WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, October 6, 2011

35ปี6ตุลา:ผู้บาดเจ็บคนแรกในสงครามคือสัจจะ

ที่มา Thai E-News

Unseen 6 ตุลา 2519-ใน ปีนี้ มีภาพเหตุการณ์วันที่ 6 ต.ค.2519 ซึ่งไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อนจำนวน 25 ภาพ ส่งมาจากอดีตนักเรียนอาชีวะผู้ไม่ประสงค์ออกนาม โดยภาพชุดดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ช่วงเช้า หลังมีการใช้กำลังตำรวจ-ตชด. บุกเข้าไปใน มธ.

ภาพชุดดังกล่าว มีชายคนหนึ่งถูกใส่กุญแจมือ ลากลงจากรถ และนำมาแขวนคอ โดยจากการตรวจสอบ ชายในภาพเป็นคนละคนกับชายในภาพที่ถูกแขวนคอซึ่งเผยแพร่ก่อนหน้านี้ ซึ่งคือ วิชิตชัย อมรกุล นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่เป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยให้ผู้ชุมนุมใน มธ. ช่วงคืนวันที่ 5 ต่อเช้าวันที่ 6 อย่างไรก็ตาม จนขณะนี้ยังไม่ทราบว่าชายคนดังกล่าว และคนอื่นๆ ในภาพเป็นใคร ทั้งนี้ หากมีผู้ทราบเบาะแสก็สามารถติดต่อมาที่ตนเองในฐานะผู้ประสานงานคณะกรรมการ รับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ได้(ที่มา:ประชาไท )

-รู้จักเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่เว็บไซต์ http://2519.net/
...................

โดย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสต
ที่มา บันทึกจากเฟซบุ๊คของ Charnvit Ks

"ผู้บาดเจ็บคนแรก ในสงคราม คือ สัจจะ" The first casualty of War is Truth ---- ขอคารวะ วีรชนคนหนุ่มสาว ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ขอรำลึก อ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หนึ่งในผู้บาดเจ็บ แรกๆ ใน "สงครามกลางเมือง" ครั้งนั้น -----------เมื่อ "วันมหามหาวิปโยค 6 ตุลา 2519" (6 October 1976: A Day of Sorrow)

--จอมพลถนอม บวชเป็นเณร จากสิงคโปร์ กลับเข้ามาประจำ ณ วัดบวรนิเวศ บางลำพู

--นักศึกษา และประชาชน
ชุมนุมประท้วง ที่ธรรมศาสตร์ (เรียกร้องให้รัฐบาล นรม. เสนีย์ ปราโมช จัดการ หรือ ขับไล่ถนอม ออกจากประเทศ)

--กลุ่มการเมืองจัดตั้ง ฝ่ายขวา
นวพล กะทิงแดง และวิทยุเครือข่ายทหาร (อ้างและอิงชาติ-ศาสน์-กษัตริย์) โจมตี และกล่าวหาว่านักศึกษา
“หมิ่นพระบรมเดชาฯ” และเป็น “คอมมิวนิสต์”

--ผู้กุมอำนาจรัฐ-กลุ่มการเมืองจัดตั้ง-ตำรวจตระเวนชายแดน
กระทำ “อาชญากรรมรัฐ” ปราบปราบหนัก ด้วยอาวุธสงคราม

--ทหารกระทำ
“รัฐประหาร” แล้วเสนอตั้ง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็น นรม.

--มีผู้เสียชีวิต
40 (?) ราย,
บาดเจ็บ 3,000 (?) คนหนุ่มสาว หนีเข้าป่า
ไปร่วมกับ พคท.

--ตัวแสดง-ผู้มีส่วนร่วม
คือ เยาวชนคนหนุ่มสาว ชนชั้นกลางในเมือง ที่เป็นปฏิปักษ์ รวมทั้ง สื่อมวลชน “กระแสหลัก”
ของทั้งรัฐ และเอกชน วิทยุ/ทีวี

.................
จาก ๑๔ ถึง ๖ ตุลา และ สอง พฤษภา (๔ อาชญากรรมรัฐ)

4 Bloody Events in Siam/Thailand: 1973-2010) การต่อสู้และการเดินทางเพื่อ“ประชาธิปไตย”: 2516-2519-2535-2553

(1) วันมหาปิติ 14 ตุลา 2516 (14 October 1973: Day of Great Joy)

(2) วันมหามหาวิปโยค 6 ตุลา 2519 (6 October 1976: Day of Great Sorrow)

(3) พฤษภาเลือด 2535 (Bloody May 1992, ไม่ใช่ “พฤษภาทมิฬ” ชาวทมิฬอยู่อินเดียใต้ ไม่เกี่ยว ไม่ได้อยู่เมืองไทย)

(4) พฤษภาอำมหิต 2553 (Black May, 19, 2010)
(5) ????

(หนึ่ง) วันมหาปิติ 14 ตุลา 2516 (14 October 1973: Day of Great Joy)

--นักเรียน/นักศึกษา/ประชาชน ลุกขึ้นมาประท้วงระบอบ “คณาธิปไตยถนอม-ประภาส”

--ผู้คนจำนวนเป็นแสนเข้าร่วมประท้วงกลางถนนราชดำเนินเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” และ "รัฐธรรมนูญ"

--คณาธิปไตยทหารกระทำ“อาชญากรรมรัฐ” (state crime) ปราบปราบหนักด้วยอาวุธสงคราม

--ประชาชนขัดขืน สถาบันฯ เข้าระงับความรุนแรง คณาธิปไตยล้มครืน

--มีผู้เสียชีวิต 77 ราย บาดเจ็บ 800

--(ผู้มีส่วนร่วม คือ เยาวชนคนหนุ่มสาวชนชั้นกลางในเมือง กทม และต่าง จว. กับสื่อมวลชน)

(สอง) วันมหามหาวิปโยค 6 ตุลา 2519 (6 October 1976: Day of Great Sorrow) 3 ปีต่อมา

