ที่มา ประชาไท
ชื่อเรื่องเดิม: เรื่องของอาร์ต
โดย เพียงคำ ประดับความ
หมายเหตุ: สารคดีชุดนี้เป็นร่างแรกของ หนังสือ "วีรชน 19 พฤษภา: คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต" ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมและจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน โดยจะสัมภาษณ์ครอบครัวผู้เสียชีิวิตเพื่ิอรวบรวมเรื่ิิองราวที่สะท้อนถึงตัว ตนของประชาชนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในเหตุการณ์สลายการชุมนุมวันที่ 14-19 พฤษภาคม 2553 ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนข้อมูลเบื้องต้นเป็นอย่างดียิ่งจากคุณพเยาว์ อัคฮาด และประชาไท และยังยินดีเปิดรับข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อติดต่อสัมภาษณ์ครอบครัวของผู้เสีย ชีวิตให้ครบเท่าที่จะเป็นไปได้ หากท่านใดมีข้อแนะนำ สามารถติดต่อได้ที่ readjournal@gmail.com |
1
“ยังมีหน้ามาพูดว่าไม่ได้ฆ่า คนฆ่ายังลอยนวลเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แล้วเราล่ะ ชีวิตลูกเราล่ะ ไม่มีค่าเหรอ เราเป็นคนจน แต่เราก็มีจิตใจ ลูกเราก็เลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำเหมือนกัน ทุกวันนี้พี่ก็คิดอยู่นะว่า น้องอาร์ตคงยังไม่ไปไหน เพราะยังจับคนสั่งฆ่าสั่งเผาไม่ได้”
แม่ที่สูญเสียลูกชายคนโตไปเมื่อเดือนพฤษภาคมปีก่อน กล่าวด้วยความคับแค้นใจ
แน่นอนว่าความเศร้ายังคงอยู่ และส่งผลสะเทือนถึงคนข้างหลัง
“ถามว่าชีวิตเปลี่ยนไปมั้ยหลังจากลูกตาย เปลี่ยนไม่เปลี่ยนเราก็ไม่กล้าไปทำงานที่โรงงานเก่า เรายังไม่อยากเห็นภาพเก่าๆ ทำใจไม่ได้ พ่อเขาก็ทำใจไม่ได้ แม่ก็ทำไม่ได้ เราก็เลยว่า เออ อยู่ก่อน สู้ก่อน ไปเลย ไปให้มันถึงที่สุด ไม่มีก็ยืมกิน ไม่มีก็ยืมใช้ พี่จะสู้ๆๆ สู้ทุกอย่าง มีงานอะไรที่ไหน ไปตลอด ไปหมดครอบครัวพี่น้อง ญาติที่กรุงเทพฯ ก็ไปกัน พวกพี่นี่แหละ จะเป็นกำแพงให้รัฐบาลชุดนี้ เชื่อมั้ยว่าพวกพี่ไม่กลัวทหาร ไม่กลัวลูกปืน ไม่กลัวความตาย คนเราเกิดมาตายได้ทุกคน แต่ถ้าไปตายแบบนี้พวกพี่ภูมิใจ มาเลย ความรู้สึกถึงขนาดนี้แล้ว”
2
เสียงปืนชุดสุดท้ายที่วัดปทุมวนารามเงียบลงในคืนวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ขณะเปลวไฟที่เซ็นทรัลเวิลด์โหมลุกไหม้ เช่นเดียวกับที่โรงหนังสยาม ตึกช่องสาม สยามพารากอน ธนาคารอีกสิบกว่าแห่ง ศาลากลางจังหวัดนนทบุรีและอีกหลายจังหวัดในภาคอีสาน จวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ฯลฯ
