สัมภาษณ์พิเศษ โดย สุเมศ ทองพันธ์
|
"...คน ในพรรคก็ต้องการให้ท่านนายกฯทักษิณกลับมา เพราะท่านสามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้เยอะ แต่เราก็ต้องมาดูในรายละเอียดต่างๆ ด้วยว่าข้อกฎหมายต่างๆ เป็นอย่างไร..."
พลันที่โฉมหน้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ปรากฏสู่สาธารณชนอย่างเป็นทางการ
ตำแหน่ง "รมว.ต่างประเทศ" ปรากฏชื่อ "สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ส่งผลให้เกิดเสียง "ยี้" และ "คำถาม" ไปทุกหัวระแหง
"ฝ่ายตรงข้าม" อย่าง "พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)" ใช้เป็น "จุดสำคัญ" ในการโจมตีว่าเป็น "ครม.ขี้เหร่"
"ฝ่ายวิชาการ" และ "ผู้รู้-ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศ" บอกทันทีว่าเป็น "จุดอ่อน" ของรัฐบาล
ด้วย ความที่ "สุรพงษ์" ดำรงสถานะเพียง "ส.ส." ธรรมดาๆ คนหนึ่ง ไม่ชำนาญงานด้านการต่างประเทศ ไม่เคยก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าในฐานะ "แกนนำกลุ่มก๊วนการเมือง" ไหน
เรียกว่าแทบไม่อยู่ในความทรงจำของคนทั่วไปเลย
คน ส่วนใหญ่อาจจำบทบาทเขาได้เลาๆ ว่าครั้งหนึ่งเคยลุกขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจ "รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)" ของ "รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์"
และมาได้ยินชื่อกันอีกครั้งใน "โผ ครม.ยิ่งลักษณ์" ที่มีชื่อเป็นแคนดิเดตในหลายกระทรวง
สุดท้ายจบลงที่เก้าอี้ "รมว.ต่างประเทศ" ซึ่งแม้แต่ตัวเขาเองก็ยังเซอร์ไพรส์!
หลัง มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ครม. "ยิ่งลักษณ์ 1" ไม่กี่ชั่วโมง... "สุรพงษ์" ที่ยังตื่นเต้นกับ "เสียงผู้ประกาศ" ทาง "สถานีโทรทัศน์" ที่อ่านประกาศซ้ำไปซ้ำมาว่า "เขา" ได้ขึ้นเป็น "รัฐมนตรี" ครั้งแรกในชีวิต ได้เปิดใจให้สัมภาษณ์ "มติชน" ถึงที่มา-ที่ไป- เบื้องลึก-เบื้องหลังการได้ขึ้นเป็น "บัวแก้ว 1" ในจังหวะที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ต้องการกลับประเทศไทยเป็นที่สุด?
ที่มาที่ไปของการได้รับสนับสนุนให้เป็น รมว.ต่างประเทศ
ผม รู้สึกตื่นเต้น แล้วก็ยินดีที่ได้รับตำแหน่งนี้ ผมเชื่อว่าคณะกรรมการบริหารพรรคคงดูประวัติ ดูอะไรของผมแล้ว ก็คงเชื่อว่าผมจะทำงานในตำแหน่งนี้ได้ ตอนแรกไม่ได้คิดอะไรหรอก ผมรู้ตัวตอนเย็น หลังประชุมพรรควันที่ 10 สิงหาคมเสร็จ เพื่อนบอกก็ยังไม่เชื่อ กลับไปบ้านถึงได้ยินว่าเป็นจริงจากสถานีโทรทัศน์ ตามที่เพื่อนๆ บอก พอเช้ามาก็ฟังจากวิทยุอีกครั้งหนึ่ง แต่ผมไม่มีประสบการณ์ด้านต่างประเทศ ก็ต้องน้อมรับคำวิจารณ์ จะถือว่าเป็นคำชี้แนะ เป็นเหมือนคำสอนของครูบาอาจารย์ที่ห่วงใยเรา เพราะตระหนักอยู่แล้วว่าตำแหน่งนี้เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ ต้องเข้ามารับงานหนักจริงๆ ก็จะตั้งใจ และใช้ความสามารถที่มีอยู่ทำให้ดีที่สุด
