ที่มา ประชาไท
ขณะนี้มีความวิตกกังวลค่อนข้างมากในหมู่นักพัฒนา นักกิจกรรม และนักวิชาการสาย ‘ปฏิรูป’ ว่าองค์กรอิสระหรือหน่วยงานกึ่งรัฐทั้งหลายของภาคประชาสังคมไทยกำลังจะถูก เช็คบิลจากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเนื่องจากได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาล ทักษิณ การที่รัฐบาลชุดปัจจุบันดำเนินการหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปรับเปลี่ยนทิศทางบริหารจัดการงบประมาณด้านหลักประกันสุขภาพ การขอคืนพื้นที่บ้านพิษณุโลกจากสำนักปฏิรูป (สปร.) ของหมอประเวศ การดึงงบกองทุนสวัสดิการชุมชนจำนวน 800 ล้านบาทของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ที่อนุมัติโดยรัฐบาลชุดที่แล้ว มาพิจารณาใหม่ หรือแม้กระทั่งการเชิญ TPBS ไปชี้แจงการดำเนินงานต่อสภาผู้แทนราษฎร ล้วนนำมาสู่ความกังวลที่ว่าจะเป็นการแก้แค้นทางการเมือง เป็นการทำให้พื้นที่ของคนเล็กคนน้อยต้องหมดไป ทำให้องค์กรชาวบ้านที่เข้มแข็งอยู่แล้วต้องอ่อนแอลง รวมทั้งจะทำให้เอ็นจีโอและขบวนการเคลื่อนไหวของชาวบ้านไม่ได้รับความสำคัญ อีกต่อไปเมื่อเทียบฐานมวลชนที่เชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทย
ข้อกังวลโดยเฉพาะในแง่ของผลที่จะเกิดขึ้นกับคนเล็กคนน้อยที่มักขาดช่อง ทางในเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่ควรรับฟัง แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าหน่วยงานอิสระกึ่งรัฐของประชาสังคมไทยจะสามารถ อยู่เหนือการตรวจสอบและควบคุมใดๆ ที่ผ่านมาหน่วยงานเหล่านี้มิเพียงแต่มีส่วนอย่างสำคัญในการทำลายระบอบ ประชาธิปไตย สนับสนุนการทำรัฐประหาร และสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลในการสังหารหมู่ประชาชนโดยรัฐในช่วงเดือน เมษายน-พฤษภคม 2553 ด้วยการเข้าเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเท่านั้น หากแต่ยังมีความเป็นการเมืองและมีแนวทางการทำงานบนอุดมการณ์ที่ค่อนไปใน ทางอนุรักษ์นิยมและสนับสนุนสถาบันการเมืองจารีต ขณะเดียวกันก็กีดกันมวลชนคนส่วนใหญ่ออกจากการเข้าถึงทรัพยากร ในที่นี้จะขออภิปรายผ่านกรณีงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่ปัจจุบันดำเนินการโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) องค์กรหลักอันหนึ่งของ “ประชาสังคมไทย”
การวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นการวิจัยที่วางอยู่บนฐานความต้องการของคนท้อง ถิ่น โดยเน้นให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการวิจัยกับทุกฝ่ายตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนด ปัญหา การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาของชุมชน เดิมในแวดวงเอ็นจีโอการวิจัยเพื่อท้องถิ่นรู้จักกันในนามงานวิจัยไทบ้าน/ชาว บ้าน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับนโยบายรัฐที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อ คุณภาพชีวิตของชาวบ้าน
ปัจจุบัน สกว. เป็นหน่วยงานหลักที่ทำงานสนับสนุนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดยไม่เพียงแต่ให้ทุนวิจัย แต่ยังผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมการวิจัย พัฒนาแนวคิดและระเบียบวิธีวิจัย ประสานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์ และจัดการความรู้เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ ปัจจุบันกิจการการวิจัยเพื่อท้องถิ่นภายใต้ของ สกว. เติบโตอย่างมาก ในปีที่ 13 ของการดำเนินงาน มีโครงการวิจัยจำนวน 1,820 โครงการ มีชาวบ้านและบุคคลอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องราว 30,000 คน มีงบประมาณสนับสนุนจำนวนหลายร้อยล้านบาท รวมทั้งมีการร่วมมือกับบางมหาวิทยาลัยเปิดโครงการปริญญาโทเพื่อผลิตบุคลากร ทำงานสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นการเฉพาะ
