ที่มา ประชาไท
รายงานเรื่อง “การป่วน” ในงาน madiFESTO ซึ่งได้กลายเป็นการป่วนสังคมวัฒนธรรมไทยในหลากหลายมิติ กระตุกให้เจ้าของสังคม วัฒนธรรม ที่ถูกสอนให้รู้จักแต่ความภาคภูมิใจในสารพัดความเป็นไทย ต้องตั้งคำถามต่อรากเหง้าความเชื่อของตัวเอง
เห็นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์และชื่อกิจกรรมของงานเทศกาล madiFESTO 2011 ทีแรก ผู้เขียนก็คิดเอาเองตามประสาคนนอกวงการศิลปะว่า คงไม่ต่างจากงานแสดงศิลปะอื่นๆ ที่ถ้าไม่อาร์ตจนดูไม่รู้เรื่อง หรือคนทั่วไปดูอย่างไรก็ไม่เข้าใจว่างานจะสื่อถึงอะไร ก็คงเป็นงานยกย่องยกชูความเป็นไทยแบบกระทรวงวัฒนธรรมที่มีอยู่ทั่วไปหมดแล้ว แต่เมื่อได้เข้าชมงานโดยไม่ได้ตั้งใจ จากการไปเยี่ยม "มิตร ใจอินทร์"ใน"ปฏิบัติการอดอาหาร 112 ชั่วโมง"ของเขาแล้ว ผู้เขียนก็พบว่างานเทศกาลครั้งนี้ช่างสนุกสนานและเต็มไปด้วยความสามารถในการ สร้างความปั่นป่วนได้อย่างที่ไม่คาดคิด...
madiFESTO เป็นกิจกรรมที่ปีนี้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ (Media Arts and Design) สังกัดคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีนี้กิจกรรมและศิลปินที่เข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นจากปีก่อนมาก มีทั้งนักศึกษาระดับปริญญาตรีและโท ศิลปินอิสระที่ถูกเชิญมาแสดงงาน กิจกรรมเสวนาด้านศิลปะวัฒนธรรมต่างๆ และดูเหมือนแนวทางศิลปะแบบ madiFESTO จะค่อยๆ ชัดเจนขึ้นตามลำดับ ในลักษณะงานศิลปะแบบที่มี “ปฏิบัติการป่วนทางวัฒนธรรม” ไปด้วยพร้อมๆ กัน (แน่นอนว่าความหลากหลายของศิลปินและรูปแบบงานย่อมมีอยู่ แต่ผู้เขียนในฐานะคนนอกวงการไม่มีความรู้พอจะกล่าวถึง) แม้ไม่สามารถเข้าชมงานในทุกชิ้นและทุกเวลาสถานที่ ผู้เขียนก็พบว่างานแสดงหลายชิ้นในเทศกาลครั้งนี้ได้ทำให้พรมแดนของสิ่งที่ เรียกว่า “ศิลปะ” แบบที่เข้าใจกันทั่วไปในสังคมไทยพร่าเลือน และไม่ใช่ศิลปะบริสุทธิ์นามธรรมและลอยตัวอยู่เหนือสังคมการเมืองที่เราอยู่ อีกต่อไป แต่ศิลปะได้ถูกหลอมรวมเข้ากับปฏิบัติการในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ปฏิบัติทางการเมือง ปฏิบัติการทางสังคม และปฏิบัติการทางวัฒนธรรม ดังชื่องานที่บอกอยู่แล้วตั้งแต่ต้นว่าเป็น “เทศกาลปฏิบัติการทางวัฒนธรรมร่วมสมัย” งานศิลปะแบบปฏิบัติการจึงเต็มไปด้วยการแสดงออก และกระทำการต่างๆ โดยเฉพาะในรูปแบบของ “การป่วน” ในงาน madiFESTO ทั้งงานจึงแทบจะกลายเป็นการป่วนสังคมวัฒนธรรมไทยในหลากหลายมิติ ชื่องานในปีนี้คือ “FALL” ที่ในภาษาไทยถูกแปลว่า “ล้ม” ก็ได้หยิบฉวยคำที่ติดปากติดหูคนไทยในรอบสองสามปีที่ผ่านมา มาเล่น ซ่อนนัยยะ และเปิดการตีความให้ศิลปินที่เข้าร่วมแสดงงานได้สร้างสรรค์งานอย่างน่า สนใจ
ความป่วนเริ่มตั้งแต่ป้ายข้อความบริเวณลานจอดรถหอศิลปวัฒนธรรมที่ตีความได้หลายนัยยะ