เหตุที่ผู้ใหญ่ของ พท.ตัดสินใจมอบตำแหน่งนี้ให้ คิดว่ามองจากอะไร
ผม คิดว่าความไว้วางใจ (ตอบสวนทันที) เพราะการทำงานของ รมว.ต่างประเทศ ต้องประสานงานกับนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นการประชุมระดับโลก เวทีไหน ก็ต้องใช้คนที่ไว้วางใจได้ รมว.ต่างประเทศเหมือนเป็นประตูหน้า ที่ต้องเดินไปพบกับโลกก่อน และเชื่อว่าการค้าขายระหว่างประเทศ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ เพราะประวัติการทำงานของผม ก็เคยค้าขายมาก่อน เคยทำงานด้านการตลาดของบริษัทคอมพิวเตอร์รายใหญ่ ก็น่าจะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนเรื่องธุรกิจการค้า และเรื่องเทคโนโลยีด้วย
ที่บอกว่าผู้ใหญ่ในพรรคไว้ใจเนี่ย หมายถึง พ.ต.ท.ทักษิณต้องไว้ใจใช่หรือไม่
ต้อง เรียนตรงๆ ว่า ผมยังไม่ได้คุยกับอดีตนายกฯทักษิณเลย ทั้งหมดทั้งมวล คือหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ผมได้เจอกับท่านนายกฯยิ่งลักษณ์เป็นคนแรกที่รัฐสภา ท่านก็บอกว่ายินดีด้วย ตอนนั้นแหละผมก็เพิ่งรู้ว่าผมได้เป็น มันเป็นตำแหน่งที่ผมได้มาแบบตกใจเหมือนกันนะ
มีการวิจารณ์อย่างหนักถึงขั้น รมว.ต่างประเทศคือจุดอ่อนของรัฐบาล
ก็...ก็... ก็...ก็... แล้วแต่มุมมองของนักวิชาการต่างๆ แต่อย่างที่ผมบอก คำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นจะเป็นเหมือนตำรา หรือหนังสือ หรือครูที่สอนผม ผมต้องแก้ไขปัญหาจุดอ่อนเหล่านั้น เพราะไม่มีใครรู้เรื่องไปเสียหมด การทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีจะมีผู้ช่วย หรือผู้สนับสนุนที่ดีที่สุดคือข้าราชการในกระทรวง ผมเชื่อว่าข้าราชการจะเป็นผู้ชี้นำ และนำทางเราได้
ข้างหน้ามีปัญหาที่จะต้องให้ รมว.ต่างประเทศมาจัดการแก้ไข รวมไปถึงปัญหาส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณด้วย
เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา เราต้องรื้อฟื้นให้กลับคืนมาอยู่แล้ว แต่ต้องยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ แต่เรื่องอื่นๆ อีกหลายๆ เรื่อง เราก็ต้องทำให้ถูกต้องตามกระบวนการของกฎหมาย ผมยึดความถูกต้อง ไม่มีการเข้าไปเอาพวก ไปล้างแค้น หรืออะไร ไม่เอา เพราะเชื่อว่าข้าราชการทุกคนพร้อมที่จะทำงาน แต่ขอให้ทำงานอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้นเอง แต่ถ้าเกียร์ว่าง ก็ถือว่าทำงานด้วยกันไม่ได้ ใช่ไหม
พ.ต.ท.ทักษิณมีความฝันว่าจะกลับประเทศไทยให้ได้ ซึ่งนั่นอาจต้องอาศัย รมว.ต่างประเทศที่ไว้ใจได้
