ที่มา ประชาไท
ลักษณ์ วัจนานวัช ผู้จัดการ ธกส.ระบุแนวทางพัฒนากองทุนหมู่บ้าน และกองทุนชุมชน เป็นองค์กรชุมชน ตั้งเป้านำร่อง 70 แห่งปีนี ด้านเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ระบุ ถึงเวลากระจายอำนาจบริหารจัดการเงิน เช่นเดียวกับการกระจายอำนาจปกครอง
วันที่ 12 ก.ค. 2554 ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ นายลักษณ์ วัจนานวัช ผู้จัดการผู้จัดการธนาการเพื่อเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) นำเสนอเรื่อง “สถาบันการเงินเพื่อปลดปล่อยศักยภาพชุมชนท้องถิ่น” ต่อที่ประชุมคณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูปว่า ธกส. มีแนวคิดจะโอนงานบริการการเงินรายย่อยให้ยังสถาบันการเงินชุมชนดำเนินการ และธกส. จะปรับตัวไปสู่การบริการทางการเงินที่สลับซับซ้อนกว่านั้น โดยคิดว่าสามารถ นำร่องได้ในปีนี้เป็นปีแรก 70 แห่ง
“หากมีการกำกับ ดูแลที่ดี ก็จะนำไปสู่ความเชื่อมั่นในอนาคตได้ ขณะนี้กำลังดูเรื่องการกำกับดูแลกิจการ ธปท. ก็ไม่อยากให้ใช้คำว่าธนาคาร เราจึงเลี่ยงมาใช้องค์กรการเงินชุมชน แต่อยากยืนยันว่าหลายที่เขาทำได้ดี และทำได้มีประสิทธิภาพกว่า และน่าจะให้ชาวบ้านได้ทำควบคู่กับกับการบริหารจัดการ แล้วเราถอยห่างออกมาเป็นพี่เลี้ยง"
"แล้ว ธกส. จะไปทำอะไร ก็ไปทำอะไรที่สลับซับซ้อนมากกว่า ผมก็ให้กำลังใจพนักงานว่าเรายังมีงานที่ต้องทำอีกมากมาย นี่เป็นแนวทางที่เราจะทำและจะมุ่งมั่นทำให้เกิดเป็นมรรคผลให้ได้ เพื่อเป็นต้นแบบที่ดี เพราะในหลายประเทศที่มีการพัฒนาระบบการเกษตรที่ดี ธนาคารแบบธกส. คือการให้บริการโดยตรงไม่น่าจะอยู่ได้ ส่วนใหญ่เป็นการบริการแบบสองสเต็ปท์คือให้เพื่อช่วยในการบริหารจัดการการ เงินในท้องถิ่น”
นายลักษณ์อธิบายแนวทางของ ธกส. โดยระบุว่า การทำงานของ ธกส. กว่า 45 ปี แล้ว ซึ่งมีสถิติการเข้าถึงบริการในระดับที่ติดอันดันโลก อย่างไรก็ตาม แต่การยกระดับคุณภาพชีวิตยังเป็นปัญหาที่สำคัญ ยังต้องเชื่อมโยงเรื่องการสร้างองค์ความรู้ไปสู่เกษตรกรด้วย ดังนั้นต้องมีการบูรณาการ องค์ความรู้คู่กับการทำงานชุมชน และเครือข่ายสนับสนุนงานด้านการตลาดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสร้างเครือข่ายเกษตรกร โดยต้องใช้ชุมชนเป็นฐานในการขับเคลื่อนและจัดการข้อมูล
นายลักษณ์ ยกตัวอย่าง ตำบลหนองโสน อ.สามง่าม จ.พิจิตร ซึ่งมีการพัฒนาโดยชุมชนมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มอาชีพต่างๆ และเชื่อมโยงไปถึงเรื่องที่จะให้ลูกค้า ธกส. ได้รับการดูแล ทั้งแง่การหาปัจจัยการผลิต คุณภาพของผลิตผล แล้วรวมตัวกันเป็นโรงสี ทำการสีขาว ทั้งหมดทำในรูปแบบกิจกรรมกลุ่ม เป็นกิจกรรมเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในชุมชนทั้งสิ้น และเนื่องจากกองทุนชุมชน หนองโสน มาจากกองทุนหมู่บ้าน ธกส. จึงไปหนุนเสริม ให้บริการทั้ง ดังนั้น ธกส. ทำบริการทั้งในระดับรายบุคคล กลุ่มอาชีพ สถาบันการเงินชุมชน และสินเชื่อโครงการธนาคารชุมชน เป็นผลิตภัณฑ์ของธกส. แต่สิ่งที่พยายามทำทั้งหมดในปัจจุบันคือให้ชุมชนเป็นผู้ดำเนินการสินเชื่อ ประเภทต่างๆ ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลจากลูกค้าที่เป็นเกษตรกร เพราะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยของ ธกส. สูงกว่า “ผมก็พยายามจะบอกว่า สถาบันการเงินชุมชนเป็นของชุมชน ทำแล้วเกิดประโยชน์กับชุมชน ก็พยายามชี้ให้เห็นว่าในสถาบันการเงินชุมชนมีลูกหลานของพี่น้องเกษตรกรเอง คนในชุมชนทำงานอยู่ 4-5 คน ก็จะทำให้เกิดความปร่งใสที่ดี ผลัดกันมาเป็นคณะกรรมการอนุมัติสินเชื่อ โดยคณะกรรมการ 3 คน ที่ผลัดเปลี่ยนกันมาทุกวัน มีคนหนุ่มคนสาวทำงานอยู่ในชุมชน ถ้า ธกส. แย่งมาทำเสียก็จะไม่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น เมื่อทำแล้วก็ไม่ต้องเดินทางไปถึงในเมือง และเมื่อสิ้นปีก็จะคืนเงินปันผลด้วย และสถาบันการเงินชุมชนเหล่านี้ก็จะจัดเอาส่วนเหลือไปจัดการสวัสดิการชุมชน ซึ่งเป็นประโยชน์ที่ตกกับชุมชนทั้งสิ้น” นายลักษณกล่าวและย้ำด้วยความมั่นใจว่า หากแนวทางนี้มีความชัดเจนและสามารถอธิบายให้ประชาชนได้เข้าใจ ก็มีโอกาสเป็นไปได้สูงมาก
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ อดีตผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวเสริมว่าการจัดการกองทุนหมู่บ้านที่ผ่านมา มีทั้งกองทุนที่เข้มแข็งและอ่อนแอ ซึ่งกองทุนที่เข้มแข็งสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรการเงินชุมชนได้ โดยมีข้อเสนอ 2 ประการคือ
1 ให้ ธกส. หรือออมสินที่เป็นแม่ใหญ่ในการดูแลกองทุนหมู่บ้านประเมินศักยภาพของกองทุนที่ดูแลอยู่ ว่าสามารถพัฒนายกระดับได้หรือไม่
2 ปฏิรูป ธกส. สู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศ และลดบทบาทในฐานะ Retail Bank ที่ดูแลลูกค้ารายย่อย โดยผ่องถ่ายลูกค้ารายย่อย ไปสู่องค์กรการเงินชุมชน ถือเป็นการกระจายอำนาจการเงิน ควบคู่ไปกับการกระจายอำนาจปกครอง
“ชาวบ้านก็ไม่ต้องมาหา ธกส. เหมือนการปฏิรูปประเทศไทยที่ต้องกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น นี่ก็เหมือนกันเป็นการกระจายอำนาจการจัดการการเงิน ต้องหนุนเสริมเขา ผมเชื่อว่าทุกจังหวัดทุกอำเภอมีกลุ่มที่มีความพร้อม ผมเชื่อว่าท่านทำได้ ถ้ามีระบบการจัดการที่พวกเราเข้าไปช่วย” นายเอ็นนูกล่าว
อย่างไร ก็ตาม นายเอ็นนูระบุว่า การกระจายอำนาจการเงิน และการจัดการระบบการควบคุม ระบบการจัดการดูแลเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะรัฐบาลใหม่กำลังจะต้องดำเนินนโยบาย และจะมีงบประมาณลงไปยังกองทุนหมู่บ้านอีกจำนวนมาก
“ผมคิดว่าขณะ นี้เรามีองค์กรท้องถิ่นที่ดีอยู่เยอะพอสมควร เราไม่ต้องกลัว ถ้าเกิดทำแล้วไม่ได้ เราก็ต้องช่วยกัน ทำให้เกิดการสนับสนุนกัน เรามีความสำเร็จแบบนี้อยู่เยอะแล้ว เพียงแต่ไม่มีคนจัดการเรื่องใหญ่ ที่ผมต้องรีบพูดเพราะว่ารัฐบาลใหม่ก็จะมีลดประมาณลงไปมหาศาล ต้องมีการจัดการที่รองรับ เหมือนเรามีวัคซีนที่น่าจะลองใช้ เพราะเงินอย่างเดียว มีปัญหานะครับ ผมมาจาก ธกส. ปล่อยกู้ปีละสี่แสนล้าน ถ้าเงินอย่างเดียวแก้ปัญหาได้ ก็คงไม่มีคนจนแล้ว” นายเอ็นนูกล่าวในที่สุด