ที่มา ประชาไท
คปส. ออกแถลงการณ์ “รัฐต้องธำรงเสรีภาพสื่อมวลชนในฐานะเสรีภาพของประชาชน” ระบุ 'สาทิตย์' สั่งตรวจสอบจอม เพชรประดับ และ อสมท.กรณีสัมภาษณ์ทักษิณ คือการเข้าแทรกแซงสื่อ ก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัวในแวดวงสื่อ
7 ก.ย. 52 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ออกแถลงการณ์ “รัฐต้องธำรงเสรีภาพสื่อมวลชนในฐานะเสรีภาพของประชาชน” ระบุ การที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสื่อของรัฐ ได้สั่งให้มีการตรวจสอบกรณีการออกอากาศคำสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านรายการวิทยุเอ๊กซ์คลูซีฟ ในเครือ อสมท คลื่นเอฟเอ็ม 100.5 เมื่อ 6 กันยายน 2552 ซึ่งส่งผลให้นายจอม เพชรประดับ ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ต้องตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นผู้ดำเนินรายการ คือการเข้าแทรกแซงกลไกการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัวในแวดวงนักสื่อสารมวลชน และขัดรัฐธรรมนูญ
โดยแถลงการณ์ฉบับนี้ยังเรียกร้องให้รัฐสร้างหลักประกันความเป็นอิสระในการทำหน้าที่แก่สื่อมวลชนทุกแขนง ให้รัฐสภาเร่งออกกฎหมายจัดตั้ง กสทช. องค์กรอิสระเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อวิทยุและโทรทัศน์ และขอให้สื่อมวลชนทำหน้าที่โดยอิสระ รอบด้าน เป็นธรรม และยืนหยัดในการคลี่คลายปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมืองโดยวิถีทางประชาธิปไตย
0 0 0
แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)
รัฐต้องธำรงเสรีภาพสื่อมวลชนในฐานะเสรีภาพของประชาชน
จากกรณีที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสื่อของรัฐ ได้สั่งให้มีการตรวจสอบกรณีการออกอากาศคำสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผ่านรายการวิทยุเอ๊กซ์คลูซีฟ ในเครือ อสมท คลื่นเอฟเอ็ม 100.5 เมื่อ 6 กันยายน 2552 ซึ่งส่งผลให้นายจอม เพชรประดับ ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ต้องตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นผู้ดำเนินรายการดังกล่าวนั้น
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) เห็นว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวคือการเข้าแทรกแซงกลไกการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ส่งผลให้เกิดความชะงักงันในการทำงาน และก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัวในแวดวงนักสื่อสารมวลชน และถึงแม้ว่ารัฐจะมีอำนาจโดยตรงในการกำกับดูแลสื่อในเครือบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แต่การเข้าแทรกแซงด้านเนื้อหาและการดำเนินรายการดังกล่าวนั้นถือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อซึ่งขัดต่อหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
คปส. ยืนยันเสมอมาว่าสื่อมวลชนต้องมีสิทธิและเสรีภาพเต็มเปี่ยมในการเลือกนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อประชาชนภายใต้กรอบจรรยาบรรณเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่หลากหลาย รอบด้าน ตรงไปตรงมา บนพื้นฐานของความรับผิดชอบ ภายใต้การกำกับดูแลกันเองของนักวิชาชีพและการตรวจสอบจากสาธารณชน ในทางกลับกัน ความพยายามในการปิดกั้นหรือแทรกแซงสื่อย่อมนำไปสู่แรงเสียดทานต่ออำนาจรัฐมากขึ้น และก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในการบริหารประเทศ ดังนั้นการยอมรับและสนับสนุนให้มีสื่อเสรี ตลอดจนความอดทนอดกลั้นของรัฐบาลต่อเสียงของฝ่ายค้านย่อมนำไปสู่การยอมรับของกลุ่มต่างๆ และสร้างดุลยภาพทางการเมืองได้ เพราะท้ายสุดหลักการเรื่องเสรีภาพสื่อและการแสดงความคิดเห็นคือสิ่งที่ทุกฝ่ายจำเป็นต้องยอมรับร่วมกัน
คปส. จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังที่ได้ประกาศพันธะสัญญาต่อสาธารณะ รวมถึงข้อเรียกร้องต่อรัฐสภา ดังนี้
1. ขอให้รัฐบาลให้หลักประกันความเป็นอิสระในการทำหน้าที่แก่สื่อมวลชนทุกแขนง ทุกประเภท โดยเฉพาะสื่อของรัฐ สื่อภาคธุรกิจเอกชน และสื่อของภาคประชาชน โดยต้องยุติกระบวนการควบคุม แทรกแซง การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในทุกรูปแบบ
2. ขอให้รัฐสภาซึ่งกำลังพิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. … ดำเนินการโดยเร็ว เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งองค์กรอิสระ (กสทช.) ในการทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อวิทยุและโทรทัศน์ต่อไป
3. ขอให้สื่อมวลชนทำหน้าที่โดยอิสระ ให้ข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน เป็นธรรมและยืนหยัดทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการคลี่คลายปัญหาข้อขัดแย้งทางการเมืองโดยวิถีทางประชาธิปไตย
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)
7 กันยายน 2552