ก็ ดู... ต้องดูในส่วนประกอบอื่นๆ ด้วย (พูดตะกุกตะกัก) แม้กระทั่งในพรรคเอง คนในพรรคก็ต้องการให้ท่านอดีตนายกฯทักษิณกลับมา เพราะท่านสามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้เยอะ แต่เราก็ต้องมาดูในรายละเอียดต่างๆ ด้วยว่าข้อกฎหมายต่างๆ เป็นอย่างไร วันนี้พอมารับตำแหน่งใหม่ ก็ไม่อยากจะไปพูดถึง ขอให้ผมได้ไปพูดคุย ไปประชุม ไปดูในรายละเอียดและศึกษาอย่างถ่องแท้ก่อน ค่อยพูดกันนะ
พท.มักบอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้รับความเป็นธรรมในช่วงที่ผ่านมา
ในสังคมก็คงเห็นสิ่งเหล่านี้ (ตอบสวนทันที) แต่ก็คงต้องใช้เวลาอีกนิด ที่จะต้องดูในข้อมูลต่างๆ ด้วย
นโยบายของรัฐบาล "อภิสิทธิ์" ที่ไปบล็อกประเทศต่างๆ ไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางไปได้ จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร
เดี๋ยว ต้องไปดูในรายละเอียดที่เขาไปดำเนินการว่าดำเนินการกันอย่างไร ถูกต้องไหม เป็นไปตามข้อกฎหมายอะไรหรือไม่ หรือไปทำกันเอง ต้องขอดูในรายละเอียดอีกที แต่ถ้าเขาทำไปตามนโยบายของรัฐบาลที่แล้ว สมมุติว่าเป็นนโยบาย ในเมื่อเรามาเป็นรัฐบาล และไม่มีนโยบายอย่างนั้นเราก็ต้องไปชี้แจงกับนานาประเทศให้รู้และเข้าใจ เหมือนกัน แต่ก็ต้องขอดูในรายละเอียดอีกครั้ง เพราะตอนที่เขาทำ เราไม่ได้ไปดูในรายละเอียดเลย
ถามจริงๆ ว่า พ.ต.ท.ทักษิณส่งมาเป็น รมว.ต่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือให้ได้กลับประเทศไทยหรือเปล่า
ก็ คิดกันไปเอง ผมไม่ได้คิดในมุมนั้น วันนี้เขามอบหมายให้มาทำหน้าที่ ก็ทำทุกอย่างด้วยความถูกต้อง ยึดความถูกต้องเป็นหลัก คือถ้าอดีตนายกฯทักษิณจะได้กลับประเทศไทย ก็ต้องเป็นเพราะความถูกต้อง ไม่ใช่ว่าไปทำในสิ่งที่เขาพยายามจะกล่าวหาก่อน ไม่อยากจะทำอย่างนั้น เราต้องยึดความถูกต้อง เพราะเราเป็นผู้บริหาร
กล้ายืนยันหรือไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ใช่เป็นผู้ส่งมารับตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ
ผม ไม่รู้จริงๆ ว่าเขาคัดเลือกกันอย่างไร แต่ผมตื่นเต้นมาก เซอร์ไพรส์ แปลกใจ ผมแปลกใจว่าทำไมผมถึงได้มาอยู่ในตำแหน่งนี้ เพราะผมไม่ได้คาดคิดเลย (ยิ้มกว้าง)
ตอนแรกคิดว่าจะไปอยู่ตำแหน่งไหน
ตอนแรกยังคิดว่าจะไปอยู่กระทรวงไอซีที แต่พอขยับไปขยับมาไปโผล่เป็น รมช.คลัง
จนวันนี้รู้คำตอบหรือยังว่าทำไมได้มาเป็น รมว.ต่างประเทศ
ยังๆ... ยังไม่ได้คุยกับใครเลย (ยิ้มแก้มปริ)
อยากได้คำตอบหรือไม่ว่าทำไมถึงมาจบตรงนี้
ยังไม่อยากถาม (ยิ้ม) ไว้ว่างๆ ค่อยถามว่าทำไม (ทำท่ากระซิบ)
วางแผนดูแลคนไทยในดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ชื่อ พ.ต.ท. ทักษิณอย่างไร
