ที่มา มติชน
โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน
ใน ท่ามกลางการรำลึกถึงวีรชนเดือนตุลาคม ขบวนการนิสิตนักศึกษาประชาชน ที่ลุกขึ้นโค่นล้มอำนาจเผด็จการทหารในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก่อนจะถูกกลุ่มอำนาจอนุรักษนิยม ปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
หากนึกย้อนไปในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 เราจะพบว่า เป็นช่วงของการต่อสู้ทางความคิดและอุดมการณ์อันเข้มข้น
ระหว่างคนรุ่นใหม่ที่เรียกหาเสรีภาพประชาธิปไตย เป็นกบฏต่อสังคมเก่า ซึ่งเรียกกันว่าฝ่ายซ้าย
กับ กลุ่มอำนาจล้าหลัง ที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมรับความคิดใหม่ ต้องการสังคมที่มีระบบระเบียบเรียบร้อย ประชาชนเชื่อฟังผู้นำ ซึ่งเรียกกันว่าฝ่ายขวา
การต่อสู้ระหว่าง 2 แนวความคิดนี้ ได้ลุกลามรุนแรง ที่เรียกว่าขวาพิฆาตซ้าย จนกระทั่งในปี 2519 ฝ่ายซ้ายต้องเปลี่ยนเวทีไปอยู่ในป่าเขา
เปลี่ยนรูปแบบการต่อสู้ใหม่ จนมาถึงจุดสลายในช่วงปี 2523-2524
จึงกล่าวได้ว่า ระหว่างปี 2516 จนถึง 2524
เป็นช่วงที่สังคมไทยอยู่ในการเคลื่อนไหวต่อสู้ระหว่างแนวคิดอุดมการณ์อันชัดเจน
สังคมไทยในช่วงนั้น จำแนกคนจากความคิดอุดมการณ์
ไม่มีคำว่าลัทธิคนดีและลัทธิคนเลวมากำหนด
มี อยู่เหมือนกัน บางกลุ่มสำนักที่ยึดถือตัวบุคคล ปั้นเป็นศาสดา แต่ก็ไม่สอดรับกับสถานการณ์โดยรวม เพราะสังคมไทยในห้วงนั้น จะนับถือใครขึ้นอยู่กับว่า ได้เข้ามามีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เป็นจริงหรือไม่
ไม่มีการยึดถือหรอกว่าคนนี้เป็นคนดี ก็ต้องเป็นฝ่ายเทพอย่างเดียว อีกคนเป็นคนเลว ก็ต้องเป็นฝ่ายมารไปตลอดกาล
ใครจะดีหรือเลวขึ้นกับการเข้าร่วมต่อสู้ในขณะนั้นว่า สังกัดความคิดอุดมการณ์แบบไหน
อุดมการณ์ที่กล้าแปรเปลี่ยนสังคมให้ก้าวหน้าไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่าหรือไม่
จนกระทั่งเมื่อฝ่ายซ้ายหมดสิ้นบทบาทไป สังคมไทยก็เริ่มเข้าสู่ยุคใหม่
เป็นยุคยึดถือเอาคำว่า "คนดี" กับ "คนเลว" เป็นหลัก
ยึดมั่นในตัวบุคคล เชิดชูเป็นเทพแห่งความดี หรือเกลียดชังใครก็จัดเป็นปีศาจแห่งขุมนรก เลวไปทุกเรื่อง
ลัทธิ เชิดชูคนดี ก็ดีไปทุกกระเบียดนิ้ว ต่อให้ทำผิดคิดร้าย ใช้อำนาจเข่นฆ่าคนตายไปเกือบร้อย ก็สามารถอธิบายได้ว่า เพราะคนตายมันไปหลงเชื่อปีศาจแห่งความเลวร้าย ดังนั้น คนดีจึงไม่ได้ทำผิดอะไร
เทพแห่งความดี ตัดสินความเลวร้ายในเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนในอดีต ด้วยการออกกฎกติกา ต่อไปนี้สังคมไทยห้ามใช้ทหารเข้ามาปราบม็อบอีก
แต่พอผ่านมาอีกหลายปี มีเหตุการณ์แบบเดียวกัน หลักการเดิมก็หายไป
คงเพราะประชาชนที่ถูกฆ่านั้นถูกตีตราว่าเป็นพวกหลงคนเลว
คนที่ขึ้นทำเนียบเทพเจ้าแห่งความดีไปแล้ว ต่อให้วันหนึ่งไปเขียนจดหมายเชิดชูการทุ่มเทรับใช้การเมือง ก็ไม่ถือว่าผิดปกติอะไร
นักการเมืองเกลียดรูปภาพกับพาดหัวข่าวก็จัดการให้ ละเมิดหลักเสรีภาพแท้ๆ ก็ไม่เป็นไร เพราะคนดีรับใช้คนดีด้วยกัน
แต่เอาเข้าจริงๆ ลัทธิคนดีกับคนเลวที่เฟื่องฟูในช่วงนี้
ก็แค่ความหลงของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอยู่ในฝ่ายฉุดสังคมให้ถอยหลัง ไม่ต่างจากขวาโบราณในยุคเดิมเลย