คอลัมน์ : สิทธิประชาชน
แถลงการณ์สมาพันธ์ประชาธิปไตย คัดค้านการรัฐประหารทุกรูปแบบ คัดค้านการก่อการร้ายและการก่อวินาศกรรมในเมือง
เหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 เกิดขึ้น เริ่มจากความจงใจของ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ที่อ้างเหตุไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อออกไปให้ตำรวจจับกุมตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นตำรวจก็จะมีความผิดตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา เพื่อปลุกระดมให้พันธมิตรฯ เข้ามาชุมนุมในทำเนียบให้มากขึ้นซึ่งก็สมดังประสงค์ เมื่อจำนวนคนมากพอพันธมิตรฯ ก็เคลื่อนพลปิดล้อมรัฐสภาอย่างแน่นหนาทุกด้าน พร้อมบังเกอร์ลวดหนามยางรถยนต์ราดน้ำมัน มุ่งมั่นที่จะให้ตำรวจใช้กำลังเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาและเจ้าหน้าที่เข้าทำงานอย่างจงใจเจตนา
เท่ากับกระทำการ “ใช้กำลังประทุษร้าย หรือจงใจที่จะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ(เปิดประชุมรัฐสภาไม่ได้) ล้มล้างอำนาจบริหาร (แถลงนโยบายไม่ได้ตามมาตรา 176 รัฐธรรมนูญ 2550) หรือจงใจให้ใช้อำนาจดังกล่าวไม่ได้” ซึ่งมีความผิดเข้าข่ายเป็นกบฏตามประมวลกฎหมาย มาตรา 113 เลยทีเดียว 7 ตุลาคม 2551 จึงเป็นความตั้งใจในการก่อให้เกิดการกระทำที่เข้าข่าย “กบฏ” ชัดเจน
นอกจากนี้จะเห็นได้ชัด แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะใช้แก๊สน้ำตา แต่พันธมิตรฯ ก็ใช้ปืนยิงตำรวจที่หน้ารัฐสภา ยิงปืนเข้าไปในห้องรองประธานวุฒิสภา ขว้างระเบิดเพลิงเข้าไปในกระทรวงศึกษาธิการ ใช้ไม้ปลายแหลมแทงตำรวจทะลุชายโครงด้านขวา ใช้ท่อนเหล็กตีรอง ผบ.ตชด. สาหัส ใช้รถพุ่งชน รอง สวป.สน.เตาปูน แล้วถอยรถมาทับซ้ำทำให้ตำรวจต้องใช้ปืนเล็งเพื่อเตรียมยิงยางรถ
ที่สำคัญคือ รถจี๊ปเชอโรกีของพันธมิตรฯ สายกองทัพธรรม ภายหลังเคลื่อนย้ายที่จอดสามหนแล้วมาจอดที่หน้าพรรคชาติไทย ได้บรรจุระเบิดจำนวนมาก แล้ว พ.ต.ท.นอกราชการ เมธี ชาติมนตรี ในขณะที่ก้าวเข้าไปในรถ (ที่ไม่ใช่ของตน) เกิดระเบิด (ซึ่งได้ฉีกร่างของเขาและเศษส่วนเนื้อสมองได้พุ่งตรงดิ่งไปคาบนยอดใบไม้เหนือร่างเขา) ขึ้นแล้วระเบิดในรถจี๊ปอีกครั้ง จากนั้นก็จุดระเบิดถังแก๊สของรถอีก ทั้งหมดนี้น่าจะเข้าข่าย “คาร์บอมบ์” ชัดเจน ซึ่งก็คือ “การก่อการร้ายในเมือง” ชนิดหนึ่งนั่นเอง และหากว่ารถโดยสารที่บรรทุก ส.ส. ส.ว. เจ้าหน้าที่ หนีการปิดล้อมของพันธมิตรฯ ออกจากรัฐสภาซึ่งต้องเคลื่อนผ่านข้างๆ รถจี๊ปเชอโรกีดังกล่าวในจังหวะที่คาร์บอมบ์ถูกกดระเบิดด้วยรีโมตคอนโทรล ผู้ที่เสียชีวิตก็คงไม่ใช่ คุณเมธี ชาติมนตรี แต่คงจะเป็น ส.ส. ส.ว. เจ้าหน้าที่รัฐสภาแทน
การกระทำทั้งหมดของพันธมิตรฯ ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ดังกล่าวข้างต้นเข้าข่ายมีความผิดตาม พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พุทธศักราช 2550 (ที่ออกโดยรัฐบาลรัฐประหารเอง) มาตรา 4 ที่ระบุไว้ว่า เป็นการกระทำที่เป็นการ “ก่อวินาศกรรม”
ในขณะที่การสืบสวนสอบสวนรายละเอียดกำลังดำเนินไปอย่างเคร่งครัดโดยยังไม่มีข้อสรุปออกมา ปรากฏว่า มีผู้ที่เสนอให้ทหารทำการรัฐประหาร หรือเสนอรัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลเฉพาะกิจเฉพาะกาล ซึ่งก็คือการทำรัฐประหารในอีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อแก้ไขสถานการณ์ปัจจุบันอย่างน้อย 2 ท่าน คือ นพ.ประเวศ วะสี และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
สมาพันธ์ประชาธิปไตยขอคัดค้านและต่อต้านข้อเสนอของทั้งสองท่านอย่างเด็ดเดี่ยว เพราะรัฐประหารไม่ใช่ทางออกอย่างแน่นอน แต่จะนำไปสู่ความพินาศวอดวายที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ ประชาธิปไตยมีคำตอบเสมอโดยไม่ต้องรัฐประหาร ผู้ที่เสนอเช่นนี้ดูผิวเผินอาจจะเป็นผู้ปรารถนาดีต่อประเทศ แต่แก่นแท้แล้วคือผู้ที่ปรารถนาร้ายต่อประเทศและประชาชน และสะท้อนให้เห็นจิตวิญญาณอำนาจนิยมของท่าน
ส่วนการที่ นายอานันท์ ปันยารชุน แสดงความชื่นชมต่อการกระทำของ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี อย่างออกนอกหน้านั้น เท่ากับว่า นายอานันท์ ปันยารชุน เห็นด้วยกับการกระทำของ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี นั่นเอง สมาพันธ์ประชาธิปไตยขอประณามและคัดค้าน “คาร์บอมบ์” ดังกล่าว และไม่ว่าจะมีจุดมุ่งหมายในการประหัตประหารรถโดยสาร ส.ส. ส.ว. เจ้าหน้าที่รัฐสภา ที่จะต้องเคลื่อนผ่านจุดนั้นหรือไม่ก็ตาม “คาร์บอมบ์”หรือก่อการร้ายโดยซุกระเบิดในรถยนต์จำนวนมากเพื่อให้ระเบิดทำลายเป้าหมายที่ต้องการในเมือง รวมถึงการก่อวินาศกรรมทุกรูปแบบ ก็ต้องเป็นสิ่งที่ถูกประณามคัดค้าน และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ใช่การแสดงออกที่สนับสนุนเช่นนี้