WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Monday, October 13, 2008

สังคมไทยกับวาทกรรมที่น่าเบื่อ

คอลัมน์ : ประชาทรรศน์วิชาการ

บทนำ
ในรอบ 3-4 ปีมานี้ นักวิชาการและพันธมิตรฯ มักจะนำเสนอ “วาทกรรม” หรือ “ถ้อยคำ”แปลกๆ ใหม่ๆ ที่ฟังผิวเผินแล้วดูดี ขลัง น่าสนใจ ชวนติดตาม ฯลฯ ต่อสังคมไทย ตัวอย่างของวาทกรรมหรือถ้อยคำเหล่านี้ ได้แก่ “ตุลาการภิวัตน์” “อารยะขัดขืน” “ขาดความชอบธรรม” “การใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” “ห้ามใช้ความรุนแรง” “การเมืองภาคประชาชน” และล่าสุด “การเมืองใหม่” การเสนอวาทกรรมหรือถ้อยคำที่ฟังดูดีนั้นถูกนำเสนอและผลิตซ้ำไปมาบ่อยๆ

ซึ่งหากพิจารณาตั้งคำถามลงไปในรายละเอียดจริงๆ แล้ว ผู้พูดก็ไม่แน่ใจหรือไม่ทราบว่าความหมายที่แท้จริงของคำดังกล่าวคืออะไร แต่ดูเหมือนหลายครั้ง ผู้พูดพูดเพราะกระแส หรือดูเท่ และเมื่อมีการผลิตซ้ำกันบ่อย ๆ หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “กรอกหู” ทุกวี่ทุกวันเเล้ว ก็ส่งผลให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งนำไปอ้างต่อๆ กันไปแบบเฮโลสาละพาจนกลายเป็นกระแสขึ้นมา สังคมไทยเป็นสังคมโหนกระแสอยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่มักจะมีการนำไปอ้างอย่างพร่ำเพรื่อ แม้ว่าคนอ้างจะไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของคำนั้นก็ตาม

การที่ผมได้ยินถ้อยคำที่กล่าวมาข้างต้นทุกวี่ทุกวันตามสื่อต่างๆ จนผมรู้สึกว่า วาทกรรมหรือถ้อยคำประเภท “ตุลาการภิวัตน์” “อารยะขัดขืน” “การใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” “การเมืองภาคประชาชน” และ “การเมืองใหม่” นั้น มิได้เป็นอะไรมากกว่า “ถ้อยคำที่พูดติดปากจนน่าเบื่อ” (clich?) ไปอย่างนั้นเอง เเต่ผลร้ายที่ตามมาซึ่งผู้พูดจะตระหนักหรือไม่ก็สุดแท้ คือวาทกรรมหรือถ้อยคำเหล่านี้ ได้มีส่วนทำลายความสงบเรียบร้อยและบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยรวมทั้งกระบวนการยุติธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม

ผมขอยกตัวอย่างการใช้วาทกรรมที่น่าเบื่อเหล่านี้ ดังนี้
1. การห้ามใช้ความรุนเเรง (Non-violence)
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดและเข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานี้คือ การใช้วาทกรรมเรื่อง ห้ามใช้ความรุนแรง (Non violence) ในการสลายการชุมนุม โดยหลังจากเกิดเหตุการณ์การสลายผู้ชุมนุม บรรดาองค์กรทั้งหลายต่างพากันประณามและการใช้วาทกรรมห้ามใช้ความรุนแรงอย่างถี่ยิบ โดยที่ผู้ประณามเองมองข้ามการกระทำของกลุ่มพันธมิตรฯ ว่ามีส่วนในการทำให้เกิดความรุนแรงดังกล่าวด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปลุกระดม การยั่วยุ การพาผู้ชุมนุมไปยึดทำเนียบ และไปปิดล้อมรัฐสภาอีก ไม่มีประเทศใดในโลกที่ยอมให้ผู้ชุมนุมปิดล้อมสถานที่สำคัญของราชการอย่างทำเนียบรัฐบาล หรือรัฐสภา กฎหมายการชุมนุมของหลายประเทศกำหนดว่า ผู้ชุมนุมต้องชุมนุมห่างจากสถานที่ราชการเป็นระยะห่างไม่น้อยกว่า 150 เมตร หรือ 300 เมตรบ้าง หรือกฎหมายการชุมนุมของเนเธอร์แลนด์บัญญัติว่า หากมีการชุมนุมในลักษณะเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาศาลโลกก็ดี เจ้าหน้าที่ของสถานทูตและกงสุลก็ดี เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศก็ดี เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถสลายการชุมนุมได้ทันที เป็นต้น ที่ผ่านมา รัฐบาลได้อะลุ่มอล่วยแก่กลุ่มพันธมิตรฯ มากแล้ว ถึงกับยอมให้กลุ่มพันธมิตรฯ ยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นเวลานานร่วม 4 เดือน เเต่คราวนี้กลุ่มพันธมิตรฯ ปิดล้อมรัฐสภาอีก

