ที่มา ประชาไท
ส่งท้ายปี ทีมประชาไท รวบรวมคมคำเด็ดๆประจำปีที่กลายเป็นวลีและประโยคฮิตทั้งในสังคมออฟไลน์และออ นไลน์ ย้อนความทรงจำที่มาที่ไป และแรงกระเพื่อมจากถ้อยคำ ซึ่งหลายคำกลายเป็นผลสะเทือนต่อคนพูดเอง ขณะที่อีกหลายถ้อยคำ ก่อให้เกิดการอภิปรายอย่างหลากหลาย แต่ที่แน่ๆ ล้วนถูกพูดขึ้นมาในจังหวะร้อนและสะท้อนความสนใจของสังคมไทยในสถานการณ์ที่ ช่วยก่อกำเนิดถ้อยคำเหล่านี้ขึ้นมา
0 0 0
สำหรับ Quotes of The year ประจำปีนี้ ประชาไทขอยกให้กับวลี/ประโยคเหล่านี้
- เอาเจ้าหรือไม่เอาเจ้า
- ดีแต่พูด
- เอาอยู่ค่ะ
- คืนนั้นเป็นคืนที่ผมร้องไห้อยู่นานมากครับ
- เราคืออากง
- ขอแชร์นะ
- ขอพูดอะไรแรงๆ สักครั้งในชีวิต
- เราพูดอะไรไม่ฉลาดมากไปหรือเปล่า
- Forgive and Forget และ ไม่แก้แค้นแต่แก้ไข
ไม่คิดแก้แค้นแต่จะแก้ไข และ Forgive and Forget
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ตวงพร อัศววิไล ในรายการ intelligence ถึงแนวนโยบายของเพื่อไทย
16 พ.ค. 2554
ยิ่งลักษณ์ก้าวเข้ามาสู่เวทีการเมืองอย่างเป็นทางการ ในฐานะปาร์ตี้ลิสต์อันดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย เพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ในวันแห่งการเริ่มต้น เธอพูดกับสื่อด้วยน้ำเสียงประหม่าตามสคริปต์โดยมีโค้ทเด็ดที่สื่อทุกสำนักต้องทำไปพาดหัวว่าพรรคเพื่อไทย “ไม่คิดแก้แค้น แต่จะแก้ไข” เพื่อเน้นย้ำแนวทางปรองดองของพรรค และชี้ชวนให้มองไปข้างหน้า หลังจากที่ประเทศติดหล่มความขัดแย้งทางการเมืองมายาวนานกว่า 5 ปีแล้ว
ในการแถลงข่าวเดียวกัน ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงเหตุผลหลักที่เธอเข้ามาทำงานการเมืองซึ่งเป็นงานที่เธอ ไม่เคยคิดจะเลือกว่า “ผ่านไปถึง 5 ปี ผู้คนและประชาชนก็ยังคิดถึงพี่ชายและคิดถึงนโยบายเก่าๆ ที่เคยทำมาในอดีต รวมถึงให้ความอบอุ่น ความเมตตากับครอบครัวดิฉัน ดิฉันจึงรู้สึกว่าครอบครัวของเรานั้น เป็นหนี้ประชาชน”
ยิ่งลักษณ์นำพาพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งมาด้วยจำนวน ส.ส. 265 เสียง และเป็นผู้นำรัฐบาลมาย่างเข้า 6 เดือนแล้ว แนวทางปรองดองและการแก้ไขของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ยังคงถูกตั้งคำถามว่า มันจะดำเนินไปเช่นไร ขณะที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมในปี 2553 หลายคนก็ยังคงถูกกักขังและดำเนินคดีต่อไป
จดหมายจากคำหล้า ชมชื่น ที่ส่งถึงทักษิณ ชินวัตร ก่อนที่เขาจะถูกตัดินจำคุก 10 ปี ข้อหาปล้นอาวุธปืนของทางราชการตอนหนึ่งบอกความในใจอย่างกระท่อนกระแท่นใน ฐานะประชาชนผู้สนับสนุนทักษิณว่า
“สิ่งที่ผมต้องการมากที่สุดก็คือเรื่องการประกันตัวผมมากๆ เลยครับ เพราะผมอยากออกไปช่วยเหลือครอบครัว เพราะว่าแฟนผมต้องรับภาระอยู่คนเดียวและลูกผมต้องเรียนหนังสือด้วย ผมจึงอยากจะประกันตัวไปช้วยแฟนแบ่งเบาภาระครอบครัวมากเลยครับ”
20 พฤศจิกายน 2554
ทักษิณ ชินวัตร ส่งจดหมายจากนครดูไบมายังประชาชนไทย เพื่อให้กำลังใจต่อวิกฤตน้ำท่วม “ผมขอเรียกร้องทุกฝ่ายที่รักชาติบ้านเมืองจริง ต้องรู้จักคำว่า "FORGIVE AND FORGET" คือรู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน ลืมเรื่องเก่าๆ เข้าสู่มิติใหม่ของวันพรุ่งนี้เพื่อบ้านเมืองและลูกหลานเราครับ”
ทั้ง “ไม่คิดแก้แค้น แต่จะแก้ไข” และ "FORGIVE AND FORGET" นั้นเป็นการเน้นย้ำถึงการยื่นมือออกไป “ปรองดอง” แต่พี่น้องตระกูลชินวัตรกำลังต้องการปรองดองกับใคร และอย่างไร
ภายใต้การนำของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่า ผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ จะได้รับการเยียวยาอย่างไร เสรีภาพในการแสดงความเห็นไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้นไปจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ แนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้กฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ยังเหมือนเดิม และมีท่าท่าจะหนักกว่าเดิม
ปัญหาเหล่านี้เคยเป็นปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นเพื่อชี้ว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขาดสำนึกประชาธิปไตยอย่างไร กลายเป็นประเด็นเดียวกับที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกจับตาเช่นกัน
คนเสื้อแดงและผู้เห็นใจเสื้อแดงบางส่วนเริ่มตั้งคำถาม แต่ถูกปัดตกไปด้วยคำอธิบายทำนองว่า อย่าเพิ่งถามตอนนี้ ให้กำลังใจรัฐบาลไปก่อน หรือ รัฐบาลมีงานอื่นต้องทำก่อน.....จนถึงวันนี้ คำถามที่ดังขึ้นทุกวันๆ ไม่ใช่คำถามจากคนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคเพื่อไทยและครอบครัวชินวัตรใน ประเด็นยิบย่อย ไร้สาระ หากแต่เป็นคำถามจากมวลชนที่พาเธอเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก และกลายเป็นผู้หญิงที่ถูกจับตามองมากที่สุดคนหนึ่งของโลก
รัฐบาลที่ก้าวขึ้นมาจากการเลือกตั้งหลังผ่านการเมืองนองเลือดที่มีทหาร และประชาชนเสียชีวิตไปทั้งสิ้น 91 ศพ และบาดเจ็บนับพัน รัฐบาลภายใต้การนำอย่างเป็นทางการของ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ การมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนอยู่ห่างๆ ! (?) ของพี่ชาย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จะแก้ไขอะไรสิ่งใดที่พวกเขารู้สึกผิดพลาดที่ผ่านมา จะให้อภัยใคร และหลงลืมใครเพื่อให้ตนเองได้ยืนหยัดอยู่บนหนทางอำนาจ ปี 2555 นี้น่าจะคลี่คลายคำถามเหล่านี้ได้ชัดเจน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง