ที่มา ประชาไท
“การ ขอคืนพื้นที่ เมื่อวันที่ 10 เม.ย. เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองสิทธิ์ประชาชนทั่วไป ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการตามมาตรการที่ประกาศไว้ก่อนจริง กระทำจากเบาไปหาหนัก จึงเป็นการกระทำภายใต้กฎหมายที่ให้อำนาจไว้ แม้มีการกระทำที่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บต่อผู้ชุมนุมทั้งการใช้กระบอง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง แต่เมื่อพิจารณาย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เกินกว่าเหตุ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับฝ่ายผู้ชุมนุมที่มีอาวุธและผู้สนับสนุนที่มีอาวุธ สงคราม”
เราจะไม่รู้สึกแปลกใจอะไรเลย หากข้อความข้างต้นนี้เขียนจาก “ข้อวินิจฉัย” ของรัฐบาลประชาธิปัตย์ กองทัพ หรือแกนนำพันธมิตร แต่นี่เป็นข้อความในรายงานผลสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มีบทบาทหลักในการปกป้องสิทธิในความเป็นมนุษย์ตาม ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
แทบ ทุกย่อหน้าของรายงานฉบับดังกล่าว (แม้จะเป็นฉบับเลื่อนการเผยแพร่) คือ ข้อความที่มีความหมายเชิงปกป้องการกระทำของรัฐบาลว่าเป็นไปตามความจำเป็น ควรแก่เหตุ และข้อความพิพากษาตัดสินการชุมนุมของ นปช.ว่า รุนแรง มีอาวุธ ละเมิดสิทธิ์คนอื่น กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ฯลฯ
ผม คิดว่า “ข้อวินิจฉัยของ” กรรมการสิทธิฯ สะท้อนอย่างชัดเจนถึง “ความไม่สามารถ” แสดงออกซึ่งความเคารพต่อ “ความจริง” และ “ความหมาย” ของความตายของประชาชน!
คำว่า “ไม่สามารถ” มีความหมายสำคัญสองย่างคือ 1) ไม่สามารถสรุปความจริงที่สัมพันธ์กับบริบทที่ซับซ้อนอย่างครบถ้วน 2) ไม่สามารถแสวงหา และ/หรือนำเสนอความจริงออกมาได้อย่างตรงไปตรงมาและรอบด้าน เพราะว่าโครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่เป็นอยู่จริงไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้น ได้
ไม่สามารถตามข้อ 1) เกิดจากการไม่ซื่อตรงต่อข้อเท็จจริง และไม่มีความพยายามอย่างเพียงพอ ส่วนไม่สามารถตามข้อ 2) เกิดจากข้อจำกัดเนื่องจากถูกบีบโดยโครงสร้างอำนาจที่ปิดกั้นเสรีภาพในการ แสวงหา และพูดความจริงที่กระทบต่อโครงสร้างอำนาจนั้น
ความ ไม่สามารถทั้งสองประการนี้มีความความสำคัญคือ เป็น “ความไม่สามารถแสดงออกซึ่งการเคารพความจริง” ซึ่งเป็นการสะท้อนถึง “ความเจ็บป่วย” ของสังคมอย่างรุนแรง
คือสังคมนี้ รู้อยู่หรือพอจะรู้อยู่ว่าความจริงคืออะไร แต่กลับต้องจำทนเห็นการบิดเบือนความจริง เห็นทั้งการเสแสร้งไม่พูดความจริง ทั้งถูกบังคับไม่ให้พูดความจริง ทั้งการถูกจับติดคุกเพราะพูดความจริง ความเจ็บป่วยของสังคมเช่นนี้คือ อาการสูญเสียความเชื่อถือไว้วางใจซึ่งกันและกัน อาการขัดแย้งแตกแยก อาการสับสนในการตัดสินความเป็นธรรม-ไม่เป็นธรรม อาการความรุนแรงจิกตีกันเหมือนไก่ใน “สุ่มแห่งโครงสร้างอำนาจครอบงำประชาธิปไตย” ที่ฝ่ายหนึ่งอยากออกจากสุ่ม อีกฝ่ายจิกหัวกดไว้ให้อยู่ในสุ่ม
ผลสรุปของกรรมการสิทธิฯ สะท้อนความไม่สามารถสรุปความจริงที่สัมพันธ์กับบริบทที่ซับซ้อนอย่างครบถ้วน ในประเด็นสำคัญ เช่น
ข้อ สรุปที่ว่า การชุมนุมของ นปช.ใช้ความรุนแรงนั้น เป็นการให้ความหมายของ “ความรุนแรง” ตามนิยามของฝ่ายรัฐและฝ่ายตรงข้ามกับ นปช. ที่มองความรุนแรงที่เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นอยู่เฉพาะหน้าเท่านั้น เช่น การปลุกระดม การใช้หนังสะติ๊ก ก้อนหิน เสาธงเป็นอาวุธ การพกพาอาวุธ การยิงระเบิดเอ็ม 79 การยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ ฯลฯ แต่ไม่สนใจว่าปรากฏการณ์ความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นภายใต้บริบทอะไร มีความเป็นมาหรือสาเหตุอย่างไร ฯลฯ