--จอมพลถนอม บวชเป็นเณรจากสิงคโปร์ กลับเข้ามาประจำวัดบวรนิเวศ บางลำพู

--นักศึกษาและประชาชน ชุมนุมประท้วงที่ธรรมศาสตร์ (เรียกร้องให้รัฐบาล นรม. เสนีย์ ปราโมช ขับไล่ถนอมออกจากประเทศ)

--กลุ่มการเมืองจัดตั้งฝ่ายขวา นวพล กะทิงแดง และวิทยุเครือข่ายทหาร (อ้างและอิงชาติ-ศาสน์-กษัตริย์) โจมตีและกล่าวหาว่านักศึกษา
“หมิ่นพระบรมเดชาฯ” และเป็น “คอมมิวนิสต์”

--ผู้กุมอำนาจรัฐ-กลุ่มการเมืองจัดตั้ง-ตำรวจตระเวนชายแดน กระทำ “อาชญากรรมรัฐ” ปราบปราบหนักด้วยอาวุธสงคราม

--ทหารกระทำ“รัฐประหาร” แล้วเสนอตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็น นรม.

--มีผู้เสียชีวิต 40 (?) ราย,บาดเจ็บ 3,000 (?) คนหนุ่มสาวหนีเข้าป่าไปร่วมกับ พคท.

--ตัวแสดง-ผู้มีส่วนร่วม คือ เยาวชนคนหนุ่มสาว ชนชั้นกลางในเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ รวมทั้งสื่อมวลชน “กระแสหลัก”ของทั้งรัฐและเอกชน วิทยุ/ทีวี

(สาม) พฤษภาเลือด 2535 (Bloody May 1992, ไม่ใช่ “ทมิฬ”) อีก 16 ปีต่อมา

--ประชาชน คนชั้นกลาง ชาวกรุง จำนวนหลายหมื่น ชุมนุมประท้วงเป็นระยะๆ ณ บริเวณถนนราชดำเนิน เรียกร้องให้รัฐบาลของ นรม. พลเอกสุจินดา คราประยูร ลาออก

--รัฐบาลประกอบ“อาชญากรรมรัฐ” (state crime) ปราบปราบหนักด้วยอาวุธสงคราม

--ประชาชนขัดขืน สถาบันฯ เข้าระงับความรุนแรง คณาธิปไตย/รัฐบาลล้มครืน

--มีผู้เสียชีวิต 44 (?) ราย, บาดเจ็บ 600 (?)

--ตัวแสดง-ผู้มีส่วนร่วม คือ ชนชั้นกลางในเมือง กับชาวกรุง รวมทั้งสื่อมวลชนเอกชน นสพ.และไม่ค่อยมีเยาวชนคนหนุ่มสาวเข้าร่วมมากนัก

(สี่) พฤษภาอำมหิต 2553 (Black May, 19, 2010) อีก 18 ปีต่อมา

--ประชาชน คนเสื้อแดง ชาวบ้านจากภาคอีสาน/ภาคเหนือ กับคนชั้นกลาง ชาวกรุง จำนวนหลายหมื่น ชุมนุมประท้วงต่อเนื่องบนถนนราชดำเนิน และสี่แยกราชประสงค์ เรียกร้องให้ นรม.อภิสิทธิ์ ยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่

--รัฐบาลใช้กำลังทหารประกอบ“อาชญากรรมรัฐ” (state crime) ปราบปราบหนักด้วยอาวุธสงคราม พร้อมข้อกล่าวหา "ก่อการร้าย" และการอ้างและอิงสถาบันฯ

--มีผู้เสียชีวิต 92 (?) กว่าราย, บาดเจ็บ 2,000 (?)

--ตัวแสดง-ผู้มีส่วนร่วมมีทั้งชาวบ้าน จากชนบทอีสาน/เหนือ ร่วมกับชาวกรุง คนชั้นกลาง พร้อมด้วยสื่อมวลชนภาครัฐ และภาคเอกชน ที่บางส่วนแตกแยก ขัดแย้ง ผู้หญิงวัยกลางคน เข้าร่วมจำนวนมาก แต่ก็ไม่ค่อยมีเยาวชนคนหนุ่มสาวมากนัก

--"สยามประเทศไทย เรากำลังจะไปทางไหนกัน?"
..................

6 ตุลา กับสถานะทางประวัติศาสตร์การเมือง

โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ในบทความ ซึ่งอาจจะดีที่สุดเกี่ยวกับ “การรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519” โดย ศ. เบเนดิค แอนเดอร์สัน กล่าวไว้ว่า โดยตัวของมันเองแล้ว การรัฐประหาร 6 ตุลา ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่ว่าจะในสมัยใหม่ หรือสมัยเก่า เพราะเคยมีรัฐประหาร หรือความพยายาม ที่จะทำรัฐประหารมาครั้งแล้วครั้งเล่า (นับแต่การปฏิวัติ 2475) ดังนั้น ทั้งนักวิชาการ และนักหนังสือพิมพ์ (ตะวันตก) ต่างก็ลงความเห็นว่า “การรัฐประหาร 6 ตุลา” เป็นเรื่อง “ธรรมดา ๆ” ของการเมืองไทย และเป็นการกลับไปสู่ “สภาพปกติ”

หลังจากที่หลงระเริงอยู่กับ “ประชาธิปไตย” เสีย 3 ปี

แต่เบเนดิค แอนเดอร์สัน ก็กล่าวว่า “การรัฐประหาร 6 ตุลา” เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อใหม่ ของการเมืองไทย อย่างน้อยก็ใน 2 ประเด็น คือ

(1) บรรดาผู้นำฝ่ายซ้าย แทนที่จะจบลงด้วยการถูกจับขังคุก (จนลืม) หรือไม่ก็ไปลี้ภัยการเมือง อยู่ต่างประเทศ กลับเข้าไปร่วมกับขบวนการจรยุทธ์ ในป่า

