ที่มา ข่าวสด
วิวาทะเกี่ยวกับสื่อในเครือมติชน ที่น่าสน
มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายสมเกียรติ อ่อนวิมล นักสื่อสารมวลชนอาวุโส โพสต์รูปบทความไว้บนบันทึกในเฟซบุ๊กของตนเอง โดยบทความดังกล่าวมีหัวข้อว่า "ปีใหม่ 2555 หยุดซื้อ มติชน" ก่อนจะถูกโต้แย้งอย่างน่าสนใจผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดย "อนุสรณ์ ติปยานนท์" นักเขียนรุ่นใหม่ที่หลายคนขนานนามให้เป็น "มูราคามิเมืองไทย" ซึ่งรวมเรื่องสั้น "เคหวัตถุ" และ "นิมิตต์วิกาล" ของเขา เคยเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์มาแล้ว 2 ครั้ง
ต่อไปนี้ คือ วิวาทะเกี่ยวกับสื่อในเครือมติชนของทั้งคู่
โปรดติดตามอ่านโดยระทึกในดวงหทัยพลัน
สมเกียรติ อ่อนวิมล
"มติชนสุดสัปดาห์" ฉบับวันที่ 30 ธันวาคม 2554-5 มกราคม 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 เรื่องขึ้นปก ยกย่อง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ให้เป็น "บุรุษแห่งปี" พาดหัวบนหน้าปกว่า :
บุรุษแห่งปี
COMING SOON
ไม่นานเกินรอ
เรื่องอยู่ในหน้า 7 เนื้อหาสั้นมาก ไม่เต็มหน้า ไม่มีสาระรายละเอียดอะไรเลย
"ไร้สาระ" ที่จะนำมาทำเรื่องขึ้นปก
เป็นบทความด้อยคุณภาพในระดับที่เป็นรายงานเรื่องใหญ่จากปก
กองบรรณาธิการมติชนไม่ทำการบ้าน ไม่ค้นคว้า ไม่มีหลักเกณฑ์ในการทำรายงานเรื่องบุรุษแห่งปีอะไรเลย คิดเอาเอง เขียนเอาเอง ตามจินตนาการที่สั้นมาก ๆ ด้วย โดยหลักแล้ว การทำงานเรื่องขึ้นปกนั้น ต้องถือเป็นงานสำคัญ งานใหญ่ ต้องเตรียมงานกันหลายคน หลายวัน อาจนานเป็นเดือน กองบรรณาธิการควรทำงานหนักกว่านี้ ต้องทำงานหนักจริง ๆ การมีความเห็นชื่นชมคุณทักษิณก็เป็นสิทธิและเสรีภาพของมติชน ผมไม่มีอะไรขัดข้องในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าผมจะเห็นด้วยในเนื้อหาสาระหรือไม่ก็ตาม แต่ผมอยากอ่านงานที่มีการค้นคว้าที่ละเอียดลึกซึ้งกว่านี้
อยาก รู้ว่าการเป็นบุรุษแห่งปีของคุณทักษิณตามมาตรฐานของมติชนนั้นมีอะไรเป็น พิเศษบ้างแต่ผมก็หาสาระให้คล้อยตามหรือแม้ที่จะให้โต้แย้งก็ยังหาไม่ได้
บทความสั้นมากจนไม่ควรจะเป็นเรื่องขึ้นปก
หากมติชนมีมาตรฐานงานสื่อสารมวลชนเพียงเท่าที่เห็นนี้ คิดเงินผม 40 บาท สำหรับมติชนสุดสัปดาห์ และ 10 บาท สำหรับรายวัน ก็ไม่สมควรที่ผมจะเสียเงินอุดหนุนมติชนอีกต่อไป
ในช่วงวิกฤติการเมือง 3-5 ปีที่ผ่านมา การทำงานของหนังสือพิมพ์มติชน ทั้งรายวันและรายสัปดาห์ ผมสรุปเป็นความเห็นส่วนตัวว่า คุณภาพงานข่าวสารของมติชนตกต่ำลงมาก ความคิดของกองบรรณาธิการสับสนอลวน แนวทางหลักเอียงไปทางสนับสนุนคุณทักษิณมาก โดยไม่แสดงนโยบายการบรรณาธิการให้ผู้อ่านได้รับทราบให้ชัดเจน ไม่แสดงความโปร่งใสต่อสาธารณชนในเรื่องการถือหุ้นจากกลุ่มการเมือง วิกฤติการเมืองภายในองค์กรของมติชนเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ละครั้งไม่ได้รับการชี้แจงให้หายกังขา
ผมอ่านมติชนมาตั้งแต่กำเนิดมติชนในปีแรก และซื้ออ่านโดยให้ส่งถึงบ้านทุกเช้าเสมอมาไม่เคยขาด เขียนบทความลงมติชนก็หลายครั้ง มติชนจะลำเอียงไปทางไหนผมไม่เคยถือเป็นเหตุสำคัญ เพราะผมวิเคราะห์ความอิสระหรือความลำเอียงของมติชนได้ ใครถือหุ้นในมติชนเท่าไหร่อย่างไรผมก็พอมีข้อมูล
ไม่ว่ามติชนจะเป็นกลาง หรือ ลำเอียงไปทางไหน ผมยินดีซื้อมติชนอ่านมาโดยตลอด
แต่พอมาพบความไม่ขยันในการทำงานค้นคว้าหาความจริงจากเรื่องขึ้นปกมติชนสุดสัปดาห์ฉบับล่าสุดนี้ ก็เป็นเสมือนฟางเส้นสุดท้าย ทำให้ผมตัดสินใจเด็ดขาดในวันนี้ ว่าจะหยุดซื้อมติชนอ่านจากวันนี้เป็นต้นไป
สาเหตุใหญ่มาจากความไม่ขยันทำงานค้นหาความจริงของมติชน มากกว่าจุดยืนทางการเมืองของกองบรรณาธิการ
เมื่อเย็นวันนี้คนส่งหนังสือพิมพ์มาเก็บเงินที่บ้านพอดีผมเลยบอกคนส่งหนังสือพิมพ์ให้ทราบว่า:
จากพรุ่งนี้เช้าเป็นต้นไป ขอไม่เอามติชน (10 บาท).