ที่พูดอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่า ถ้าคนเสื้อแดงหรือฝ่ายใดๆ กระทำรุนแรงดังกล่าวเป็นการกระทำที่สมควรยอมรับ เพียงแต่ต้องการจะบอกว่า การมองความรุนแรงแบบกรรมการสิทธิฯ จะเปรียบไปแล้วก็เหมือนการมองเห็นเฉพาะน้ำที่เดือดปุดๆ แต่มองไม่เห็นถ่านเพลิงที่ลุกโหมอยู่ใต้กระทะน้ำร้อน
หาก น้ำที่เดือดปุดๆ คือความรุนแรงของคนเสื้อแดง ถ่านเพลิงที่ลุกโหมให้น้ำเดือดก็คือการทำรัฐประหารปล้นสิทธิประชาชน กระบวนการทำลายล้างพรรคการเมืองที่เสียงส่วนใหญ่เลือกโดยกลไกและเครือข่าย รัฐประหาร การก่อตั้งรัฐบาลอำมาตย์หนุน การกล่าวหาเรื่องขบวนการล้มเจ้า ขวนการก่อการร้าย การประณามเหยียดหยาม การเชียร์ให้ล้อมปราบ การล้อมปราบด้วย “กระสุนจริง” (กก.สิทธิฯเรียกตาม รบ.อย่างเซื่องๆ ว่า “ขอคืนพื้นที่”) “การกดทับ” สิทธิเสรีภาพหรืออำนาจปกครองตนเองของเสียงส่วนใหญ่โดย “เสียงส่วนน้อย” ของเหล่าอภิชน
เมื่อมี “การกดทับ” ก็เกิด “การดิ้นรน” เพื่อให้พ้นไปจากการกดทับนั้น แต่กรรมการสิทธิฯ กลับจงใจมองเห็นเพียง “การดิ้นรน” เท่านั้น และสรุปว่าการดิ้นรนเท่านั้นคือความรุนแรง!
ทัศนะ ต่อความรุนแรงที่เบี่ยงเบนเช่นนั้น ทำให้กรรมการสิทธิฯไม่สามารถเข้าใจได้ว่า ความรุนแรงในรูปแบบของการดิ้นรนเพื่อให้พ้นไปจากการกดทับนั้น 1) มีระดับความรุนแรงน้อยกว่าความรุนแรงในรูปแบบของการกดทับ 2) มีเหตุอันสามารถเข้าใจได้ และควรแก่การเห็นอกเห็นใจ (แม้จะไม่เห็นด้วยก็ตาม)
เมื่อมีทัศนะต่อความ รุนแรงที่เบี่ยงเบนเช่นนั้น กรรมการสิทธิฯ จึงเห็นว่า ฝ่ายที่ใช้อำนาจกดทับกระทำการสมควรแก่เหตุ ไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หมายความว่าโดย “ดุลยพินิจ” ของกรรมการสิทธิฯ อำนาจกดทับซึ่งมีธรรมชาติของความรุนแรงยิ่งกว่าอยู่แล้วมีความชอบธรรมในการ ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนที่ดิ้นรนเพื่อให้พ้นไปจากการกดทับนั้น
ฉะนั้น จากการสรุปความจริงของ “ความรุนแรง” ที่เบี่ยงเบนดังกล่าวจึงนำไปสู่ความหมายของ “ความตาย” ที่เบี่ยงเบนไป คือในความเป็นจริงประชาชนตายเพราะการต่อสู้ดิ้นรนให้พ้นไปจากการกดทับ หรือตายเพราะยอม “สละชีวิตเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย” แต่จากข้อสรุปของกรรมการสิทธิฯ เท่ากับประชาชนตายเพราะชุมนุมโดยใช้ความรุนแรง หรืชุมนุมโดยละเมิดสิทธิคนอื่น กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ จึงถูกรัฐสังหารโดยควรแก่เหตุ
นี่คือความไม่สามารถ เคารพต่อความหมายของ “ความตาย” ของประชาชนที่สละชีวิตเพื่อประชาธิปไตย เพราะประเทศของเราเป็นประเทศที่ไม่สามารถเคารพต่อความหมายของความตายดัง กล่าวนี้ ประชาชนจึงตายฟรีซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยทางการประเทศนี้ไม่เคยยกย่องวีรชน 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 อย่างจริงจัง
เรา จึงไม่รู้ความจริงอย่างเป็นทางการของความตายว่า ใครคือฆาตกรตัวจริง และฆาตกรนั้นถูกลงโทษจริง และความหมายอย่างเป็นทางการของความตายก็ไม่ได้ถูกนำมาศึกษาเรียนรู้ในระบบ การศึกษาของรัฐในฐานะเป็นความตายของวีรชนผู้สละชีวิตเพื่อประชาธิปไตยที่ อนุชนพึงจดจำ
จึงน่าเศร้าอย่างยิ่ง ที่ข้อสรุปของกรรมการสิทธิฯ ใน พ.ศ.นี้ สะท้อนอย่างชัดเจนว่าประเทศนี้ยังไม่สามารถเคารพ “ความหมายที่แท้จริง” ของความตายของประชาชนที่สละชีวิตเพื่อประชาธิปไตย
แล้วจะมีหลักประกันอะไรว่า ประชาชนจะไม่ตายฟรีอีก และที่ยังมีชีวิตก็ต้องจำทนอยู่ภายใต้การกดทับต่อไป!