และ (2) การรัฐประหาร 6 ตุลา แตกต่างจากการรัฐประหาร ที่เคยมีมา นั่นคือ หาใช่เป็นเพียงการยึดอำนาจกันในหมู่ผู้นำ เท่านั้น แต่เป็นการรัฐประหาร ที่ฝ่ายขวาใช้เวลากว่า 2 ปี ในการวางแผนการ รณรงค์ คุกคามอย่างเปิดเผย ทำร้าย ทำลายชีวิต ฯลฯ ซึ่งจะเห็นได้อย่างโจ่งแจ้ง ของความรุนแรง และการปลุกปั่น ให้เกิดความบ้าคลั่งของฝูงชน “ม็อบ” เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

อาจารย์เบน ขยายความต่อไปอีกว่า รูปแบบ และระดับของความรุนแรงของ 6 ตุลา นั้น เป็นอาการของโรค (“ลงแดง”) ที่เกิดจากวิกฤตการณ์ทางสังคม-วัฒนธรรม-การเมืองสมัยใหม่ กล่าวคือ การก่อตัวของชนชั้น (ใหม่) กับความปั่นป่วนทางอุดมการณ์

กล่าวโดยย่อ (ในทัศนะของอาจารย์เบน) นับแต่ปลายทศวรรษ 1950 (ยุค 60s) เป็นต้นมา ได้เกิดชั้นชนกระฎุมพีใหม่ขึ้น โดยเกิดขึ้นมานอกชนชั้นสูง – เจ้านาย – ข้าราชการเก่า ชั้นชนใหม่นี้ มีทั้งกระฎุมพีน้อย – กระฎุมพีกลาง ซึ่งส่วนหนึ่ง เป็นผลพวงของ “บูม” ทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากสงครามเวียดนาม ในทศวรรษ 1960 (ยุค 60s) ที่ทั้งคนอเมริกัน และเงินดอลลาร์อเมริกัน หลั่งไหล เข้ามาในสังคมไทย อย่างไม่เคยมีมาก่อน ตามมาด้วยคน และเงินเยน ญี่ปุ่น มากมายมหาศาล

ชั้นชนกระฎุมพีใหม่ นี่แหละ ที่ได้กลายเป็นฐาน ให้กับขบวนการฝ่ายขวา ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากกลุ่มฝ่ายขวาเดิม ของเจ้า-ผู้ดีและข้าราชการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า กลุ่มผู้ปกครองเก่า - เจ้า – นายพล – นายธนาคาร – ข้าราชการ จะหลุดออกไปจากตำแหน่งสำคัญ ๆ ที่กุมอำนาจทางการเมือง กลับเป็นว่า กลุ่มผู้ปกครองเก่านี้ ได้พันธมิตรใหม่ ที่มีฐานกว้างขวาง ที่มีลักษณะคุกคาม และเป็นอันตราย มากกว่าเดิม

พร้อม ๆ กับการเกิดของชั้นชนกระฎุมพี นี้ ความปั่นป่วนด้านอุดมการณ์ ก็เป็นผลพวงของผลกระทบของการที่อเมริกาเข้ามา และระเบิด ให้เห็นทางด้านภูมิปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 ปีของยุค “ประชาธิปไตย” เบ่งบานนั้น มีคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อย ที่เบื่อหน่ายต่อความอับจนทางปัญญา และการใช้สัญลักษณ์ทางจารีต โดยระบอบสฤษดิ์ – ถนอม – ประภาส คนหนุ่มสาว ตั้งคำถามต่อค่านิยม และวัฒนธรรมจารีต นั้น ซึ่งก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ ด้วยการโฆษณาเผยแพร่ สั่งสอนอุดมการณ์ชาติ – ศาสนา – พระมหากษัตริย์ หนักหน่วง อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ชาติ - ศาสนา – พระมหากษัตริย์ แทนที่จะเป็นของ “ไทยตามธรรมชาติ” โดยทั่วไป กลับกลายเป็นอุดมการณ์เฉพาะ ของการก่อตัวทางสังคมในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมขบวนการฝ่ายขวานี้ ก็คือบรรดาชั้นชนกระฎุมพีใหม่ ส่วนผู้ทำการโฆษณา เผยแพร่อุดมการณ์ มีทั้งกลุ่มบ้าคลั่ง จากชั้นชนใหม่นี้เอง และจากผู้ที่บงการของกลุ่มชนชั้นปกครองเก่า ที่อยู่เบื้องหลัง (Benedict Anderson, Withdrawal Symptoms : Social and Cultural Aspects of the October 6 Coup’, Bulletin of Concerned Asian Scholars, July – September, 1977)

เหตุการณ์เมื่อ 6 ตุลาคม 2519

ดร.ธงชัย วินิจจะกูล อดีตผู้นำนักศึกษาในสมัยนั้น และปัจจุบัน เป็นอาจารย์อยู่ที่ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เล่าว่า เมื่อเวลาประมาณ 2 นาฬิกา ของวันที่ 6 ตุลาคม ตำรวจกับกองกำลังติดอาวุธ และกำลังพลฝ่ายขวา ได้เคลื่อนเข้าปิดล้อม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีผู้คนจำนวน 4-5 พันคน ชุมนุมอยู่ตลอดคืน ประท้วงการกลับเข้ามาของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งได้ถูกประชาชนลุกฮือ ขับไล่ออกจากประเทศไปเมื่อ 3 ปีก่อน (การปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516) หลังการเข้าปิดล้อม ก็ได้ยินเสียงปืนเป็นระยะ ๆ มีการปาระเบิด เข้าไปตามตึกของมหาวิทยาลัย ราตรีนั้น เต็มไปด้วยความตึงเครียด ทั้งนี้เพราะ ก่อนหน้านี้นักกิจกรรมการเมือง 2 คน (พนักงานไฟฟ้านครปฐม) ได้ถูกทำลายชีวิต และถูกจับแขวนคอ (ในขณะที่กำลังปิดโปสเตอร์ ประท้วงการกลับมา ของจอมพลถนอม กิตติขจร)

