ที่มา มติชน
ที่ พรรคเพื่อไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน โดยยืนยันว่า มีความตั้งใจจะผลักดันให้เกิดขึ้นจริง แต่คงต้องให้เวลาแต่ละช่วงในการปรับตัว ซึ่งจะรับฟังจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในองค์กรขนาดเล็กและตามต่างจังหวัด ที่อาจจะมีผลกระทบ จึงต้องขอฟังรายละเอียดและดูว่า ภาครัฐจะให้การสนับสนุนอย่างไร และต้องดำเนินการในพื้นที่ไหน อย่างไร รวมทั้งต้องดูการทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน นอกจากนี้ต้องหารือกับฝ่ายดูแลด้านงบประมาณทั้งหมดด้วย
เมื่อถามว่า ดูเหมือนธุรกิจเอสเอ็มอียืนยันว่า ไม่สามารถแบกรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า จะหาวิธีการช่วยเหลือ เพราะอยากเห็นการกระตุ้นและส่งเสริมภาคการผลิตควบคู่กันไปด้วย ซึ่งตามแผนที่วางไว้คือ จะดำเนินการในเดือนมกราคม 2555 เพราะอยากทำควบคู่กับภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจด้วย แต่ก็ต้องหารือกับกระทรวงการคลังก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นหน้าที่ของผู้จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ คลัง
เมื่อถามว่าพรรค เพื่อไทยประกาศนโยบายหลายด้านและต้องใช้เงินจำนวนมาก จำเป็นต้องปรับประมาณการงบประมาณในปี 2555 ใหม่ หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขณะนี้ต้องไปดูสถานการณ์การเงินการคลังที่แท้จริงของประเทศ และจะต้องหารือกับกระทรวงการคลัง และผู้เกี่ยวข้องเพื่อดูว่า ที่ผ่านมามีการดำเนินการอย่างไรไว้บ้าง
ด้านนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงข้อเสนอบอร์ดค่าจ้างให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และภูเก็ตก่อนว่า พท.ยินดีรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบการพิจารณาดำเนินนโยบาย ส่วนกรณีภาคธุรกิจเป็นห่วงว่าเอสเอ็มอีจะเสียหายจากนโยบายนี้ พท.ได้เตรียมมาตรการรองรับไว้แล้ว
วันเดียวกัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ประชุมคณะกรรมการ ส.อ.ท.นัดพิเศษเพื่อหารือประเด็นขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง เพื่อนำข้อสรุปเสนอรัฐบาลใหม่ โดยนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท.กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยกับนโยบายขึ้นค่าแรงดังกล่าว โดยจะเสนอพรรคเพื่อไทยในฐานะว่าที่รัฐบาลใหม่ทบทวนนโยบายดังกล่าว โดยเห็นว่าการปรับค่าแรงควรดำเนินไปตามกลไกตลาด ที่คำนวณจากสภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ คุณภาพชีวิต การขยายตัวเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ และดำเนินการโดยคณะกรรมการค่าจ้างกลางหรือไตรภาคี ปราศจากการกดดันจากรัฐบาล
นาย พยุงศักดิ์กล่าวว่า หากรัฐบาลยืนยันจะดำเนินนโยบาย ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการจ่ายส่วนต่างของค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ภายในระยะเวลาหนึ่ง เมื่อผู้ประกอบการปรับตัวได้จึงหยุดช่วยเหลือ
ทั้ง นี้แนวทางทั้งหมด ส.อ.ท.จะประสานกับพรรคเพื่อไทยเพื่อหารืออย่างเป็นทางการต่อไป แต่เบื้องต้นจะนำแนวทางและผลกระทบหารือร่วมกับคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย นัดพิเศษภายในสัปดาห์หน้า