ที่มา ประชาไท
6 ตุลา คดีลึกลับ ตราบาปหลอกหลอนฆาตกร
“คำถามที่ว่า ใครก่อเหตุการณ์ 6 ตุลา ยังตอบไม่ได้อย่างเป็นทางการ เวลาที่ตอบไม่ได้อย่างเป็นทางการไม่ใช่ว่าประชาชนไม่รู้ รู้แต่ไม่ตอบ เพราะคดี 6 ตุลาเป็นคดีลึกลับเหมือนประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์นั้นแหละ
“ไม่ว่าจะตอบได้หรือไม่ได้ ผลมันเหมือนกันหมด เหมือนกับคดีสวรรคตนั่นแหละ คือมันส่งผลกระทบต่อผู้ก่อเหตุ ลบไม่ออก มันเป็นอีกหนึ่งคดีที่หลอกหลอนฆาตกรเรื่อยไป ไม่ว่ายังไงก็ตาม มันก็ติดตัวแปะตัวเขาไป”
ผู้ก่อเหตุ 6 ตุลา คือผู้แพ้ทางประวัติศาสตร์
“พอมาถึงวันนี้ 35 ปี ผมขอสรุปว่า ผู้ก่อเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นผู้แพ้ทางประวัติศาสตร์ แพ้ในที่นี้หมายถึงความชอบธรรม เขาไม่สามารถอ้างความชอบธรรมในฐานะผู้ก่อเหตุการณ์ 6 ตุลาได้อีก วีรกรรมการฆ่า 6 ตุลาไม่ใช่วีกรรมเพื่อชาติอีกต่อไป หรือไม่สามารถจะอ้างได้อีกต่อไป ว่าเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ เป็นวีรกรรมที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์
“ในทางตรงกันข้าม ผู้ก่อเหตุต้องแก้ต่าง ต้องแก้ตัว ต้องซ่อนพฤติกรรมว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง ผู้ที่คิดว่าเป็นผู้ชนะไม่ได้ฉลอง กลายเป็นผู้แพ้ฉลอง”
ชนชั้นนำไทยสรุปบทเรียน 6 ตุลา ด้วยการฆ่ามากขึ้น
“เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาแล้ว เราประชาชนเรียกร้องขออย่าให้มีการฆ่าอย่างนี้อีก ขอให้สรุปบทเรียนอย่ามีการฆ่า ชนชั้นนำไทยแทนที่จะสรุปบทเรียนว่าเลิกฆ่าเถอะ ชนชั้นนำไทยสรุปบทเรียนโดยการฆ่าเพิ่มมากขึ้นทุกที พฤษภาทมิฬก็ฆ่าคนมากกว่า 6 ตุลา พอถึงพฤษภา 53 ก็ฆ่ามากกว่าพฤษภา 35”
ฆ่ามารไม่บาป คนดีเลือกฝ่ายผิดก็ฆ่าได้
“ทำไมศาสนาพุทธบอกว่าการเข่นฆ่าเป็นบาป ทำไมจึงมีการฆ่ากันอยู่เรื่อยๆ ในสังคมไทย คำตอบคือ การเข่นฆ่าสังหารทำได้ เหมือนกับการสังหารยักษ์มาร สังหารคนชั่ว ไม่บาป เวลาที่พระนารายณ์มาปราบนนทุ พระนารายณ์ฆ่านนทุบาปไหม ? ไม่บาป นนทุเป็นคนสร้างความเดือดร้อนให้เทวดา เพราะนนทุไปขอนิ้วเพชรไปชี้คนโน้นคนนี้ตาย เพราะฉะนั้นพระนารายณ์ก็อวตารมาปราบ ฆ่านนทุตาย ก็ไม่บาป
“แต่เราเคยถามไหม เวลานนทุได้รับความเดือดร้อน ถูกดึงผมถูกเขกหัว ทำไมพระนารายณ์ไม่ลงมาช่วย คำตอบคือ ไม่ใช่เรื่องของพระนารายณ์ พระนารายณ์เดือดร้อนเมื่อเทวดาถูกฆ่าเท่านั้น นนทุจะถูกเขกหัวฟาดหัวช่างหัวมัน เพราะนนทุเป็นแค่ยักษ์ล้างเท้า ถ้านนทุเกิดสะเออะเผยอมาชี้เทวดาตาย อันนั้นจึงผิด ต้องฆ่า การฆ่านนทุไม่บาป
“คนดีที่เลือกฝ่ายผิดก็ฆ่าได้ อย่างกุมภกรรณเป็นยักษ์ที่ดี แต่คุณเลือกฝ่ายผิดคุณก็ถูกฆ่าได้ ยักษ์ที่ไม่ต้องดี ทรยศหักหลังด้วยซ้ำไปอย่างพิเภก เลือกข้างถูกก็สามารถจะดำรงชีวิตอยู่ได้ นี่คือตรรกะของชนชั้นนำที่ นี่คือคำอธิบายว่า ทำไมจึงเกิดการฆ่าประชาชนได้เสมอ ตราบใดก็ตามที่ชีวิตประชาชนมีค่าเท่ายักษ์นนทุ
6 ตุลา ประวัติศาสตร์อิหลักอิเหลื่อ ไม่เข้ากับโครงเรื่องประวัติศาสตร์ไทย
“6 ตุลาเป็นประวัติศาสตร์อิหลักอิเหลื่อ ถ้าเราอธิบาย 6 ตุลาตามโครงสร้างนี้ เราต้องอธิบายว่าพระนารายณ์อวตารมาฆ่าประชาชน โครงเรื่องพระนารายณ์อวตารมาฆ่าประชาชนเข้าเรื่องไม่ได้กับโครงเรื่อง ประวัติศาสตร์ไทย ดังนั้นไม่อธิบายจะดีกว่า”
“ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา สะท้อนความเป็นจริงอันน่าตระหนกน่ากลัวว่า ประวัติศาสตร์ทางการนั้น คือวิชาว่าด้วยการตกแต่งอดีตให้งดงาม ทำไมต้องตกแต่งให้งดงาม เพื่อกลบเกลื่อนความจริงที่ไม่งดงามเอาไว้เบื้องหลัง พระเอกในประวัติศาสตร์จริงๆ แล้วมักจะเป็นผู้ร้ายในความเป็นจริง ไปตกแต่งประวัติศาสตร์ให้ตัวเองเป็นพระเอกอยู่เสมอ เมื่อตัวเองเป็นพระเอกก็ตกแต่งให้ครอบครัว ญาติโกโหติกา บรรพบุรุษของตัวเองเป็นพระเอกไปหมด ทั้งที่ความจริงแล้ว ทั้งหมดเป็นผู้ร้ายหมดเลย”