ที่มา ประชาไท
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) นักวิจัยผู้เก็บข้อมูลสถิติสถานการณ์ไม่สงบมาตลอด 7 ปี วิเคราะห์แนวโน้มความรุนแรงในปี2555 ไฟใต้สงบหรือไม่ อะไรคือปัจจัย ดังนี้
0 0 0 0 0 0
ไฟใต้ปี’55 สงบหรือไม่
มี 2 แนวโน้ม หากดูจากเหตุการณ์ในปี พ.ศ.2554 ตั้งแต่รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศ
แนวโน้มที่ 1 สถานการณ์ความรุนแรงที่สูงขึ้น โดยเฉพาะเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2554 เป็นผลมาจากการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการจัดการปกครองพิเศษตามที่รัฐบาลเคยเสนอในช่วงหาเสียงหยุด ชะงักลง เรื่องการเจรจากับขบวนการก่อความไม่สงบที่เคยดำเนินการในช่วงรัฐบาลนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็หยุดชะงักลง และการขาดความชัดเจนในเรื่องทิศทางของนโยบายและความต่อเนื่อง
อีกด้านหนึ่ง ปัญหาเรื่องการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ทั้ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 หรือการใช้กฎหมายที่เป็นทางเลือกใหม่ อย่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ที่ให้อบรมผู้ต้องหาแทนการจำขัง ตามมาตรา 21 ก็ยังไม่มีความไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความสับสนทางนโยบายและสัญลักษณ์ทางการเมืองที่มีต่อประชาชนใน พื้นที่และสัญลักษณ์ต่อขบวนการ
แนวโน้มความรุนแรงในปี 2555 อาจจะสูงขึ้น เพราะเป็นการตอบโต้และแสดงสัญลักษณ์กดดันรัฐบาล สร้างกระแสว่า สถานการณ์ยังไม่ยุติและยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากรัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจน
แนวโน้มที่ 2 หากมีนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้น เช่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.4สน.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้ (ศชต.) ประสานการทำงานเป็นระบบมากขึ้น จัดการทัศนะและท่าทีว่าด้วยเรื่องเขตปกครองพิเศษในพื้นที่ให้ชัดเจน จัดการเจรจากับกลุ่มต่างๆ หรือจัดการพูดคุยกับคนในพื้นที่ เช่น ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น
หากรัฐบาลดำเนินการอย่างนี้ แนวโน้มสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่จะลดลง แม้อาจลดลงไม่มาก แต่ก็สามารถช่วยประคับประคองสถานการณ์เอาไว้ได้
ผมเข้าใจว่า ผู้บริหารชุดใหม่ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พยายามพูดคุยและเจรจากับกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ ร่วมทั้งองค์กรภาคประชาสังคม
การผสมผสานทางนโยบายหรือการพูดคุยเชื่อมต่อระว่างภาคประชาสังคมกับฝ่าย รัฐและฝ่ายความมั่นคง จะเป็นดึงกระชับเหตุการณ์และเป็นเงือนไขให้เหตุการณ์ลดลง ส่วนเหตุการณ์ที่มีอยู่ อาจไม่ออกมาในรูปแบบที่รุนแรงมากหรือก่อเหตุพร้อมกับหลายสิบจุด เพราะมีนัยยะทางการเมืองหรือทางนโยบายที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ปีที่ผ่านมา มองเห็นการต่อสู้ทั้งของฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการอย่างไร?
