ที่มา ประชาไท
3 บริษัท ที่ปรึกษาโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน แจงเหตุผลการศึกษาความเหมาะสม-วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านเว็บไซต์ โดนชาวบ้านจวกเล่นสกปรก ไม่ชี้แจงต่อหน้า ยันเดินหน้าคัดค้านต่อ ชี้ไม่โดนเองไม่รู้สึก
วันนี้ (4 ต.ค.54) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทที่ปรึกษา โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งประกอบด้วย บริษัท พี แอนด์ ซี แมเนจเมนท์ จำกัด บริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด และกรมชลประทาน เผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่มีกลุ่มชาวบ้านรวมตัวกันคัดค้านโครงการดังกล่าว พร้อมให้เหตุผลโต้แย้งต่อข้อคัดค้านของชาวบ้าน
เอกสารการชี้แจงเหตุผลของกลุ่มผู้คัดค้าน ดังกล่าวระบุว่า กลุ่มผู้คัดค้านโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน ซึ่งอ้างว่าเป็นพี่น้องประชาชนบ้านโป่งอาง ม.5 ต.เมืองนะ ชุมชนลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน/ลุ่มน้ำแม่คอง เครือข่ายทรัพยากรอำเภอเชียงดาว พี่น้องปลายน้ำลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน ชุมชนลุ่มน้ำแม่ป๋าม ได้จัดทำแถลงการณ์ เรื่อง “ขอคัดค้านการดาเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่” [A] มีข้อสังเกตการศึกษาโครงการฯ ในประเด็นต่างๆ ซึ่งทางที่ปรึกษาและกรมชลประทานขอชี้แจงในแต่ละประเด็นดังนี้
1. การรับรู้ข้อมูลข่าวสารการดำเนินงานตามโครงการ ชุมชนไม่มีโอกาสเข้าถึง รับรู้ข่าวสาร รายละเอียดโครงการฯ ที่เป็นจริงรอบด้าน เช่น กรณีการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทางคณะศึกษาได้เบี่ยงเบนประเด็น โดยพยายามอธิบายในเรื่องการพัฒนาและซ่อมแซมระบบชลประทานเดิมให้มี ประสิทธิภาพ มิได้กล่าวถึงโครงการสร้างอ่าง (เขื่อน) แม่น้ำปิงตอนบนแต่อย่างใด
คำชี้แจง ในการดำเนินงานก่อนเริ่มงาน ได้จัดให้มีการประชุมปรึกษาหารือ ในช่วงวันที่ 18-20 ตุลาคม 2553จำนวน 4 เวที ประกอบด้วยเวทีที่ 1 ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านโป่งอาง ผู้เข้าร่วมประชุม 13 คน เวทีที่ 2 ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลเมืองนะ ผู้เข้าร่วมประชุม 23 คน เวทีที่ 3 ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลพระธาตุปู่ก่ำ ผู้เข้าร่วมประชุม 22 คน และเวทีที่ 4 ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลเชียงดาว ผู้เข้าร่วมประชุม 93 คน โดยเป็นการเปิดพื้นที่เพื่อรับฟังสภาพปัญหาด้านทรัพยากรน้ำ พบว่า ในพื้นที่ อ.เชียงดาว ได้เสนอปัญหาเกี่ยวกับการชำรุดของโครงการชลประทานเดิม การพัฒนาฝาย/โครงการขนาดกลางและขนาดเล็กที่ชุมชนเสนอ และเห็นด้วยกับการศึกษาอ่างเก็บน้าแม่ปิงตอนบน (อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง) เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับการขาดแคลนน้ำและน้ำท่วมที่อาจจะมีความ รุนแรงในอนาคต
ผลจากการประชุมปรึกษาหารือดังกล่าว กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้นำมาจัดทำกรอบและแผนการศึกษาโครงการ นำเสนอในการประชุมปฐมนิเทศโครงการในวันที่ 21 มกราคม 2554 ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลเชียงดาว โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย การจัดทำแผนการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำแม่น้ำปิงตอนบน และการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำ แม่ปิงตอนบน โดยในการจัดทาแผนพัฒนาแหล่งน้ำประกอบด้วย 3 แผนงาน ได้แก่ การปรับปรุงโครงการเดิม การพัฒนาแหล่งน้ำระดับชุมชน และการพัฒนาแหล่งน้ำระดับลุ่มน้ำ (อ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน) ส่วนการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำ แม่ปิงตอนบน ประกอบด้วย ขั้นตอนการศึกษา การสำรวจ และแนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อ ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามประกาศ ทส. 29 ธันวาคม 2552
