ที่มา ประชาไท
สัมภาษณ์โดย อริน เจียจันทร์พงษ์
หมายเหตุ : ต้นฉบับคอลัมน์ “ออกแบบประเทศไทย” ที่สัมภาษณ์ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กรรมการบริหารวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ และอดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับเต็ม หลังจากที่เคยลงในหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม 2554 ไปแล้ว แต่เนื่องจากพื้นที่ของหนังสือพิมพ์มีจำกัดจึงมีการตัดทอนเนื้อหาไปบ้าง (สัมภาษณ์โดย อริน เจียจันทร์พงษ์ ผู้สื่อข่าวการเมือง นสพ.มติชน)
ผล การเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยชนะอันดับ 1 ทำให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 เตรียมก้าวสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย
แต่ชัยชนะถล่มทลายดังกล่าว ที่มีภาพพ.ต.ท.ทักษิณ ฉายอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้งกับ อำนาจนอกระบบ “เงาทะมึน” ซึ่งฉาบอยู่เบื้องหลังการเมืองไทยตลอดช่วงที่ผ่านมา ทำให้หลายคนยังวิตกว่า การเมืองไทยข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
เพราะบรรดาความเสี่ยงการรัฐประหาร และเงื่อนไขการเผชิญหน้าทั้งหลายยังอยู่ครบ แถมตอกย้ำให้เป็นบรรยากาศแห่งความกลัวเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปีที่แล้ว ที่ฝ่ายรัฐใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจนเสียชีวิต 91 ศพ บาดเจ็บหลักพัน
แต่ในสายตานักประวัติศาสตร์อย่าง “ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ” กรรมการบริหารวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ และอดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลับมองอย่างมีความหวังว่า “มีโอกาสบางอย่างในการที่หลังเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็น เส้นแบ่งการเมืองยุคใหม่ของสังคมการเมืองไทย”
“เราต้องเข้าใจประวัติศาสตร์จึงจะมีความหวังกับอนาคต การไม่มีมิติประวัติศาสตร์ ทำให้ผู้ที่จะทำอะไรไม่ว่าจะเป็น ภาคการเมือง ประชาชน รัฐ ราชการ เอกชน เลยเดาไม่ได้ว่า จะเป็นอย่างไรในอนาคต”
อาจารย์ ธเนศ อธิบายว่า ถ้าประวัติศาสตร์ลงตัว เข้าใจได้ เห็นได้ มันต้องบอกได้ว่า ถ้าคุณทำอย่างนี้ ใช้อำนาจหนักไปทางนี้ อะไรมันจะเกิดขึ้น แล้วจะแก้อย่างไร ก็ดูจากประวัติศาสตร์ว่าพร่องอย่างไร ก็ไปเติมตรงนั้น แต่ของเราจะแก้ที อย่างรัฐธรรมนูญ ก็ไปเปิดดูของคนอื่น เอาพิมพ์เขียวมาใส่ เช่น พรรคไม่เข้มแข็ง ก็เอาของที่อื่นที่เข้มแข็งมาใส่ พอไทยรักไทยขึ้นมา ก็บอกแข็งเกิน แล้วก็แก้ให้อ่อน คือ เราไม่มีความเข้าใจประวัติศาสตร์ของตนเองอยู่ เลยไม่รู้ว่า ที่ผ่านมามันพร่องเพราะอะไร