จำนวนผู้เสียชีวิตนับแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2553 ถึงดึกคืนวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 รวม 55 ศพ
หลังจากนั้นสองวัน มีข่าวพบศพชายวัยรุ่นบนชั้นสี่ของตึกเซ็นทรัลเวิลด์อีก 1 ศพ
“ทหารพบศพนายกิตติพงษ์ สมสุข อายุ 20 ปี นอนคุดคู้ถอดเสื้ออุดจมูกในร้านโซนี่ อิริคสัน ชั้น 4 เซ็นทรัลเวิล์ด/เบื้องต้นคาดว่าสำลักควันจนเสียชีวิต” ข้อความนี้ถูกโพสต์ทางทวิตเตอร์ <1> เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2553
“ชายที่พบศพแรกที่บริเวณชั้น 4 ในห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ฝั่งอิเซตัน ในสภาพไม่สวมเสื้อ เสียชีวิตด้วยอาการนั่งคุดคู้ตัวงอ สภาพผิวหนังไหม้เกรียม และมีผ้าพันคอสีเขียว สัญลักษณ์ของการ์ด นปช. ตกอยู่ในบริเวณใกล้เคียง เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ดับเพลิงสันนิษฐานว่า ชายคนดังกล่าวอาจสำลักควันจากเพลิงไหม้ จึงทำให้เสียชีวิต ทราบชื่อคือ นายกิติพงษ์ สมสุข อายุ 20 ปี ชาว จ.ศรีสะเกษ” หนังสือพิมพ์ออนไลน์ “ประชาไท” รายงานไว้สั้นๆ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 เวลา 02.02 <2>
คือข่าวที่สืบค้นได้ทางอินเตอร์เน็ต
3
เมื่อลงรถโดยสารที่ตัวอำเภอราษีไศล มอเตอร์ไซค์รับจ้างมายืนอออยู่หน้าประตูรถ เราให้ชายวัยราวห้าสิบปีคนหนึ่ง กับเพื่อนของเขาอีกคนซึ่งดูหนุ่มกว่าหลายปี ไปส่งที่ตำบลหว้านคำ มอเตอร์ไซค์คนหนุ่มถามว่าจะไปบ้านไหน ครั้นเราบอกว่าไปบ้านคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ชายทั้งสองร้อง อ๋อ คนแก่กว่าว่า “คนตายเป็นหลานชายผมเอง”
มอเตอร์ไซค์รับจ้างคนนี้ชื่อ นายสำรวย ด่านศิล อายุ 52 ปี เขาเล่ารายละเอียดเพิ่มว่า ก่อนนายกิติพงษ์ สมสุข จะเสียชีวิต ได้โทรศัพท์ออกมาหาลูกสาวของนายสำรวย เพื่อให้หาคนเข้าไปช่วย บอกว่าหายใจไม่ออก ใจจะขาดแล้ว จากนั้นสายก็หลุดไป
บ้านสองชั้นกึ่งปูนกึ่งไม้ มีร่องรอยเพิ่งปลูกสร้างใหม่หลังนั้น ตั้งอยู่ในหมู่บ้านหนองค้างไฟ เลขที่ 38 หมู่ 9 ตำบลหว้านคำ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ธงแดงด้ามไม้ไผ่ผูกอยู่บนหลังคาสังกะสี ทักษิณ ชินวัตร ยืนยิ้มกระจ่างโบกมือไสวอยู่กลางผืนผ้าสีแดงเด่นนั้น
ตรงลานปูนแคบๆ หน้าบ้านมีแคร่ไม้กับม้านั่งปูนทาสีแดงเข้มตั้งอยู่ ที่สะดุดตาคือฟิวเจอร์บอร์ดสีแดงขนาดยกชูขึ้นเหมาะมือ วางตั้งอยู่บนแคร่ ตัวหนังสือสีขาวบนพื้นแดงเขียนหน้าที่ของทหารไทยไว้ว่า “ยามศึกเราหลบ ยามสงบเราปฏิวัติ ... หลับเถิดทหารกล้า ปวงประชาจะคุ้มภัย”