การเปลี่ยนจากงานวิจัยไทบ้าน/ชาวบ้านมาเป็นงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็น ส่วนหนึ่งของการเติบโตขยายตัวของ “ประชาสังคมไทย” ที่เข้ามาแทนที่การทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนกับกลุ่มชาวบ้านอัน ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของขบวนการภาคประชาชนแต่เดิม งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นกลไกที่สำคัญหนึ่งของประชาสังคมไทยในทำงานกับชาว บ้านในพื้นที่ต่างๆ
ทั้งนี้ สกว. เป็นหน่วยงานที่ประชาสังคมไทยได้ผลักดันการก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2535 ในฐานะ “หน่วยงานของรัฐที่อยู่นอกระบบราชการในกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี” นอกจากนี้ ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมาประชาสังคมไทยมีอำนาจอย่างมากในการผลักดันนโยบายรัฐ ในหลายเรื่อง รวมถึงการผลักดันให้เกิดการก่อตั้ง “องค์กรอิสระ” หลายองค์กร เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ได้กลายเป็นแหล่งงบประมาณสำคัญที่สนับสนุนการทำงานของ ประชาสังคมไทย
ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทยร่วมสมัย ประชาสังคมไทยถูกวิจารณ์อย่างหนักต่อท่าทีที่ไม่ไว้วางใจและหวาดระแวงต่อ ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน โดยเน้นการสร้างพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นของ พลเมืองที่ไม่สามารถมีสิทธิมีเสียงและไม่สามารถแข่งขันในระบบการเมืองแบบตัว แทนที่มีการใช้เงินซื้อเสียงมากได้ งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมและ ประชาธิปไตยแบบถกเถียงเรียนรู้/ปรึกษาหารือของประชาสังคมไทยในฐานะคู่ตรง ข้ามประชาธิปไตยแบบตัวแทน ขณะเดียวกันงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ก็ยังเป็นกลไกของการปฏิรูปประเทศไทยในช่วงหลังการสังหารหมู่ประชาชนเมื่อ เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ด้วย
นักพัฒนา นักกิจกรรม และนักวิชาการสาย ‘ปฏิรูป’ กังวลว่าการเช็คบิลกับองค์กร/หน่วยงานอิสระกึ่งรัฐจะทำให้องค์กรชาวบ้านถูก ละเลยเมื่อเทียบมวลชนอย่างกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีสายสัมพันธ์กับนักการเมือง และพรรคเพื่อไทย แต่พวกเขาควรจะต้องสำเหนียกด้วยว่าที่ผ่านมามวลชนส่วนใหญ่ของประเทศแทบไม่ เคยที่จะได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจำนวนมหาศาลของหน่วยงานอิสระ กึ่งรัฐเหล่านี้
กรณีงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นพบว่ามีการสืบทอดประเพณีในการนิยามและให้ภาพ “ชุมชน” แบบเป็นเนื้อเดียวและตายตัว โดยละเลยความสัมพันธ์เชิงอำนาจในชุมชนที่สลับซับซ้อน กลุ่มคนที่หลากหลายที่มีสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองแตกต่างกัน รวมทั้งละเลยเครือข่ายความสัมพันธ์ของผู้คนที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในขอบเขต หมู่บ้าน/พื้นที่หนึ่งๆ แต่ขยายตัวไปตามการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะตามการขยายตัวของชีวิตนอกภาคเกษตร
ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของคนเสื้อแดงนั้นเป็นผลพวงจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยน แปลงไปของสังคมไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ฐานของคนเสื้อแดงส่วนใหญ่คือเกษตรกรหรือชาวนาที่ผันตัวมาเป็นผู้ที่ทำมาหา กินนอกภาคเกษตรด้วย ดังนั้น กรอบแนวคิดที่จำกัดว่าด้วย “ชุมชน” ของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจึงไม่เพียงแต่ยากที่จะครอบคลุมถึงชีวิตที่เป็น จริงของผู้คนส่วนใหญ่ แต่ยังกีดกันมวลชนเหล่านี้ออกไปโดยปริยายด้วย
ขณะเดียวกันงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภายใต้ สกว. ได้พัฒนาระเบียบวิธีวิจัยอย่างเป็นระบบในฐานะชุดความรู้และชุดเครื่องมือที่ จะนำไปใช้ขยายผลในทุกๆ พื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งแม้จะมีประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจปัญหาและหาทางออกของคนในท้องถิ่น ระดับหนึ่ง แต่ก็ได้กลายเป็นพิมพ์เขียวและเป็นการตีกรอบการทำความเข้าใจชีวิตและโลกรอบๆ ตัวของผู้คน
