ที่มา มติชน
รับชมข่าว VDO ชมคลิป
5 ต.ค.- เมื่อเวลา 16.30 น. ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการเสวนา "จากพ่อจารุพงษ์ ถึง แม่น้องเกด" โดยมีนายจินดา ทองสินธุ์ บิดาของนายจารุพงษ์ ทองสินธุ์ อดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาพูดคุยแลกเปลี่ยนและถอดบทเรียน พร้อมด้วยนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ นางสาวกมนเกด อัคฮาด ผู้ช่วยพยาบาลที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนารามในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 โดยมีนายสมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
นายสมบัติกล่าวเริ่มต้นว่าการจัดเสวนาในวันนี้เป็นการเชื่อมโยงเอาสอง เหตุการณ์ที่บางคนคิดว่าไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกันซึ่งก็คือเหตุการณ์ สังหารหมู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเช้ามืดวันที่6ต.ค.2519กับเหตุ การณ์เมษา-พฤษภาปี53แต่ตนและคณะผู้จัดงานมีความมั่นใจว่า แม้ว่าทั้งสองเหตุการณ์จะเป็นคนละเหตุการณ์กัน แต่ก็มีรากฐาน มีเรื่องราว มีพฤติกรรมของการกระทำเหมือนกัน นั่นก็คือการเอาประชาชนเป็นเครื่องสังเวยเพื่อรักษาอำนาจ
นายสมบัติ:อยากให้ช่วยเล่าว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนั้นเมื่อ35ปีที่แล้วแล้วเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อคุณและครอบครัวอย่างไร
นายจินดา:รัฐบาลในขณะนั้นเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารช่วงหลัง เหตุการณ์14ตุลาได้ผ่านไปแล้วผมยังดีใจว่าเหตุการณ์ความรุนแรงได้ผ่านพ้นไป แล้วฝ่ายรัฐบาลก็ยอมลงจากอำนาจ มีการเลือกตั้งใหม่มีการเปลี่ยนรัฐบาลเป็น รัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นมาอีก
"วันที่ 7 (ต.ค. 2519) เข้ามาดูให้เห็นกับตา พอเห็นแล้วมันน่ากลัว ผมมาเห็นสนามหลวงวันนั้นยังกรุ่นไปด้วยควันไฟอยู่ มีกลิ่นยางไหม้ กลิ่นคนถูกเผา มีคำถามว่า ทำไมเหตุการณ์มันถึงเกิดซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเราไม่เอามาเป็นบทเรียน นี่เป็นเหตุการณ์ที่ตอนนี้ยังมีข้อกังขากันอยู่ แต่จะไปโทษใครได้"
"ผมอยากให้ปี 2553 ที่ผ่านมาเป็นครั้งสุดท้าย เหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์มันเหมือนกัน เพียงแต่ของผมมันเนิ่นนานมาแล้ว" นายจินดากล่าว
ทางด้านนางพะเยาว์กล่าวว่า "ตัวเราเองเป็นแม่ค้า เราไม่เคยสนใจการเมือง แต่พอผลกระทบมันเกิดขึ้นกับตัว กับลูกของเรา มันเป็นจุดเปลี่ยนให้เราหันมาตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น"
"วันนั้นตอนที่โทรหาลูกเสียงแรกที่ได้ยินก่อนเสียงลูกคือเสียงปืนถาม ว่าลูกอยู่ไหนลูกบอกอยู่หน้าวัด เราเลยบอกให้ลูกหลบเข้าไปอยู่ในวัด(วัดปทุมวนาราม)แล้ววันนี้ยังไม่ต้อง กลับเข้าไปหลบก่อน ลูกเคยบอกเราว่าลูกเป็นอาสาพยาบาลเขาจะไม่แตะแม่ไม่ต้องห่วง ต่อมาหน่วยกู้ภัยก็โทรมาบอกว่าน้องเกดถูกยิง"