ในสายตานักประวัติศาสตร์อย่างอาจารย์ธเนศ จึงเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนกังวล เพราะประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่สะเด็ดน้ำ และถูกคนมาอธิบายใหม่ตั้งแต่ 2475 จึงมีภาพที่ถูกสร้างโดยนักการเมือง หรือนักประวัติศาสตร์กระแสหลักที่อยู่กับระบอบปัจจุบัน ที่อธิบายไปตามเหตุผลของตัวเอง หรือเหตุผลในตอนนั้น แต่ไม่ได้สนใจหลักฐานความจริงทางประวัติศาสตร์เลย แต่เป็นวาทกรรมใหม่ทั้งนั้น
“ปฏิวัติ อเมริกา หรือฝรั่งเศส เขาเลิกพูดกันไปแล้ว เพราะเขาสะเด็ดน้ำว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน มีรัฐธรรมนูญ หลักการใหญ่ๆจบแล้ว แต่ของเราตอนนั้นมันยังเหมือนไม่สำเร็จ แต่มันได้เยอะ เริ่มลงรากปักฐาน แต่จับพลัดจับผลู มันเริ่มเปลี่ยน ถอย ถูกยึดพื้นที่กลับ เดินไปได้แป๊บๆก็โดนเบรก คนก็เลยสงสัยว่า เอ๊ะ ตกลงเราเคยปฏิวัติประชาธิปไตยหรือเปล่า ก็เลยกลับมาพูดกันใหม่ทุกปีเมื่อถึง วันที่ 24 มิถุนายน ว่า มันเป็นเพราะอะไร เพราะระบบการเมือง วาทกรรม ความเชื่อ ค่านิยมที่มากับระบบการเมืองไทย กระทั่งวันนี้ที่มันเริ่มย้อนกลับไปก่อนยุค 2475 ซึ่งมันหนักข้อขึ้นด้วย”
อาจารย์ยกตัวอย่างให้ฟังว่า อย่างเช่นหลังปี 2490 การเมืองไทยถูกมองว่า เป็นเรื่องของชนชั้นนำกลุ่มน้อยที่ แย่งอำนาจ ใช้อำนาจมิชอบ มันก็ไม่ผิดทั้งหมด มันมีความเป็นจริงอยู่ แต่ว่า เวลาเราดูพัฒนาการ ต้องดูว่า ทำไมมันมาถึงจุดนั้น แล้วก็สกัดเอา แก่นของความจริงออกมา ที่คนชอบประณามพรรคการเมือง หรือนักการเมือง คำถามคือ คนยึดอำนาจที่มาจากสถาบันราชการ ทำไมไม่ถูกประณาม หรืออ้างว่าประณามไม่ได้เพราะมีพันธะที่จะทำ ทั้งที่พันธะที่ว่านั้นมันตรงข้ามระบอบประชาธิปไตย หรือความเป็นจริงที่ระบอบต้องการอีกแบบ แต่ก็ทำด้วย ข้ออ้างเรื่องความมั่นคง การดำรงอยู่ของสถาบัน พอคุณสร้างค่านิยมขึ้นมาจากความเชื่อ ข้อมูลสะเปะสะปะ มันเลยกลายเป็นข้อเท็จจริงที่ตอนนี้คนเชื่อกันว่า ล้มเหลวเพราะรัฐสภา นักการเมืองทำให้ล้มเหลว
“คนที่เชื่อเรื่องนี้ไม่ใช่ชาว บ้านนะ เป็นคนมีการศึกษาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ หรือคนที่ได้ไปเรียนทั่วโลก กลับมาด่านักการเมือง ผมก็บอกว่า ผมเรียนประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา ก็ไม่ได้เห็นนักการเมืองอเมริกา มันเก่งกล้า ดี ไหนคุณไปหามาสิ มันดีแบบไม่แตะอะไรเลยจริงเหรอ เฮ้ย มันโดนคดีอยู่ทุกวัน มีเพื่อน มีพวกเหมือนกันแหละ เพียงแต่ระบบก็จัดการมันออกไปสิ ที่เหลือมันก็ทำงานต่อไป ก็เท่านั้น แต่ของเรา โห คุณจะเอาพระอรหันต์เหรอ”