หลังการทำลายชีวิตดังกล่าว ที่นครปฐม ได้มีการแสดงละครการเมือง ของนักศึกษา ล้อเลียน การกลับมาของจอมพลถนอม (บวชเป็นเณรมาจากสิงคโปร์ แล้วก็เข้าไปบวชเป็นพระอย่างเร่งรีบ ที่วัดบวรนิเวศ) ในการล้อเลียนการแขวนคอนักกิจกรรม การแสดงนี้มี ณ บริเวณลานโพธิ์ มธ. หน่วยโฆษณาชวนเชื่อของทหาร (วิทยุยานเกราะ และเครือข่ายวิทยุเสรี) และ นสพ. (ดาวสยาม) ได้นำฟิล์มรูปการแสดงละคร ไปตกแต่ง แล้วอัดรูปขยายพิมพ์เผยแพร่ กล่าวหา และปลุกปั่นว่านักศึกษา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ล้อเลียน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช โดยที่นักศึกษา ไม่ได้รับโอกาส ที่จะแก้ข้อกล่าวหานี้ แต่ประการใด

เมื่อเวลาประมาณ 05.30 น. ตำรวจ และกองกำลังติดอาวุธ ก็ยิงระเบิดเข้าไปกลางฝูงชน เป็นผลให้มีคนตายทันที 4 ศพ และบาดเจ็บหลายสิบ และจากระเบิดลูกนั้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้อาวุธสงครามร้ายแรง ทำลายชีวิตนักศึกษาและประชาชน เป็นเวลาหลายชั่วโมง มีทั้งการยิงจรวด (ที่ใช้ต่อต้านรถถัง) เข้าไปตามตึกต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ที่นักศึกษาและประชาชนหลบซ่อนอยู่ ฝูงชนฝ่ายขวา (รวมทั้งมือปืนรับจ้าง) ที่ได้รับการจัดตั้ง และปลุกระดมไว้อย่างดีแล้ว บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัย บ้างลากนักศึกษาออกมา ทุบตีจนตาย บ้างใช้ผ้ารัดคอนักศึกษา ลากไปตามสนาม บ้างนำนักศึกษาไปแขวนคอ ที่ต้นมะขามสนามหลวง ด้านหน้าพระบรมมหาราชวัง ที่ทางหน้ากระทรวงยุติธรรม มีการจับร่าง 3 ร่าง เอาน้ำมันราด เอายางรถสุม เอาไฟจุดเผา การทำลายชีวิตและร่างกาย อย่างโหดเหี้ยมทารุณ ดำเนินไป จนกระทั่งถึงเวลา ประมาณ 9 นาฬิกา

วันนั้น วันที่ 6 ตุลา เป็นวันพุธ เป็นวันมหาวิปโยค “ที่ไทยฆ่าไทย” เป็นวันที่มืดมิดที่สุดวันหนึ่ง ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ครั้นถึง 18 นาฬิกา เย็นวันนั้น คณะทหาร ก็ประกาศยึดอำนาจ (ทางการแถลงว่า ในวันนั้นมีผู้เสียชีวิตประมาณ 40 คน บาดเจ็บเป็นร้อย และถูกจับกุมไป 3 พันคน แต่ก็เชื่อกันว่าจำนวนผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ รวมทั้งสูญหาย น่าจะสูงกว่าที่ทางการแถลง)

กล่าวโดยย่อ 6 ตุลา (2519) ก็คือวันที่มีการรัฐประหาร นำการเมืองไทย กลับไปสู่การปกครองโดยคณะทหาร อีกครั้งหนึ่ง (แต่มีนายกรัฐมนตรี มาจากข้าราชการตุลาการ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร) ซึ่งมิใช่ เรื่องแปลกประหลาด อะไร ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่การรัฐประหาร 6 ตุลา ก็มาพร้อมกับความรุนแรง และป่าเถื่อน อย่างชนิดที่ไม่มีผู้ใด จะคาดคิดว่า จะเกิดขึ้นได้ในสังคมไทยมาก่อน ภาพของความทารุณโหดร้าย ถูกบันทึกไว้เป็นภาพยนตร์ เป็นภาพถ่าย ได้รับการเผยแพร่ไป ทั่วโลก (แม้ในยุคสมัย ที่ไทยยังไม่ตื่นเต้นกับโลกาภิวัตน์นัก ยังมิได้มี “ม็อบมือถือ” แฟกซ์ กล้องวิดีโอ ตลอดจนบรรดาอุปกรณ์ ไฮ–เทค ทั้งหลาย) การสังหารหมู่ กลางพระนคร วันนั้น ได้รับการถ่ายทอดออกโทรทัศน์ ช่อง 9 ด้วย

แต่ก็เป็นที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่ง ที่ 6 ตุลาคม 2519 กลายเป็นอดีต ที่ดูเหมือนผ่านมา แล้วก็ผ่านไป ประหนึ่งว่า เป็นการพังพินาศของอดีต ขาดสถานะทางประวัติศาสตร์ (เข้าทำนองที่ว่า ประวัติศาสตร์นั้น เป็นเรื่องของคนชนะ ประวัติศาสตร์ หาได้เป็นเรื่องราว ของผู้แพ้ไม่) ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น ทั้งโดยตรง และโดยอ้อม ทั้งจากอุดมการณ์ ทั้งขวาและซ้าย ดูจะสับสนงุนงง ลืม เลอะเลือน ปฏิเสธ และบางครั้ง ขาดความเข้าใจต่อ 6 ตุลาในบริบทเฉพาะ ของการเมืองไทย และบริบทใหญ่ ของการเมืองโลก (ทั้งนี้ โดยที่ยังไม่นับผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง และผู้ที่อยู่ห่างไกล จากความแตกแยกทางอุดมการณ์ ในครั้งนั้น)

ยิ่งอนุชนรุ่นหลังแล้ว ก็เกือบจะไม่มีการรับรู้ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หาใช่ หนึ่งในหน้าของประวัติศาสตร์ไทยไม่ ไม่ว่าจะในระดับประถม หรือมัธยม หรือในระดับอุดมศึกษา (ทั้งนี้ โดยที่ยังไม่ต้องกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในทำนองเดียวกันอีก 2 เหตุการณ์ คือ การปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภามหาโหด 2535 ) ดังนั้น อาจจะเป็นเรื่อง ที่ไม่น่าประหลาดใจนัก ที่จะมีคนกล่าวถึงเหตุการณ์ “16 ตุลาคม 2514” (!!!???)