การที่กลุ่มองค์กรต่างๆ มากมายได้ประณามการใช้แก๊สน้ำตา เพื่อสลายผู้ชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น มีข้อสงสัยว่า ทำไมไม่มีใครประณามผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง โดยการทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำไมไม่มีใครตั้งคำถามหรือสงสัยว่า ทำไมผู้ชุมนุมต้องไปชุมนุมหน้ารัฐสภาเพื่อขัดขวางมิให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อสภาได้ทั้งๆ ที่ การแถลงนโยบายเป็นภารกิจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ประเด็นมีว่า มาตรการการใช้แก๊สน้ำตานั้น เป็นมาตรการที่สมควรแก่เหตุหรือไม่ การพิจารณาว่ามาตรการใดสมควรแก่เหตุหรือไม่นั้น ให้พิจารณาว่ามีมาตรการอื่นๆ ที่ยังเปิดช่องให้ทำได้หรือไม่ โดยมาตรการเช่นว่านั้น หากใช้แล้วก็จะบรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งในที่นี้คือการเปิดทางเข้าสู่รัฐสภา

แต่หากพบว่าไม่มีมาตรการอื่นใดที่ยังหลงเหลืออยู่พอที่จะให้บรรลุเป้าหมาย การใช้มาตรการดังกล่าวก็ไม่ถือว่าเกินสมควรแก่เหตุ หมายความว่า หากเจ้าหน้าที่พูดจาหว่านล้อมให้กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงยอมให้เปิดทางเข้าสู่สภาแล้ว แต่มาตรการเจรจาไม่ได้ผล อีกทั้งไม่มีมาตรการอื่นใดที่เปิดช่องให้ทำได้ ยกเว้นการใช้แก๊สน้ำตา มิฉะนั้น เป้าหมายคือการเปิดทางเข้าสู่สภาไม่อาจทำได้ การใช้แก๊สน้ำตาถือว่าเป็นมาตรการที่สมควรแก่เหตุ ในประเทศฝรั่งเศส ตำรวจสามารถเลือกใช้มาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมความเป็นระเบียบเรียบร้อยของการชุมนุม

โดยขึ้นอยู่กับระดับของความรุนแรง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจใช้ไม้กระบอง (Batons) การฉีดน้ำที่เรียกว่า water cannon และแก๊สน้ำตา (Tear gas) ส่วนกระสุนยาง (Rubber bullets) นั้น เป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่ง แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากเป็นอันตรายหากมีการยิงด้วยระยะใกล้1

คำถามมีว่า ทำไมผู้ประณามการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมนี้ ไม่เคยเห็นตำรวจใช้แก๊สน้ำตา หรือบางครั้งใช้กระบอง หรือกระสุนยาง หรือน้ำฉีดในต่างประเทศอีกหลายประเทศดอกหรืออย่างที่ตำรวจต่างประเทศสลายการชุมนุมหรือประท้วงของพวกฮูลิแกน ในประเทศอังกฤษ และอิตาลี หรือการสลายผู้ชุมนุมของพวกต่อต้านโลกาภิวัตน์ในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น หรือผู้ประณามกำลังจะบอกว่า ต่างประเทศมีมาตรฐานในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่ำกว่าประเทศสารขัน หรือมาตรการในการสลายผู้ชุมนุมของต่างประเทศไม่ได้มาตรฐานสากลกระนั้นหรือ หรือไม่ว่าผู้ชุมนุมจะประท้วงชุมนุมอย่างไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ยาวนานเท่าไหร่ก็ได้ สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นได้ โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยไม่สามารถสลายผู้ชุมนุมได้เลยกระนั้นหรือ

