ที่มา ประชาไท
(31 ธ.ค.54) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่รายงานสถานการณ์สื่อมวลชนในรอบปี 2554 ผ่านเว็บไซต์ tja.or.th ระบุปี 2554 เป็น “ปีแห่งความท้าทายบทบาทหน้าที่สื่อมวลชน” รายละเอียดมีดังนี้
...................................
รายงานสถานการณ์สื่อมวลชนในรอบปี 2554
“ปีแห่งความท้าทายบทบาทหน้าที่สื่อมวลชน”
สืบเนื่องจากปี 2554 ท่ามกลางสถานการณ์ที่ความแตกแยกทางความคิดและอุดมการณ์ยังดำรงอยู่ การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนจึงยังคงถูกตั้งคำถามถึงความเป็นกลางในการนำเสนอ ข้อมูลข่าวสารต่อประชาชน ขณะเดียวกันการเติมโตของสื่อใหม่ๆ ทั้งเคเบิลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม เว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงบริบทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่สื่อมวลชนถูกท้าทายถึงบทบาทการทำหน้าที่
ขณะที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยยังมองว่า สื่อมวลชนคือส่วนหนึ่งที่ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นปีที่คนทำสื่อต้องยึดในหลักการแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน และยึดมั่นในการนำเสนอข้อมูลที่รอบด้าน รวมทั้งการเปิดพื้นที่ให้กับทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงได้จัดทำรายงานสรุปสถานการณ์การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนไทยในรอบปี 2554 ที่กำลังจะผ่านไปไว้ดังนี้
1. การแทรกแซงการทำหน้าที่สื่อมวลชน จากกรณีที่มีกลุ่ม บุคคลบางกลุ่มไม่พอใจการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง จากจุดเริ่มต้นพบว่ามีการส่งอีเมลและมีการโพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพในเชิงคุก คามและหวังทำร้ายร่างกาย ทำให้ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวรู้สึกไม่ปลอดภัย และขาดเสรีภาพในการทำหน้าที่ กลุ่มผู้สื่อข่าวภาคสนามจึงยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้ตรวจสอบต้นตอของข้อความดังกล่าว จากนั้นผู้สื่อข่าวที่ถูกโพสต์ข้อความคุกคาม จึงได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้โพสต์ข้อความ แต่ปรากฏว่ามีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งไปเรียกร้องยังสถานีโทรทัศน์ต้นสังกัด เพื่อขอให้ปลดผู้สื่อข่าวคนดังกล่าว นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจในรัฐบาล ทำให้การเข้าไปแทรกแซงเปลี่ยนแปลงผังรายการในสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศ ไทยหรือ NBT เกิดขึ้นอีกครั้งด้วยการถอดรายการที่ออกอากาศในช่วงรัฐบาลประชาธิปัตย์ออก จากผังรายการเกือบทั้งหมด
2.เสรีภาพภายใต้ความรับผิดชอบ เห็นได้ชัดจากกรณี “อีเมลฉาว” ที่ได้กลายเป็นประเด็นร้อนในวงการสื่อ โดยในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2554 เว็บไซต์ข่าวแห่งหนึ่ง รายงานว่า มีผู้ส่งข้อความในอีเมลส่วนตัว 2 ฉบับ หัวข้อ “จดหมายถึงท่านพงษ์ศักดิ์” และ “ข้อเสนอ วิม” ไปยังสื่อมวลชนฉบับต่างๆ เนื้อหาระบุถึงการให้เงินกับคนในสื่อหนังสือพิมพ์ 4 ฉบับ และสถานีโทรทัศน์ 1 ช่อง เพื่อขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์ข่าวการหาเสียงเลือกตั้งของพรรค จนทำให้สภาวิชาชีพ ทั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน และแม้ว่าที่สุดแล้วจะไม่พบหลักฐานว่า มีการรับเงินตามที่มีการกล่าวอ้าง แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ก็ถือว่าสั่นสะเทือนวงการสื่อมวลชนไม่ใช่น้อย