พูดเรื่องนี้ก็คิดถึงวาทกรรม “คนดี” ที่เฟ้อมากในช่วง 5-6 ปี หลัง ซึ่งอาจารย์อธิบายว่า เป็นผลผลิตของการสะสมมาตั้งแต่หลังจอมพลสฤษฏิ์ (ธนะรัชต์) ค่านิยมแบบอำนาจนิยมต่างๆ มันมีพื้นฐานอยู่แล้วในวัฒนธรรม ไทย มันเลยง่ายอยู่แล้ว แต่สังคมอเมริกัน ถ้าจะบอกว่า ดีแล้วต้องเชื่อ โอย ไม่มีใครเชื่อหรอก มันต้องพิสูจน์ตัวเอง ทุกคนต้องพิสูจน์ตัวเอง แล้วก็ไม่มีอะไรที่มันเลวหมด มันจะเอาข้ออ้างทางศีลธรรมอย่างเดียวไม่ได้ แต่ของเรา ระบบมันไม่เคยทำงานได้ ฉะนั้นที่ผ่านมา อะไรที่ทำสำเร็จ เพราะอาศัยคนที่บารมีหน่อยมาเคลื่อน คนก็รู้สึกอือ ออ แต่มันมีคำถามเรื่องคุณภาพของความสำเร็จนั้นที่ไม่ค่อยพูดกัน
สำหรับเรื่อง “โอกาสบางอย่าง” ที่อาจจะเป็นเส้นแบ่งของการเมืองไทยยุคใหม่ อาจารย์ธเนศ เห็นว่า ถ้ามองจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มากที่สุดในแง่การเข้าร่วมของประชาชน ความตื่นตัว ความสนใจ ความตั้งใจ รวมๆเรียกสำนึกทางการเมือง
“ตั้งแต่ 2475 จนถึงการเปลี่ยนแปลงหลายช่วง ที่ผ่านมา คนก็มาเลือกตั้งไม่น้อย คือแสดงว่า คนให้ความสนใจและอยากเปลี่ยนแปลงเยอะ รับรู้เรื่องการเมืองบ้างมากน้อยมาก ตามแต่เทคโนโลยีแต่ละยุค อย่างช่วง 2475 คนอ่านหนังสือพิมพ์ หนังสือ เยอะถ้าเทียบกับปัจจุบัน ตอนนั้นหนังสือประวัติศาสตร์โลก หรือพวกเรื่องประชาธปไตย เขาพิมพ์กันที 2,000 – 4,000 เล่ม นั่นปี 2475 นะ แสดงว่า คนสนใจมาก แต่เดี๋ยวนี้ หนังสือผมพันเล่มยังขายไม่หมดเลย มันเกิดอะไรขึ้น”
วันก่อนไปคุยกับทูตประเทศนึง เขาอ่านประวัติศาสตร์มา เขาถามว่า ตอนปี 2475 คนทีเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเป็นพวกปัญญาชน มีการศึกษาสูงถ้าดูจากชื่อ ทั้งภาคราชการ เอกชน แต่เดี๋ยวนี้ คนคัดค้านการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประชาธิปไตยคือคนกลุ่มนี้ มันตรงข้ามกัน เกิดอะไรขึ้นในเมืองไทย !! ผมหัวเราะเลย ใช่ๆๆ
“ถ้ามองแบบเข้าใจก็รู้สึกมีความหวัง”
อาจารย์ บอกว่า ก็ต้องให้กำลังใจกัน การเมืองมันอาจจะหยุด หรือถอยหลังบ้าง อ่ะ เรียกว่า ย่ำเท้าในช่วงหลายปี แต่ว่า หลัง 2549 พลังประชาชนที่ก้าวหน้าออกมาเข้าร่วมหมด เยอะมาก ยิ่งขยายออกไป อ่ะเรื่องที่คนออกมาประท้วงเพราะถูกหลอกเป็นเครื่องมือไหมเรายังไม่พูด แต่หมายความว่า โดยปรากฏการณ์นี่มันคือ ปรากฏการณ์ทางการเมืองของมวลชนในระบอบการเมือง เขาก็มีเป้าหมาย ต้องการรัฐธรรมนูญ ต้องการเปลี่ยนรัฐบาล การเลือกตั้ง มันก็เป็นข้อเรียกร้องที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่รับได้ ไม่มีอะไรที่มันเกินเลยไปกว่านั้น ส่วนไอ้ปลีกย่อยอะไรต่างๆ ก็แล้วไป เพราะมันห้ามไม่ได้ พอมันเกิดขบวนการนี้ขึ้นมาแล้ว บางส่วนก็สุดขั้วไปบ้าง มันก็มีทั้งนั้น แต่โดยรวมๆ มันน้อย มันไม่ได้ซีเรียสถึงขนาดว่า ต้องให้บางอย่างพังทลายไปเลย
