ที่มา thaifreenews
โดย เสรีชน คนใต้
เมื่ออ่านรัฐธรรมนูญมาตรา 9 “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ...” ยิ่งทำให้นึกถึงเนื้อความใน “อัคคัญญสูตร” (พระไตรปิฎกเล่ม 11) ที่ยืนยันว่า พระมหากษัตริย์มาจาก “คนธรรมดา” ได้อำนาจมาจากการยินยอมของชุมชนทางการเมือง
ซึ่งเป็นการยืนยันตามข้อ เท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และพระพุทธเจ้าเองก็ยืนยันข้อเท็จจริงนี้เพื่อโต้แย้งระบบชนชั้น หรือระบบวรรณะ 4 กษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทร
แต่หลังจากพระ พุทธเจ้าปรินิพพาน พุทธศาสนาก็ไปพึ่งพิงอำนาจรัฐแบบราชาธิปไตยมากขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่ยุคพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นต้นมา กษัตริย์ในอุษาคเนย์และสยามประเทศที่นับถือพุทธก็ยึด “โมเดลอโศกมหาราช” ที่อ้างอุดมการณ์พุทธเป็นอุดมการณ์ปกครองรัฐ แต่เน้นหนักไปทางตีความพุทธศาสนาสนับสนุนสถานะและอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของ กษัตริย์มากกว่า ที่จะปกครองโดยให้เสรีภาพ และความเสมอภาคแก่ราษฎรตามหลักการดั้งเดิมของพุทธศาสนา
ฉะนั้น สถานะของกษัตริย์จากเดิมที่เป็น “คนธรรมดา” จึงกลายเป็น “สมมติเทพ” ที่อยู่สูงกว่าราษฎร ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้
ทั้ง ที่อุดมการณ์ที่พุทธศาสนาเสนอตั้งแต่แรก คือ “อุดมการณ์ธรรมราชา” ที่กษัตริย์เป็นคนธรรมดาแต่มีคุณธรรมของผู้ปกครองคือ “ทศพิธราชธรรม” และ “จักรวรรดิวัตร” ซึ่งเป็นคุณธรรมของผู้เสียสละอุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร อ่อนน้อมถ่อมตนต่อราษฎร และถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้ โดยไม่มีแม้กระทั่งความโกรธ (อักโกธะ) และไม่เบียดเบียน (อวิหิงสา) ราษฎรเมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ
การปกครองและการตัดสิน คดีความต่างๆ ก็ต้องดำเนินไปด้วยความยุติธรรม (อวิโรธนะ) แก่ราษฎรอย่างเสมอภาค ใช้เหตุผลและการุณยธรรมมากกว่าใช้อำนาจเผด็จการ
จึงถึงเวลาที่เรา ต้อง “ตื่นรู้” เสียทีว่า การใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือสร้างอุดมการณ์ “สมมติเทพ” เพื่อสนับสนุนสถานะ อำนาจศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ในยุคราชาธิปไตยและสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นั้น เป็น “ข้อเท็จจริง” ทางประวัติศาสตร์ที่ “ขัดแย้ง” กับหลักการดั้งเดิมของพุทธศาสนา
แน่นอนว่าเราอาจเข้าใจได้ว่า นั่นเป็นความจำเป็นในบริบทของเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์สังคมการเมืองและศาสนาในยุคที่ผ่านมา
แต่วันนี้โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ในระบอบประชาธิปไตยแบบอารยะประเทศ พระมหากษัตริย์ที่เป็นประมุขของรัฐคือ “คนธรรมดา” ที่มีกฎหมายคุ้มครองแบบกฎหมายคุ้มครองคนธรรมดา ซึ่งสอดคล้องกับอุดมการณ์ดั้งเดิมของพุทธศาสนาที่ถือว่ากษัตริย์คือคนธรรมดา ฉะนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดว่าพระมหากษัตริย์เป็นพุทธมามกะ อุดมการณ์เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์จึงต้องเป็น “อุดมการณ์ธรรมราชา” ที่กษัตริย์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้
ปี 2555 คือปีที่เราต้องตื่นรู้ เพื่อยืนยันอุดมการณ์นี้ และยืนยันแนวทางการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยและอุดมการณ์ ธรรมราชาจริงๆ เพื่อความมั่นคงของประชาธิปไตย เพื่อปกป้องอุดมการณ์ที่แท้จริงของพุทธศาสนาและสถาบันกษัตริย์ให้ยั่งยืน อย่างสอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ ที่ถือว่าเสรีภาพและความเสมอภาคคือคุณค่าสูงสุด!
จากเฟสบุค อ.สุรพศ ทวีศักดิ์
https://www.facebook.com/suraphotthaweesak/posts/201297363296944