3.ความพยายามจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีความพยายามของข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรมบางส่วนหมกเม็ดยัดไส้ให้รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ เพราะให้อำนาจผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติออกคำสั่งห้ามพิมพ์ เผยแพร่ สั่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักรฯ แต่เมื่อรัฐมนตรีทราบว่าถูกข้าราชการหมกเม็ด จึงมีการประสานงานให้คณะ กรรมการกฤษฎีกาได้ทำความเห็นกลับมาว่า เนื้อหาบางส่วนใน พ.ร.บ.ดังกล่าวอาจขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ครม.จึงได้มอบให้กระทรวงวัฒนธรรม นำ พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับไปพิจารณาใหม่
4.การปฏิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ หลัง จากที่รอการเกิดขึ้นของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาเป็นเวลานาน เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง กสทช. 11 คน และล่าสุด กสทช.ได้มีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทบริหารจัดการคลื่นความถี่และแผน แม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฉบับ พ.ศ.2555 – 2559 ซึ่งจะนำเข้าสู่ขั้นตอนการประชาพิจารณ์และเปิด รับฟังความคิดเห็นกับประชาชนและผู้เกี่ยวข้องได้ในต้นปีหน้า และหากสามารถประกาศใช้ได้จะมีผลให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ ทั้งโทรทัศน์และวิทยุที่ตกอยู่ในสภาพสูญญากาศไร้การกำกับดูแลมาเป็นเวลานาน
5.สื่อจมน้ำกับบริการสาธารณะ เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าจากสถานการณ์อุทกภัยในช่วงปลายปีที่ผ่าน มาได้สร้างความเดือดร้อนในกับพี่น้องคนไทยนับล้านคน และในจำนวนนั้น สื่อมวลชนก็มีสถานะเป็นผู้ประสบภัยเช่นกัน ทั้งในส่วนของบุคคลและสำนักพิมพ์และสถานีโทรทัศน์หลายแห่ง และจากสถานการณ์อุทกภัยครั้งร้ายแรงนี้เอง ทำให้สื่อมวลชนทุกแขนงตื่นตัวโดยมีส่วนสำคัญในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบ ภัยคู่ขนานกับภาครัฐ ทั้งทำหน้าที่หลักในการรายงานข่าวอย่างแข็งขัน และเปิดสำนักงานเป็นจุดรับบริจาคสิ่งของและนำสิ่งของเข้าไปแจก เมื่อไปทำข่าวในพื้นที่น้ำท่วม ทั้งยังทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนและประสานความช่วยเหลือด้วยความรวดเร็ว จนกลายเป็นอีกบทบาทหนึ่งของสื่อที่นอกเหนือจากการรายงานข่าวแล้ว ยังคงทำหน้าที่จิตอาสาได้อย่างเข้มแข็งเช่นกัน
6.สุดเศร้าอาลัยเพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อ เป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจวงการสื่อในรอบปี 2 เหตุการณ์ กรณีแรกคือ นายศรวิชัย คงตันนิกูล ช่างภาพสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง5 ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์แบล็คฮอว์กตกที่อุทยานแห่งชาติ แก่งกระจาน ที่สร้างความเศร้าเสียใจให้กับคนในวง การสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก ส่วนอีกกรณีเป็นเหตุรถข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำที่ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ทำให้ น.ส.อิสราวรรณ จำลองเพ็ง ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ส่วนช่างภาพและผู้ช่วยช่างภาพได้รับบาดเจ็บ ทั้ง 2 กรณีถือว่าเป็นการเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพ สื่อมวลชน
จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงขอสรุปว่า ในปี 2554 ที่กำลังจะผ่านไปถือว่าเป็น “ปีแห่งความท้าทายบทบาทหน้าที่สื่อมวลชน” ซึ่งในอนาคตสื่อมวลชนจะต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์ต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างครบถ้วน รอบด้าน และยังคงยึดมั่นในหลักของจริยธรรมวิชาชีพอย่างเคร่งครัด
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
www.tja.or.th
31 ธันวาคม 2554