นางพะเยาว์กล่าวต่อว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาทั้งที่เกิดขึ้นในอดีตและ ปัจจุบันมีความคล้ายกัน คือการฆ่าประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ตนคิดอยู่อย่างว่าเวลาผ่านมาประเทศล้ำสมัยมากขึ้น อะไรๆก็ทันสมัยมากขึ้น แต่อย่างหนึ่งที่ไม่ยอมไปกับความทันสมัยคือระบอบเผด็จการที่ยังมีอยู่ เหมือนมันฝังรากลึก "ที่ผ่านมาเราไม่มีหรอกคำว่าประชาธิปไตยเราถูกหลอก"
"35 ปีที่แล้ว ทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารหมู่ประชาชนกลับได้ยศได้ตำแหน่ง คุณได้รับการนิรโทษกรรม คุณไม่ติดคุก แต่นักศึกษาติดคุก หนีเข้าป่า แต่ทหารยังอยู่ดีมีสุข เวลานี้ปี 2553 มีคนตาย เวลานี้บ้านเมืองทันสมัยขนาดไหน ระบบดาวเทียมก็มีแล้ว แกนนำเสื้อแดงก็ติดคุกไปแล้ว ประชาชนก็ติดคุกไปแล้ว แต่ทหารกับรัฐบาลซึ่งเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องยังไม่มีใครถูกลงโทษแม้แต่คน เดียว"
นางพะเยาว์กล่าวว่า"เหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์นั้นแม้จะเกิดขึ้นในช่วง เวลาที่ต่างกันแต่คำที่ใช้กล่าวอ้างในการสังหารประชาชนก็เหมือนกันการกระทำ ก็เหมือนกัน"
นายสมบัติหันไปถามนายจินดาว่า ในตอนนั้น(ปี2519)มีการใช้สื่อของรัฐบาลประโคมข่าวว่าพวกที่อยู่ในม็อบเป็น คอมมิวนิสต์ เป็นผู้ก่อการร้าย เป็นพวกล้มเจ้า ในขณะที่ตอนนี้มีความชัดเจนแล้วว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐเข่นฆ่าประชาชนคำถามผม ก็คือว่า 35 ปีที่แล้ว รัฐทำอย่างไรถึงได้ทำให้มีมวลชนกลุ่มหนึ่งมาล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ เข้าไปลาก ทำร้ายนักศึกษา ตีจนตาย เอาไปแขวนคอ เอาไปเผายาง เอารองเท้ายัดปาก ทำไมความรู้สึกเคียดแค้นชิงชังนักศึกษาในสมัยนั้นถึงได้กลายเป็นการใช้อาวุธ สงคราม คุณจินดาคิดว่าความรู้สึกแบบนี้มันเกิดขึ้นได้ยังไง
นายจินดาตอบว่าตนเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้นได้ยังไงแต่สิ่งที่ตนรู้คือเราเป็นผู้ถูกกระทำ
นายสมบัติ:เราจะให้อภัยได้ไหม
นางพะเยาว์:การให้อภัยต้องเกิดหลังจากที่ความจริงปรากฎแล้ว
ก่อนจบการเสวนานายสมบัติได้กล่าวว่า การเสวนาในวันนี้เป็นการถอดบทเรียนของสิ่งที่เคยเกิดขึ้นสองเหตุการณ์ดัง กล่าวมีความละม้ายคล้ายกันอย่างยิ่ง เป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากอุดมการณ์และความคิดที่ขัดแย้งกันในสังคม ผู้กระทำก็เป็นตัวละครที่คล้ายๆกัน
"ผมไม่มั่นใจว่าการให้อภัยโดยที่ให้ทุกอย่าง มัน"จบๆไป"มันจะแปลว่าเหตุการณ์อย่างนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกหรือเปล่า แล้วก็ไม่มั่นใจว่าการที่เรายืนหยัดอย่างถึงที่สุดที่จะหาความจริง อีกฝ่ายจะลุกขึ้นมาต่อสู้และนำไปสู่เหตุการณ์ครั้งที่สามหรือไม่"