ประวัติศาสตร์ “ระยะเวลาช่วงยาว”

มีสำนักคิด ทางประวัติศาสตร์สำนักหนึ่ง ของฝรั่งเศส ที่ถือว่า ความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์ นั้น จะทำได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อ ประวัติศาสตร์นั้นมีลักษณะ longue duree ขอแปลเป็นไทยว่า “ระยะเวลาช่วงยาว” กล่าวคือ เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ โดยใช้ระยะเวลาช่วงยาว ๆ เป็นกรอบ ซึ่งจะทำให้เห็นกระแสทางเดิน ของประวัติศาสตร์ ได้เป็นอย่างดี แทนที่จะเป็นการศึกษาเฉพาะ แต่ละเหตุการณ์ฯ ที่เรียกว่า histoire evenementielle หรือประวัติศาสตร์ ของเหตุการณ์ ซึ่งจะมีลักษณะที่คับแคบ มองได้ไม่ไกล

ถ้าหากจะใช้ทฤษฎี “ระยะเวลาช่วงยาว” นำมาศึกษา “ 6 ตุลาคม 2519” เล่า เราจะศึกษาได้อย่างไร

“ระยะเวลาช่วงยาว” ของการเมืองไทย

ในบริบทของประวัติศาสตร์การเมืองไทย 6 ตุลา น่าจะเป็นส่วนหนึ่ง ของขบวนการทางสังคม ที่เป็นปฏิปักษ์ ต่อต้าน และพยายามปลดปล่อยตนเอง จากการครอบงำของระบอบสังคมเก่า (และเก่ากว่า) ขบวนการนี้ รู้จักกันชื่อต่าง ๆ นานา ไม่ว่าจะเป็น “ประชาธิปไตย” “รัฐธรรมนูญ” หรือ “เสรีภาพ”

ขบวนการเช่นว่านี้ เป็นผลพวงของแนวความคิดทางการเมืองใหม่ ที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น ในช่วงที่สังคมไทย ติดต่อสัมพันธ์กับโลกสมัยใหม่ (ยุคอาณานิคม) ที่มีมหาอำนาจตะวันตก เป็นผู้นำ และ ก็ก่อให้เกิดแนวความคิดทางการเมืองใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เสรีนิยม” และ “สังคมนิยม” อันเป็นสิ่งที่ตรงข้าม และเป็นปฏิปักษ์ กับลัทธิ “อนุรักษ์นิยม” หรือส่วนที่แตกหน่อออกมาเป็น “อำนาจนิยม” ที่เป็นพื้นฐานของ “สมบูรณาญาสิทธิ์” กับ “เสนา – อำมาตยนิยม”

ถ้าหากจะดู ตามลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ แล้ว จะเห็นได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และทางความคิดนี้ กินระยะเวลาอันยาวกว่า 100 ปี เริ่มมาตั้งแต่สมัย ที่ลัทธิอาณานิคมตะวันตก ได้บุกทะลวงเข้ามาในเอเชีย มาปรากฏอิทธิพลในสยาม ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 มีการแปลรัฐธรรมนูญของอเมริกา ลงพิมพ์โดยหมอบรัดเลย์ (มิชชันนารี) ในหนังสือจดหมายเหตุ 19 ตุลาคม 1865 (2408) จากนั้น มีการเรียกร้องให้มีการปกครองโดยมีตัวแทน (รัฐสภา) อย่างกรณีของนักคิดนักเขียน “ปัญญาชนของสังคม” อย่าง “เทียนวรรณ” ในสมัยรัชกาลที่ 5 (แต่เทียนวรรณก็ถูกจับติดคุกเสียตั้ง 17 ปี)

“ระยะเวลาช่วงยาว” ทางประวัติศาสตร์ของขบวนการ ที่จะปลดปล่อยตนเองออกจากระบอบเก่า นี้ ดำเนินเรื่อยมา ดังจะเห็นได้จาก “ประวัติศาสตร์เหตุการณ์” สมัยต่าง ๆ อย่างเช่น “การกบฏ ร.ศ. 130” (พ.ศ. 2454/55) เมื่อต้นรัชกาลที่ 6 ที่นายทหารหนุ่มจำนวนหนึ่ง วางแผน ที่จะยึดอำนาจ เปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ แต่กว่าจะมาประสบความสำเร็จ (ในระดับหนึ่ง) ก็เมื่อ “การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475” ของ "คณะราษฎร"

อาจกล่าวได้ว่า กระแสความคิดทางการเมืองหลัก ของผู้ที่ต้องการจะปลดปล่อย นับตั้งแต่เทียนวรรณ มาถึงพวกกบฏ ร.ศ. 130 (เก็กเหม็ง) จนกระทั่ง “ผู้ก่อการ” หรือ “คณะราษฎร” 2475 นั้น เป็นความคิดด้านเสรีนิยม เป็นหลัก พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นรูปแบบของระบอบประชาธิปไตย และลัทธิรัฐธรรมนูญ ที่ได้รับความบันดาลใจ จากยุโรปตะวันตก นับตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ที่ชูแนวความคิดว่าด้วยเสรีภาพ (เสมอภาค และภราดรภาพ) เป็นหลัก (ซึ่งอาจรวมถึง อิทธิพลของการปฏิวัติประชาธิปไตยของจีน ค.ศ. 1911 ที่มีซุนยัดเซ็นเป็นผู้นำด้วย) แม้จะมีอิทธิพลของสังคมนิยม อันเป็นผลพวงของการปฏิวัติรัสเซีย (1917) แทรกเข้ามา แต่ก็ยังนับได้ว่าเป็นกระแสรอง และถูกสกัดกั้นไว้แต่แรก ๆ