ชายกลางคนร่างท้วมที่ยืนอยู่หน้าบ้านบอกว่า ป้ายดังกล่าวเป็นฝีมือของภรรยาเขาเอง
เขาคือ “นายทองใบ สมสุข” วัย 41 ปี พ่อของนายกิติพงษ์ สมสุข หรือ “อาร์ต” เด็กหนุ่มที่พบเป็นศพอยู่บนชั้นสี่ของตึกเซ็นทรัลเวิลด์
นายทองใบออกตัวว่าเขาไม่รู้เรื่องราวต่างๆ นัก “เรื่องของอาร์ตต้องถามแม่เขา”
แต่วันนั้นแม่ของอาร์ตไปร่วมงานประกันตัวนักโทษเสื้อแดงที่จังหวัดอุบลราชธานีตั้งแต่เช้า กว่าจะกลับมาถึงคงดึกๆ
บ้านของอาร์ตตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน มีคนเดินผ่านหน้าบ้านไปมา หญิงชราคนหนึ่งเดินแวะเข้ามา ครั้นรู้ว่ามีคนมาถามเรื่องอาร์ต แม่เฒ่าเอ่ยเป็นภาษาอีสาน “อ๋อ ถามเรื่องบักอาร์ตแม่นบ่” แกคือ ยายบูรณ์ สีเสน วัย 69 ปี บ้านอยู่ใกล้กัน วันที่อาร์ตจะเข้ากรุงเทพฯ ไปชุมนุมรอบสุดท้าย ยังไปเอ่ยลาแก “มันบอกว่าไปแล้วนะยาย ไปบัดนี้บ่ได้มาง่าย ไปเมื่อนี้เทื่อสุดท้ายก็จบ ก็นึกว่าไปหาพ่อหาแม่ที่กรุงเทพฯ”
หลังรู้ข่าวการตายของเด็กหนุ่มข้างบ้านที่เห็นมาตั้งแต่เด็ก แม่เฒ่าเล่าว่าตนเฝ้าติดตามข่าวทางทีวี “ยายเบิ่งข่าวตลอด อยากเห็นหลานแน คั้นศพมาฮอด ยายยังว่า เปิดให้เบิ่งแน พอเบิ่งก่ะว่ามันแม่นลูกมึงบ๊อ มันแม่นบักอาร์ตอยู่บ่ แต่ว่าเบิ่งตุ้มหูกับเบิ่งเพิ่นสัก ก็เลยว่า โอ๊ย แม่นอยู่ดอก แต่ว่าหน้าน่ะมันเปื่อย” แม่เฒ่าเสียงเบาลงขณะเอ่ยประโยคหลัง
พ่อของอาร์ตเดินเข้าไปในบ้าน หยิบภาพตั้งหน้าศพในกรอบอันใหญ่ ซึ่งเป็นภาพถ่ายด้านข้างของเด็กหนุ่มผู้สวมใส่เสื้อสีแดง กับอัลบั้มภาพถ่ายเมื่อครั้งยังมีชีวิตของอาร์ตออกมาให้ดู
“เพิ่นมักถ่ายรูปหันข้าง” เสียงยายบูรณ์ว่า
มีภาพหน้าตรงที่คล้ายถ่ายจากโทรศัพท์มือถืออยู่หลายภาพ แต่ส่วนใหญ่เลือนรางจนมองเห็นใบหน้าไม่ชัด ภาพถ่ายสำคัญอยู่ตอนกลางอัลบั้ม เป็นภาพชายหนุ่มใส่กางเกงยีนสีดำ ไม่สวมเสื้อ นั่งคุดคู้คว่ำหน้าลงกับพื้น มีเสื้อสีเขียวคล้องคออุดจมูก กลางหลังมีรอยสัก ผิวหนังบางแห่งเริ่มแดงช้ำบวม ข้างๆ มีขวดน้ำเปล่าทั้งวางตั้งและล้มกลิ้งอยู่หลายขวด
อาร์ตเสียชีวิตในท่านั้น พ่อของเขาบอก พลางให้สังเกตพื้นปูนโดยรอบบริเวณที่อาร์ตนั่งอยู่ มันมีรอยเท้าย่ำอยู่เต็มไปหมด เราตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นรอยเท้าทหาร พ่อของอาร์ตส่ายหน้า “รอยเท้าเขานั่นแหละ เขาคงจะเดินวนหาน้ำหาอะไรกินก่อนจะตาย” คนพูดเริ่มตาแดงๆ และพูดช้าลง “มูลนิธิที่ไปเจอตอนแรกเขาบอก โอ๊ย ในนั้นยังไงก็อยู่ไม่ได้ ไฟมันไม่ไหม้ แต่มันเหมือนเตาอบเลย”
4
อาร์ต เกิดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2533 ในครอบครัวที่เป็นทั้งชาวนาและช่างทำรองเท้า นายทองใบ สมสุข วัย 41 ปี พ่อของอาร์ตเป็นชาวบ้านค้อ ตำบลดู่ อำเภอราษีไศล มาแต่งงานอยู่กินกับ นางประภาพร สมสุข วัย 43 ปี ชาวบ้านหนองค้างไฟ ทั้งสองหมู่บ้านอยู่ห่างกันราวสองกิโลเมตร
อาร์ตเป็นลูกคนโต มีน้องชายหนึ่งคน คือนายประวิชา สมสุข หรือ “นุ” อายุ 19 ปี
พ่อแม่ของอาร์ตเข้าไปทำงานกรุงเทพฯ ยายจึงเป็นคนเลี้ยงอาร์ตอยู่ที่บ้านหนองค้างไฟตั้งแต่อายุขวบ 4 เดือน จนเข้าเรียน ป.1 พ่อกับแม่ถึงกลับมาอยู่ด้วย
อาร์ตเริ่มเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนบ้านหว้าน (รัฐราษฎร์นุกูล) ต่อมาพ่อกับแม่ย้ายไปเปิดร้านตัดรองเท้าในตัวเมืองราษีไศล ด.ช.กิติพงษ์ สมสุข จึงย้ายไปเรียนต่อชั้น ป.4 ที่โรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) ตำบลเมืองคง อำเภอราษีไศล จนจบ ป.6 จากนั้นเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนราษีไศล ก่อนย้ายไปเรียนสายอาชีพที่วิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ แผนกช่างไฟฟ้า
ราวปี 2549 พ่อแม่ของอาร์ตต้องกลับเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ อีกครั้ง เนื่องจากอาชีพช่างทำรองเท้าต่างจังหวัดทำมาหากินลำบาก
หลังจากนั้น “นุ” น้องชายของอาร์ต ก็ออกโรงเรียนตอนอยู่ ม.2 เข้าไปเป็นช่างทำรองเท้าที่กรุงเทพฯ อีกคน ส่วนอาร์ตออกจากโรงเรียนตอนเรียนอยู่ ปวช.ปี 2
“เรียนไปเรียนมาก็ไม่เรียน วัยรุ่นแถวบ้านมันเป็นอย่างนี้ ชวนกันออก แต่อาร์ตเขาก็เรียนดีอยู่” นายทองใบว่า
หลังออกจากโรงเรียนอาร์ตไปฝึกทำรองเท้ากับครอบครัว ช่วงนั้นพ่อกับแม่ของเขารับเหมาตัดรองเท้าอยู่ที่โรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัด สมุทรปราการ ส่วนนุแยกไปรับเหมากับเพื่อนแถวบางขุนเทียน
นายทองใบว่า อาร์ตทำงานกับพ่อแม่ได้พักเดียวก็ไปสมัครเป็นพนักงานขายอาหารประจำบิ๊กซี คลองเตย-บ่อนไก่ ไม่นานก็ย้ายไปขายของที่หัวลำโพง เปลี่ยนงานอยู่สองสามแห่งก็กลับมาช่วยพ่อทำรองเท้าเหมือนเดิม
เมื่อถามว่าเด็กวัยรุ่นอย่างอาร์ต เริ่มสนใจการเมืองและเข้าไปร่วมชุมนุมตั้งแต่เมื่อไหร่ นายทองใบว่า “ช่วงสงกรานต์ปีห้าสอง มีคนมาทอดผ้าป่าที่หมู่บ้าน พวกนี้เขาขับแท็กซี่ เป็นพวกเสื้อแดงขาประจำอยู่แล้ว ไอ้อาร์ตก็เอาผ้าแดงมาพันหัวพันอะไร แล้วก็ติดใจไปกับขาเลย บางทีเอารถกระบะไป บางทีก็ขี่มอเตอร์ไซค์ไปกับเขา แถวโคราชโน่นก็ไป เขามีพวกอยู่ในเมืองด้วย ตอนนั้นผมไม่ค่อยอยู่หรอก เพื่อนๆ เขามาเล่าให้ฟังทีหลัง” นายทองใบว่า
