ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
ว่าที่ ส.ส. 17 ตระกูล 38 คน ภายในพรรควิ่งวุ่นทวงสิทธิ-บำเหน็จรางวัล หลังจากกรำศึกในพื้นที่จนได้รับชัยชนะ
แต่ยังมีบางตระกูลที่พ่ายแพ้ให้แก่พรรคคู่แข่ง แม้ผลสำรวจ-คะแนนเสียงจะ "นอนกิน" มาตั้งแต่ยังไม่เริ่ม
หนึ่ง ในนั้นคือตระกูล "ฉายแสง" เจ้าถิ่นจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่คว้าชัยมา ตั้งแต่รุ่นพ่อ "อนันต์ ฉายแสง" ซึ่ง ดำรงตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์สมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี
กระทั่งสืบสายเลือด ส่งไม้ผลัดต่อให้ลูกหญิง-ลูกชาย 3 คน "จาตุรนต์-
วุฒิพงศ์-ฐิติมา" ทำให้ตระกูล "ฉายแสง" ยังคงวนเวียนอยู่บนเวทีการเมืองตลอดมา
ครั้งนี้แม้พี่ชายคนโต "จาตุรนต์ ฉายแสง" ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี ตามก๊วนบ้านเลขที่ 111
แต่ยังมี "ฐิติมา-วุฒิพงศ์" ที่ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดฉะเชิงเทรา เขต 1 และ 4 ตามลำดับ
ด้วยบารมี-ผลงานที่สั่งสมกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อ ทำให้ไม่มีใครคาดคิดว่า ตระกูล "ฉายแสง" จะตกเก้าอี้ ส.ส.
พ่ายแพ้อย่างหมดรูปให้กับคู่แข่งคนสำคัญ "พรรคประชาธิปัตย์" ทั้ง 2 เขต
บรรทัด ต่อจากนี้ คือความในใจของ "ฐิติมา ฉายแสง" ที่เปิดเผยผ่านสายโทรศัพท์กับนักข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความลับ-หมัดเด็ด ที่คู่แข่งยิงตรง ล้มยักษ์ตระกูล "ฉายแสง" ได้สำเร็จ
"เรา แพ้ยกตระกูลในรอบ 19 ปี ทุกครั้งที่สมัครรับเลือกตั้ง อย่างส่ง 2 คน อาจจะมีตกบ้าง ได้บ้าง แต่ที่ผ่านมา มีเพียงปี 2535 และครั้งนี้เท่านั้น ที่ไม่มีคนนามสกุลฉายแสงอยู่ในเก้าอี้ ส.ส."
"ปี 2535 คุณพ่อ (อนันต์ ฉายแสง) ซึ่งลงสมัครด้วย แต่ไปช่วยหาเสียงในเขตพี่อ๋อย (จาตุรนต์ ฉายแสง) จนเกิดความประมาท เสียเก้าอี้ให้กับคนอื่น"
เธอบอกว่า "โพลลับ" ก่อนวันเลือกตั้งแค่ 1 วัน ชี้ชัดว่า มีคะแนนนิยมถึง 75% ขณะที่คู่แข่งมีเพียงแค่ 25% แต่ผลลัพธ์ออกมากลับพลิกล็อกสวนทาง
"ครั้งนี้ต้องพูดว่าแพ้เพราะซื้อเสียง แพ้เพราะความไม่ยุติธรรมตามกติกาการเลือกตั้ง"
ปัจจัยแรกที่ทำให้ตระกูล "ฉายแสง" แพ้ เพราะถูกอิทธิพลใหญ่จากเครือข่ายพ่อค้ายาต้องห้ามสกัดดาวรุ่ง
เธอ บอกว่า "จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นถิ่นอิทธิพลใหญ่ของพ่อค้า จากอดีตที่เคยเป็นแค่เส้นทางการค้า พัฒนาสู่การเป็นคลังกักเก็บ กระทั่งปัจจุบัน กลายเป็นฐานการผลิตรายใหญ่ในประเทศไทย"
"ในเขตของดิฉัน มีคนเขาว่าพ่อค้าขนเงิน ขนคน มาเล่นงานอย่างเต็มที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้"
เธอ ยืนยันคำพูดด้วยข้อมูลที่ได้รับจากเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้ง (แอมเฟล) ว่า การซื้อเสียงครั้งนี้ อาศัย "ยา" แทนการใช้เงินสด จึงทำให้ผลประโยชน์ของนักการเมือง-พ่อค้า เอื้ออำนวยซึ่งกันและกัน
ปัจจัยที่สอง มาจากการซื้อสิทธิ-ขายเสียงผ่านเงินสดด้วยวิธีการที่แยบยล
"เดี๋ยว นี้การซื้อเสียงมีกระบวนการที่แยบยลมากขึ้น ให้ชาวบ้านธรรมดาที่ไม่มีชื่อเสียงเป็นหัวคะแนนรายย่อย ชนิดที่เรียกว่าดูแลเพียงแค่ 10-15 คน แล้วค่อยรวมกันเป็นเครือข่าย เรียกได้ว่าซื้อเสียงแบบแชร์ลูกโซ่"