เหลือไว้เพียง "โพสต์ทูเดย์" (15 บาท). ฉบับเดียวพอ.
ประหยัดเงินไปเดือนละ 300 บาท!
สมเกียรติ อ่อนวิมล
5 มกราคม 2555
----------
อนุสรณ์ ติปยานนท์
เรื่องการงดซื้อมติชนของ อาจารย์สมเกียรติ อ่อนวิมล นี้ ทำให้ผมนึกถึงเรื่องราวโบราณครั้งบรมสมกัปป์ได้เรื่องหนึ่ง
ในอดีตนั้นตรงประตูเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งท่าพระจันทร์จะมีแผงหนังสือตั้งติดกำแพงอยู่แผงหนึ่ง
ที่ น่าสนใจคือในแผงนี้ล้วนมีแต่หนังสือหนักและยั่วยวนการแสวงหาของนักศึกษายุค นั้นเป็นหลักอีกทั้งยังเป็นแผงหนังสือที่เปิดเช้าราวสิบโมงและปิดแผงไปใน ช่วงบ่าย
...
ช่วงเวลาเที่ยงที่นักศึกษาออกมาหาอาหาร กลางวันทานแผงนี้จะขายดีแบบแทบไม่เห็นตัวเจ้าของช่วงเวลานั้นเองที่หนังสือ พิมพ์มติชนกำเนิดมาได้ไม่นานการวางเลย์เอาท์แบบหัวนอก ไม่มีรูปอาชญากรรม โป๊เปลือยเป็นจุดขาย ทำให้เป็นหนังสือพิมพ์ที่ขายยาก จะขายได้แต่เฉพาะนักศึกษาโดยเฉพาะที่แผงริมกำแพงนี้ หนังสือพิมพ์มติชนลงมาเท่าไหร่ทั้งนักศึกษาอาจารย์แย่งซื้อราวแจกฟรี และเป็นที่รู้กันว่าใครถือหนังสือพิมพ์มติชนเดินในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่พวกหัวก้าวหน้าก็ต้องเป็นนักกิจกรรมตัวเอ้
ข่าวใหญ่ๆ ที่มติชนเล่น และได้รับการตอบรับจากนักศึกษาช่วงนั้นมากมีหลายข่าวเช่นการคัดค้านการขึ้นค่ารถเมล์ หรือการคัดค้านเขื่อนน้ำโจนเป็นต้น
กาลเวลาผ่านไปแผงหนังสือนั้น ต้องล้มหายตายจากเพราะการปรากฎตัวของร้านดอกหญ้าที่แอร์เย็นและมีหนังสือให้ เลือกมากกว่าส่วนมติชนก็กลายเป็นหนังสือพิมพ์ที่ใครก็อ่านได้ไม่น่ากลัว เหมือนดังก่อน ทว่าสิ่งที่น่าสนใจคือมติชนสุดสัปดาห์ที่ถือว่าเป็นยอดของหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่ครบทุกรส และดูจะเข้าถึงคนทุกกลุ่มมากกว่าในอดีตด้วยซ้ำ
กาลเวลาผ่านไปอีกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงความขัดแย้งที่ผ่านมา มติชนสุดสัปดาห์ กลายเป็นหนังสือที่ไม่ใช่สำหรับคนชั้นนำทางความคิดหากแต่กลายเป็นสื่อความคิดโดยแท้ ภาพของหญิงวัยกลางคนต่างอำเภอที่มาถามหามติชนถึงตลาดบางบัวทอง ภาพของชายวัยชราที่เพ่งอ่านมติชนสุดสัปดาห์ในรถโดยสาร ปาย-แม่ฮ่องสอน เป็นภาพที่ทำให้ผมหยุดมองและครุ่นคิดถึงการเปลี่ยนแปลงนั้น
นี่อาจจะเป็นยุคสมัยที่แท้ที่มติชนคือมติ-ชนที่ชนและเป็นของปวงชนจริงๆ
จนอาจทำให้แฟนเก่าเฉพาะกลุ่มที่สงวนมติชนไว้ให้ตนเองกำลังเจ็บปวดกับการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ก็เป็นได้มิใช่หรือ?