“ยายเคยถามบักอาร์ตว่าเฮ็ดหยังไปเสื้อแดง” ยายบูรณ์ที่นั่งฟังอยู่ด้วยตลอด พูดแทรกขึ้น “มันว่าม่วนดียาย หมู่ก็หลาย ยายก็ถาม แล้วมึงได้เงินบ่ มันว่าไผสิให้ล่ะยาย ข้อยไปเอง ไปด้วยใจ”
นายทองใบเล่าให้ฟังอย่างตรงไปตรงว่า ตลอดเวลาที่ลูกชายไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง เขาคอยห้ามปรามอยู่เสมอ เราจึงถามว่า ตัวนายทองใบเองคิดอย่างไรกับคนเสื้อแดง เขาตอบว่า “ผมก็อยู่ฝ่ายทักษิณอยู่แล้ว” ถามต่อว่า แล้วแม่ของอาร์ตล่ะ นายทองใบบอก “ตอนนั้นแม่เขาไม่ค่อยชอบหรอก แต่ตอนนี้ชอบชิบหายเลย ไปอย่างเดียวเลยทุกวันนี้”
และเมื่อถามว่า แล้วอาร์ตล่ะ ก่อนหน้าที่จะไปชุมนุม เขาคิดอย่างไร พ่อของอาร์ตตอบว่า “ตอนเรียนอยู่ เขาเคยสอบได้ทุนทักษิณ”
เมื่อการชุมนุมใหญ่เริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 2553 อาร์ตเดินทางไปๆ กลับๆ ราษีไศล-ราชดำเนิน พ่อกับแม่ไม่ค่อยได้พบหน้าลูกชายนัก
“ช่วงสงกรานต์เขากลับมาบ้าน ตอนนั้นเขาไปได้สามสี่ครั้งแล้ว ผมได้ข่าวไม่ค่อยดีจากพวกตำรวจว่ามันมีคนใหญ่คนโตอยู่ข้างหลัง คิดว่ายังไงเสื้อแดงก็ไม่ชนะ มีแต่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็ว่าจะกลับมาห้ามเขา แต่ไม่ทัน สวนทางกัน โทรไปบอกให้ออกมา ก็ไม่ยอมออกมา มันว่าเดี๋ยวรัฐบาลจะยอมยุบสภาแล้ว ใกล้จะชนะแล้ว โอ๊ย ยังไงก็ไม่ยุบ ผมบอก มันทำท่าไปอย่างนั้นแหละ แล้วมันก็ไม่ยุบจริงๆ”
ช่วงที่เข้าไปร่วมชุมนุมนั้น อาร์ตไม่มีโทรศัพท์มือถือ เขาโทรออกมาหาพ่อกับแม่โดยขอยืมโทรศัพท์ของหัวหน้าการ์ดซึ่งเขาเรียกว่า “ลูกพี่” บางคราวก็โทรตู้สาธารณะ หากวันไหนลูกชายไม่โทรออกมา นายทองใบกับแม่ของอาร์ตมักโทรไปถามข่าวกับลูกพี่คนนี้ แต่ก็มีบางช่วงที่พ่อแม่ลูกขาดการติดต่อกันไป ในสายตาของคนเป็นพ่อในขณะนั้น อาร์ตเดินทางไกลออกไปเรื่อยๆ บนเส้นทางการต่อสู้สายที่เขาเลือก
อาร์ตไม่ได้ไปเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุมตามคำกำชับของพ่อกับแม่ แต่เขาไปสมัครเป็นการ์ด และเข้าไปอยู่ในสังกัดของเสธ.แดง หลังเสธ.แดงเสียชีวิต ก็ย้ายไปอยู่กับการ์ดแหลมฉบัง