หลังจากการนำเสนอแผนการดำเนินงานในการปฐมนิเทศโครงการ (Public Scoping) แล้ว ได้มีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงการชลประทานเดิม แผนการพัฒนาโครงการชลประทานขนาดกลางและขนาดเล็กในลุ่มน้ำ และการกำหนดที่ตั้งโครงการ นำมาเสนอในการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 ในวันที่ 24 มีนาคม 2554 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 96 คน เปิดโอกาสให้ที่ประชุมแสดงความคิดเห็น และสรุปผลการประชุมส่งให้กับเทศบาลตำบล และหน่วยงานราชการในอำเภอเชียงดาวในวันที่ 5 เมษายน 2554
นอกจากนี้ ในการประชุมทุกครั้ง ได้มีการพบปะผู้นำชุมชนในพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การประชุม ข้อมูล และรายละเอียดในการประชุมแต่ละครั้ง พร้อมทั้งเชิญผู้มีส่วนได้เสียของโครงการให้เข้าร่วมประชุมทุกครั้ง อีกทั้งในเอกสารประกอบการประชุมปฐมนิเทศโครงการในวันที่ 21 มกราคม 2554 ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน และขั้นตอนการศึกษา การสำรวจโครงการอย่างละเอียด
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าในการศึกษาโครงการตั้งแต่เริ่มศึกษา ได้มีการชี้แจงและให้ข้อมูลข่าวสาร การดำเนินงานของโครงการทุกระยะและทุกด้าน ทั้งในส่วนของแผนการพัฒนาแหล่งน้ำ และการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำ แม่ปิงตอนบน ผ่านทางผู้นำชุมชน การประชุม ติดประกาศตามเทศบาล และหน่วยงานราชการต่างๆ ในอำเภอเชียงดาว
2. กระบวนการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจไม่ได้เกิดขึ้นจากคนในชุมชนอย่างแท้จริง เพราะคนในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการสร้างเขื่อน ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่มีการดึงเอาหน่วยงานราชการ ชุมชนนอกพื้นที่ มาเข้าร่วมกิจกรรมการศึกษาโครงการเป็นหลัก
คำชี้แจง ในกระบวนการมีส่วนร่วมได้เปิดโอกาสให้คนในชุมชนโดยเฉพาะบ้านโป่งอางเข้ามามี ส่วนร่วมและตัดสินใจ โดยก่อนเริ่มศึกษาโครงการ ได้จัดให้มีการประชุมปรึกษาหารือในลักษณะ Focus Group ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งได้มีการแสดงความคิดเห็น และเสนอแนะเกี่ยวกับการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ และในระหว่างการศึกษาโครงการ ได้เชิญผู้นำชุมชนและคนในชุมชนเข้าร่วมประชุมในแต่ละครั้ง
สำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมการศึกษาโครงการ ได้มีชาวบ้านโป่งอางได้สมัครเข้าร่วมเป็นอาสาท้องถิ่น ตั้งแต่เดือนตุลาคมจำนวน 8 คน และได้ร่วมสำรวจในด้านแหล่งท่องเที่ยว สัตว์ป่า ป่าไม้ คุณภาพน้ำ นิเวศทางน้ำ การประมง แหล่งโบราณคดีและประวัติศาสตร์ และด้านสุขภาพ มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างอาสาท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ทำให้การศึกษามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การศึกษายังได้นำเอาข้อคิดเห็น และคำแนะนำจากคนในชุมชนที่เสนอในการประชุมและพบปะแต่ละครั้งเข้ามาประกอบการ ศึกษาโครงการ เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำขอให้มีการใช้ประโยชน์ในชุมชนอำเภอเชียงดาวเป็นลำดับแรก ไม่มีการผันน้ำไปยังลุ่มน้ำอื่น มีการระบายน้ำในฤดูแล้งเพื่อรักษาระบบนิเวศ การศึกษาต้องเน้นที่ความปลอดภัยของอาคารหัวงานและชุมชนในพื้นที่ สิทธิประโยชน์ของการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการที่จะมีในอนาคต เช่น ให้สิทธิในการประมงในอ่างเก็บน้ำ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมทั้งส่วนแบ่งรายได้อื่นๆ ที่จะเกิดจากการพัฒนาโครงการ ขอให้พิจารณาชุมชนหมู่ 5 เป็นลำดับแรก ซึ่งคณะผู้ศึกษาได้นำมาเป็นกรอบการศึกษาแนวทางการพัฒนาโครงการระยะต่อไป
3. ขั้นตอน กระบวนการศึกษามีลักษณะเร่งรีบในการดำเนินการ ขัดหลักวิชาการ ขาดรายละเอียดของการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพอย่างรอบด้าน
คำชี้แจง การศึกษามีระยะเวลา 20 เดือน (ปัจจุบันยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ) กระบวนการศึกษาและขั้นตอนในการดำเนินการ เป็นไปตามหลักการของกรมชลประทานและครอบคลุมการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวด ล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามประกาศ ทส. 29 ธันวาคม 52
โดยในระหว่างการดำเนินการ จะมีการประชุมย่อยหลายครั้งเพื่อนำเสนอผลการศึกษาในแต่ละขั้นตอน ได้แก่ การจัดทำแผนการพัฒนาลุ่มน้ำ การศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน ความก้าวหน้าการศึกษา การคัดเลือกองค์ประกอบ รายละเอียดโครงการ ผลกระทบที่เกิดขึ้น และแนวทางป้องกันและแก้ไขผลกระทบ ซึ่งครอบคลุมทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ และเมื่อสิ้นสุดการศึกษาจะนำรายละเอียดทั้งหมดไปเสนอต่อชุมชนเพื่อให้ตรวจ สอบอีกครั้งหนึ่ง
4. ที่ตั้งโครงการอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนโป่งอางดังกล่าว อยู่ห่างจากชุมชนเพียงแค่ 1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ รวมถึงพื้นที่น้ำท่วมอยู่ในเขตพื้นที่ป่าต้นน้าแม่ปิง ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพร ป่าชุมชน ของคนในชุมชน ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญไหลหล่อเลี้ยงชุมชนผ่านระบบเหมืองฝายของหมู่ บ้านและชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเชียงดาว เชียงใหม่ จนถึงที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา
คำชี้แจง ที่ตั้งของโครงการได้พิจารณาจากแนวทางเลือก 3 ทางเลือก โดยทางเลือกที่คัดเลือกจะมีปริมาณน้ำท่ามาก และตำแหน่งที่ตั้งโครงการที่อยู่ใกล้เคียงกับชุมชน ทำให้การเข้าถึงพื้นที่โครงการสะดวกกว่าทางเลือกอื่น ช่วยส่งเสริมกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของชุมชนได้ (ข้อมูล จากการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 และการพบปะผู้นำชุมชนในช่วงเดือนมีนาคม 2554)
ส่วนด้านความปลอดภัยของโครงการ ได้ทำการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความมั่นคงแข็งแรงของหัวงาน โดยเฉพาะด้านแผ่นดินไหว รวมถึงได้ศึกษาวางแผนปรับปรุงภูมิทัศน์ และการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนกับโครงการ ในรูปแบบเดียวกับเขื่อนขุนด่านปราการชล (จ.นครนายก) ที่ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับเขื่อนและสามารถต่อยอดในด้านเศรษฐกิจของชุมชนได้
พื้นที่อ่างเก็บน้ำ (พื้นที่น้ำท่วม) อยู่บริเวณชายขอบอุทยานแห่งชาติผาแดง และบางส่วนมีการให้สิทธิทำกินกับชาวบ้านในหมู่ 5 แล้ว โดยพื้นที่อ่างเก็บน้ำจะจำกัดอยู่ในบริเวณช่องเขา ซึ่งไม่กระทบกับพื้นที่อุทยานส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร สมุนไพร และป่าชุมชน ที่สำคัญของคนในชุมชน
