คอลัมน์ : คิดในมุมกลับ
“ทำกับข้าวโดนปลด เป็นกบฏโดนปล่อย” ประโยคนี้ไม่ได้คิดเอง แต่ใครไม่รู้เขียนทิ้งไว้บนโต๊ะอ่านหนังสือในมหาวิทยาลัย ผนังห้องน้ำสาธารณะก็มี คุยกับเพื่อน เพื่อนก็บอกว่าเคยเห็น...
ไม่ใช่แค่เห็น...แต่ยัง “เห็นด้วย” ไปกินก๋วยเตี๋ยวแถวบ้านก็ได้ยินคนขายบ่นเรื่องนี้อย่างท้อแท้ว่าบ้านเมืองวันนี้หาหลักเกณฑ์อะไรไม่ได้ เมื่อก่อนว่ากันว่าคุกมีไว้ขังคนจน วันนี้ต้องเพิ่มมีไว้ขังใครก็ได้ที่ไม่ใช่พันธมิตรฯ อีกด้วย
ไม่กล้าจินตนาการเลยจริงๆ กฎเกณฑ์ของการเลือกตั้งวันนี้ถูกทำลายย่อยยับ ไร้ความหมาย วันต่อไปจะเป็นเรื่องอะไรอีกที่ทำให้คนส่วนใหญ่ทนไม่ได้ หมดความอดทน ไม่เห็นใครที่จะพึ่งพา แล้ววันนั้นจะมีแต่ “กฎกู” ก็คงอีกในไม่ช้า
ถ้าจะมีอะไรที่รัฐบาลนี้จะโดนตำหนิ ก็คือไร้ความสามารถในการควบคุมความสงบเรียบร้อยโดยรวม มองไม่ออก แยกไม่ออกว่าใครประชาชน ใครโจร คนทำผิดกฎหมายขนาดตบอาวุธปืนตำรวจได้ ยิงตำรวจได้ ทำลายกล้องวงจรปิดของ กทม. ก่อนทุบตีคนได้...แบบนี้จะเอาความเชื่อมาจากไหนว่ายังสามารถเจรจาภาษาคน
รัฐบาลทั้งรัฐบาลยังแหย ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ยังต้องหลีกทางให้ ทหารยังต้องเกรงใจ ปัญญาชน สื่อมวลชน นักวิชาการยังปกป้อง...แล้ว “ประชาชน” อย่างเราจะไปเหลืออะไรสู้กับมัน
ทุกวันนี้ก็ใช้ชีวิตกันด้วยความคับแค้น กฎหมายไม่มีค่า แต่จะให้ลุกไปรบราฆ่าฟันด้วยตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่อยากเป็นผู้ร้ายไปด้วยอีกคน
แต่ภาวะอึดอัด ภาวะที่คนส่วนมากถูกกดทับ ถูกบังคับให้ต้องยอมอย่างไร้ความชอบธรรมแบบนี้นี่แหละ ที่จะยิ่งเป็นแรงกดดันให้พวยพุ่งขึ้นมาอย่างร้อนแรงราวน้ำพุร้อนใต้ดิน
ประเทศที่เปลี่ยนผ่านการเมืองด้วย “สงครามกลางเมือง” ก็เป็นแบบนี้ บ้านเมืองจะมีความเห็นแตกต่างกันร้อยหัวร้อยความคิดก็ไม่มีใครว่า แต่ “หลักเกณฑ์” ที่ร่วมกันยึดถือต้องเป็นหนึ่งเดียว
เมื่อต่างก็ไม่ยอมรับหลักเกณฑ์อีกฝ่าย และต่างฝ่ายก็ไม่อาจทนก้มหัวให้กฎของอีกฝ่าย ด้วยเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับตัวเอง ทางออกจึงมีแต่ต่อยกันให้แพ้ชนะไปข้างหนึ่งเท่านั้น
และสำหรับหลายประเทศที่ประชาธิปไตยเข้มแข็งในทุกวันนี้ นั่นเพราะว่าครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เขาเคยผ่านสงครามกลางเมืองมาแล้วทั้งนั้นนั่นเอง
ปฏิญา ยอดเมฆ