ดังเป็นที่ทราบทั่วไปว่า การปลดปล่อยเข้าสู่ระบอบใหม่ นั้น หาได้บรรลุเป้าหมายตามอุดมการณ์ไม่ หลังการสิ้นสุดของ “สมบูรณาญาสิทธิ์” การเมืองไทย ได้แปลงรูประบอบเข้าสู่ความเป็น “เสนา – อำมาตยนิยม” (ที่เรามักจะเรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า “เผด็จการทหาร” แต่ในความเป็นจริงนั้น มิได้จำกัดอยู่เพียง ข้าราชการทหารเท่านั้น แต่รวมไปถึงข้าราชการพลเรือน และข้าราชการตุลาการด้วย)

ดังนั้น สิ่งที่ขบวนการต้องเผชิญ เป็นระยะเวลาอันยาวนาน ก็คือปลดปล่อยตนเอง อีกครั้งหนึ่ง จากระบอบเก่า (ที่ใหม่กว่า) กินระยะเวลาอันยาวนาน ไม่น้อย นับแต่การรัฐประหาร ของจอมพลผิน ชุณหะวัณ (2490) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากช่วงระยะเวลาอันยาวนาน ของระบอบสฤษดิ์ – ถนอม – ประภาส (2500 – 2516 ) จนกระทั่งปลดปล่อยตัวเองได้ อีกครั้งหนึ่ง (และในระดับหนึ่ง อีกเช่นกัน) เมื่อการปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516

การปลดปล่อยตนเองนี้ ยังยืดเยื้อยาวนานมาอีก ผ่านช่วงของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผ่านช่วงของพฤษภามหาโหด 2535 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน (ซึ่งเราก็ยังคงไม่มั่นใจนัก ต่อทิศทางของประชาธิปไตยไทย) ในช่วงของทางเดินทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย นับแต่ 2519 เป็นต้นมา และเมื่อพิจารณา ด้านของความคิดหลักของขบวนการนี้ ความคิดเสรีนิยม ก็ยังคงเป็น ความคิดกระแสหลักอยู่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ในสมัยสั้น ๆ เพียง 3 ปีระหว่าง 2516 - 2519 นั้น กระแสของสังคมนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปของลัทธิเหมา จะมีอิทธิพล ต่อขบวนการปลดปล่อยไม่น้อย ทั้งนี้ โดยที่ต้องศึกษาควบคู่ไปกับบริบทของการเมืองโลก

“ระยะเวลาช่วงยาว” ของการเมืองโลก

ในหนังสือเล่มล่าสุดของนักประวัติศาสตร์ชื่อดัง ชาวอังกฤษ Eric Hobsbawm: The Age of Extremes, A History of the World , 1914 – 1991 (1994) ได้กล่าวถึงศตวรรษที่ 20 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปว่า ศตวรรษที่ 20 นี้ เป็นศตวรรษที่แสนสั้น เป็นศตวรรษของความสุดขั้ว ความสั้น และความสุดขั้วนี้ ดูได้จากช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ. 1919 – 1991 คือจากปี ที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (ที่ตามมาด้วยการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ที่มีผลสั่นสะเทือนไปทั่วโลกรวมถึงสยาม – ไทยด้วย) และก็จบลงด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต (1991)

ศตวรรษที่ 20 (1900 – 2000) เริ่มต้นด้วยยุคสมัยแห่งความหายนะ (1914 – 1945, Age of Catastrophy) ของสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ที่ความสุดขั้ว และความรุนแรง จากสงครามทั้งสองครั้งในเวลา 30 กว่าปี นั้น ทำให้เกิดความรู้สึกว่า มนุษยชาติอาจไปไม่รอด โลกอาจจะสิ้นสุดลง ด้วยสงครามนิวเคลียร์ แต่แล้วก็ตามมาด้วยยุคทองสั้น ๆ (1950s –1970s, Golden Age) ที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (ในกลุ่มโลกที่หนึ่ง และเครือข่ายจากกลุ่มโลกที่สาม พร้อม ๆ กับการเผชิญหน้าทางอุดมการณ์ ของค่ายทุนนิยม และสังคมนิยม และในสองสามทศวรรษที่เหลือ ก่อนจะปิดศตวรรษ (fin de siecle) ก็เป็นสมัยของวิกฤตการณ์หนึ่ง ต่อด้วยอีกวิกฤตการณ์หนึ่ง เป็นยุคสมัยของความไม่แน่นอน (แม้ในโลกทุนนิยม) และยิ่งในโลกที่สองอย่างรัสเซีย และยุโรปตะวันออกแล้ว ก็เป็นยุคสมัยของความพังทลายและความพินาศ

ศตวรรษที่ 20 กำลังปิดฉากลง ด้วยเสียงที่เปรี้ยงปร้าง (bang) พร้อม ๆ กับเสียงครวญคราง (whimper) ความสุดขั้ว และความรุนแรงของศตวรรษที่ 20 เห็นได้จากการทำลายชีวิตมนุษย์ ทั้งที่เป็นประชาชนของประเทศศัตรู หรือประชาชนของตนเอง แต่ต่างกันที่เผ่าพันธุ์และศาสนา (และความเชื่อทางอุดมการณ์) ประมาณกันว่า “มหามรณะ” (megadeath) ในศตวรรษนี้ ที่เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ด้วยกันเอง มีจำนวนถึง 187 ล้าน