และในการศึกษา จะพิจารณาแนวทางการแก้ไขและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด ส่วนการไหลในแม่น้ำปิง อ่างเก็บน้ำจะทำหน้าที่กักเก็บชะลอน้ำส่วนเกินในฤดูฝน นำไปใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชุมชนทั้ง 6 ตำบลในพื้นที่ อ.เชียงดาว นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการระบายน้ำรักษาระบบนิเวศในฤดูแล้ง จึงไม่เกิดผลกระทบต่อการไหลในลำน้ำในพื้นที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จนถึงที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา
นางสาวธิวาภรณ์ พะคะ ตัวแทนชาวบ้านโป่งอาง แสดงความเห็นต่อ กรณีการชี้แจงข้อมูลผ่านเว็บไซต์โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน กรมชลประทาน ว่า คำชี้แจงนี้ทางบริษัทที่รับจ้างและกรมชลฯ ควรจะตอบต่อหน้าชาวบ้านมากกว่า การอาศัยชี้แจงเหตุผลผ่านทางเว็บไซต์เช่นนี้เป็นการใช้วิธีการที่สกปรกมาก พร้อมระบุด้วยว่า โครงการดังกล่าวไม่มีความโปร่งใส ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมในโครงการนี้ เพราะหากมีการก่อสร้างโครงการจริงชาวบ้านจะต้องได้รับผลกระทบ แต่กลับไม่ยอมเปิดเผยความจริงให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้รับรู้ตั้งแต่เริ่ม ต้นโครงการ
“ชาวบ้านต้องถูกเวนคืนที่ดินหรือย้ายออกไปอยู่ที่อื่น แล้วเราจะต้องได้รับผลกระทบอีกมหาศาล ความเป็นพี่เป็นน้องก็ต้องมีการแยกจากกัน วัฒนธรรม วิถีชีวิต ที่อยู่ในผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในพื้นที่อำเภอเชียงดาวก็จะไม่ หลงเหลือ”
“อยากจะฝากผ่านทางกรมชลประทาน ให้มีความเมตตาชาวบ้าน และทุกสิ่งทุกอย่างนั้น เรามีความเชื่อว่าจะจบลงที่กรมชลประทาน ถ้ากรมชลประทานยุติ หรือเลิกสัญญาจ้างกับทางทีมที่เข้ามาศึกษาโครงการนี้ เพราะที่ผ่านมา ทีมศึกษาฯ นั้นได้มาหลอกทั้งชาวบ้านและหลอกทั้งกรมชลประทาน โดยการใช้ทุกวิธีต่างๆ ซึ่งมาถึงตอนนี้ ชาวบ้านทุกคนก็ยืนยันจะไม่ยอมให้มีการสร้างเขื่อน ไม่ยอมให้เข้ามาศึกษาอีกต่อไป ถึงแม้จะมีการส่งทีมใหม่เข้ามาศึกษาอย่างไรก็ตาม ทางชาวบ้านเองก็จะไม่เอาอยู่แล้ว” นางสาวธิวาภรณ์กล่าว
ส่วน นายกลิ้ง ผู้อาวุโสหมู่บ้านโป่งอาง วัย 74 ปี เล่าว่าว่า ทุกวันนี้ นอนไม่หลับ ก็เพราะการเครียดเรื่องของเขื่อนที่เขาจะมาสร้างนี่แหละ มันมีความน่ากลัว เปรียบเสมือนจมูกที่เกิดการอุดตัน และลำน้ำเป็นร่องเล็กๆ เวลาที่ถูกปิดกั้นลำน้ำก็จะขึ้นสูง ถ้ามีการเก็บกักก็จะเทียบเท่ากับตึก 20 กว่าชั้นเลยทีเดียว
นอกจากนั้น ผู้อาวุโสของหมู่บ้านโป่งอางยังเรียกร้องไม่ให้มีการก่อสร้างหรือการสำรวจ กระบวนการศึกษาต่างๆ เนื่องจากคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างใหญ่หลวง
“ที่ผ่านมา พวกเขาบอกข้อมูลแต่ส่วนดี และพยายามจะเข้ามาอยู่ แน่ละ พอเขื่อนสร้างขึ้นมาแล้ว พวกท่านไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ท่านอยู่ที่อื่น อยู่ที่กรุงเทพหรือที่ไหน ที่ไม่ใช่พื้นที่สร้างเขื่อน และท่านก็จะบอกว่าสร้างเสร็จเรียบร้อย แต่ชาวบ้านต้องอยู่ที่นี่ชาวบ้านจะเป็นตายร้ายดีช่างมัน แล้วถ้าเกิดพังขึ้นในวินาทีเดียว เวลากลางคืน เวลาคนนอนหลับ เงียบ ไม่รู้นอนคดคู้อยู่ ไม่สามารถเอาตัวรอดได้ ก็ตายทั้งหมด ไม่มีใครที่จะเอาตัวรอดได้ แม้กระทั้งสัตว์” นายกลิ้ง กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ แถลงการณ์ของชาวบ้านที่ถูกระบุ ถึงในเอกสารการชี้แจงเหตุผลของกลุ่มผู้คัดค้าน ดังกล่าว มีรายละเอียด ดังนี้