ประเด็นหนึ่งที่ผู้ประณามหยิบมาเป็นประเด็นโจมตีการทำหน้าที่ของตำรวจ และใช้เป็นข้ออ้างในการทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลก็คือ การสลายผู้ชุมนุมครั้งนี้ยังผลให้มีคนตายสองคน บาดเจ็บอีกกว่าหลายร้อยคน แต่ภาพและข่าวที่ปรากฏรวมทั้งคำชี้แจงของ รอง.บช.น พบว่า การยิงแก๊สหรือขว้างแก๊สน้ำตานั้น ไม่มีอานุภาพเพียงพอที่จะทำให้อวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายฉีกขาด การฉีกขาดของขาผู้ชุมนุมน่าจะเกิดจากการนำระเบิดปิงปองติดตัวไปเอง หรือกรณีคาร์บอมบ์ที่หน้าพรรคชาติไทยนั้น มีการพิสูจน์ได้ว่าเป็นหนึ่งในแกนนำของกลุ่มพันธมิตรฯ เอง หรือกรณีที่มีการขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ข้อเท็จจริงเหล่านี้ สื่อ และบรรดาองค์กรต่างๆ ต่างพากันนิ่งเงียบไม่หยิบมากล่าวถึงเลย

อย่างไรก็ดี เพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ผมเห็นว่าประเด็นนี้รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมาธิการค้นหาข้อเท็จจริงที่เรียกว่า Fact Finding Committee ขึ้นมาเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติว่าใครเป็นผู้ก่อความรุนเเรงขึ้นมา

2. การชุมนุมโดยสงบเเละปราศจากอาวุธ
ผู้ชุมนุมมักจะอ้างอยู่บ่อยๆ ว่าการชุมนุมของตนได้เข้าเงื่อนไขการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญคือเป็นไปโดยความสงบเเละปราศจากอาวุธ ประเด็นก็คือคำว่า “โดยสงบ” (Peaceful) นั้น มีความหมายว่าอย่างไร ผู้ชุมนุมเเละประชาชนกลุ่มหนึ่งอาจคิดเอาเองว่า คำว่า “โดยสงบ” นั้น หมายถึง การชุมนุมอยู่ ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง หรือการเดินขบวนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเป็นแนวแถว

โดยไม่มีการโห่ร้องอะไรทำนองนี้ แต่ผมคิดว่า คำว่า “โดยสงบ” นั้น มิได้จำกัดเพียงแค่กิริยาท่าทางภายนอก แม้การชุมนุมหรือเดินขบวนจะเป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่แตกแถว เพราะเชื่อฟังคำสั่งของแกน นำอย่างเคร่งครัด แต่การพิจารณาว่าการชุมนุมหรือการเดินขบวนนั้น มีลักษณะโดยสงบหรือไม่ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขอย่างอื่นประกอบด้วย เช่น เงื่อนไขด้านสถานที่ เงื่อนไขด้านเวลาที่กำลังมีการชุมนุม เเละองค์ประกอบอย่างอื่น โดยในแง่ของเงื่อนไขด้านสถานที่ หากมีการชุมนุมหรือเดินขบวนไปยังสถานที่บางแห่ง เช่น สถานที่สำคัญของการบริหารราชการแผ่นดิน ศาล โรงพยาบาล รวมทั้งสถานที่เป็นอันตรายโดยสภาพ เช่น สถานีโรงกลั่นน้ำมัน คลังสรรพาวุธ เป็นต้น

