ที่มา ประชาไท
หลังจากหน่วยกล้าตายทางวิชาการผู้เรียกขานตนเองว่า "กลุ่มนิติราษฎร์" ซึ่งประกอบไปด้วยอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวนไม่กี่คน (ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ยอมรับมาเสมอว่า พวกตนนั้นเป็นเพียงเสียงข้างน้อย ไม่เคยกล่าวว่า การกระทำของกลุ่มตนนั้น ได้กระทำไปในนาม คณะนิติศาสตร์ มธ. แม้แต่ครั้งเดียว) ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในแวดวงวิชาการกฎหมายของไทย ที่ยังส่งผลสะเทือนอย่างรุนแรงต่อสังคมในวงกว้าง ได้รับการตอบรับจากสังคมหลายภาคส่วนเป็นอย่างมากในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งจากฝากประชาชนผู้นิยมการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ประสงค์จะมีสิทธิมีเสียงในประเทศ และจากชนชั้นนำผู้นิยมอำนาจเก่าที่กดขี่ในอีกฝ่าย
จากชื่อที่เคยเป็นเพียงที่รู้จักกันในหมู่ "คนเสื้อแดง"
บัดนี้ "กลุ่มนิติราษฎร์" กลับกลายเป็นที่น่าหวาดหวั่นครั่นคร้ามของเหล่าอำมาตย์ และสาวก ผู้นิยม "อำมาตยาธิปไตย" ขึ้นมาอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้ ปรากฏจากการออกมาตอบโต้ของทั้ง ทหาร, นักการเมืองขี้แพ้, สมุนรับใช้เผด็จการทหาร และนักวิชาการที่ไร้หลักวิชาการ ตามหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน ให้ประชาชนได้เห็นธาตุแท้ที่ฝังลึกอยู่ในภาพพจน์ของคนดี ที่เคยสร้างสมมานานจนหมดสิ้น
ในบรรดากลุ่มที่ออกมาต่อต้านข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์เหล่านี้ แทบทั้งหมด ไม่สามารถโต้แย้งด้วยเหตุผลตามหลักวิชาการทางกฎหมายที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอ มาได้เลย มีบ้างที่ตอบโต้ไปในประเด็นข้อกฎหมาย แต่ถึงกระนั้น ก็ยังน่าผิดหวัง ส่วนมากไม่ได้ให้เหตุผลใดๆ ในทางหลักการมาสนับสนุน เป็นเพียงแค่การใช้ถ้อยคำสำนวนบรรยาย "ความเลว" ของนักการเมือง (ที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้มาดำรงตำแหน่ง) และกล่าวสรรเสริญ "ความดี" (?) ของเผด็จการรัฐประหาร (ที่ไม่มีเสียงประชาชนสนับสนุน และไม่มีอารยประเทศใดยอมรับว่า เป็น "ทางเลือก" ในระบอบประชาธิปไตย)
โดยพร้อมกันนี้ พวกเขาก็ได้พยายามป้ายสีกลุ่มนิติราษฎร์ด้วยข้อกล่าวหาสุดคลาสสิค คือ รับงานแม้ว, ต้องการช่วยคนคนเดียว และ/หรือ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนคนเดียว โดยกลุ่มผู้ต่อต้านเหล่านี้ กลับไม่ละอายแก่ใจพอที่จะตั้งคำถามกับตนเองเลยว่า การนำรัฐธรรมนูญที่ถูกโค่นล้มอย่างไม่ชอบธรรมกลับมาใช้นั้น เรียกว่า "ช่วยคนคนเดียว" ได้อย่างไร? และ/หรือ การยอมรับผู้นำที่ประชาชนส่วนใหญ่ไว้วางใจเลือกเข้ามาให้ได้ดำรงตำแหน่ง หรือ การยอมรับผลการเลือกตั้ง นั้น "เรียกว่า "เพื่อผลประโยชน์ของคนคนเดียว" ตรงไหน? นักวิชาการที่ไร้หลักวิชาการเหล่านี้ กลับปล่อยให้ภยาคติแห่ง "ปีศาจทักษิณ" (ที่ตนเองและพวกพ้องได้เคยช่วยกันวาดภาพไว้หลอกหลอนมอมเมาตนเองนั่นแหละ) ครอบงำหลักวิชาการที่ได้ศึกษาร่ำเรียนมา (ซึ่งส่วนหนึ่งของทุนการศึกษาของนักวิชาการไร้หลักเหล่านี้ ก็มาจากเงินภาษีของ "ประชาชน" เจ้าของอำนาจอธิปไตย ที่พวกเขาไปสร้างความชอบธรรมให้กับการแย่งชิงอำนาจมาโดยเผด็จการทหารนั่น แหละ) เสียจนคุณค่าและราคาความเป็น "นักวิชาการ" ของพวกเขาเหล่านั้นหายไปจนสิ้นซาก