"วิธีการซื้อเสียงเหล่านี้ก็ เพิ่งทราบหลังรู้ผลการเลือกตั้ง คืนวันเลือกตั้งเราหมดแรงแล้ว เรารู้ว่าเราแพ้ แต่มีชาวบ้านเดินถือใบแจ้งความมาให้อ่าน มีเนื้อหาสารภาพว่า ได้รับเงินจากนาย ก. มาจริงเพื่อทุจริตการเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน นาย ก. ในฐานะหัวคะแนนก็ไปสารภาพที่สถานีตำรวจ เพราะเห็นว่ายังไม่พ้น 7 วันหลังเลือกตั้ง จะถูกกัน ให้เป็นพลเมืองดีแทนผู้ต้องหา ปรากฏว่าวันนั้นวันเดียวเราได้หลักฐานเป็นใบแจ้งความทั้งผู้ซื้อผู้ขาย"
"บาง คนเคยประกาศว่าเป็นนัดล้างตา ต้องใช้เงินถล่มกันเพื่อเกณฑ์คนมาลงเลือกตั้ง ในเขต 1 ลงทุน 50 ล้านบาท ส่วนเขต 4 ของพี่ชาย ซึ่งคู่แข่งไม่ค่อย มีผลงานทางการเมืองต้องใช้เงินถึง 100 ล้านบาทในการเอาชนะเรา"
หมัด เด็ดที่เธอเชื่อว่าจะล้มคู่แข่งจนนำไปสู่การเลือกตั้งซ่อม ไม่ได้มีเพียง คำพูดจากปากพยานเท่านั้น แต่ยังมี "คลิปลับ" ที่เป็นบทสนทนาจากเจ้าตัวกับทีมงานของตนเอง
"ในบทสนทนาเขายอมรับว่า ได้มี การจัดเลี้ยงและสัญญาว่าจะให้ ขณะที่กฎหมายการเลือกตั้งระบุชัดเจนว่าเป็นสิ่งที่ห้ามทำ ซึ่งเหตุการณ์นี้อยู่ในช่วงที่พรรคการเมืองสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงระบบเขต แต่มันก็ชัดเจนว่าพรรคไหนเบอร์อะไร แถมมี คำอุทานที่ว่า ตายแล้วยังไม่ได้ทำเรื่องนี้เรื่องนั้นเลย ถ้าไม่ทำเดี๋ยวจะผิดกฎหมาย"
สิ่งที่ "ฐิติมา ฉายแสง" เป็นห่วงมากที่สุด ไม่ใช่ข้อมูลจากหลักฐานไม่ชัด แต่เกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
"บาง ส่วนของการคัดค้านได้แจ้งเรื่องไปถึง กกต.จังหวัดตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. ซึ่งแนบเอกสารและข้อมูลไปหมดแล้ว โดยตามหลักการจะต้องถึงมือ กกต.ใหญ่ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งก็ไม่มั่นใจว่า ขณะนี้เขารับรู้เรื่องเหล่านี้แล้วหรือยัง เพราะหากรับรู้แล้ว ส.ส.ชุดแรกที่จะได้ การรับรองสิทธิจะต้องไม่มีชื่อของเขต 1 และ 4 จังหวัดฉะเชิงเทรา"
หาก ผลลัพธ์สุดท้ายการคัดค้านครั้งนี้จะไม่สำเร็จ แต่ตระกูล "ฉายแสง" อยู่เคียงข้าง "ทักษิณ ชินวัตร" มาตั้งแต่ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย เธอจึงเชื่อว่า ยังมีโอกาสได้เข้าไปทำงานในรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ 1"
"ท่าน ไม่เคยพูดกับเราโดยตรง แต่ทุกครั้งที่มีประชุมท่านมักจะพูดถึงเรา อย่างโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ ท่านก็ถามว่า เป็นไงบ้าง จะไปถึงฉะเชิงเทราแล้ว ดีใจไหม คนในพรรคเองก็ยังพูดแซวกัน ว่า จะเอากระทรวงไหนที่เป็นอย่างนี้เพราะผู้ใหญ่ทั้งหมดก็รู้ว่าเราทำงาน"
"หาก ไม่ได้เป็น ส.ส.เราก็ไม่ทวงสิทธิทวงเก้าอี้อะไร เราก็เกรงใจ เพราะมีคนต่อสู้ ทำงานในพื้นที่มาเยอะ แต่ทุกวันนี้ยังช่วยงานพรรคอยู่ คุณปู (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ก็เรียกเราเข้าประชุมทุกวัน ท่านให้ความสำคัญกับเราตลอด ซึ่ง ตอนนี้แม้จะยังไม่ได้เป็น ส.ส. ก็รับหน้าที่ดูแลนโยบายเรื่องสตรีให้พรรค"
เธอบอกว่าตำแหน่ง "รัฐมนตรี" อาจไกลเกินไปที่จะพูดถึงวันนี้ แต่ตำแหน่ง ที่ ส.ส.เป็นไม่ได้ตามกฎหมายอย่าง "เลขาฯ-ที่ปรึกษา" คงไม่ไกลเกินไป สำหรับเส้นทางการเมืองครั้งนี้
"แม้จะเป็นผู้หญิงเหมือนหัวหน้าพรรค แต่ตำแหน่งคู่คิดใกล้ชิดอย่างเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก็ทำไม่ได้หรอก มีคนเก่งอีกเยอะ อย่างท่านนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ยังครบครันมากกว่า แต่ถ้าหากเป็นรองเลขาฯเราก็พอ ได้นะ"