“ต้องถือว่า เป็นการตื่นตัวของมวลชนประชาธิปไตยที่สวยงามที่สุดอันนึง ถ้าเรามองสิ่งที่เกิดขึ้นในตะวันอ อกกลางว่า ใบไม้ผลิ คนเรียกร้องใหญ่โต ผมก็บอกว่า ของเรามันเกิดหลายรอบแล้วนะ ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 พฤษภาคม 2535 เสื้อเหลืองตอนแรกผมก็นับ เมษายน-พฤษภาคม 53 มันเป็นดอกไม้ประชาธิปไตยซึ่งมันบาน เราทำมาตลอดเลย ไม่ได้มีน้อยกว่าคนอื่น”
อย่างเรื่องอดีตนายกฯส่วนใหญ่ที่โดนยึดอำนาจ แล้วออกนอกประเทศก็มักไม่ได้กลับมา แต่อย่างทักษิณ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองมันไม่หยุด หลัง 2549 แกไม่ได้ถูกตัดจาดจากความเคลื่อนไหว ทางการเมือง ถ้าจะตอบว่า เขามีเงิน ก็จริง มีเงินอย่างเดียวไม่พอนะ เพราะถ้ามายุ่งต่อ เงินจะหมดมากกว่านี้ จะมายุ่งทำไม ผมไม่ได้บอกว่า มันถูกหรือผิดนะ แต่ในแง่พัฒนการประชาธิปไตย ถ้าความเชื่อของบทบาทางการเมืองที่ มีฐานจากมวลชน มันไม่ถูกทำลาย แสดงว่า มีเชื้อของการเมืองประชาธิปไต ยที่มันแรง จัดการยังไงก็ไม่หมด แสดงว่า องคาพยพของความเป็นประชิปไตยในเมืองไทยมันมีอยู่แล้ว ทำให้ทักษิณ สร้างชีวิตทางการเมืองเขาออกมาได้ บางคนไปมองในแง่ ด่าเขา โกรธเขาก็ส่วนหนึ่ง แต่ถ้ามองในแง่วิชาการที่เห็นว่า มีพัฒนาการ ต้องมองว่า ปรากฏการณ์แบบนี้มันแสดงว่าอะไรล่ะ ทำไมคนมีเยื่อใย ก็คือการเมืองมันสร้างเขา เขาเป็นผลผลิตของการเมือง
ส่วนการย่างก้าวต่อไปนั้น อาจารย์ธเนศ เห็นว่า ที่เหลือเราต้องสรุปบทเรียนของตัวเองว่า ทำไมมันถึงไม่ทำให้มันออกดอกให้บานเต็มที่เสียที คือ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ อุดมการณ์ สถาบัน ระบบการเมืองมันต้องรองรับที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านมันอยู่ในระบบ สงบ สันติ ไปสู่จุดหมายที่รู้ว่า คนต้องการอะไร ก็ให้ไปถึงจุดนั้น จะได้มากน้อยก็ว่ากันไป
“แต่ตอนนี้คนไม่มั่นใจว่า โครงสร้างดั้งเดิมที่รองรับ จะทำหน้าที่และให้ความมั่นใจ มวลชนทั้งหลายได้ไหม เสื้อแดงก็บอกว่า ไม่เชื่อว่า โครงสร้างที่รองรับระบอบ จะทำหน้าที่ เขาเลยพูดเรื่อง 2 มาตรฐาน ภาคธุรกิจร้อนวันพันปีไม่ค่อยอยากยุ่งการเมือง แต่นี่ออกมาตั้งกลุ่มแอนตี้คอรัปชั่น บ้าง กลุ่มเคารพเสียงเลือกตั้งบ้าง นี่ไง ! แสดงว่า สถาบันโครงสร้างเดิมที่มี มันไม่ฟังก์ชั่น ฉะนั้น ประชาชนถึงได้เอาตัวเองเข้ามา ขอเป็นคนผลักให้มันเปลี่ยนเอง แล้วก็ยืนเฝ้าดูว่า เฮ้ย มันไปจริงไหม เพาะแล้วมันโตจริงไหม จะเฝ้าเองไม่ต้องให้คนอื่นเฝ้าแล้ว แล้วยิ่งเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ สื่อใหม่มันสร้างพื้นที่สาธารณะใหม่ สร้างพลังมวลชนที่เชื่อมโยงกันรวมกลุ่มได้เหนียวแน่นมากขึ้น ระดับการตรวจสอบควบคุมการใช้อำนาจของภาคสังคมจะมากขึ้นเยอะมาก และฝ่ายการเมืองก็ต้องรับผิดชอบมากขึ้นมาก ส่วนโครงสร้างดั้งเดิมก็ต้องปรับตัว ไม่เช่นนั้นก็ชนกัน”
เป้าของเราส่วนหนึ่งน่าจะเป็นการแชร์อำนาจ อำนาจเดิมๆต้องปรับตัว ?