ในกระแสกลุ่มผู้ต่อต้านนิติราษฎร์ทั้งหลายเหล่านี้ ที่น่าผิดหวังที่สุดเห็นจะเป็น "แถลงการณ์ของคณาจารย์นิติศาสตร์" (ลงชื่อโดยอาจารย์ สาขาวิชากฎหมาย จำนวน 23 คน) เพราะ "กลวง" ตั้งแต่ต้นจนจบ หาได้มีหลักวิชาการใดๆ ทางกฎหมายที่อารยประเทศใดยอมรับ มาอ้างอิงสนับสนุนข้อเสนอของพวกตนแต่อย่างใด จนเป็นที่น่าสงสัยว่า ประชาชนจะเสียภาษีไปเป็นทุนการศึกษาให้พวกเขาเหล่านี้กันทำไม? หลายๆ ประเทศที่พวกเขาเหล่านั้นได้ไปใช้ชีวิตศึกษามาเป็นประเทศที่ "สิทธิและเสรีภาพของประชาชน" ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญเหนือสิ่งอื่นใด แต่ภายหลังจากพวกเขาเหล่านี้ ได้สำเร็จการศึกษากลับมาประเทศไทยแล้ว กลับหาได้มี "กระบวนทัศน์" ที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในประเทศไทย ให้ได้ดุจเดียวกับนานาอารยประเทศเหล่านั้นเลย
สังเกตได้จากแนวความคิดที่ปรากฏในแถลงการณ์ฉบับนี้ ที่ชูธง "ปฏิเสธเสียงเลือกตั้งของประชาชน ยอมรับผลแห่งการรัฐประหาร" ไม่ต่างจากความคิดโบร่ำโบราณคร่ำครึของ ผู้นิยม "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ก่อน "การปฏิวัติการปกครอง 24 มิถุนายน 2475" อย่างไม่มีผิดเพี้ยน ดังนั้น จึงเป็นที่น่าสนใจอย่างมากว่า ในต่างประเทศที่อาจารย์นิติศาสตร์เหล่านี้ได้ไปศึกษามา มีประเทศไหนเขาได้สั่งสอนให้มีความคิดเช่นนั้น
1. ความ "กลวง" มาแต่เริ่ม
ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาหรือสิ่งที่คณาจารย์เหล่านี้กล่าวอ้างว่าเป็น "หลักกฎหมาย" ใดๆ ความ "กลวง" ก็ได้ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนจากการนำ "รัฐประหาร 19 กันยายน 2549" ไปเปรียบเทียบกับ "การปฏิวัติการปกครอง 24 มิถุนายน 2475"
ไม่รู้ว่าคณาจารย์เหล่านี้แยกแยะความแตกต่างระหว่าง "ปฏิวัติ" กับ "รัฐประหาร" ได้หรือไม่? หรือว่าในต่างประเทศที่พวกเขาได้ไปศึกษามานั้น ไม่เคยสั่งสอนเรื่องแบบนี้ไว้ในหลักสูตร จึงทำให้คณาจารย์เหล่านี้ แสดงออกมาซึ่ง "ความไร้เดียงสา" เช่นนี้?
สำหรับนักกฎหมายส่วนใหญ่ คงไม่มีความจำเป็นต้องอธิบายให้มากความนักถึงความแตกต่างระหว่าง "ปฏิวัติ" กับ "รัฐประหาร" กันอย่างละเอียดนัก เป็นที่รับรู้และเข้าใจกันดีว่า ในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองด้วยการปฏิวัตินั้น การทำรัฐประหารโค่นอำนาจรัฏฐาธิปัตย์เดิม ก็มีความจำเป็น เช่น ปฏิวัติฝรั่งเศสใน ปี ค.ศ. 1789 แต่เพราะอะไรที่คนฝรั่งเศสถึงไม่มองว่า "รัฐประหาร" (เพื่อปฏิวัติการปกครอง) ครั้งดังกล่าว เป็นเรื่องเลวร้าย?