หรือในเเง่เงื่อนไขของเวลาก็ต้องมีการพิจารณาว่าเวลาขณะที่มีการชุมนุมนั้น มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด เช่น มีการชุมนุมในยามวิกาล (กฎหมายการชุมนุมของบางประเทศกำหนดว่าห้ามมีการชุมนุมหลังเวลา 5 ทุ่ม หรือ 3 ทุ่ม) หรือไม่ นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ประกอบกันด้วย เช่น กฎหมายว่าด้วยความสงบเรียบร้อยของอังกฤษห้ามมิให้ผู้ชุมนุมแสดงกิริยาอาการหรือแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง ศาลอังกฤษเคยตัดสินว่า ผู้ชุมนุมแสดงกิริยาเคารพแบบฮิตเลอร์นั้น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ดังนั้น การที่กลุ่มผู้ชุมนุมใช้รถติดภาพนำจับของอดีตนายกฯ เเละภริยาในลักษณะเชิงประจานนั้นจะเข้าข่ายเป็นการยั่วยุอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ เป็นประเด็นที่น่าคิด

ด้วยเหตุนี้ การพิจารณาเงื่อนไขด้านสถานที่ เวลา และองค์ประกอบอื่นประกอบกัน น่าจะเป็นเกณฑ์ในการประเมินได้ว่า การชุมนุมหรือการเดินขบวนของผู้ชุมนุมนั้นเป็นไปโดยสงบหรือไม่ แต่เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายการชุมนุมโดยตรง จึงปล่อยให้ผู้ชุมนุมต่างอ้างสิทธิชุมนุมกันอย่างไร้ขอบเขต โดยอ้างแต่คำว่า “โดยสงบและปราศจากอาวุธ” เป็นสรณะ โดยคิดเอาเองว่า หากตนเองชุมนุมโดยสงบและไม่มีอาวุธแล้ว จะชุมนุมหรือปิดล้อมที่ใดก็ได้ทุกแห่งในประเทศไทย การใช้ตรรกแบบนี้เป็นการใช้ตรรกะที่ผิด หากสังคมไทยยอมรับให้มีการอ้างสิทธิการชุมนุมเช่นนี้ได้ กลุ่มอื่น เช่น นปก. ก็ย่อมใช้ตรรกแบบเดียวกัน ทำอย่างที่พันธมิตรฯ ทำบ้าง ยกตัวอย่าง เช่น นปก. ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธโดยยึดหรือปิดล้อมที่ทำการของศาลรัฐธรรมนูญ

หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน โดย นปก. อ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญหมดความชอบธรรม เพราะมีตุลาการบางท่านเป็น “ลูกจ้าง” ทำให้ขาดคุณสมบัติ หรือ นปก. อาจปิดล้อมที่ทำการของ ป.ป.ช. โดยอ้างว่า ป.ป.ช. ขาดความชอบธรรมเพราะไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ หรือ นปก. อาจปิดล้อมที่ทำการของพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากขาดความชอบธรรมในฐานะที่เป็นพรรคการเมือง เพราะไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฝ่ายค้านหรือไม่ยอมรักษาระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา หรือข้ออ้างอีกสารพัดที่ นปก. จะอ้างในอนาคต

คำถามมีว่าสังคมไทยพร้อมที่จะเจอกับวิธีการแบบนี้หรือไม่ การประณามรัฐบาลเพียงอย่างเดียวโดยละเว้นที่จะไม่กล่าวถึงพันธมิตรฯ (ไม่ต้องพูดถึงเรื่องประณามกลุ่มพันธมิตรฯ เพราะสื่อและบรรดานักวิชาการต่างสนับสนุนอยู่แล้ว) อาจดูเหมือนว่า สังคมไทยรักสันติ เกลียดชังความรุนแรง ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