วิธีการแจกกำหนดการของเทศกาลแบบป่วนๆ คืออยู่ในถังขยะและถูกขยุ้มยับเป็นก้อน
ผู้เขียนเดาว่ากำลังเสียดเย้ยงานแสดงศิลปะทั่วไปที่คนเข้าชมมักทิ้งกำหนดการที่แจกลงถังขยะมากกว่าจะเก็บกลับบ้าน
พิธีอ่านคำประกาศเปิดเทศกาลในเครื่องจับเท็จ พร้อมผู้คุมตรวจสอบ ให้นัยยะของการเสียดสีตัวเทศกาลและคำประกาศเสียเอง
ของแจกอย่างหนึ่งในงานคือถุงยางอนามัย พร้อมการรณรงค์ “Love me-safe sex”
ป่วนวัฒนธรรมท่องเที่ยวสมัยใหม่
ไม่เพียงแต่การป่วนทางวัฒนธรรม madiFESTO ยังป่วนไปในมิติทางสังคมและทางการเมือง ตัวอย่างในสองมิตินี้ คืองานของมิตร ใจอินทร์ และของกีรติ กุสาวดี ซึ่งกลายเป็นข่าวอย่างที่ทราบกัน กรณีงาน“ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง” (112 Hunger Strike) ในฐานะการตั้งคำถามต่อประเด็นทางการเมืองอย่างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้ทำให้ศิลปะ ปฏิบัติการแบบสันติวิธีอย่างการอดอาหาร และการเรียกร้องทางการเมือง มาหลอมรวมกันเป็นพลังของงานชิ้นนี้ ซึ่งศิลปินต้องใช้เวลาเตรียมงานนานถึง 2-3 เดือน เมื่อต้องค่อยๆ ลดปริมาณการกินอาหารในแต่ละวันให้เหลือ 2 มื้อ และแต่ละมื้อกินน้อยลงๆ เพื่อให้ร่างกายพร้อมสำหรับ “การแสดง” หรือปฏิบัติการจริง
ขณะที่งาน “ลองดี” (Be Good) ของกีรติได้ทำให้ศิลปะกลายเป็นปฏิบัติการตั้งคำถามทางสังคม โดยเฉพาะต่อระบบการศึกษาไทย ความป่วนของ “ลองดี” ถูกวางไว้ตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่การให้รองคณบดีเป็นผู้ล่ามโซ่ทั้ง 5 จุดในพิธีเปิดงาน และเก็บรักษากุญแจที่ล็อคโซ่ไว้ในงานแสดงที่หอศิลป์ ขณะที่ศิลปินต้องใช้ชีวิตภายใต้ชุดดังกล่าวอีก 5 วัน ก่อนที่ผู้ทำการไขกุญแจที่ล็อคไว้คือนักการฯ ของคณะวิจิตรศิลป์ ซึ่งเป็นที่รักของนักศึกษาในคณะมานาน อุปมาต่อการล็อค-ปลดล็อค และสถานะทางสังคมของผู้ที่ทำหน้าที่ใส่โซ่ตรวนและผู้ปลดปล่อยพันธนาการของ บัณฑิตจึงทำได้อย่างน่าสนใจในปฏิบัติการนี้
เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติการของนายกีรติได้ถูกห้ามเข้าไป ยังพื้นที่ในมหาวิทยาลัยอย่างไม่ได้ตั้งใจและไม่มีการวางแผนไว้ แต่การสั่งห้ามก็สามารถถูกมองให้เป็นส่วนหนึ่งของศิลปะ ที่ช่วยในการเปิดโปงนัยยะของอำนาจในระบบการศึกษาปัจจุบันอย่างเจ็บแสบ การยกชูคุณค่าของสิ่งของอย่างชุดครุยและใบปริญญาอย่างสูงส่ง จนหลงลืมเสรีภาพทางความคิดและความรู้ที่นักศึกษามีอย่างแท้จริงไป กระทั่งการยึดกุมนิยามความดีไว้ภายใต้ระบบอำนาจก็ถูกงานของกีรติป่วนและเปิด โปงออกมา ภายใต้การปฏิเสธไม่ให้เข้ามหาวิทยาลัย เพราะ “ไม่เหมาะสม”
