ที่มา Thai E-News
โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
20 มิถุนายน 2552
การเดินขบวนและการปะทะกันระหว่างสองฝ่ายในประเทศอิหร่านหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี ทำให้เราเห็นสภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอิหร่าน
ถ้าเราจะทำความเข้าใจกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเราต้องมองข้ามแนวโฆษณาชวนเชื่อของตะวันตกที่พยายามบิดเบือนสะภาพสังคมของสาธารณะรัฐอิสลามอิหร่าน และเราจำเป็นต้องระมัดระวังในการเลือกข้างระหว่างสองฝ่ายเพราะความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นสลับซับซ้อนพอๆกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่มาจากวิกฤติโลกและการกีดกันความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจโดยตะวันตก สังคมอิหร่านเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนชั้นนำสองซีก ซึ่งทั้งสองซีกนี้ยังต้องการปกป้องสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านและต้องการต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา แต่ทะเลาะกันในเรื่องการจัดการภายใน
ซีกแรกของชนชั้นปกครองถูกเรียกว่า “พวกอนุรักษ์นิยม” ซีกนี้ต้องการจะได้ผลประโยชน์จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ มีการรวมตัวกันภายใต้การนำของประธานาธิบดี อามาดินจาด (Ahmadinejad)
อามาดินจาด ชนะการเลือกตั้งในปี 2005 โดยมีนโยบายประชานิยมที่ใช้เงินจากน้ำมันเพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของคนจนทั้งในเมืองและชนบท เมื่อเขาขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีเขาสัญญาว่าจะกำจัดการคอรัปชั่นแต่ 4 ปีผ่านมาสังคมอิหร่านเต็มไปด้วยการคอรัปชั่น
ในปี 2008 นายพาลิสดา (Palizdar) ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สอบสวนการคอรั่ปชั่นในระดับสูงได้เขียนรายงานเปิดโปงการโกงกินของสถาบันชั้นสูงทั้งหลายของอิหร่าน แต่ถูกรัฐบาลจับกุมเข้าคุก
ซีกที่สองถูกตั้งชื่อว่า “ฝ่ายปฏิรูป” ขณะนี้นำโดย มุซาวิ (Mousavi) ซึ่งเป็นคู่แข่งหลักของ อามาดินจาด ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมา ซีกของชนชั้นปกครองซีกนี้มองว่ารัฐบาลปัจจุบันสร้างความเสียหายผ่านการคอรัปชั่น เขาต้องการเปิดเศรษฐกิจและใช้แนวเสรีนิยมกลไกตลาด (ไม่ต่างรัฐบาลปัจจุบันตรงนี้)
มุซาวิ เคยเป็นนายกรัฐมนตรีท่ามกลางสงครามกับอิรัก ปี 1980-1988 หลายคนมองว่าเค้าบริหารเศรษฐกิจได้ดีในช่วงนั้น แต่เขาลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อมีการยุบตำแหน่งนี้ ก่อนหน้านี้ในปี 1997 ฝ่ายปฏิรูปนำโดย คะทามิ (Khatami) ซึ่งชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสองรอบ คือ 1997 และ 2001 แต่ในรูปธรรม คะทามิ ไม่ได้ปฏิรูปให้สังคมอิหร่านเปิดกว้างมากขึ้นแต่อย่างใด เขาจึงแพ้การเลือกตั้งในปี 2005 และ อามาดินจาด จากฝ่ายอนุรักษ์นิยมขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทน ประสบการณ์จากความล้มเหลวของ คะทามิ ทำให้ประชาชนและคนหนุ่มสาวที่หวังว่าจะมีการปฏิรูปสังคมท้อแท้หมดกำลังใจ
ข้อแตกต่างระหว่าง มุซาวิ กับ อามาดินจาด ไม่ได้อยู่ที่นโยบายเศรษฐกิจเพราะทั้งสองฝ่ายสนับสนุนแนวเสรีนิยมกลไกตลาดและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และทั้งสองฝ่ายต่อต้านจักรวรรดินิยมสหรัฐอเมริกา
การที่มวลชนจำนวนมากโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวในเมืองเทหะหร่านสนับสนุนมุซาวิและฝ่ายปฏิรูป ก็เพราะเขาเบื่อหน่ายการคอรัปชั่นและต้องการพัฒนาประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพให้ดีขึ้น มุซาวิ สัญญาว่าจะตัดอำนาจของกอง “ตำรวจศีลธรรม” ที่คอยรังแกคนที่แต่งตัวไม่ถูกต้องตามความคิดของพวกพระอนุรักษ์นิยม เขาสัญญาว่าจะเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้สตรี และบอกว่าจะนำตำรวจแห่งชาติมาอยู่ภายใต้อำนาจของประธานาธิบดี
ในขณะนี้กองกำลังทหารและตำรวจถูกควบคุมโดยพระคะเมนิ (Khamenei) ผู้นำสูงสุดที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและประชาธิปไตยอิหร่านเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบที่มีการควบคุมโดยคณะกรรมการพระมุสลิม อย่างไรก็ตามถ้าเทียบกับสังคมอาหรับหรือสังคมอื่นในตะวันออกกลางประเทศอิหร่านถือว่ามีพื้นที่ประชาธิปไตยค่อนข้างสูง และมีประวัติอันยาวนานของการต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตย ขบวนการปฏิรูปสังคม ขบวนการแรงงาน และขบวนการสิทธิสตรี
สำหรับนักสังคมนิยมสากล เราสนับสนุนข้อเรียกร้องของคนหนุ่มสาวที่ต้องการลดอิทธิพลของพระอนุรักษ์นิยมที่เข้าไปก้าวก่ายวิถีชีวิตส่วนตัว เราสนับสนุนสิทธิสตรีและขบวนการแรงงาน แต่เราจะไม่ไปจับมือกับรัฐบาลจักรวรรดินิยมสหรัฐอเมริกาหรือหลงคิดว่าประธานาธิบดีโอบาม่าและคณะมีความหวังดีต่อประชาชนอิหร่าน
นอกจากนี้เราคัดค้านค้านเสรีนิยมกลไกตลาดของทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปฏิรูปหรือฝ่ายอนุรักษ์นิยม และเรามีความหวังว่าขบวนการคนหนุ่มสาวที่ต้องการปฏิรูปสังคมจะสามารถก้าวพ้นการนำอัน “คับแคบ” ของมุซาวิ
โดยเชื่อมโยงข้อเรียกร้องที่เป็นประโยชน์กับคนจนกับข้อเรียกร้องให้เปิดกว้างทางประชาธิปไตย