ที่มา มติชน
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
โดย ประสงค์ วิสุทธิ์ prasong_lert@yahoo.com
แทบไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่มีข่าวว่า นักการเมืองใหญ่รายหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลมากนำเก้าอี้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาแปรเป็นทุนในราคาตัวละ 10-15 ล้านบาท
ที่ว่าไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะข่าวการซื้อขายเก้าอี้ข้าราชการมีมาช้านานแล้วโดยเฉพาะตำแหน่งที่สามารถหาผลประโยชน์ได้ง่ายโดยเฉพาะตำรวจ เช่นหัวหน้าสถานีตำรวจ ผู้บังคับการตำรวจ ผู้บัญชาการตำรวจ ถึงขนาดมีสูตร 3-5-7 (ยังไม่นับข่าวการซื้อขายเก้าอี้ที่กำลังสอบสวนอยู่ในขณะนี้)
อย่างไรก็ตาม จากงานศึกษาเรื่อง "การคอร์รัปชั่นในการซื้อขายตำแหน่งในระบบราชการ" ที่ ผศ.ดร.ชินะพงษ์ บำรุงทรัพย์ และคณะเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในปี 2546 ปรากฏว่า การซื้อขายตำแหน่งมีอยู่ในหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย ศึกษาธิการ เกษตรและสหกรณ์ คมนาคม สาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
การศึกษาดังกล่าว ได้ระบุวิธีการซื้อขายตำแหน่งอย่างเป็นรูปธรรมไว้ด้วย อาทิ ในกระทรวงมหาดไทยมีการซื้อขายตำแหน่งผ่านคนใกล้ชิด คนสนิท สังเกตเห็นได้จากการที่อธิบดีจะแต่งตั้งบุคคลที่ตนไว้วางใจมาเป็นผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ ผู้อำนวยการกองคลัง และเลขานุการกรม ทำให้การดำเนินนโยบายต่างๆ เป็นไปโดยง่าย
สำหรับข้าราชการระดับสูงงานวิจัยระบุว่า มักจะมีการซื้อขายโดยใช้อิทธิพลของนักการเมือง และนักการเมืองเหล่านั้น มักต้องการผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินทุนเพื่อผลประโยชน์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
การซื้อขายตำแหน่งมีหลายวิธี ตั้งแต่ซื้อขาด ซื้อแบบผ่อนส่งโดยมีเงินดาวน์ และต้องส่งส่วยตลอดชีวิต
แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อเปรียบเทียบวิธีการซื้อขายตำแหน่งในกระทรวงมหาดไทยที่ระบุไว้ในงานวิจัยเมื่อ 6 ปีก่อนกับข่าวที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้แล้วมีสาระสำคัญที่เหมือนกันอย่างมากคือ
นักการเมืองต้องการผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินทุนในการเลือกตั้งและช่วยให้ผู้สมัคร ส.ส.ให้ชนะการเลือกตั้งซึ่งมีเงินซื้อเก้าอี้ก้อนแรกเหมือนกับการวางดาวน์ ส่วนการช่วยให้ผู้สมัคร ส.ส.ชนะการเลือกตั้งเหมือนกับการส่งส่วย
ตามข่าวระบุว่า นักการเมืองใหญ่ที่นำเก้าอี้ผู้ว่าฯไปเสนอขายนั้น ไม่มีตำแหน่งในรัฐบาล แต่มีอิทธิพลเหนือนักการเมืองและข้าราชการในกระทรวงมหาดไทย ซึ่งแทรกแซงการแต่งตั้งปลัดกระทรวงมาแล้ว ขนาดหิ้วนายมานิต วัฒนเสน อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ข้ามหัวอธิบดีและผู้ว่าฯหลายสิบคนจนได้นั่งเก้าอี้ใหญ่สมใจ
นักการเมืองรายนี้ได้เรียกข้าราชการระดับรองผู้ว่าราชการจังหวัดและรองอธิบดีในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ประมาณ 20 คน ซึ่งอยู่ในข่ายได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าพบทีละคน โดยแจ้งทำนองว่า ถ้าต้องการขึ้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องหาเงินมาช่วยเหลือพรรครายละประมาณ 10-15 ล้านบาท
ที่สำคัญถ้ามีการยุบสภา ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งต้องช่วยเหลือผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคให้ได้รับการเลือกตั้ง
การที่นักการเมืองรายนี้ทำอย่างนี้ได้ เพราะสิ้นเดือนกันยายน 2552 จะมีตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดว่างลง 23 ตำแหน่ง แต่มีรองผู้ว่าฯและรองอธิบดีที่อยู่ในข่ายได้รับการแต่งตั้งประมาณ 90 คน ซึ่งแต่ละคนก็ต้องการความก้าวหน้าในชีวิตราชการทั้งสิ้น
ใครที่ต้องการกระโดดข้ามหัวเพื่อน ก็ต้องยอมสยบกับนักการเมืองโดยทิ้งเกียรติยศศักดิ์ศรีข้าราชการที่ต้องรับใช้ประชาชนไว้ในคลองหลอดหน้ากระทรวง แล้วลดตัวลงเป็นทาสรับใช้นักการเมือง
แม้จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว แต่ก็เชื่อกันว่า เป็นเพียง "ปาหี่" ที่ทำให้การแต่งตั้งดูเนียนขึ้นเท่านั้น
หลังจากมีข่าวดังกล่าว ปรากฏว่า นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกมาโวยวายว่า เป็นข่าวโคมลอย เพราะการจะเติบโตในวงราชการนั้น ต้องมีความรู้ความสามารถ ดังนั้น หากจะใช้คนทำงานอย่าสงสัย ถ้าสงสัยอย่าใช้
"การปล่อยข่าวในลักษณะนี้ ถือเป็นการต่อสู้ การแข่งขันทางการเมือง โจมตีกันทุกรูปแบบ แต่ถือว่า เป็นเสียงนกเสียงกา อยากถามกลับไปว่า ผู้ว่าฯมีเงินเดือนเท่าไหร่ จะเอาเงินจำนวนนี้มาจากไหน อย่างไรก็ตาม ถ้าใครมีหลักฐานช่วยอัดเทปมาให้ฟังหน่อย"
นายชวรัตน์นั้น เป็นเจ้าของบริษัทรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ ที่ต้องประมูลงานกับหน่วยงานราชการ ย่อมรู้ดีกว่า การจ่ายเงินประเภทแบบนี้ที่ทำกันเป็นนิจศีลของบริษัทรับเหมาต่างๆให้แก่ผู้มีอำนาจและเบี้ยบ้ายรายทางไม่มีทางหาหลักฐานมายืนยันได้
แต่ข้อสงสัยว่า ข้าราชการเงินเดือนน้อยจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อตำแหน่งนั้นตอบง่ายนิดเดียว คือ ผู้ที่ต้องการเก้าอี้ไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง แต่มีพ่อค้านักธุรกิจในท้องถิ่นจ่ายหรือลงขันจ่ายให้ล่วงหน้า เพียงแต่ว่า เมื่อได้ตำแหน่งผู้ว่าฯแล้วต้องหาทาง "คืนทุน" ในรูปบบต่างๆ โดยเฉพาะงานประมูลต่างๆ ซึ่งเพียงงานเดียวก็ได้กำไรเหนาะๆ แล้ว
ส่วนเกินยังสามารถแบ่งผลประโยชน์กันในระยะยาวและ "ส่งส่วย" ให้นายได้อีกด้วย