ที่มา ประชาไท
นิตยสารดิ อีโคโนมิสต์ ตีพิมพ์บทความวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทย หลังยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ชี้ ถึงแม้ยิ่งลักษณ์ หรือ “นารีขี่ม้าขาว” จะเข้ามาบริหารประเทศด้วยอาณัติจากประชาชนที่สดใหม่ แต่ยังคงหนีไม่พ้นปัญหาและอำนาจเก่าที่ดำรงอยู่ในการเมืองไทย
เมื่อ วันที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมา นิตยสารดิ อีโคโนมิสต์ (The Economist) ตีพิมพ์บทความวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทย โดยวิเคราะห์ถึงการขึ้นมาของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งบางคนเปรียบเหมือนกับเป็น “นารีขี่ม้าขาว” ว่า เธอน่าจะประสบศึกหนักจากทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นจากการที่เธอขึ้นมาในช่วงเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ภาวะความวุ่นวายทางการเมืองที่ดำรงมาห้าปี รวมทั้งฝ่ายชนชั้นนำ กองทัพที่มุ่งจะเล่นงานพรรคเพื่อไทย และคนภายในพรรคเพื่อไทยที่มีวาระของตนเอง รวมถึงคนเสื้อแดงที่พยายามเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเหยือ
อีกทั้ง ยังมีพี่ชายของเธอ คือ อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ผู้ซึ่งหวังว่า การที่ได้ยิ่งลักษณ์มาคุมเกม จะช่วยทำให้เขาสามารถกลับประเทศได้ง่ายขึ้น และถึงแม้ว่าความพยายามครั้งล่าสุดของเขาที่จะกลับประเทศในปี 2551 ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า แต่ในครั้งนี้ เขาอาจจะอดทนรอนานขึ้น และหวังว่าจะได้กลับมาสู่สิ่งที่เขาได้ลงทุนไว้ ทั้งนี้ การเลือกคณะรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ในวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของทักษิณต่อการแต่งตั้งครม. เช่นกัน
นอก จากนี้ นิตยสารดังกล่าวชี้ด้วยว่า จากปูมหลังของรัฐมนตรีที่ดูแลทางด้านเศรษฐกิจ ก็น่าจะทำให้เหล่านักลงทุนใจชื้นได้บ้าง เนื่องจากมีคนเช่น อดีตประธานตลาดหลักทรัพย์ และผู้กำกับหน่วยงานทางด้านนโยบายอยู่ และที่น่าสนใจก็คือไม่มีแกนนำคนเสื้อแดงที่ได้เข้าเป็นเป็นส่วนหนึ่งในคณะ รัฐมนตรีเลย นอกจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ คือสุรพงศ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ผู้ซึ่งเคยเป็นประธานกรรมาธิการต่างประเทศ และมีความเกี่ยวข้องกับครอบครัวชินวัตร นับเป็นตัวเลือกน่าแปลกใจ และปัญหาแรกที่เขาควรจะต้องแก้ไข คือความตึงเครียดระหว่างไทยและกัมพูชา ที่ซึ่งความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างผู้นำสองประเทศ คือฮุน เซน และทักษิณน่าจะเป็นประโยชน์
ยิ่งลักษณ์ยืนยันว่า เธอจะปกครองประเทศด้วยความประนีประนอม ทำให้เรายังไม่เห็นการออกมาโจมตีศัตรูทางการเมืองอย่างตรงๆ จากเธอ เธอกล่าวในระหว่างการเข้าเฝ้ารับพระบรมราชโองการว่า เธอจะ “คืนความสุขให้กับพี่น้องประชาชน” และใช้คุณสมบัติของความเป็นผู้หญิงที่ “เข้มแข็งและนุ่มนวล” แก้ไขปัญหาของชาติ
ดิ อีโคโนมิสต์ กล่าวถึงการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของยิ่งลักษณ์ว่า น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้พยายามอย่างมาก นโยบายที่เพื่อไทยหาเสียงว่าจะขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาทและขึ้นเงินเดือนข้าราชการนั้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจบ่นขรมว่าการขึ้นค่าแรงกว่าร้อยละ 50 เช่นนั้น ไม่สามารถทำได้จริงและอาจนำไปสู่การปลดคนงาน และถึงแม้ว่าจะมีนโยบายลดภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 30 เป็น ร้อยละ 23 เพื่อมาทดแทนภาระค่าใช้จ่าย แต่การลดภาษีดังกล่าว ก็น่าจะส่งผลดีต่อเฉพาะบรรษัทขนาดใหญ่ที่จ่ายเงินค่าแรงสูงกว่าอยู่แล้ว ต่างกับบริษัทขนาดเล็กที่เป็นกิจการครอบครัวซึ่งมีกำไรที่น้อยกว่า
นอก จากนี้ยังมองว่า การขึ้นค่าแรง ประกอบกับนโยบายประกันราคาข้าว และโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ โดยธนาคารแห่งชาติได้ออกมาเตือนแล้วว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3.23% นั้นต่ำเกินไป และนักลงทุนต่างชาติก็คาดว่าน่าจะสูงขึ้นกว่านี้ และภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐอเมริกา ก็น่าจะทำให้อัตราที่คำนวนเหล่านี้ไว้แล้วไม่คงที่มากนัก อย่างไรก็ตาม ดิ อิโคโนมิสตมองว่า ด้วยหนี้สาธารณะที่อยู่ร้อยละ 42 และเงินสำรองคงคลังกว่า 200 พันล้านดอลลาร์ ประเทศไทยก็น่าจะสามารถมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาได้ หากแต่เงินเศรษฐกิจที่นำมาใช้นั้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือช่วยให้การกระจายรายได้ดีขึ้นหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่อง