ที่สุดแล้ว ความป่วนดังกล่าวได้ทำให้พรมแดนของศิลปะกับชีวิตประจำวันพร่าเลือนไป ศิลปะในความหมายของเทศกาล madiFESTO ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในหอศิลป์ แล้วตั้งโชว์สวยหรู ราคาแพงๆ แต่คนทั่วไปเอื้อมไม่ถึงอีกต่อไป หากมันลงไปอยู่ในชีวิตประจำวัน ในห้วงเวลาของคนปกติ ในสถานที่ไหนก็ได้ กระทั่งลงไปอยู่ในการใช้ชีวิตของเราๆ ท่านๆ
ดังที่กีรติ ผู้ทดลองอยู่กับชุดครุย โซ่ตรวน และแท่งปูน นิยามงานของตนเองว่าคือการทดลองใช้ชีวิตมากกว่าจะเป็นงานศิลปะเสียด้วยซ้ำ เขาทดลองว่าจะมีชีวิตอยู่อย่างไรกับภาวะเงื่อนไขที่ศิลปินสร้างขึ้น รวมทั้งค้นหาคำตอบของโจทย์เรื่องความดีที่เขาตั้งขึ้น หรืองานของมิตร ใจอินทร์ที่ใช้การกินอาหารอันเป็นกิจกรรมทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน ใครๆ ก็นึกไม่ถึงว่าการ “อด” ไม่กินอาหารจะกลายเป็นงานศิลปะหรือปฏิบัติการทางการเมืองได้ แต่มันเป็นได้ อาจเพราะมันได้เล่นกับความเป็น-ความตายของมนุษย์ ได้ตั้งคำถามกับสิ่งปกติอย่างการกินขึ้นมา และได้ทำให้เงื่อนไขเวลา 112 ชั่วโมงที่กำหนดขึ้นกลายเป็นแนวคิดและกรอบกำหนดของงานด้วย
ดังนั้น ในทั้งการทดลองรูปแบบการใช้ชีวิต และการตั้งคำถามกับเรื่องต่างๆ ในสังคม จึงสามารถเป็น “งานศิลปะ” และ “การป่วน” ที่ใครก็ตามในสังคมสามารถทำได้เช่นเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปินหรือนักปฏิบัติการผู้เชี่ยวชาญมาจากไหน อาจกล่าวได้ว่างาน madiFESTO 2011 ในครั้งนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของรูปธรรมในการรณรงค์ต่อสู้ทางวัฒนธรรม และในระดับชีวิตประจำวันแบบที่มิตร ใจอินทร์และกลุ่มศิลปินเสนอในวันสุดท้ายของการอดอาหาร
madiFESTO ได้เปลี่ยนหอศิลป์ธรรมดาๆ จนกลายเป็นพื้นที่ปฏิบัติการทางการเมือง-สังคม-วัฒนธรรม ศิลปะถูกทำให้มีชีวิตชีวา เป็นเรื่องสนุกสนาน มีอารมณ์ขัน แต่ก็เสียดสีเย้ยหยันสังคมวัฒนธรรมไทยอย่างนุ่มนวลและแหลมคม กระทั่งเกิดพลังในการตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ กระทั่งอาจเลยเถิดไปสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ก็เป็นได้ อย่างน้อยก็ในทางจินตนาการต่อสังคมการเมืองไทยของผู้เข้าชมเทศกาล
ผลตอบรับเล็กๆ ต่อเทศกาลครั้งนี้ที่ผู้เขียนได้พบ ปรากฏอยู่บนข้อความในกระดาษเล็กๆ แผ่นหนึ่งที่ถูกติดไว้บนผนังซึ่งให้ผู้เข้าชมร่วมแสดงความคิดเห็นต่อระบบการ ศึกษาไทย แน่นอนว่าหลายคนไม่ได้เขียนถึงแต่เรื่องการศึกษา แต่บ่นเรื่องนู้นเรื่องนี้กันอีกหลากหลาย รวมไปถึงกระดาษแผ่นเล็กสีเหลือง ลายมือวัยรุ่นๆ แผ่นนั้นซึ่งมีข้อความว่า “NO 112 คือ? อยากรู้” อันทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าวิธีสื่อสารทางศิลปะและวัฒนธรรมในแบบ madiFESTO 2011 ได้ก่อคลื่นแห่งการตั้งคำถามและความสงสัยใคร่รู้ขึ้นในคนรุ่นใหม่ที่เข้าชม งานแล้ว อย่างน้อยก็ใครสักคนหนึ่งที่ได้เขียนข้อความนั้นลงไป...