ขณะเดียวกันดูเหมือนว่า “พลังและปัญญาของท้องถิ่น” ตามสโลแกนของ สกว. จะเกิดขึ้นได้หรือจะรื้อฟื้นขึ้นมาได้ก็ต่อได้เมื่อผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อ ท้องถิ่นเท่านั้น ขณะที่การทำความเข้าใจปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาในแบบอื่นๆ ของชาวบ้านที่ไม่ผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น อาทิ การเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง การเรียกร้องประชาธิปไตยแบบตัวแทน กลับถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ขาด “ปัญญา” ขาด “ความสว่าง” ขาดข้อมูลและการรู้เท่าทัน
นอกจากนี้ งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นยังได้กลบเกลื่อนปิดบังปัญหาเชิงโครงสร้างและความไม่ เป็นธรรมทางการเมืองของประเทศ การเน้นการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้กลายเป็นโอกาสของหน่วยงาน/สถาบันจำนวนหนึ่งซึ่ง เป็นต้นตอของปัญหาทางสังคมการเมืองของประเทศให้ได้สร้างภาพลักษณ์ที่ดี ขณะที่พื้นฐานการวิเคราะห์ปัญหาของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจะเน้นไปที่ระบบ เศรษฐกิจทุนนิยมในฐานะสาเหตุหลักของวิกฤติต่างๆ ของชุมชนท้องถิ่น มากกว่าจะมองไปถึงโครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่มีความโยงใยและทำให้ผล ประโยชน์จากระบบทุนนิยมไปตกอยู่กับคนส่วนน้อยจนกลายเป็นความไม่เป็นธรรมทาง เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
ที่สำคัญในระยะหลังๆ การวิจัยเพื่อท้องถิ่นหันมาเน้นการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมของชาวบ้านใน ระดับครัวเรือนและปัจเจกบุคคล อาทิ การวิจัยเพื่อเลิกเหล้าและลดอบายมุข งานวิจัยเพื่อส่งเสริมการทำบัญชีครัวเรือนเพื่อลดความฟุ่มเฟือย เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะวางอยู่บนแนวคิดลำดับชั้นของอำนาจทางศีลธรรมที่ชนชั้นนำในภาค ประชาสังคมมีศีลธรรมที่เหนือกว่าคนทั่วไป ยังเป็นการลดทอนความซับซ้อนของปัญหา เช่น ความยากจน ให้อยู่ในความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคลเท่านั้น อันสอดคล้องกับทัศนคติที่มองมวลชนเสื้อแดงว่าเป็นคนไม่ดี เห็นแก่เงินหรือผลประโยชน์โดยเฉพาะจากนโยบายประชานิยมและจากการซื้อเสียง รวมทั้งไม่รู้จักมีชีวิตที่พอเพียงและพึ่งตนเอง อันเป็นลักษณะที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับคนดีตามความหมายของประชาสังคม ไทย
งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นปัญหาของ องค์กร/หน่วยงานอิสระกึ่งรัฐของประชาสังคมไทย ที่ไม่เพียงแต่มีอุดมการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง หากแต่ยังมีปัญหาการถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำของภาคประชาสังคมไทย จึงเป็นการยากที่มวลชนส่วนใหญ่ซึ่งมีแนวคิดและอุดมการณ์ที่แตกต่างจะเข้าถึง และไม่ถูกกีดกัน แม้ว่าเงินงบประมาณที่หล่อเลี้ยงหน่วยงานอิสระกึ่งรัฐของประชาสังคมไทยจะมา จากภาษีอากรของประชาชนทั้งหมดก็ตาม
ดังนั้น หากความวิตกกังวลของนักพัฒนา นักกิจกรรม และนักวิชาการสาย ‘ปฏิรูป’ ต่อการเช็คบิลองค์กร/หน่วยงานอิสระกึ่งรัฐเหล่านี้ ไม่ได้หมายรวมถึงพยายามเสนอทางออกว่าจะมีแนวทางที่เหมาะสมอย่างไรที่สังคมจะ สามารถควบคุม ตรวจสอบ กำกับดูแลองค์กร/หน่วยงานอิสระกึ่งรัฐเหล่านี้ได้ และจะสร้างโอกาสให้มวลชนคนส่วนใหญ่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในด้านต่างๆ ด้วยได้อย่างไร ความวิตกกังวลเหล่านี้ก็คงเป็นได้เพียงการปกป้องอภิสิทธิ์ชนอีกกลุ่มในสังคม ไทยไว้ก็เท่านั้น
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ "คิดอย่างคน" ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ มหาประชาชน ปีที่ 2 ฉบับที่ 57 วันที่ 30 กันยายน - 6 ตุลาคม 2554