คำตอบนั้นทั้งง่ายและไม่ซับซ้อน กล่าวคือ จากที่ประชาชนต้องถูกกดขี่ เป็นเพียงผู้อยู่ภายใต้อำนาจปกครอง ไม่เคยมีสิทธิมีเสียงใดๆ ในประเทศ แต่การทำรัฐประหารนั้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียง มีความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย ไม่ต้องเป็นเพียง "วัตถุ" แห่งอำนาจปกครองที่ไม่เป็นธรรมอีกต่อไป
สิ่งที่ทำให้น่าสมเพชและผิดหวังมากขึ้นไปอีกก็คือ มีบางคนในกลุ่มคณาจารย์นี้ ยังเคย"พ่น"คำขวัญอย่าง "Liberté, égalité, fraternité" มาให้นักศึกษาในคลาสที่ตนเคยบรรยายได้ฟังเสียด้วยซ้ำ หากคณาจารย์เหล่านี้ จะมีความเข้าใจซักเพียงเล็กน้อยถึง "จิตวิญญาณ" ของคำขวัญในการปฏิวัติฝรั่งเศสดังกล่าวอยู่บ้าง ย่อมไม่มีทางนำ "รัฐประหาร 19 กันยายน 2549" ไปเปรียบเทียบกับ "การปฏิวัติการปกครอง 24 มิถุนายน 2475" อย่างแน่นอน
น่าเสียดายที่ความ "กลวง" ยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ ในเนื้อหาท่อนต่อไปของแถลงการณ์ คณาจารย์เหล่านี้ก็ยังแสดงการให้เหตุผลวิบัติ ที่เรียกว่า "post hoc ergo propter hoc" ออกมาเพื่อ discredit ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ ให้เป็นที่ขำขันของบรรดาผู้นิยมการคิดอะไรอย่างมีตรรกะอีกครั้งหนึ่ง "post hoc ergo propter hoc" คือ การกล่าวอ้างว่า สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นมาภายหลัง เป็นผลมาจากอีกสิ่งหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นมาก่อน เพียงเพราะว่า มันเกิดขึ้นทีหลัง โดยไม่สามารถให้เหตุผลอธิบายความเชื่อมโยง และความสัมพันธ์กันระหว่าง “เหตุ” และ “ผล” ของสองสิ่งที่ตนกล่าวอ้างได้ โดยในครั้งนี้ คณาจารย์เหล่านี้ ได้กล่าวเหมาเอาเสียว่า “การเลือกตั้ง” จำนวนสองครั้ง หลัง “รัฐประหาร 19 กันยายน 2549” (ครั้งเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2550 และล่าสุด 3 กรกฎาคม 2554) เป็น “ผลพวง” ของการทำรัฐประหารครั้งนั้นไปด้วย
ไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่า หลายๆ คนนี้มีตำแหน่งทางวิชาการเป็นถึงระดับ “ศาสตราจารย์” หลายๆ คนสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกทางกฎหมาย (นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต) จากต่างประเทศ แต่กลับยังมีความสามารถในการให้เหตุผลที่ “กลวง” ไม่ต่างอะไรไปจากเด็กทารก เช่นนี้
นี่คือ "post hoc ergo propter hoc" เลย! ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้เลยจริงๆ เพียงเพราะการเลือกตั้งสองครั้งนี้ “เกิดขึ้นภายหลัง” จากรัฐประหาร คณาจารย์เหล่านี้ก็พร้อมที่จะเหมาเอาว่า การเลือกตั้งทั้งสองครั้งนี้ เป็น “ผลพวง” จากการทำรัฐประหารดังกล่าวไปได้ โดยไม่ต้องอธิบายอะไรที่มีเหตุผลมาประกอบมากไปกว่านั้น คนทั่วไป หากยังมีสติสัมปชัญญะปกติอยู่ ย่อมทราบดีว่า ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ถึงอย่างไร การเลือกตั้งก็ยังคง เป็น “สิ่งจำเป็น” ที่ไม่อาจปฏิเสธได้อย่างเด็ดขาด ไม่ช้าก็เร็ว ต้องการเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และการเลือกตั้งครั้งหลังที่ตามมานั้น ย่อมไม่อาจถูกเหมาเอาว่าเป็น “ผลพวง” มาจากการล้มการเลือกตั้งครั้งก่อนได้