แต่หากพิจารณาในเบื้องลึกลงไปแล้ว สังคมไทยโดยเฉพาะพวกชนชั้นกลาง และกลุ่มนักวิชาการกลุ่มหนึ่งเป็นพวก “มือถือสากปากถือศีล” (Hypocrite) ที่เห็นความรุนแรงเฉพาะภาครัฐ แต่แสร้งทำเป็นมองไม่เห็น กรณีที่พันธมิตรฯ ใช้ความรุนแรง การแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นของคนกลุ่มนี้ย่อมส่งผลให้สังคมไทยได้บั่นทอนกระบวนการยุติธรรม กำลังทำลายหลักกฎหมายอื่นๆ อีกมากมาย กำลังส่งเสริมให้ใช้ “กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย” และในที่สุด สังคมไทยจะเข้าสู่ยุค “อนาธิปไตย” (Anarchy) ที่ไร้ขื่อเเปอย่างเลี่ยงไม่ได้

ในระยะสั้น สังคมไทยอาจยอมรับกับใช้วาทกรรมเรื่องการไม่ใช้ความรุนเเรงเเละการใช้สิทธิชุมนุมว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เเต่ในระยะยาว สังคมไทยมีปัญหาเเน่นอน เพราะหากสังคมไทยยอมรับหรือรับได้กับการการะทำของกลุ่มพันธมิตรฯ ในการยึดทำเนียบรัฐบาล บุกสถานีเอ็นบีที และปิดล้อมรัฐสภา เท่ากับเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้กับกลุ่มอื่นๆ ว่าสามารถกระทำในลักษณะคล้ายกันได้เพียงหาข้ออ้างขึ้นมา นั่นเท่ากับว่าในอนาคตหากกลุ่ม นปก. ทำในลักษณะทำนองเดียวกันบ้าง สังคมไทยย่อมไม่อาจประณามการกระทำของ นปก. ได้ เพราะจะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือมีการใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐาน

3. การอ้างอารยะขัดขืน (Civil disobedience)
ขณะนี้มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งประท้วงเหตุการณ์สลายผู้ชุมนุมโดยการอ้างอารยะขัดขืน โดยการไม่ยอมสอบ! นอกจากนี้ ยังมีเเพทย์กลุ่มหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ให้การรักษาตำรวจ รวมทั้งการร้องขอมิให้มีการสวมเครื่องแบบหรือการแสดงตนว่าเป็นตำรวจ หากต้องมารักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง รวมถึงกรณีของนักบินการบินไทยท่านหนึ่งได้ปฏิเสธมิให้ผู้โดยสารที่เป็น ส.ส. จากพรรคพลังประชาชนขึ้นเครื่องบิน ผมไม่แน่ใจว่ากรณีของหมอและนักบินนั้นอ้างอารยะขัดขืน (ในใจ) เพื่อเป็นข้ออ้างในการไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

ในประเด็นนี้ผมมีข้อสังเกตว่า ประการที่หนึ่ง นักศึกษาที่อ้างอารยะขัดขืนนั้น เข้าใจสาระเนื้อหาของอารยะขัดขืนมากน้อยเพียงใด ประการที่สอง นักศึกษากลุ่มนี้ฟังข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับการสลายผู้ชุมนุมอย่างรอบด้านครบถ้วนหรือไม่ ก่อนที่จะรีบประกาศอ้างอารยะขัดขืนโดยการไม่เข้าสอบ เรื่องที่น่าห่วงของสังคมไทยในอนาคตก็คือ เกรงว่าจะเกิด “ลัทธิเอาอย่าง” ขึ้น เลียนเเบบกรณีนักศึกษา เเพทย์ เเละนักบิน โดยอ้างอารยะขัดขืนเพื่อปฏิเสธการกระทำบางอย่าง อันอาจนำไปสู่ความไร้ระเบียบความวุ่นวายตามมา
บทส่งท้าย

ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุม เพื่อวางระเบียบเกี่ยวกับการใช้สิทธิชุมนุมอย่างประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ผู้ชุมนุมอ้างสิทธิชุมนุมอย่างไร้ขอบเขตและใช้สิทธิชุมนุมบังหน้าเพื่อ หวังผลประโยชน์ทางการเมืองจนเป็นการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยและสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ส่วนรวม และขณะเดียวกันก็กำลังสถาปนา “ลัทธิอนาธิปไตย” ขึ้นในสังคมไทยไปด้วยในตัว

ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์