ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
เภรี กุลาธรรม
หลังจากนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็จะมีสถานะเป็นเพียงส.ส.ธรรมดาเท่านั้น
ต่อจากนี้ไป กระบวนการทางกฎหมายที่ชะงักไประหว่างสวมหัวโขนนายกฯ ก็ต้องเดินหน้าต่อ
จากการตรวจสอบ พบว่านายอภิสิทธิ์ถูกแจ้งความดำเนินคดีมากกว่า 10 คดี
ความผิดข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการแต่งตั้งผู้บัญชาการ ตำรวจแห่งชาติ โดยมีเจตนาละเลยไม่กระทำให้เสร็จ
นอกจากนี้ ยังคดีที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการศอฉ. จากเหตุการณ์การสลายกลุ่มผู้ชุมนุมนปช. และการกล่าวหากลุ่มบุคคลต่างๆ ว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการล้มล้างสถาบันเบื้องสูง รวม 6 คดี
คดีที่นายอภิสิทธิ์และพวก สั่งการใช้กำลังสลายการชุมนุมวันที่ 10 เม.ย.2553 มีผู้แจ้งความร้องทุกข์รวม 2 คดี
คดีที่นางพะเยาว์ อัคฮาดและญาติผู้เสียชีวิต 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกรณีเจ้าหน้าที่ยิงเข้าไปในวัด จนมีผู้เสียชีวิต 6 ศพ
คดีนี้ ผู้เสียหายร้องทุกข์ให้สอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดรวมถึงผู้สั่งการ คือ นายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,289 มาตรา 83 และ 84 ด้วย
ทั้งหมดเป็นคดีที่นายอภิสิทธิ์ถูกกล่าวหาและจะต้องพิสูจน์ตัวเอง
ยังไม่รวมถึงความจริงในภาพรวมกรณีการสั่งใช้กำลังสลายการชุมนุมจนมีผู้เสีย ชีวิตกว่า 91 ศพ บาดเจ็บอีกเกือบ 2 พันราย ถูกจับกุมคุมขังแบบเหวี่ยงแหอีกกว่า 300 คน
ซึ่งนายอภิสิทธิ์จะถูกร้องทุกข์กล่าวโทษอย่างแน่นอน