ที่มา thaifreenews
โดย bozo
นปช.เร่งรัฐสรุปเยียวยา
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 5 ต.ค. ที่อิมพีเรียล ลาดพร้าว
นางธิดา โตจิราการ รักษาการประธานนปช. แถลงว่า ขอเรียกร้องรัฐบาล
และคณะกรรมการเยียวยาที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
เร่งทำงานให้เร็วที่สุด
เพราะประชาชนแบกรับปัญหาต่างๆ มาปีเศษแล้วยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ
ขอให้ชัดเจนว่ารัฐบาลจะเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตเท่าใด
อย่างเหตุการณ์พฤษภาฯ 35 มีการเยียวยาผู้เสียชีวิตรายละ 6 ล้านบาท
ส่วนข้อเสนอ 10 ล้านบาทของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็เป็นเพียงการเสนอขั้นต้น
รายละเอียดรัฐบาลก็ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมอีกครั้ง
รวมถึงเร่งทำความจริงให้ปรากฏเพื่อพัฒนาไปสู่ความปรองดอง
จี้ลงสัตยาบันศาลอาญาโลก
นางธิดากล่าวต่อว่า นอกจากนี้นานาประเทศกำลังจับตามองประเทศไทยในเรื่องสิทธิมนุษยชน
โดยได้เสนอข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งให้สัตยาบันสัญญากรุงโรม
ว่าด้วยศาลอาญาระหว่าง ประเทศ
ซึ่งเป็นศาลอาญาระหว่างประเทศถาวรแห่งแรกและแห่งเดียวของโลก
ที่มุ่งจัดการคดีที่มีลักษณะอาชญากรสงคราม อาชญากรต่อมนุษย ชาติและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาการที่ประเทศไทยไม่สามารถส่งคดีความ
เพื่อไปดำเนินคดีในศาลอาญาระหว่างประเทศได้
เนื่องจากยังไม่ลงสัตยาบันกับศาลอาญาระหว่างประเทศ จึงอยากให้รัฐบาลเร่งพิจารณา
หากขั้นตอนนี้ผ่านแล้ว
สิ่งที่นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายคนเสื้อแดงได้ยื่นเรื่องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ
ก็สามารถจะดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสังหารประชาชน เมื่อเดือนเม.ย.และพ.ค.53 ได้
ซึ่งคนเสื้อแดงสนับสนุนให้รัฐบาลลงสัตยาบัน เพราะเป็นช่องทางที่ทำให้การฆ่าคนมือเปล่าไม่เกิดขึ้นอีก
บี้ไม่รับรายงานกสม.
นางธิดากล่าวว่า
คนเสื้อแดงยังขอเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย
เกี่ยวกับรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่าเป็นรายงานที่ไม่จริง
เพราะมีความเท็จเกินครึ่ง โดยเฉพาะการปราบปรามประชาชน
เนื่องจากขณะนี้ประเทศต่างๆ
ไม่เชื่อความเป็นกลางของกสม. ไม่เชื่อคอป.
และมีคำถามจากหลายประเทศ อาทิ
สาธารณรัฐเช็ก สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์
เกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในไทย
หวั่นคุกคามพยานคดี 13 ศพ
นางธิดากล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินคดี 13 ศพ ที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ว่า
ขอให้พยานที่จะเข้าให้การอย่าไปให้การกับตำรวจตามลำพัง
ขอให้เข้ามาติดต่อกับศูนย์ของ นปช.ก่อน
เพื่อจะได้จัดทนายความให้ความปรึกษา
เพื่อให้สำนวนรัดกุม และไม่ถูกคุกคาม ในการสอบสวนพยาน
กต.แจงลงสัตยาบันต้องผ่านสภา
ด้านนายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
ให้สัมภาษณ์ชี้แจงเกี่ยวกับเสียงเรียกร้องของกลุ่มคนเสื้อแดงว่า
ปัจจุบันถือว่าไทยยังไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกของธรรมนูญดังกล่าว
แม้จะได้ลงนามไปแล้วเมื่อ 2 ต.ค.2543 แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน
โดยทางกระทรวงการต่างประเทศกำลังอยู่ในระหว่าง
การศึกษารายละเอียดทางข้อกฎหมาย
คาดว่าหากแล้วเสร็จจะต้องเสนอต่อทางรัฐบาล เพื่อเข้าที่ประชุมครม.
และหากมีข้อกฎหมายที่ต้องแก้ไข หรือตราขึ้นใหม่เพื่อรองรับ ก็จำเป็นต้องผ่านรัฐสภา
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd01ERXdPREEyTVRBMU5BPT0=§ionid=TURNd01RPT0=&day=TWpBeE1TMHhNQzB3Tmc9PQ==