อาจารย์พยักหน้า แต่เล่าถึงปัญหาว่า โดยประวัติศาสตร์จริงๆของเรา มันไม่แชร์การแบ่งอำนาจ เป็นคอนเซปตะวันตกหลังยุคเรอ เนสซองซ์ ที่อำนาจมันถูกย้ายจาก อำนาจพระเจ้ามาสู่อำนาจมนุษย์ กษัตริย์ต้องเป็นมนุษย์ด้วย มันถึงแบ่งอำนาจได้ คือตอนนั้น แพ้แล้วเลยยอม แบ่งอำนาจไปให้ สภาโน่นนี่แล้วค่อยลงไปถึงชาวบ้าน
แต่คอนเซปอำนาจแบบเอเชีย อำนาจมันยังมีที่มาของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหนือธรรมชาติ ของบารมี มันไม่ใช่อำนาจที่มาด้วยเหตุผล รัฐธรรมนูญของเขามันถึงอยู่ได้ คนไม่ไปแตะ ก็ไปตีความเอาเองสิโดยใช้เหตุผลว่า เขาให้คุณได้เท่าไหร่ ก็ได้เท่านั้น แต่ของเรา มันไม่ได้ เพราะสังคมวัฒนธรรมมไม่ได้สร้างด้วยเหตุผล แต่สร้างด้วยความเชื่อที่ต้องอิงอำนาจศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เราจึงไม่เคยประสบความสำเร็จในการสร้างระบบที่แยกระหว่างศาสนากับสังคม ความเชื่อศาสนากับสังคม มันอยู่ปนกันตลอดเวลา จริงๆแล้วหลังยึดอำนาจ ฝ่ายกุมอำนาจหาเหตุผลรองรับไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องกลับไปสิ่งศักดิ์สิทธิ์เก่า สถาบัน ศาสนา ชาติ
“และก็ชาตินิยมของเรา มันไม่เหมือนของคนอื่น ของคนอื่นเป็นของมวลชน แต่ความคิดชาตินิยมนี่พูดแล้วมันปลุกระดมคนข้างล่าง เขาเลยไม่อยากใช้มาก เพราะทำให้คนข้างล่างถามว่า ฉันจะต้องได้อะไร แต่ชาตินิยมของเรารับใช้คนข้างบน และสถาบันของเก่าทั้งนั้น ชาวบ้านไม่ได้ได้ ชาตินิยมแบบเขาพระวิหารดูสิ คนตายคือชาวบ้าน อ้าว รักชาติแล้วกูตายเนี่ย มันได้อะไร เพราะเราทำให้สิ่งอันนี้เป็นของเก่า เพื่อรองรับความชอบธรรมของ อำนาจนิยม ฉะนั้นฝ่ายประชาธิปไตย เจอพลังวาทกรรม ความเชื่อ ความคิด พวกนี้จัดการหมด พอเลือกตั้ง คนด่าเลย นักเลือกตั้ง”
อาจารย์ธเนศ เล่าว่า อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ บอกเลยว่า ประชาธิปไตยคือแบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ ระบบแบบนี้มันเกิดขึ้นใน ธรรมชาติ พร้อมกับการมีมนุษย์มีสังคม ลองไปดูชาวบ้านเวลาทำอะไร เขาก็ต้องคุยปรึกษากันแล้ว เสียงส่วนใหญ่เอาแล้วก็ทำตาม นี่ไง ระบอบประชาธิปไตยแบบบุพกาล มันมีอยู่แล้ว