ตัวอย่างเปรียบเทียบง่ายๆ ก็เหมือน เด็กชาย ก. มีอมยิ้มอยู่อันนึง เด็กชาย ข. โตกว่า กำลังมากกว่า แย่งอมยิ้มไปจากเด็กชาย ก. เสียอย่างนั้น ภายหลังจากนั้น เด็กชาย ข. เริ่มรู้สึกกระดากใจขึ้นมา หลังจากอมไปแล้วเกือบๆ ครึ่งอัน จึงยอมส่งมอบอมยิ้มคืนใก้เด็กชาย ก. เด็กชาย ก. ก็รับไปอมต่อ คิดในใจว่า “ก็ยังดีวะ ดีกว่าไม่มีอมเลย” เมื่อเหตุการณืเป็นเช่นนี้แล้ว มีใครสติดีๆ จะกล่าวกันหรือไม่ว่า ที่ เด็กชาย ก. มีอมยิ้มมาอมเล่นนี้ เป็น “ผลพวง” โดยตรงจากการที่ถูกเด็กชาย ข. แย่งอมยิ้มไปก่อน? นั่นคือการให้เหตุผลว่า หากเด็กชาย ข. ไม่แย่งอมยิ้มเด็กชาย ก. แล้ว เด็กชาย ก. จะไม่มีอมยิ้มอม การที่เด็กชาย ก. ได้อมอมยิ้ม เพราะมีเด็กชาย ข. มาแย่งอมยิ้มไปจากมือ!!!
นั่นคือการให้เหตุผลว่า ที่ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งนั้น เป็นเพราะมีทหารมาทำรัฐประหารโค่นทักษิณออกจากอำนาจ หากปล่อยไว้ให้ทักษิณเป็นนายกฯ อยู่ต่อไป ประชาชนจะไม่มีสิทธิเลือกตั้ง!!! ตรรกะช่างบรรเจิดเสียนี่กระไร? คนระดับ ศาสตราจารย์ และ ดร. ดาหน้ามาลงชื่อให้การสนับสนุนกันเป็นทิวแถวเลยทีเดียว
ไม่ต้องเป็นถึงระดับ ศาสตราจารย์ หรือ ดร. อะไรกันหรอก แม้แต่นักศึกษากฎหมายที่ได้เคยศึกษาทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติมาเพียงผิวเผิน ก็ยังทราบดีว่า สิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคลนั้น มีมาก่อนกฎหมายใดๆ แต่การสถาปนาอำนาจรัฐนั้นเป็นเรื่องสมมติ ไม่ได้มีอยู่จริงตามธรรมชาติ (ไม่เหมือนชีวิตของมนุษย์ที่มีจริง) และเกิดขึ้นมาภายหลัง ดังนั้น เพื่อเป็นการรับประกันสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล รัฐจึงจำต้องรับประกันสิทธิและเสรีภาพตามธรรมชาติของปัจเจกบุคคลไว้ในกฎหมาย สูงสุดของรัฐ ที่เรียกว่า “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” และสิทธิในการเลือกตั้งนั้น ก็คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดอย่างหนึ่งของปัจเจกบุคคล เรียกว่า “สิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง” (right to self-determination) ซึ่งปัจเจกบุคคลทุกคนมีสิทธินี้มาโดยกำเนิด หาได้ถูกสถาปนาขึ้นโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่ดังที่ปรากฏใน แถลงการณ์นี้
คนระดับศาสตราจารย์ และ ดร. ทางกฎหมายหลายๆ กลับทำเป็นไม่รู้เรื่องพื้นฐานทางทฤษฎีกฎหมายเช่นนี้ เหล่าคณาจารย์นี้กำลังพยายามเสนอทฤษฎีลวงโลกว่า “การเลือกตั้ง” นั้นมีขึ้นได้เพราะ เป็น “ผลพวง” โดยตรงจากการทำรัฐประหารและการสถาปนา “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550” หาได้เป็นสิทธิอันชอบธรรมของปัจเจกบุคคลที่มีมาก่อนตามธรรมชาติ
........ช่างไร้ยางอายเสียนี่กระไร!!...
