2554]