“ตอนเสธ.แดงถูกยิงคนเข้าไปดูเยอะ ก็บอกให้ออกมากับคนเยอะๆ แต่พอโทรไปถาม ลูกพี่เขาบอกว่าเห็นขึ้นรถเข้าไปที่เวทีใหญ่แล้ว อ๊าว บอกให้ออกมาก็ไม่ออกมา เราก็บอกลูกพี่เขาไปบอกให้ออกมา ลูกพี่เขาก็ไปคุยให้ แล้วก็บอกว่า โอ๊ย เขาไม่ออกมาหรอก มารู้ตอนหลังว่าเขาออกจากเสธ.แดง ไปอยู่กับพวกแหลมฉบัง มันก็เลยออกไม่ได้เลยทีนี้ เพราะว่าพวกแหลมฉบังมันมีแต่คนยอมตายเลยนะ มันไม่วิ่งเหมือนคนอื่นหรอก มันสู้อย่างเดียวเลย แล้วมันไม่ทิ้งกัน ลูกพี่มันก็ว่า ไอ้อาร์ตมันไม่ออกมาหรอก มันจะอยู่กับเพื่อน พวกนี้นี่ใจมันเด็ดเดี่ยว” นายทองใบว่า
5
จนวันที่ 19 พฤษภาคม 2553
นายทองใบเล่าว่า วันนั้นเขากับแม่ของอาร์ตไม่เป็นอันทำงาน เฝ้าติดตามข่าวการชุมนุมอยู่ที่โรงงานรองเท้าด้วยความเป็นห่วงลูกชาย
“พอเขาถล่มปุ๊บ ไอ้อาร์ตมันวิ่งเข้าวัด พอเข้าวัดเสร็จโทรมาบอกพ่อว่าอยู่ในวัดแล้วกับลูกพี่ ประมาณค่ำๆ นี่แหละ ผมก็เลยโทรไปหาญาติที่เป็นตำรวจอยู่แถวบางชัน บอกให้ช่วยไปเอาหลานออกมาหน่อย อยู่ในวัดปุทมฯ เข้าวัดได้แล้วแต่ออกไม่ได้ ออกจากวัดคือตายเลย เขาก็ว่าไม่รู้จะเข้าไปได้รึเปล่า สักพักหนึ่งโทรหาลูกพี่เขา เขาบอกอาร์ตออกไปข้างนอกแล้ว ไปกับเพื่อนสามสี่คน ไม่รู้ออกไปทำอะไร บอกว่าจะไปเข้าห้องน้ำ แล้วก็ไปกันเลย”
หลังอาร์ตหายไปจากวัดปทุมฯ ไม่นานก็มีคนโทรมาบอกว่าลูกชายนายทองใบถูกทหารไล่ยิงเข้าไปติดอยู่ในตึก เซ็นทรัลเวิลด์ที่ไฟกำลังลุกไหม้
“ลูกสาวเขา (ชี้มือไปทางนายสำรวยที่นั่งเล่นอยู่ใต้ถุนบ้านๆ) โทรมาบอกว่าอาร์ตติดอยู่ในห้างเซ็นทรัลเวิลด์ พากันโดนทหารไล่ยิงเข้าไป อ๊าว ทำอะไรไม่ได้แล้วทีนี้ ตอนนั้นมันกำลังค่ำๆ แล้ว โทรไปหาหน่วยงานไหนเขาก็บอกว่าจะเข้าไปช่วยอยู่ แต่ทหารมันไม่ให้เข้า แล้วเราก็ไม่รู้ว่าลูกเราอยู่ชั้นไหน เพราะเขาไม่ได้บอก ตอนนั้นเขาเผาตึกแล้ว ทหารมันไล่ยิงเข้าไปเลย คนล้มคนตายก็มีนะ อยู่ข้างล่าง ไอ้พวกนี้มันวิ่งขึ้นตึก”
“คืนนั้นผมนอนไม่หลับทั้งคืน แม่เขาก็เอาแต่ร้องไห้ ดึกๆ ดื่นๆ ยังเทียวโทรไปที่นั่นที่นี่อยู่นะ ขอให้เขาเข้าไปช่วยลูก แต่โทรไปที่ไหนเขาก็ว่ามันเข้าไม่ได้ ทหารไม่ให้เข้า ยังไงก็เข้าไม่ได้ ต้องรอสว่างอย่างเดียว พอเช้าก็ออกตามหา ตำรวจบอกว่า ถ้าอย่างนั้นพี่รีบไปเลย ที่สนามกีฬา เขากำลังเอาคนออกต่างจังหวัด ก็ไปลงชื่อว่าลูกหาย แล้วก็รอดูอยู่นั่นแหละ รถบัสกี่คันไม่รู้ ก็ไม่มี จนเขาทยอยกลับกันหมด เลยพากันกลับ พออีกวันก็พากันไปอีก ไปหาทุกที่ ที่เขาขังไว้ทางศาลแถวข้างนอกนู่นก็ไป คนถูกขังไว้เยอะนะ เป็นสองสามพัน แต่ก็ไม่มี จนถึงตอนเที่ยงวันนั้นแหละ ตำรวจโทรมาบอกว่ามีข่าวออกว่าเจอศพวัยรุ่นอยู่ในห้าง”
แรกที่ได้เห็นภาพถ่ายศพที่พบในห้าง ร่างไร้ชีวิตที่ปรากฏต่อสายตา ไม่เหลือเค้าเด็กหนุ่มหน้าตาดีที่เคยร่าเริงแจ่มใส
