ที่มา thaifreenews
โดย เสรีชน คนใต้
ศรัทธาใน “ความเสมอภาคของมนุษย์” มีค่ากว่าศรัทธาในสถาบันใดๆ เราอาจจำแนก “ศรัทธา” ออกเป็นสองประเภท คือ
1. ศรัทธาในสิ่งนอกตัวเรา ที่เราเชื่อกันว่าเป็นสิ่งสูงส่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นศูนย์รวมจิตใจ เช่น ศาสนา พระเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ สถาบันกษัตริย์ เป็นต้น
2. ศรัทธาใน “ความเสมอภาคของมนุษย์” เกิดจากการที่เรามองเห็น “คุณค่า” ในความเป็นมนุษย์ของตนเองและของคนอื่นๆ ว่ามีอยู่อย่างเท่าเทียมกัน คุณค่านั้นอาจเป็น “เสรีภาพ” ที่เราควรมีอย่างเท่าเทียม หรือศักยภาพที่จะบรรลุถึงสิ่งที่ดีที่สุดในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่เราควรมี โอกาสพัฒนาให้งอกงามอย่างเท่าเทียม เป็นต้น
ปัญหาคือศรัทธาในข้อ 1 มักเรียกร้องให้เราสยบยอม หรือจำกัดการใช้เหตุผลอย่างถึงที่สุดของเรา ขณะ ที่ศรัทธาในข้อ 2 จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเราได้ใช้เหตุผลอย่างถึงที่สุด หรือยิ่งใช้เหตุผลอย่างถึงที่สุดก็ยิ่งศรัทธาใน “ความเสมอภาคของมนุษย์” อย่างถึงที่สุด ฉะนั้น ศรัทธาในข้อ 1 จึงมีลักษณะครอบงำทางความคิด ลดทอนการใช้เหตุผลและเสรีภาพโดยใช้อำนาจบังคับในบางระดับเสมอ ขณะที่ศรัทธาในข้อ 2 เรียกร้องความมีเหตุผลและเสรีภาพทางความคิด แต่เนื่องจากความมีเหตุผลและเสรีภาพคือ essence ของความเป็นคนของเรา ศรัทธาในข้อ 1 จึงถูกตั้งคำถามมากขึ้น ศาสนา พระเจ้า หรือสถาบันกษัตริย์ที่แปลกแยก หรืออยู่ตรงข้าม/ขัดขวางความมีเหตุผลและเสรีภาพยากที่จะมั่นคงอยู่ได้ในโลก ที่ผู้คนมี “ความเป็นคน” มากขึ้น!
จากเฟสบุ้ค อ.สุรพศ ทวีศักดิ์