ทั้งหมดที่คณาจารย์เหล่านี้ได้เสนอมาในตอนต้นของแถลงการณ์ฉบับนี้ จึงเป็นเพียงการแสดงออกมาซึ่ง “ความจนปัญญา” ของตนเอง มีแค่เพียง “ความต้องการ” discredit ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ โดยปราศจากหลักวิชาการและเหตุผลใดๆ มารองรับอย่างสิ้นเชิง
2. หลัก “กลวง” ทางจริยธรรมของนักวิชากลวง
เมื่อมาสู่ใน “เนื้อหา” ข้อแรกของแถลงการณ์ฉบับนี้ เหล่าคณาจารย์ก็ยังคงรักษาความกลวงไว้ได้เป็นอย่างดีและสม่ำเสมอ เพราะเมื่อหลังจากได้อ่านเนื้อหาทั้งหมดดังกล่าวแล้ว ผู้อ่านจะไม่พบเห็นว่าคณาจารย์เหล่านี้ได้อ้างอิงหลักวิชาการใดๆ ไปแย้ง และ/หรือ หักล้าง ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ได้เลย แม้แต่น้อย มีแต่เพียงการพร่ำพรรณาด้วยโวหารอันวิจิตร กล่าวอ้างไปถึง สิ่งที่พวกเขาเรียกมันว่า “จริยธรรม” ราวกับว่า พวกเขานี้มีสิ่งนั้นมากมายเสียเต็มประดา ซึ่งผู้อ่านที่ได้อ่านแล้วก็ต้อง “งง” เพราะไม่รู้ว่า แถลงการณ์ข้อนี้ของเหล่าคณาจารย์เกี่ยวกับข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ตรงไหน จะบอกว่า กลุ่มนิติราษฎร์นั้น ขาดไร้ในสิ่งที่พวกเขาเรียกมันว่า “จริยธรรม” รึ? ก็ไม่!
จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ไม่รู้จะอ้างมายืดยาวเพ้อเจ้อนี่ทำไม เพราะมันไม่ได้มีประเด็นอะไรเกี่ยวกับข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ซักอย่างเลย ซึ่งยังจะดีเสียกว่า หากคณาจารย์เหล่านี้จะมี “ความกล้าหาญ” พอที่จะโต้แย้งข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ โดยกล่าวมาตรงๆ เลยว่า กลุ่มนิติราษฎร์นี้ “ขาดไร้” ในสิ่งที่พวกเขานิยามมันว่า “จริยธรรมทางวิชาการ” อย่างไร เพื่อที่กลุ่มนิติราษฎร์จะได้สามารถตอบในประเด็นข้อกล่าวหาดังกล่าวได้โดย ตรง แต่นี่ก็กลับ “ไม่กล้า” มีเพียงแค่คำพร่ำเพ้อยืดยาว และตบท้ายๆ แบบอ้อมๆ แอ้มๆ อ้างเรื่อง “ประโยชน์แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง” มาซะหน่อย ให้ยังพอดูได้ เพราะใครๆ เขาก็พูดกันแต่ประเด็นนี้
ทีนี้ประชาชนก็เลยได้เห็นเลยว่า ความเห็นของ นักวิชาการใหญ่ ระดับ ศาสตราจารย์ และ/หรือ ด็อกเตอร์ ก็"กลวง"ไม่ได้ต่างจาก “นักการเมือง” ที่ได้รับการตราหน้าจากสังคมโดยอัตโนมัติสักเท่าไหร่ เพราะว่า ก่อนหน้านี้ก็มีนักการเมืองขี้แพ้มาให้สัมภาษณ์กลวงๆ แบบนี้ (ประเด็น “ช่วยคนคนเดียว” นี่แหละ) ตอบโต้กลุ่มนิติราษฎร์ไปแล้ว
หากคณาจารย์กลุ่มนี้ “ยังพอจะมี” ความกล้าหาญหลงเหลืออยู่บ้าง เพื่อให้ประชาชนได้เห็น “ความคุ้มค่า” ในเงินภาษีที่พวกเขาได้ช่วยอุดหนุนทุนการศึกษาคณาจารย์กลุ่มนี้ หากคณาจารย์เหล่านี้เชื่อจริงๆ ว่า ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์นั้น ไม่ถูกต้อง หรือเชื่อว่า มีบางกรณีที่การทำรัฐประหารนั้นชอบธรรม และยอมรับได้ ก็น่าจะเสนอ “บรรทัดฐานใหม่ทางวิชาการ” มาในแถลงการณ์ให้ชัดเจนไปเสียเลยว่า “การต่อต้านการทำรัฐประหารของอำนาจเผด็จการ เพื่อเรียกร้องระบอบประชาธิปไตยนั้น เรียกว่า การปกป้องผลประโยชน์ของคนคนเดียว” เพื่อที่ต่อไปจะได้ไม่มีนักวิชาการหน้าไหน มาเสนอให้ต่อต้านการทำรัฐประหารกันอีก ประเทศไทยจะได้มีการทำรัฐประหารสลับกับการเลือกตั้งกันบ่อยๆ อย่างที่คณาจารย์เหล่านี้ยอมรับได้