ในส่วนของรัฐ ในรอบปีที่ผ่านมา ทำได้ 2 อย่าง คือ 1.การรักษาความไม่สงบในพื้นที่หรือ การควบคุมพื้นที่ทำได้ในระดับหนึ่ง ในแง่การใช้กำลัง การใช้กฎหมายพิเศษ ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือกฎอัยการศึก ในระยะหลังทำได้ดีขึ้นในแง่การระมัดระวังไม่ให้มีการละเมิดสิทธิของประชาชน หรือไม่ให้เกิดความผิดพลาด ส่วนตำรวจ พยายามทำงานทางการเมืองหรือทำงานมวลชลมากขึ้น
แนวโน้มเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดี แต่การแก้ปัญหาระยะยาว โดยเฉพาะทางยุทธศาสตร์และการจัดการความขัดแย้ง จะต้องมีการพัฒนากันต่อไปว่า จะเอาอะไรเป็นประเด็นหลัก กลุ่มไหนจะเป็นกลุ่มประสานงานหรือกลุ่มใดจะเป็นกลุ่มเจรจาของฝ่ายรัฐ
ในเรื่องกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ การประสานงานกับผู้ศาสนา ผู้นำท้องถิ่นหรือภาคประชาชนสังคมในพื้นที่ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ต้องปรับยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น รัฐต้องให้ความสำคัญในการสร้างหรือขยายพื้นที่กลางทางการเมือง หรือพื้นที่กลางการเจรจาต่อรอง หากสามารถสร้างพื้นที่กลางได้ ก็จะสามารถแก้ปัญหาทางการเมืองและทางนโยบายได้
ในส่วนของขบวนการนั้น กำลังมีการปรับตัวอยู่หลายอย่าง เพราะการใช้ความรุนแรงสามารถทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถเป็นตัวชี้ขาดการเปลี่ยนแปลงทางเมืองหรือการแก้ไขปัญหาได้ เพราะมีผลด้านลบต่อประชาชน สังคมและเศรษฐกิจ หากปัญหาเยื้อยื้อยาวนาน ก็จะบั่นทอนหรือทำให้สังคมมันอ่อนแอลง สะท้อนได้จากปัญหายาเสพติดในพื้นที่ที่กำลังระบาดอย่างรุนแรง
ปัญหายาเสพติดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงโดยตรงกับขบวนการก่อความ ไม่สงบ แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากความไม่สงบที่ยื้อเยื้อ จึงทำให้เกิดสังคมอ่อนแอลง หากฝ่ายขบวนการต้องการสร้างสังคมทีดีหรือสังคมที่มีความสุข ก็ต้องคิดเรื่องนี้ด้วย เพราะหากปล่อยให้ประชาชนแย่มากๆ ก็จะส่งให้ผลกระทบทางการเมืองของตนเองด้วย
การแก้ปัญหา คือต้องเข้าสู่กระบวนการเจรจาหรือมีข้อเสนอที่เป็นนโยบายชัดเจน สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ที่ขาดไม่ได้การเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ ปัญหา
ฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง 2 ฝ่าย คือเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายขบวนการ จะต้องมองเห็นความจำเป็นในการใช้พื้นที่กลางในการแก้ปัญหาและนำไปสู่การ เปลี่ยนแปลงในทางสันติ
ต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไร กว่าจะเกิดสันติภาพในชายแดนใต้
สถานการณ์เกิดขึ้นมาแล้ว 8 ปี อาจจะมีความหวังมากขึ้น หากเดินมาถูกทาง แต่หากเดินผิดทาง อาจจะต้องใช้เวลานานไปอีก
อะไรคือทางออกของปัญหาชายแดนใต้
ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงโดยตรงและโดยอ้อม ต้องเรียนรู้และปรับตัว คือถอดบทเรียนของตัวว่า การต่อสู่ด้วยความรุนแรงนั้น ไม่ว่าฝ่ายขบวนการหรือฝ่ายทหาร ไม่สารมารถที่จะแก้ปัญหาได้
หากเกิดสภาวะที่เยื้อยื้อเรื้อรังต่อไป ทุกๆฝ่ายก็จะได้รับเสียหาย ร่วมทั้งประชาชน ฉะนั้นต้องหาทางปรับตัว เรียนรู้ และก้าวไปข้างหน้า ต้องหาวิธีการทางสันติภาพ และกระบวนการทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหา แล้วหันมาสู่กระบวนการเจรจาระหว่างกัน
ข้อเรียกร้องต่างๆ อย่างข้อเรียกร้องสูงสุดของขบวนการ คือแบ่งแยกดินแดน ผมว่าอาจยากที่จะยอมรับได้ น่าจะลองทบทวนดู อาจจะต้องมีการปรับ จะเป็นไปได้หรือไม่หากใช้วิธีการอื่น หรือลดเป้าหมายลง เพื่อให้เกิดการเจรจากันจริงๆ
ส่วนฝ่ายรัฐเอง ก็ต้องเรียนรู้ว่า ต้องมีการปรับเปลี่ยนโดยการปฏิรูปทางเมือง เพื่อแก้ปัญหาภาคใต้
ฉะนั้นการปรับโครงสร้าง โดยเฉพาะโครงสร้างอำนาจมีความสำคัญและต้องยอมให้มีการปรับ เพราะมันก็ไม่ได้เสียหายอะไรเท่าไร เพราะอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญหรือกรอบกฎหมาย
ทุกฝ่ายต้องลดเงื่อนไขหรือข้อเรียกร้องตนเองลงมา ผมคิดว่า จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ ปรับคนละก้าว เดี๋ยวก็สามารถหาข้อสรุปได้ เพราะคนยอมรับแนวทางสันติภาพมากขึ้นอยู่แล้ว