ที่มา ประชาไท
เผยพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น “ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่” ซึ่งปรับปรุงจาก “บ้านพักศึกษาธิการจังหวัด” จะต้องกลับไปเป็นบ้านพักของ “ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1” ซึ่งจะเดินทางมารับตำแหน่ง 6 ต.ค. นี้ หลังทำหนังสือ “ขอคืนพื้นที่” ด้าน “มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง” วอนราชการทบทวนเพราะภาคสังคมใช้งบหลายล้านซ่อมแซม-ปรับปรุงบ้านเก่าให้กลับ มาใช้ทำกิจกรรม-นิทรรศการ ที่ผ่านมาเยาวชน-ชุมชนได้ใช้ประโยชน์หลายด้าน
“ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน” อาจถูกปรับปรุงกลายเป็นบ้านพักของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 (สพท.ชม.1) ซึ่งมารับตำแหน่งแทนผู้อำนวยการคนเก่าซึ่งก่อนหน้านี้ได้อนุญาตให้มูลนิธิ สถาบันพัฒนาเมืองเข้ามาปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่มาของภาพ: Facebook/ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ (Creative Urban Solutions Center)
"บ้านดินกลางเวียง" ภายใน “ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน” สร้างขึ้นหลังจากได้รับมอบพื้นที่จาก สพท.ชม.1 เมื่อกุมภาพันธ์ปี 2553 โดยสร้างจากขยะรีไซเคิลซึ่งรวบรวมและสร้างโดยอาสาสมัครและมูลนิธิสถาบัน พัฒนาเมืองตั้งแต่ 12 เมษายน 2553
โครงการดังกล่าวเป็นโครงการวิจัย ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยกลุ่มศึกษาเมืองและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยสังคม และภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ที่มาของภาพ: Facebook/ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ (Creative Urban Solutions Center)
(3 ต.ค. 54) ตามที่ประชาไท เคยนำเสนอข่าวเรื่อง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 (สพท.ชม.1) ได้อนุญาตให้มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง ใช้พื้นที่บ้านพักศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ มุมถนนราชวิถีตัดกับถนนราชภาคินัย ซึ่งไม่ได้มีการใช้งานเป็นเวลานานมาปรับปรุงเป็น “ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน” ซึ่งมีรูปแบบเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนแห่งใหม่ และสนับสนุนการศึกษานอกระบบที่เกี่ยวกับวิชาท้องถิ่น เช่น เรื่องผังเมือง สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การสืบทอดภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น เปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2553 นั้น (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)
แจ้งขอพื้นที่คืน-เปลี่ยนเป็นบ้านพัก ผอ.สพท.เชียงใหม่ เขต 1
หนังสือ ศธ.04047/6291 ลงวันที่ 30 ก.ย. 54 ถึงเลขาธิการมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมืองเรื่อง “ขอคืนพื้นที่และอาคารบ้านพักศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ (เดิม)”
ล่าสุดเมื่อ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 โดยว่าที่ ร.ต. อาทิตย์ เรืองวุฒิ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 ได้ทำหนังสือที่ ศธ.04047/6291 ถึงเลขาธิการมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมืองเรื่อง “ขอคืนพื้นที่และอาคารบ้านพักศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ (เดิม)”
โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีคำสั่งแต่งตั้งและโยกย้าย นายชุมพล รัตน์เลิศลบ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 1 มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 แทนนายโกศล ปราคำ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 คนเดิมซึ่งเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. โดยหนังสือระบุว่า “เป็นสิทธิในการเข้าพักอาศัยบ้านพักดังกล่าวเป็นสิทธิตามมาตรา 7 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1”
ท้ายหนังสือยังระบุว่า ผอ.สพท.เชียงใหม่ เขต 1 จะเดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 6 ต.ค. นี้ และจะนำสัมภาระส่วนตัวมาเก็บไว้ในบ้านพักดังกล่าว
มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมืองทำหนังสือขอให้ สพท.ชม.1 ทบทวนการขอคืนพื้นที่
ต่อมาเมื่อ 2 ต.ค. 54 นายศุภวัตร ภูวกุล ประธานมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง (เชียงใหม่) ได้ทำหนังสือถึง รองผู้อำนวยการ สพท.ชม. 1 “เรื่อง ขอให้พิจารณาทบทวนเรื่องการขอคืนพื้นที่และอาคารบ้านพักศึกษาธิการจังหวัด เชียงใหม่ (เดิม)” ในหนังสือระบุว่า “คณะกรรมการมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ได้จัดการประชุมกันในวันที่ 2 ตุลาคม 2554 และมีมติว่า ขอให้ท่านได้โปรดพิจารณาทบทวนการขอคืนพื้นที่ดังกล่าว" โดยให้เหตุผลว่า
“หนึ่ง อาคารนี้ไม่เหมาะสมเป็นที่อยู่อีกแล้ว เนื่องจากได้มีการดัดแปลงให้เป็นอาคารสำหรับการจัดนิทรรศการ และห้องแสดงต่างๆ ตลอดจนห้องและลานกิจกรรมเพื่อการศึกษา
สอง มูลนิธิฯ ได้ใช้เงินปรับปรุงอาคารสถานที่เป็นจำนวนเงินหลายล้านบาท
สาม มูลนิธิฯ ได้จัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้และสร้างสรรค์ของเยาวชนและบุคคล ทั่วไป เพื่อพัฒนาเมือง ชุมชน และสังคมให้เป็นเมืองสีเขียว มีคุณภาพ และมีความน่าอยู่
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เห็นความสำคัญของแหล่งเรียนรู้นี้ จึงได้มอบงบประมาณให้สร้างบ้านดินจากขยะ และวัสดุเหลือใช้กลายเป็นบ้านดินจากเศษขยะหลังเดียวที่มีคนจากทั่วประเทศมา ศึกษาดูงานสมควรที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่
สี่ ในช่วงเวลาปีเศษที่ผ่านมา ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ ณ พื้นที่และอาคารนี้ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางที่สถาบันการศึกษาต่างๆ จัดส่งนักเรียนนักศึกษามาเรียนรู้ ทำกิจกรรม และฝึกงานอย่างต่อเนื่องทั้งในช่วงเวลาเรียนและวันหยุดสุดสัปดาห์ จนเป็นที่รู้จักคุ้นเคยและสร้างชื่อเสียงแก่สำนักงานของท่านที่สนับสนุน กิจกรรมการศึกษาแก่ส่วนรวม
กิจกรรมต่างๆ ที่กล่าวมาได้สนับสนุนการเรียนรู้ของเยาวชนและบุคคลทั่วไปซึ่งเป็นไปตาม ภารกิจของสำนักงานของท่าน และเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดตั้งแต่แรกเริ่มที่สำนักงานของท่านอนุญาตให้ มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมืองเชียงใหม่ใช้พื้นที่และอาคารแห่งนี้
การยุติการใช้พื้นที่บ้านพักศึกษาธิการจังหวัด (เดิม) แห่งนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ฯ โดยที่มูลนิธิฯ ไม่มีสถานที่อื่นรองรับ เท่ากับว่าเมืองเชียงใหม่จะสูญเสียแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับเมืองและชุมชนและ ย่อมเกิดคำถาม ตลอดจนสร้างความเสื่อมเสียแก่หน่วยราชการที่รับผิดชอบด้านการบริหารการศึกษา โดยเฉพาะชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของสำนักงานของท่าน