แถลงการณ์ เรื่อง ขอคัดค้านการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ หรือจิตวิญญาณ ดิน ป่า และสายน้ำ อันจะนำไปสู่ความขัดแย้ง ทำลายรากเหง้า วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่บ้านโป่งอางและพี่น้องต้นน้ำแม่ปิงตอนบน เรียน นาย สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ ประธานคณะกรรมการดูแลกำกับงานทีปรึกษาด้านวิชาการ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ท่านนายอำเภอเชียงดาว กำนัน ผู้ใหญ่บ้านอำเภอเชียงดาว องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาลตำบล 7 ตำบลอำเภอเชียงดาว หน่วยงานราชการในพื้นที่ อำเภอ จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน คณะผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ทำการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม บริษัท ที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วย บริษัทพี แอนด์ ซีแมเนจ เมนท์ จำกัด บริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัดและบริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด ตาม ที่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการเข้ามาทำการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ สัญญาจ้างเลขที่ จ.46/2553 (กสพ.1) ลงวันที่ 20 กันยายน 2553 วันที่เริ่มปฏิบัติงาน 24 กันยายน 2553 ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 รวมระยะเวลา 600 วัน เบื้อง ต้นทางคณะศึกษาฯร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ ได้เข้ามาจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ปิง 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 เดือนมกราคม 2554 ครั้งที่ 2 วันที่ 24 มีนาคม 2554 และครั้งที่ 3 วันที่ 5 เมษายน 2554 ประเด็นเวทีรับฟังความคิดเห็น มีการชี้นำและโน้มน้าวให้เห็นชอบและสนับสนุนการศึกษาความเหมาะสมและ วิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน นอกจากการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นแล้ว ทางคณะศึกษาฯยังได้ลงพื้นที่ ณ ที่ตั้งโครงการ ในบ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อจัดทำข้อมูลทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ระบบนิเวศพื้นที่และสุขภาพของคนในชุมชน ซึ่งการลงพื้นที่ในระยะเวลาที่ผ่านมานั้นทางชาวบ้านไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าว สารที่เกี่ยวกับผลกระทบจากการดำเนินการโครงการฯใดๆทั้งสิ้น การให้ข้อมูลของคณะทำงานศึกษาฯที่ผ่านมายังมิได้ให้ข้อมูลที่เป็นจริงอย่าง รอบด้านทั้งหมดของตัวโครงการ ทางชุมชนจึงตั้งข้อสังเกตการศึกษาโครงการฯในประเด็นดังต่อไปนี้ 1.การ รับรู้ข้อมูลข่าวสารการดำเนินงานตามโครงการ ชุมชนไม่มีโอกาสเข้าถึง รับรู้ข่าวสาร รายละเอียดโครงการฯ ที่เป็นจริงอย่างรอบด้าน เช่นกรณีการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทางคณะศึกษาได้เบี่ยงแบนประเด็น โดยพยายามอธิบายในเรื่องการพัฒนาและซ่อมแซมระบบชลประทานเดิมให้มี ประสิทธิภาพ มิได้กล่าวถึงโครงการสร้างอ่าง (เขื่อน) แม่น้ำปิงตอนบนแต่อย่างใด 2.กระบวน การมีส่วนร่วมและการตัดสินใจไม่ได้เกิดขึ้นจากคนในชุมชนอย่างแท้จริง เพราะคนในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการสร้างเขื่อน ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่มีการดึงเอา หน่วยงานราชการ ชุมชนนอกพื้นที่ มาเข้าร่วมกิจกรรมการศึกษาโครงการเป็นหลัก 3.ขั้น ตอน กระบวนการศึกษามีลักษณะเร่งรีบในการดำเนินการ ขัดหลักวิชาการ ขาดรายละเอียดของการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรอบด้าน 4.