แต่ สิ่งที่ยิ่งลักษณ์น่าจะต้องระมัดระวัง ไม่ใช่แค่เรื่องฝ่ายค้านอย่างเดียว หากแต่การเมืองในค่ายเดียวกันเธอก็จำเป็นต้องรักษาสมดุลให้ได้ระหว่างนักการ เมืองที่มุ่งหวังจะหาผลประโยชน์จากตำแหน่ง และระหว่างส่วนที่สนับสนุนเสื้อแดง ซึ่งพยายามแสวงหาผู้กระทำผิดจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมปีที่แล้ว บ้างก็อยากให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะขึ้นศาล หากแต่กองทัพกลับไม่สนใจการเรียกร้องการค้นหาความจริงต่อเหตุการณ์ที่ทำให้ มีผู้ชุมนุมมือเปล่าและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เสียชีวิต ส่วนอัยการเองก็เลือกที่จะไม่สนใจเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ทหาร และมาไล่จับเสื้อแดงมือเผาแทน อย่างไรก็ตาม จุดสนใจของพวกเขาก็อาจจะเปลี่ยนไป เนื่องจากหัวเรือทางการเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยิ่งลักษณ์ก็ค่อนข้างระมัดระวังกับท่าทีที่แสดงออก เพื่อไม่ให้ไปขัดหูขัดตากองทัพ ก่อนหน้านี้ยิ่งลักษณ์ได้กล่าวว่าเธอจะสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการอิสระ ค้นหาความจริงที่ตั้งขึ้นโดยอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในปีที่แล้ว โดยดิ อิโคโนมิสต์มองว่า คณะกรรมการดังกล่าว ต้องทำหน้าที่ค้นหาความจริงที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ต่อเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งร้ายแรงที่สุดของประเทศไทยนับศตวรรษ และชี้ว่า การทำงานน่าจะทำได้ยากมาก นอกจากเสียว่าคณะกรรมการดังกล่าวจะมีอำนาจเรียกสอบสวนเหนือเจ้าหน้าที่ทหาร และแกนนำเสื้อแดง ซึ่งกลายเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วบางส่วน
ท่า ที่ระมัดระวังของยิ่งลักษณ์อาจจะทำให้ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยบางส่วน ผิดหวัง บ้างก็คาดหวังให้เธอจัดการกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยการโยกย้ายตำแหน่ง และตั้งข้อสังเกตว่า โผโยกย้ายทหารในเดือนตุลาคมที่จะมาถึง น่าจะเป็นการตบรางวัลให้กับทหารที่สนับสนุนทักษิณ ซึ่งถูกจำกัดบทบาทมากตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา
นอกจากนี้
ดิ อีโคโนมิสต์ระบุว่า ท่าทีที่ก้าวร้าวของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังสะท้อนถึงมุมมองของผู้อุปถัมป์ของเขา เนื่องจากการเลือกข้างที่ชัดเจนในปี 2008 ทำให้เป็น “หายนะทางด้านการประชาสัมพันธ์” (ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในโทรเลขของสถานทูตสหรัฐอเมริกาจากวิกิลีกส์) นอกจากนี้ ยังเปรียบเทียบว่าสถานการณ์ของชนชั้นนำของไทยขณะนี้ คล้ายกับยุคสมัยของซูสีไทเฮา ผู้ปกครองในราชวงศ์ชิงของจีน เนื่องจากกลุ่มอภิสิทธิ์ชนดูเหมือนจะมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ เกิดขึ้นนอกกำแพงพระราชวัง
คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ รู้ดีถึงบทบาทของราชสำนักที่เข้ามายุ่งเกี่ยวในทางการเมือง ไม่น่าประหลาดใจที่พวกเขาจะสามารถสรุปได้ว่ากลุ่มชนชั้นนำดังกล่าวขัดขวาง สิทธิและเสียงของพวกเขา และรัฐบาลภายใต้การนำของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ถูกมองว่าเป็นตัวเดินหมากให้กับกลุ่มชนชั้นนำดังกล่าว ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าไม่ใส่ใจในเสียงของประชาชน
ดิ อีโคโนมิสต์ตั้งข้อสังเกตว่า ถึงแม้พรรคประชาธิปัตย์จะได้เปรียบมากเพียงใด แต่ก็ล้มเหลวในการได้รับเสียงสนับสนุนในชนบท และพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งอย่างชัดเจน หากแต่พรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังคงเลือกอภิสิทธิ์กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคเช่นเดิมในวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา
และสำหรับพรรคการเมืองที่แพ้การเลือกตั้งให้กับ พรรคที่สนับสนุนทักษิณสี่ ครั้งรวด ในประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ นักการเมืองอาจจะต้องสรุปร่วมกันได้ว่า ถึงเวลาสำหรับผู้นำเลือดใหม่ๆ ที่จะขึ้นมา หากแต่สำหรับประชาธิปัตย์แล้ว ก็ยังถึงเวลาสำหรับแนวทางที่เป็นเลือดสีน้ำเงินน้อยลง และเข้าหาชาวนาและแรงงานของประเทศให้มากขึ้น
ในตอนท้าย นิตยสารดิ อีโคโนมิสต์สรุปโดยเปรียบเทียบว่า ในเกมหมากรุก ตัวคิงและควีน เป็นหมากที่มีความสำคัญที่สุดบนกระดาน หากแต่ตัวอัศวินต่างหากที่จะเป็นผู้ดำเนินเกม และประเทศไทยก็กำลังจับตาดูว่า อัศวินหญิงจะสามารถทำอะไรได้บ้าง