มูลนิธิฯ ขอขอบพระคุณที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ได้กรุณาให้มูลนิธิฯ ได้ใช้พื้นที่และอาคารแห่งนี้มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 และหวังว่าจะได้รับความกรุณาพิจารณาทบทวนการขอคืนพื้นที่และอาคารฯ จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา”
หารือล่าสุดยังไม่ได้ข้อสรุป ผอ.ยึดระเบียบมีบ้านพักข้าราชการต้องเข้าอยู่
ล่าสุด (3 ต.ค.) ที่อาคารศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ฯ มีการหารือกันระหว่างคณะกรรมการของมูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง กับนายชุมพล รัตน์เลิศลบ ผู้อำนวยการ สพท.ชม.1 โดยทางคณะกรรมการของมูลนิธิหลายคนได้ชี้แจงต่อนายชุมพล ถึงความสำคัญของการมี “ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ฯ” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับชุมชนและเยาวชน ซึ่งมีเยาวชนเข้ามาดูงานอยู่ตลอด
และที่ผ่านมาผู้บริหาร สพท.ชม.1 คนก่อนได้อนุญาตให้ใช้พื้นที่ เพื่อดำเนินการ ต่อมาจึงมีการใช้งบประมาณของมูลนิธิและภาคสังคมใน จ.เชียงใหม่ หลายล้านบาทเพื่อปรับปรุงอาคารบ้านพักศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งอยู่ใน สภาพทรุดโทรม ให้สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ทางสาธารณะได้ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจากโครงการเชียงใหม่เอี่ยม ได้สนับสนุนให้สร้างบ้านดินซึ่งทำจากขยะ โดยสร้างในพื้นที่ซึ่งเป็นศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ฯ ดังกล่าวเพื่อแหล่งศึกษาด้านการจัดการขยะ
ขณะที่นายชุมพล ได้ชี้แจงที่ประชุมว่ามีความเห็นใจในการทำหน้าที่ของทางมูลนิธิ แต่เขาเองก็มีความจำเป็นที่จะต้องย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากคำสั่งย้ายด่วนจาก จ.พะเยา และแม้จะมีภูมิลำเนาอยู่ที่ ต.ริมปิง อ.เมือง จ.ลำพูน คงไม่สามารถเดินทางไปกลับเพื่อมาทำงานที่เชียงใหม่ได้ ทั้งนี้ตามระเบียบราชการถ้ามีบ้านพักให้อยู่ต้องย้ายเข้าไปอยู่ หากไม่เข้าพักและหันไปเช่าบ้านก็เกินกำลังเนื่องจากค่าเช่าบ้านใน จ.เชียงใหม่สูงมากเดือนละกว่าสองหมื่นบาทซึ่งเบิกราชการไม่ได้ ดังนั้นเงินเดือนข้าราชการคงไม่สามารถเช่าได้ นอกจากนี้ตนมีครอบครัว มีแม่และภรรยาที่ต้องดูแล และมีสัตว์เลี้ยงจำนวนหนึ่งด้วย โดยในวันที่ 6 ต.ค. นี้จะต้องย้ายสิ่งของประมาณ 3 คันรถบรรทุก 6 ล้อเข้ามาในบริเวณดังกล่าว
ผอ.สพท.ชม.1 ยังแนะนำให้ทางมูลนิธิไปขอใช้อาคารศาลแขวงเชียงใหม่ หรือศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังเก่าเป็นสถานที่ของศูนย์สร้างสรรค์เมือง เชียงใหม่ฯ แทนพื้นที่บ้านพักศึกษาธิการจังหวัด เพราะเป็นสถานที่ซึ่งถูกทิ้งไว้ ทำให้กรรมการมูลนิธิบางคนชี้แจงว่าทั้งอาคารศาลากลางจังหวัดหลังเก่า ถูกปรับปรุงเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ดำเนินการโดยเทศบาลนครเชียงใหม่ ส่วนอาคารศาลแขวงกำลังถูกปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น
อย่างไรก็ตามการหารือระหว่างผู้บริหาร สพท.ชม.1 และกรรมการมูลนิธิ สถาบันพัฒนาเมืองในวันนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ โดยทางมูลนิธิจะแจ้งผลการหารือไปยังนายชุมพลอีกครั้ง โดยนายชุมพลกล่าวว่าขอให้เป็นคำตอบที่ชัดเจนเพราะเขาเองยังไม่รู้จะไปอยู่ ที่ไหน