แต่ทั้งหมดในข้อนี้ก็ไม่ได้เสนอไว้เช่นนั้น และก็ไม่ได้โต้แย้งข้อเสนอใดๆ ของกลุ่มนิติราษฎร์เลยแม้แต่น้อย
นี่กระมังที่เรียกว่า “เสรีภาพทางวิชาการ”? นั่นก็คือ “เสรีภาพ” ของคนที่มีตำแหน่งเป็น “นักวิชาการ” ในการที่จะพ่นพูดสิ่งใดก็ได้ ที่ “ไม่มี” หลักวิชาการ แต่เอามากล่าวอ้างลอยๆ ได้ราวกับว่า มันนั้น “เป็น” หลักวิชาการ เพียงเพราะผู้กล่าวมีตำแหน่งเป็น “นักวิชาการ”
3. หลักนิติธรรม
แม้จะมาถึงในข้อสองของแถลงการณ์แล้ว เหล่าคณาจารย์ทั้ง 23 คนนี้ก็หาได้มี “เนื้อหาสาระ” ในทางวิชาการใดๆ มาโต้แย้งข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ได้ ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้น คำเพ้อเจ้อในข้อสองของแถลงการณ์นี้ กลับยิ่งแสดงออกถึงความไร้ยางอายของคณาจารย์กลุ่มนี้ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ สาธารณชน
คำพล่ามเพ้อเจ้อถึง การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในหัวข้อนี้มันช่าง “กลวง” เหลือเกิน เพราะเหล่าคณาจารย์นี้ไม่สามารถให้อรรถาธิบายได้ว่า ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ที่คณาจารย์กลุ่มนี้ไม่เห็นด้วยนั้น มันลิดรอนสิทธิเหล่านั้นอย่างไร และการรัฐประหารที่คณาจารย์กลุ่มนี้พยายามปกป้องอยู่นั้น มันคุ้มครองสิทธิเหล่านั้นอย่างไร
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่นานในแถลงการณ์ เหล่าคณาจารย์ยังมีหน้าไปอ้างว่า การเลือกตั้งทั้งสองครั้งล่าสุดเป็น “ผลพวง” ของการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อยู่เลย พอมาตอนนี้ กลับกล่าวอ้างเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนราวกับว่าคณาจารย์กลุ่มนี้ สนใจมันเสียเต็มประดา ใครอ่านแล้วก็คงอดสมเพชในความไร้ยางอายนี้ไม่ได้
4. หลักประชาธิปไตย
มาถึงข้อสุดท้ายของแถลงการณ์นี้ คณาจารย์กลุ่มนี้ก็ยังไม่ได้แสดงภูมิปัญญาหรือคุณค่าทางวิชาการใดๆ ให้ปรากฏ เพราะนอกจากที่ไม่ได้โต้แย้งประเด็นใดๆ ที่กลุ่มนิติราษฎร์ได้เสนอไป ด้วยเหตุด้วยผลได้แล้ว คณาจารย์กลุ่มนี้ยังได้ “ผลิตซ้ำ” วาทกรรม “เผด็จการรัฐสภา” หรือแนวความคิด “แอนตี้นักเลือกตั้ง” มาหลอกลวงประชาชนอีกคำรบหนึ่ง
ไม่มีประเทศใดๆ ในโลก ที่ยอมรับให้การทำรัฐประหาร เป็น “ทางเลือก” ในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีประเทศใดในโลก ที่ยอมรับให้ “กบฎ” เป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายหากมีการทุจริต คอร์รัปชัน และที่สำคัญคณาจารย์กลุ่มนี้ก็ไม่สามารถอภิปรายได้ว่า สิ่งที่พวกตนเรียกว่า “เผด็จการรัฐสภา” นั้น มันเลวร้ายกว่า “การรัฐประหาร” ที่พวกตนกำลังปกป้องอยู่อย่างไร