เฉพาะในส่วนของโลกที่สาม ที่กลายเป็นเขตของสงคราม นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปแล้ว (ก็ตาม) จำนวนของชีวิต ที่ถูกทำลายไปในสงครามเล็กสงครามน้อย (สงครามตัวแทน สงครามลัทธิ) กว่า 100 ครั้ง มีถึง 20 ล้านคน แค่เพียงในเอเชียตะวันออก ก็ตกตั้ง 9 ล้าน ในสงครามเกาหลี 3 – 4 ล้าน ในสงครามอันยาวนานในเวียดนาม 30 ปีกว่า 2 ล้าน จำนวนศพ ที่มากมายเป็นตัวเลขสถิติเหล่านี้ ดูเหมือนจะเกินกว่า ที่สติปัญญาของมนุษย์ จะสร้างจินตนาการ ให้มองเห็นภาพได้

ควบคู่ไปกับความสั้น – สุดขั้ว – และรุนแรง ศตวรรษที่ 20 ก็เป็นทั้งผลพวง และรับอิทธิพลจากยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ (Age of Revolution) ที่มีรูปแบบจากการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 และจากการปฏิวัติรัสเซีย 1917 เปิดหัวด้วยความคิดเสรีนิยม และปิดท้ายด้วยความคิด สังคมนิยม กลายเป็นตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจไปทั่ว

ศูนย์กลางของการปฏิวัติทั้งสองครั้ง (ปารีสและมอสโคว์) พยายามที่จะส่งอิทธิพลของการปฏิวัติ และรูปแบบของการเปลี่ยนแปลง ให้เป็นมาตรฐานระดับโลก และก็ได้รับการตอบสนอง จากผู้ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงในส่วนอื่น ๆ ของโลก ไม่น้อย แม้ว่าในปลายทศวรรษ 1950 มอสโคว์ จะคลายมนต์ขลังของความเป็นศูนย์กลางของการปฏิวัติ ดังที่เคยเป็นมาก่อน ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ตาม พร้อม ๆ กับการที่ประเทศ ที่เดินแนวทางสังคมนิยมอย่างจีน และเวียดนาม ได้หันไปยึดแนวทางชาตินิยม หรือผลประโยชน์ของชาติตน มากกว่าแนวทางสากลนิยม หรือการปฏิวัติโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีจีน ที่หันไปร่วมมือกับสหรัฐฯ (แม้จะเป็นทุนนิยม) ต่อต้านสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980

แต่กระแสคลื่นของการปฏิวัตินั้น ก็ยังคงกระจายอยู่ทั่วไป คละเคล้าด้วยความคิด ทั้งแบบเสรีนิยมและสังคมนิยม ที่ผู้ที่ต้องการปลดปล่อยเปลี่ยนแปลงสังคมของตน จะใช้สร้างความบันดาลใจ หยิบยืมไปดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษ 1960 และ 1970 ที่เป็นยุคสมัยของขบวนการนักศึกษา ทั่วทั้งสามโลก

ในโลกที่หนึ่ง อย่างสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตก (รวมทั้งญี่ปุ่น) แนวความคิดปฏิวัติ ที่เป็นที่นิยมในหมู่นักศึกษา ปรากฏออกมาในแง่ของ “การปฏิวัติวัฒนธรรม” มากกว่าที่นักศึกษา จะเข้ายึดอำนาจทางการเมือง เป็นการปฏิวัติวัฒนธรรม ในเชิงการปลดปล่อยตนเอง เป็นรูปแบบของการต่อต้านสถาบันเดิม (anti – establishment) ปลดปล่อยตนเอง จากวัฒนธรรมเก่า สร้างวัฒนธรรมใหม่ ดังเห็นได้จากเพลงร็อค กางเกงยีน บุปผาชน ซ้ายใหม่ หรือ ขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนาม ฯลฯ

ขบวนการนักศึกษานี้ เป็นปรากฏการณ์ระดับโลก

นักศึกษา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่หนึ่ง) คิด รับรู้ ประพฤติ ปฏิบัติ คล้าย ๆ กัน การอ่านหนังสือเล่มเหมือน ๆ กัน มีวีรบุรุษในจินตนาการคล้าย ๆ กัน (เช กูเวรา) ประหนึ่งเป็นเครือข่ายหลวม ๆ จากเบิกเล่ย์ ถึงซอร์บอนน์ จากปร๊าค ถึงบอนน์ จากโตเกียวถึงกรุงเทพฯ (แม้ไทยจะอยู่ในโลกที่สาม นักศึกษาไทย จะแตกต่างจากลักษณะของนักศึกษาในโลกที่หนึ่ง ไม่น้อย แต่เนื่องด้วย ค่ายสงครามเย็น ที่ไทยสังกัดอยู่ และเนื่องด้วยบทบาทของสหรัฐฯ ในไทย โดยเฉพาะในช่วงสงครามเวียดนาม ก็ทำให้นักศึกษาไทย มีส่วนร่วม และส่วนคล้าย กับนักศึกษาในโลกที่หนึ่ง ไม่น้อย)

รัฐในโลกที่หนึ่ง ดูจะแข็งแรงพอ คุ้นเคยกับการเรียกร้องเสรีภาพ และฉลาดพอ ที่จะจัดการกับขบวนการนักศึกษาของตน แม้จะมีการใช้ความรุนแรง ในการจัดการกับคนหนุ่มคนสาวของตน แต่โดยหลักใหญ่แล้ว จะหลีกเลี่ยงการทำลายชีวิต (ยกเว้นในกรณี มหาวิทยาลัยเค้นท์ ปี 1970 ที่นักศึกษาถูกยิงตาย ทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศสหรัฐฯ เกือบทำให้สังคมเป็นอัมพาต)

