ที่มา ประชาไท
ศูนย์ทนายมุสลิมเผยรับร้องเรียนกว่า 2,300 เรื่อง เหตุถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมเกือบ 300 แต่ศาลลงโทษคดีป่วนใต้แค่ 33 จาก 122 คดี จี้รัฐยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในชายแดนใต้ เหตุเปิดทางเจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิ
เวลา 14.30 น. วันที่ 5 ตุลาคม 2554 ที่สำนักงานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นายสิทธิพงศ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม พร้อมด้วยนายอนุกูล อาแวปูเต๊ะ หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานี เปิดแถลงข่าวเรียกร้องให้ยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุก เฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) โดยมีนายนิเซ๊ะ นิฮะ ผู้ถูกควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ต่อด้วยพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ได้รับการปล่อยตัว ร่วมแถลงข่าวด้วย
นายสิทธิพงศ์ แถลงว่า มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้รับเรื่องร้องเรียนเรื่องผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษของประชาชนใน พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2554 รวมทั้งสิ้น 2,338 เรื่อง ในจำนวนนี้มีชาวบ้านร้องเรียนว่า ถูกละเมิดสิทธิโดยการซ้อมทรมาน 282 เรื่อง นายสิทธิพงศ์ แถลงต่อไปว่า เมื่อคดีขึ้นสู่ศาล ปรากฏว่า มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเป็นทนายความแก้ต่างให้กับจำเลยในคดีเกี่ยวกับ ความมั่นคง สืบเนื่องจากบังคับใช้กฎหมายพิเศษ จำนวน 495 เรื่อง โดยศาลมีคำพิพากษาแล้ว จำนวน 122 เรื่อง แยกเป็นคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ 33 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 27.04 และคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง มีจำนวนมากถึง 87 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 72.95
นายสิทธิพงศ์ แถลงอีกว่า มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเห็นว่า การใช้พยานหลักฐานจากการซักถามผู้ถูกควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานจับตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา “มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จึงได้ยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อให้ศาลได้ไต่สวนคำร้องขอควบคุมตัว เพื่อให้มีการนำเสนอข้อเท็จจริงในชั้นศาลว่า มีการใช้หลักฐานอะไรเป็นเหตุผลในการขอควบคุมตัวมาโดยตลอด เพื่อเป็นบรรทัดฐานทางสังคม ทั้งกรณี การซ้อมนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กรณีลูกชายของอีหม่ามยะผา กาเซ็ง ที่เสียชีวิตในการควบคุมตัวของทหาร และผู้ถูกควบคุมตัวร่วมกับอีหม่ามยะผา กาเซ็ง และกรณีที่ควบคุมตัวราษฎรในพื้นจังหวัดสงขลา เป็นต้น”
นายสิทธิพงศ์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ทนายความมุสลิมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จากข้อเท็จจริงและกรณีตัวอย่างที่นำเสนอมา จะทำให้รัฐบาลตระหนักถึงการละเมิดสิทธิ จากการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไป
นายสิทธิพงศ์ กล่าวอีกว่า การแถลงข่าวครั้งนี้ ขึ้นหลังจากกรณีการควบคุมตัวนายนิเซ๊ะ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2554 ต่อมาญาติร้องเรียนต่อมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมว่า การควบคุมตัวนายนิเซ๊ะเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อเจตนารมณ์ของการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ และขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
“ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2554 ทนายความของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ยื่นคำร้องคัดค้านการควบคุมตัวต่อศาลจังหวัดปัตตานี เป็นหมายเลขคดีดำที่ ฉฉ.47/2554 ศาลจังหวัดปัตตานีมีคำสั่งเรียกเจ้าพนักงานตามพระราชกำหนดบริหารราชการใน สถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมทั้งให้นำตัวนายนิเซ๊ะ มาเพื่อไต่สวนในวันที่ 5 ตุลาคม 2554 แต่ปรากฏว่าวันที่ 4 ตุลาคม 2554 เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวนายนิเซ๊ะ ก่อนวันนัดไต่สวน ศาลจึงเห็นว่าไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องไต่สวนต่อไป ศาลจึงมีคำสั่งให้งดการไต่สวนคดีดังกล่าว”
นายสิทธิพงศ์ แถลงต่อไปว่า มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เป็นองค์กรหนึ่งที่เรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เนื่องจากในมาตรา 11 (1) ของพระราชกำหนดฉบับนี้ ระบุว่า เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการจับและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยและนำเข้าสู่กระบวนการ ซักถาม โดยที่ผู้ถูกควบคุมตัวไม่มีสิทธิในการพบหรือปรึกษาทนายความ ซึ่งแตกต่างจากสิทธิของผู้ต้องหาตามระบุไว้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2550 “
ที่ผ่านมา มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนการประกาศต่ออายุการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2554 นายนิเซ๊ะ กล่าวว่า ตนไม่อยากให้กระบวนการยุติธรรมของชาติ ถูกกฎหมายอะไรก็ไม่รู้ มาบดบังความดีงามของกระบวนการยุติธรรม ตนกลัวอยู่อย่างเดียวว่า มีคนตั้งแต่หนึ่งคนจนถึงคนหมู่มาก เริ่มไม่ศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ซึ่งตามความรู้สึกของตน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นปัญหาใหญ่ที่ จะทำให้ประชาชน เริ่มหมดศรัทธากับกระบวนการยุติธรรม
เมื่อเวลา 09.30 น. วันเดียวกัน ที่ห้องพิจารณาคดี 2 ชั้น 2 ศาลจังหวัดปัตตานี นายศิริชัย วจีสัจจะ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานี ขึ้นนั่งบัลลังก์ไต่สวนคำร้องคัดค้านการควบคุมนายนิเซ๊ะ นิฮะ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หมายเลขดำที่ ฉฉ.47/2554 โดยนายนิเซ๊ะพร้อมทนายเดินทางมาที่ศาลจังหวัดปัตตานี แต่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรกะพ้อ จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นผู้ร้องขอขยายเวลาควบคุมตัวนายนิเซ๊ะ ไม่ได้เดินทางมาที่ศาล นายศิริชัย เห็นว่า ผู้ร้องทราบว่านัดแต่ไม่มา ถือว่าไม่คัดค้าน ส่วนผู้ถูกควบคุมหลังได้รับการปล่อยตัวจากสถานที่ควบคุมแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องไต่สวนคำร้องของทนายผู้คัดค้านอีกต่อไป มีคำสั่งให้ยกคำร้อง โดยใช้เวลาในการพิจารณากรณีนี้เพียง 30 นาที