ท้ายที่สุด “เผด็จการรัฐสภา” ที่คณาจารย์กลุ่มนี้ได้เสนอมา ก็เป็นเพียงการ “ดูถูก” การตัดสินใจของประชาชน หรือการปฏิเสธไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง อันเป็นหลักการพื้นฐานที่สุดในระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ที่เหล่าคณาจารย์เพิ่งจะพร่ำเพ้อมาในหัวข้อก่อนนี้ในแถลงการณ์ของตน จึงเป็นเพียงการแสดงออกถึงความไร้ยางอายของตนเอง เพราะคณาจารย์เหล่านี้หาได้สนใจใน “เนื้อหาสาระ” แห่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริงแต่อย่างใด เพียงแค่หยิบยกมากล่าวถึงเพื่อให้แถลงการณ์นี้ดูดี ดูมีคุณค่าขึ้นมาเท่านั้นเอง
มันคงจะเชยแย่ หากเป็นนักวิชาการแล้ว ไม่พูดเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเลย แต่ลำพังแค่เพียงการกล่าวถึงคำว่า “การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน” นั้น เป็นเรื่องง่าย การให้เหตุผลทางวิชาการมาประกอบนี่ซิ ที่เป็นเรื่องยาก และคณาจารย์กลุ่มนี้ก็มักง่ายพอที่จะกล่าวถึงเรื่องง่ายๆ โดยไม่มีหลักเหตุผลใดมาประกอบแถลงการณ์ของตนได้ว่า แถลงการณ์ของตนนั้น มันมีส่วนเอื้อใน “การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน” ที่พวกเขากล่าวถึงนั้นอย่างไร
5. บทสรุปแห่งความกลวง
แน่นอนว่า นี่คือ “ความเห็นต่าง” จากข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ แต่ความเห็นต่างนี้กลับหาได้มี “สาระทางวิชาการ” ใดๆ อยู่เลยแม้แต่น้อย แถลงการณ์นี้เป็นแค่เพียงการแสดงความไม่เห็นด้วย เพื่อต้องการปกป้อง “เผด็จการทหาร” ที่กลุ่มตนนิยมชมชอบ และ discredit นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยกล่าวหาเอาลอยๆ ว่านั่นคือเผด็จการอีกรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า “เผด็จการรัฐสภา” โดยไม่มีหลักวิชาการใดๆ อ้างอิง พร้อมกันนี้ คณาจารย์กลุ่มนี้ก็ไม่สามารถให้เหตุผลใดๆ อธิบายได้ว่า “เผด็จการทหาร” (ที่พวกตนยอมรับผลของการทำรัฐประหาร) นั้น “เลวร้ายน้อยกว่า” สิ่งที่พวกตนเรียกว่า “เผด็จการรัฐสภา” แค่ไหน/อย่างไร
อย่าคิดว่าเพียงแค่จำนวนและตำแหน่งทางวิชาการที่ใหญ่โตนักหนานั้น จะทำให้ “ความไร้เหตุผล” มันกลายเป็นสิ่งที่มนุษย์คนอื่นเรียกว่า “เหตุผล” ขึ้นมาได้ อย่าคิดเพียงแค่ว่า ตนเองเป็น “นักวิชาการ” แล้ว จะมีสิทธิมีเสียงดังกว่าประชาชนคนอื่น หากแถลงการณ์มัน “กลวง” แบบนี้ ต่อให้มีคนมาลงชื่อสักกี่คน หรือให้เทพเทวดาที่ไหนมาร่วมลงชื่อด้วย ก็ไม่อาจทำให้มันมีน้ำหนักน่ารับฟังขึ้นมาแม้แต่น้อย
น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่หลายๆ คนในจำนวนนี้ ผม “เคย” นับถือ (แน่นอนว่าตอนนี้ไม่แล้ว) มาก่อน ในฐานะผู้ให้ความรู้ ให้การศึกษา แต่มาครั้งนี้ “นักวิชาการ” เหล่านี้ หาได้อภิปราย “หลักวิชาการ” ให้ได้ปรากฏเป็นที่ประเทืองปัญญาต่อสังคมให้สมกับที่มีตำแหน่งเป็น “นักวิชาการ” แต่อย่างใด