“ตอนแรกคิดว่าไม่ใช่ลูกตัวเอง คิดไว้ก่อน จำรอยสักได้ฝั่งหนึ่ง แต่อีกฝั่งหนึ่งเขาสักใหม่ ก็คิดว่าไม่ใช่ เพราะผมไม่เคยเห็น แต่แม่เขาว่าใช่ พอศพมา เขาก็เอาบัตรเอาอะไรมาให้ดู ทีนี้ก็ใช่เลย ตอนที่มูลนิธิไปเจอ เขาบอกไฟฉายอาร์ตยังไม่ดับนะ สามวันแล้วไฟฉายก็ยังไม่ดับ ไฟฉายที่เขาถือขึ้นไป”
หลังยืนยันว่าศพดังกล่าวเป็นลูกชายตนอย่างแน่ชัดแล้ว เจ้าหน้าที่นิติเวชขอเก็บศพไว้หนึ่งวันเพื่อทำความสะอาด สองสามีภรรยาพากันนั่งแท็กซี่กลับสมุทรปราการอย่างคนหัวใจแตกสลาย วันรุ่งขึ้นจึงพากันไปรับศพกลับราษีไศล
“ทำใจมันก็ยากอยู่ แต่ก็ทำใจเอา เพราะมันเสียไปแล้ว ไม่รู้จะทำยังไง ตอนนี้มันก็ดีๆ ขึ้นมาหน่อย ตอนแรกทำใจไม่ได้เลย คิดถึงแต่ลูก”
ตอนที่ลูกชายยังมีชีวิตอยู่ นายทองใบยอมรับว่าเขาไม่สนิทกับลูกนัก “ส่วนมากมีแต่ด่ากัน ลูกชายสองคนมันก็อย่างนี้แหละ มีแต่คนเก่งๆ ...แต่อาร์ตเขาก็ใช้ง่าย ทำนาทำไร่เขาก็ทำ กำลังจะดีแหละครับ กำลังรู้จักทำนู่นทำนี่ กำลังจะเข้าตัว กำลังจะใช้ได้ เงินทองก็กำลังจะใช้ได้ ก็มาตายเสียก่อน”
“ทุกวันนี้ผมเจอทหารไม่ค่อยได้นะ มันเกลียดไปหมด เห็นไม่ได้เลย แต่ก็รู้ว่าเขาก็ทำตามคำสั่ง มันทำให้เราเริ่มรู้สึกว่าคนเรามันนับถือไม่ได้ มันไม่น่านับถือ ทุกวันนี้ผมไม่นับถือเลย ไม่อยากจะมอง เวลาดูข่าวดูอะไรนี่ผมเปิดหนีเลย มันไม่อยากจะดู ไม่อยากจะมองหน้า เกลียดยังไงไม่รู้”
หลังได้เงินเยียวยาจากหน่วยงานต่างๆ นายทองใบกับเมียนำเงินจำนวนหนึ่งไปสร้างกุฏิให้ลูกชายที่วัดประจำตำบล
“ทุกวันนี้ผมก็เข้าใจสิ่งที่ลูกทำ ก็พากันไปเรื่อยแหละกับเสื้อแดง แม่เขาไปประจำ ผมก็นานๆ ไปที แม่เขาบอกเขาสู้แทนลูก ผมก็ที่เข้ากับเสื้อแดงทุกวันนี้ก็คิดว่าผมสู้แทนลูก เพราะว่ามันได้ทำมาแล้วก็เลยทำให้มัน”
......
ขากลับออกมาจากบ้านหนองค้างไฟ มอเตอร์ไซค์รับจ้างคนที่หนุ่มกว่า บอกว่า เขาเองก็รู้จักคุ้นเคยกับอาร์ต “ตัวจริงเพิ่นหล่อกว่าในภาพนั่นอีก”
6
วันรุ่งขึ้นเราเดินทางกลับไปที่บ้านหนองค้างไฟอีกครั้ง เพื่อพบกับ นางประภาพร สมสุข หรือ “ไน้” แม่ของอาร์ต
หญิงกลางคนผิวขาว รูปร่างท้วม ใส่เสื้อยืดสีแดง ด้านหน้าสกรีนตัวหนังสือเป็นรอยนูนว่า “ไอ้ที่ตายคือรากหญ้า ไอ้ที่ฆ่าคือ...” รีบเดินออกมาทักทาย
แล้วเรื่องของอาร์ตก็ถูกเล่าผ่านมุมมองของคนเป็นแม่อีกครั้ง
โปรดติดตามตอนต่อไป
-----------------------------------------------------
<1> โดย @sombat_moosombat intaratat
<2> 9 ศพ ในเซ็นทรัลเวิล์ดยังเข้าตรวจสอบไม่ได้ เบื้องต้นศพแรกบนชั้น 4 ทราบชื่อแล้ว. http://prachatai.com/journal/2010/05/29688