“แต่ของเราไม่เคยใช้อุดมการณ์ประชาธิปไตยจริงๆในชีวิต มันจึงเปิดโอกาสให้นักวิชาการฝ่ายอำนาจ นิยม พวกนี้เขียนได้เร็วมาก ทำไมถึงยึดอำนาจ ยึดแล้วดียังไง คนอ่านก็เข้าใจแล้วเชื่อเขาด้วย เออ มันก็สงบ ความคิดของเขาไม่ได้ทำให้วุ่นวายนี่ อ้าว! ตกลงกลายเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจริงๆ กลายเป็นพวกที่ไม่สงบ พวกวุ่นวายเหรอ เนี่ยพัฒนาการประชาธิปไตยเมืองไทย”
เมื่ออ่านประวัติศาสตร์เพื่อมองเส้นทางอนาคต อาจารย์ธเนศ เห็นว่า มันไม่มีทางจะกลับไปสู่ประชาธปไตยครึ่งใบ หรือเผด็จการอีก เพราะประชาชนไม่ยอม มันเลยเกิดปรากฏการณ์ถล่มทลายแบบเพื่อไทย ส่วนหนึ่งได้ฐานเสียงจากคนเสื้อแดง แต่มันต้องมีส่วนอื่นอีก ประชาธิปัตย์คะแนนโดยรวมเสียเมื่อเทียบกับปี 50 แสดงว่าต้องมีคนเห็นอะไรกับขบวนการที่มันเคลื่อนไหว เขาอาจไม่เห็นด้วยกับกลุ่มรักทักษิณ แต่เขาคิดว่า ไม่ควรจะมีรัฐประหาร การแทรกแซงจากกองทัพ หรือำนาจที่มองไม่เห็น ก็คือกลับไปสู่ที่ปวงชนเป็นใหญ่ กลับไปหาคำนิยามอ.ปรีดี 2477 แสดงว่า มันช้าหน่อย มันคดเคี้ยว แต่มันก็มาแล้ว เริ่มมีอนาคต
“คือถ้าดูจากการเปลี่ยนแปลงมาถึงตรง นี้ มันเป็นบวกนะ คนสนใจการเมืองดีกว่าคนไม่สนใจ คนห่วงใยทุ่มเทให้ อันนี้คือหัวใจของประชาธิปไตย ไม่ต้องไปหาทฤษฎีอะไรยากๆ เอาง่ายๆนี่แหละ ถ้าอย่างนี้ไม่มองว่ามันเป็นด้านดี แล้วจะเอาอะไร จะไปหาเทวดาที่ไหน เอาเทวดามานี่ไม่เป็นประชาธิปไตยเด็ดขาด”
ธรรมเนียมแบบประชาธิปไตยมันจะอยู่ได้ รัฐสภาต้องทำงานติดต่อกันเป็น 50 ปี 100 ปี แต่ระบบเลือกตั้งไม่ใช่เลือกเทวดา ไม่ใช่แบบที่หวังจะเอาอะไรที่มันดีแล้วก็สำเร็จเลย เพียงแต่แต่ถ้าระบบมันทำงาน ระบบเลือกตั้งคือการมาตรวจสอบครั้งใหญ่ แทนที่จะรอศาลลงโทษ ผู้ลงคะแนนเสียงตัดสินเลย ให้กลับไปนอนแล้วเอาคนใหม่เข้ามา ถ้าเปลี่ยนคนแล้วยังไม่ดีก็เปลี่ยนพ รรค เนี่ย ให้ระบบมันดำเนินไป ถ้ามันทำได้ 4- 5 ครั้ง 20 ปี มันจะเริ่มเกิดธรรมเนียม คนจะรู้แล้วว่า ส.ส.ประเภทไหนจะอยู่ได้ อยู่ไม่ได้ แล้วถึงจุดนึง มันจะไม่ใช่พรรคกำหนด แต่ประชาชนเป็นคนกำหนด และสื่อก็เป็นกลไกสำคัญ ร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ถ้าตรวจสอบหนักๆมันจะอยู่ได้อย่างไร