ก็ ทุกคนที่เป็นคนไทย เราก็ต้องดูแลนะ เราถือว่าเป็นคนไทย เพราะคนไทย โดยจิตใจแล้วเป็นคนที่มีความโอบอ้อมอารี และเป็นคนที่ไม่ได้ผูกพยาบาท โดยธรรมชาติของคนไทย ก็เชื่อว่าคนไทยทุกคนพร้อมที่จะให้โอกาสอยู่แล้ว ไม่ได้ผูกใจเจ็บในเรื่องต่างๆ ดูในอดีต สมัย 14 ตุลาคม 2516 ก็มีผู้ใหญ่ทางทหาร ที่เคยกระทำการกับเด็กนักศึกษา ในที่สุดก็กลับมาสู่สังคมไทยได้ มีการให้อภัยกัน แล้วคนไทยก็เป็นอย่างนี้มาตลอด
จากสถานการณ์การเมือง ดูเหมือนกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหม จะเป็นกระทรวงที่ฝ่ายตรงข้ามใช้ในการโจมตี พท. และฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณบ่อยครั้ง
ก็ถูกต้อง กระทรวงการต่างประเทศก็เคยเกิดปัญหาสมัยท่านนพดล ปัทมะ มันก็ต่อเนื่องกันมาละนะ รุนแรงกันมา แต่ก็หวังว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราจะหันหน้าเข้าหากัน ผมคงต้องเข้าไปพิสูจน์ตัวเอง แต่ผมก็ลูกพ่อค้าในตลาด เกิดในตลาด แม่ก็เป็นช่างเย็บผ้า ไม่ได้เรียนเกี่ยวกับการต่างประเทศมา บังเอิญไปเรียนหนังสือที่เมืองนอกด้านคำนวณเท่านั้น ไม่ได้จบมาด้านการต่างประเทศโดยตรง...ผิดวิชา (เน้นเสียง) แต่ก็ขอให้ได้ไปพูดคุย ปรึกษาหารือกับข้าราชการ หลายๆ ฝ่ายอาจจะยังไม่รู้จักมักคุ้นกับผม อาจจะเป็นภาพผมในสภา เวลาอภิปรายก็อาจจะเข้าใจผิด หากไม่ได้สัมผัสกับตัวตนผมจริงๆ เวลาอยู่ในสภา ผมอาจจะต้องแอ๊กชั่นหน่อย ในการอภิปราย เดี๋ยวได้เข้าไปพูดคุย ปรึกษาหารือกัน รับฟังความคิดเห็นกัน ผมคิดว่ามันไม่น่าจะใช่เรื่องยาก
จะต้องลดแอ๊กชั่นอย่างนั้นลงหรือไม่
แน่ นอนๆ ผมจะไปทำแบบที่เคยอยู่ในสภาคงไม่ได้ เพราะเราเป็นผู้บริหารแล้ว แล้วยิ่งเป็นหน้าตาของประเทศด้วยนะ (อมยิ้มแก้มปริ) ผมจะใช้ความเป็นตัวของตัวผม ไปทำให้คนในกระทรวงการต่างประเทศรักผม ผมเป็นคนพูดตรงๆ จบเป็นจบ ไม่ใช่พวกที่จะไปฝังจิตฝังใจว่าคนนั้นต้องเป็นอย่างนี้ คนนี้ต้องเป็นอย่างนั้น ที่สำคัญคือผมเป็นคนฟังเหตุผล ตอนผมอยู่ฝ่ายมาร์เก็ตติ้งของบริษัทเอกชน ฝ่ายมาร์เก็ตติ้งนี่ต้องระดับเพรสิเดนต์นะ ถึงได้อยู่ฝ่ายนี้ และจะถูกเทรนให้ฟังเหตุผล เราถกเถียงกันเวลาประชุม ออกนอกห้องทุกอย่างต้องจบ เราถกเถียงกับโดยไม่มีความรู้สึกส่วนตัว แล้วที่ผมเรียนหนังสือมาตอนทำงานวิจัยอะไร ผมก็ตรงไปตรงมา ไม่ได้ไปขอให้ใครช่วยให้เรียนจบมานะ
งานกระทรวงการต่างประเทศ เป็นงานหนัก ก็หนักใจเหมือนกัน แต่เมื่อพรรคไว้วางใจมาแล้ว ผมก็ต้องทำเต็มที่ แต่จะสำเร็จหรือไม่ก็อยู่ที่ข้าราชการ จะช่วยเทรนให้ผมด้วย ผมอยากทำให้กระทรวงนี้มีชีวิตจิตใจ เป็นที่เชิดหน้าชูตา เพื่อนๆ ในสภาก็คงจะไม่คิดจะอภิปรายไม่ไว้วางใจผมหรอกนะ
(มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม 2554 หน้า 11)