ขบวนการนักศึกษาในโลกที่หนึ่ง หาได้นำมาซึ่งการปฏิวัติในรูปแบบเก่าไม่ (1789 หรือ 1917) แต่ขบวนการนักศึกษา ก็สั่นคลอนหลายรัฐบาล ในการประท้วงใหญ่ของนักศึกษาฝรั่งเศส 1968 (ที่ถูกตั้งฉายาว่า Almost Revolution) นั้น ปารีส และอีกหลายเมือง กลายเป็นอัมพาต และก็เป็นผลทำให้นายพล (เหล็ก) เดอโกลล์ ไม่สามารถจะอยู่ในอำนาจได้อีกนานต่อไป ในทำนองเดียวกัน นักศึกษาอเมริกัน ก็ทำให้ลินดอน จอห์นสัน ไม่กล้าที่จะสมัครรับเลือกตั้ง เป็นประธานาธิบดีสมัยสอง (1968)

ขบวนการนักศึกษาโลก กลายเป็นพลังทางสังคมและการเมืองสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 ทศวรรษ ที่กล่าวมาแล้ว (ซึ่งก็ตรงกับช่วงของก่อนและหลัง 14 ตุลาคม 2516 จนกระทั่งถึงก่อนและหลัง 6 ตุลาคม 2519) พลังนี้ นักศึกษาได้มาจากการที่อยู่ในสถาบันทางความรู้ มีเวลาพอ ที่จะทำกิจกรรมอยู่ในเมืองใหญ่ ใกล้กับอำนาจและสื่อมวลชน การที่จะจำกัด และกำจัดนักศึกษาทำไม่ง่ายนัก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่หนึ่ง) นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย มักจะมาจากชนชั้นนำของสังคม (หรือจากชนชั้นเดียวกันกับผู้มีอำนาจนั่นเอง)

ในโลกที่สาม รัฐดูจะเปราะบาง ไม่คุ้นเคยกับ (หรือไม่เป็น) ประชาธิปไตย และเสรีภาพ และไม่ฉลาดพอ กับการจัดการกับขบวนการนักศึกษาของตน (โดยสันติวิธี) บ่อยครั้ง รัฐจะทำเกินกว่าเหตุ ใช้ความรุนแรง และการทำลายชีวิตในการเผชิญกับปัญหา เป็นเรื่องเกือบจะปกติทีเดียว ที่ในโลกที่สาม จะเห็นรัฐประกอบ “อาชญากรรม” ดังเช่นในลาตินอเมริกา (อย่างเม็กซิโก ชิลี หรือ อาร์เจนตินา) หรืออย่างในเอเชีย ที่ภาพของ “อาชญากรรมโดยรัฐ” (state crime) จะกลายเป็นภาพ ที่ค่อนข้างคุ้นหูคุ้นตา (ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า เกาหลี จีน ฯลฯ อันเป็นรายการ และรายละเอียดยาวเหยียด แทบไม่รู้จบ)

น่าสนใจและน่าประหลาดใจไม่น้อย ที่แม้รัฐในโลกที่สาม จะปราบปรามนักศึกษา และขบวนการปลดปล่อยของตนเองอย่างหนัก แต่ขบวนการนักศึกษาในประเทศเหล่านี้ ก็ยังเป็นพลังสำคัญ สร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่น้อย อย่างเช่นในเม็กซิโก 1968 เมื่อนักศึกษาประท้วง แต่รัฐปราบปรามทำลายชีวิตไป 28 คน การเมืองเม็กซิโก ก็ไม่สามารถหันกลับไปสู่อำนาจนิยมได้เช่นเดิม เช่นเดียวกับไทย 14 ตุลาคม (1973) ที่เมื่อรัฐทำลายชีวิตไป 70 กว่าคน ระบอบถนอม – ประภาส – ณรงค์ ก็ไม่สามารถจะดำรงอยู่ ต่อไปได้

ไทยแลนด์ 1973 สร้างความบันดาลใจให้ขบวนการนักศึกษากรีก ที่ร้องตะโกนคำว่าไทยแลนด์ ๆๆๆๆ ประหนึ่งจะแปลว่า เสรีภาพ ๆๆๆๆ ในการประท้วงและขับไล่รัฐบาลอำนาจนิยม (เสนา – อำมาตยนิยม) ของตน

อาจสรุปได้ว่า จากระยะเวลาช่วงยาวของการเมืองโลก กระแสความคิด ที่จะปลดปล่อย และพลังของขบวนการนักศึกษานี้แหละ ทำให้เห็นที่มาและที่ไปของ 14 ตุลาคม 2516 กับ 6 ตุลาคม 2519 เยาวชนคนหนุ่มสาวมี “ความฝัน” ที่จะเห็นโลกใหม่ของเขาและเธอ ในฐานะของโลกที่สาม นักศึกษาไทย ก็เข้าไปใกล้ และสั่นคลอนอำนาจของรัฐ มากกว่าเพื่อนร่วมรุ่นของเขา และเธอในโลกที่หนึ่ง

ขบวนการนักศึกษาไทยช่วง 2516 – 2519 ดูจะเป็นส่วนหนึ่งของ “ช่วงระยะเวลายาว” ของการเมืองไทยกว่า 100 ปี ในขณะเดียวกัน ก็เป็นส่วนหนึ่งของ “ช่วงระยะเวลายาว” ของการเมืองโลกกว่า 2 ศตวรรษ มาพร้อม และทันกับระยะเวลา ของการปลดปล่อย และเปลี่ยนแปลงของโลก ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 หลังจากนั้น เพียงไม่กี่ปี เมื่อถึงทศวรรษ 1980 ทุกอย่างก็ดูจะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง สหภาพโซเวียต (และระบบสังคมนิยม) ล่มสลาย เศรษฐกิจการตลาด (คำที่ใช้แทนทุนนิยม) และ (ความกระสัน) โลกาภิวัตน์ ก็ผงาดจนถึงกับเชื่อกันว่า เราจะมุ่งไปข้างหน้าพร้อมด้วย “ความพินาศของอดีต” และ “การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์” กระนั้นแหละ (หรือ)

ที่มา (ตีพิมพ์ครั้งแรก) : พนม เอี่ยมประยูร (บ.ก.) 20 ปี 6 ตุลา, กรุงเทพฯ: คณะกรรมการดำเนินการจัดงาน 20 ปี 6 ตุลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2539, หน้า 59-66