ของเรา รัฐสภาถูกตัดตอน สูงสุดกี่ปีเองล่ะ หลัง 35 – 49 มันสร้างธรรมเนียมอะไรได้ มันจึงกลายเป็นมวยวัด คนนั้นเข้าสายตรง อีกคนเข้าสายเหยี่ยววุ่นวายไป หมด ฉะนั้น ทุกฝ่ายต้องเข้ามาคิดกันว่า ระบบมันต้องทำเพื่ออนาคต นักการเมืองอมเริกา เขาออกมาหาเสียง เขาต้องพูดเลยว่า เพื่อที่ 5 ปี ข้างหน้า จะได้อะไร ระบอบประชาธิปไตยเพื่ออนาคตเพื่อลูกหลาน ไม่ใช่ทำเพื่อวันนี้ ระบบมันต้องอยู่เพื่อคนข้างหน้า นโยบายมันจึงเป็นระยะยาว แต่ของบ้านเราที่เราโจมตีว่า ทุกพรรคเป็นนโยบายระยะสั้น อ้าว ก็เพราะทุกคนหวังว่าอยู่ 2 ปี 4 ปี ก็บุญแล้ว มันไม่ได้คิดถึงอนาคตไง เพราะลึกๆไม่มีใครเชื่อว่าระบบรัฐสภาไทยจะอยู่นาน 100 ปี
สำหรับเรื่องการ ปรองดองที่ว่าที่นายกฯหญิงบอกว่า จะไม่ออกกฎหมายช่วยคนๆเดียว อย่างไรก็ดี มันทำอย่างนั้นไม่ได้อยู่แล้ว โดยสภาพ มันต้องยกให้ทุกฝ่ายหมด แต่เท่ากับผู้ที่ต่อสู้กับอำนาจเดิม ยอมประนีประนอม แล้วมวลชนคงไม่ยอม? อาจารย์ธเนศ บอกว่า ใช่ ซึ่งมันยาก ไม่ใช่โจทย์ง่าย สถานการณ์มันต้องลงรอยกว่านี้เยอะ จึงค่อยคิดโจทย์นี้ กว่าจะตอบอันนี้ได้ มันต้องทำอะไรมาก่อนเยอะจนเป็นรูปเป็นร่างก่อน แต่ไม่ต้องกลัวว่าตอนนี้ ยิ่งลักษณ์ มาแล้วจะได้ทักษิณกลับมาด้วย เพราะมันมีกลไกสอดส่องเยอะมาก
แม้มีเสียงข้างมากเป็นเบื้องต้น แต่มีการกำกับตรวจสอบ การกดดันให้ปฏิรูปโครงสร้างระยะยาวไม่ใช่แค่หวังระยะสั้น ทั้ง 3 ขามันดึงกันอยู่ มันก็น่าจะดำรงให้มีเลือกตั้งในระบบไปเรื่อยๆ เพราะมันไม่มีใครมายึดกุมอะไรได้ตามใจชอบแล้ว ฝ่ายไหนจะทำอะไรก็ต้องฟังปฏิกริยาจากสาธารณะ และคุณต้องรับผลของการกระทำนั้นได้
จะมาอ้างว่า เพราะความมั่นคงอะไรมันไม่พอแล้ว หรือจะอ้างว่าได้เสียงมามาก เขาก็ต้องถามตัวเอง จะพาซื่อเสียงข้างมากไม่ได้ เพราะในประชาธิปไตยเสียงข้างน้อยก็มีความหมาย ฉะนั้นเขาก็ต้องฟัง