ที่ ตั้งโครงการอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนโป่งอางดังกล่าว อยู่ห่างจากชุมชนเพียงแค่ 1 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่ รวมถึงพื้นที่น้ำท่วมอยู่ในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่ปิงที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพร ป่าชุมชน ของคนในชุมชน ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญไหลหล่อเลี้ยงชุมชนผ่านระบบเหมืองฝายของหมู่ บ้านและชาวบ้านในพื้นที่อำเภอเชียงดาว เชียงใหม่จนถึงที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา จาก การดำเนินงานของกรมชลประทานและคณะทำงานศึกษานำโดย รศ.ดร.เลิศ จันทนภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมตามโครงการฯดังกล่าว ทางชุมชนบ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียและได้รับผลกระทบโดยตรง จึงเห็นว่า การดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ของกรมชลประทานและคณะทำงานฯ เป็นไปในลักษณะที่ละเมิดสิทธิของชุมชน ซึ่งบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมถึงฐานทรัพยากรฯที่ชุมชนได้อาศัยเป็นแหล่งอาหาร แหล่งสมุนไพร และป่าชุมชน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นแหล่งซุปเปอร์มาเก็ตของชุมชน (กาดของคนตุ๊ก) สัมพันธ์กับวิถีการดำรงชีวิตตามวัฒนธรรม องค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น พึ่งพาอาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ด้วยความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติมาช้านานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ที่ สำคัญนับตั้งแต่โครงการฯเข้ามาได้สร้างผลกระทบเกิดมลพิษทางจิตใจอย่างใหญ่ หลวงกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่บ้านโป่งอาง ก่อให้เกิดการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย เกิดความแตกแยกในหมู่เครือญาติ อันเนื่องมาจากได้รับข้อมูลเพียงด้านเดียวและถูกกระทำให้แบ่งกลุ่ม มีการจัดตั้งมวลชนเพื่อให้เกิดขัดแย้งในพื้นที่ ผู้ เฒ่าผู้แก่ในชุมชนถึงกับกล่าวว่า ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยพบเห็นความขัดแย้งของคนโป่งอางรุนแรงเช่นนี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความขัดแย้งดังกล่าว มาจากการเข้ามาดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวด ล้อม ภายใต้โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนักวิชาการรับจ้าง แสวงหาความชอบธรรมในการดำเนินการโครงการฯ สิ่งที่เกิดขึ้นได้สร้างตราบาปอันหนักหนาสาหัสแก่ชาวบ้าน ที่ได้อยู่อาศัยกันอย่างเกื้อกูล ดัง นั้น วันนี้พวกเราจึงมารวมตัวกันเพื่อคัดค้านและมีมติไม่ยอมรับการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน และให้นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ ประธานคณะกรรมการดูแลกำกับงานที่ปรึกษาด้านวิชาการ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนบน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ รวมถึงรศ.ดร.เลิศ จันทนภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม ยุติการดำเนินโครงการดังกล่าว พวก เราขอยืนยันอย่างมั่นคงว่า "จะติดตาม ทวงถามและพิทักษ์สิทธิของชุมชนอย่างต่อเนื่อง หากยังไม่มีความคืบหน้า หรือเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้อง หรือมีการกระทำใดๆ อันเป็นการข่มขู่คุกคามผู้นำ แกนนำ หรือชาวบ้าน พวกเราจะดำเนินการทุกวิถีทางตามสิทธิอันพึงมีของชุมชนเพื่อให้โครงการอ่าง (เขื่อน) เก็บน้ำแม่ปิงตอนบนล้มเลิก จนถึงที่สุด" ด้วยจิตวิญญาณดิน ป่าและสายน้ำ 22 กันยายน 2554 ประชาชนบ้านโป่งอาง หมู่ที่ 5 ต.เมืองนะ ชุมชนลุ่มน้ำแม่แตงตอนบน /ลุ่มน้ำแม่คอง เครือข่ายทรัพยากรอำเภอเชียงดาว พี่น้องปลายน้ำลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน ชุมชนลุ่มน้ำแม่ป๋าม |
ข้อมูลประกอบ