ที่มา มติชนออนไลน์
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนายสุเทพ เทือกสุรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ช่วงเที่ยงวันที่ 9 กันยายน ถึงกรณี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดทางอาญา และผิดวินัยร้ายแรงกรณีสั่งการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 7 ตุลาคม 2551
กระทั่งเวลา 13.20 น. นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่า หารือกับนายสุเทพ กรณีผลจากมติ ป.ป.ช.มีปัญหาที่เกิดขึ้นมาว่า กรณีของ พล.ต.อ.พัชรวาท เข้าข่ายมาตรา 55 ของกฎหมาย ป.ป.ช.หรือไม่ โดยมาตรา 55 คือถ้ากรณีของ พล.ต.อ.พัชรวาทเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง หรือเป็นเรื่องเดียวกันอะไรทำนองนี้ จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่มีมติ ซึ่ง ป.ป.ช.มีมติไปเมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา แต่เนื่องจาก ป.ป.ช.ยังไม่ได้แจ้งมติมา ก็จะเกิดปัญหาช่องว่างขึ้นในระหว่างนี้ว่าเป็นอย่างนั้นหรือไม่
"เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายสับสน เพราะจะเกิดการโต้แย้งเกี่ยวกับการสั่งราชการต่างๆ ผมจะขอให้ พล.ต.อ.พัชรวาทมาช่วยรายการที่ทำเนียบ เดี๋ยวจะออกคำสั่งภายในวันเดียวกันนี้ ระหว่างนี้จะให้ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รอง ผบ.ตร. เป็นผู้ปฏิบัติราชการแทน" นายอภิสิทธิ์กล่าว
เมื่อถามว่า จะมีผลต่อการโหวตเลือก ผบ.ตร.คนใหม่ในคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ไม่ตอบพร้อมรีบกล่าวขอบคุณก่อนหันหลังกลับขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าด้วยท่าทีเร่งรีบ
ต่อมานายอภิสิทธิ์ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 200/2552 ลงวันที่ 9 กันยายน เรื่องให้ข้าราชการมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ในคำสั่งระบุว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และมาตรา 72(1) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิมไปพลางก่อน และให้ พล.ต.อ.ธานี สมบรูณ์ทรัพย์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รักษาราชการแทน ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ด้านนายสุเทพให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าหารือกับนายอภิสิทธิ์ ถึงกรณี พล.ต.อ.พัชรวาทถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดว่า ทุกอย่างต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย เมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลว่า พล.ต.อ.พัชรวาททำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาต้องลงโทษทางวินัยด้วยการปลดออกหรือไล่ออก ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี เมื่อถามว่า หากปลด พล.ต.อ.พัชรวาทจะส่งผลกระทบกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พี่ชาย พล.ต.อ.พัชรวาท จนกลายเป็นปัญหาภายในรัฐบาลหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ไม่มีแน่นอน ซึ่งตนดูข่าวทางโทรทัศน์ในช่วงเช้าก่อนมาทำงานมีคนออกมาบอกว่า ตนตกลงกับ พล.อ.ประวิตรก่อนจัดตั้งรัฐบาลว่าจะต้องให้ พล.ต.อ.พัชรวาทอยู่ในตำแหน่ง ผบ.ตร.จนเกษียณอายุราชการ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะการจัดตั้งรัฐบาลได้ประสานงานกับพรรคร่วมรัฐบาลเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดก่อนที่ตนและนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีจะไปเชิญ พล.อ.ประวิตรมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และครั้งนั้นไม่ได้พูดถึงเงื่อนไขใดๆ เลย
เมื่อถามว่า เมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาลจะกระทบกับการทำงานของตำรวจหรือไม่ นายสุเทพกล่าว สำหรับองค์กรตำรวจที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. และออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านก็ขอร้องว่าอย่าเคลื่อนไหวเลย เพราะตำรวจมีหน้าที่รักษากฎหมาย
"รู้สึกเห็นใจตำรวจและเข้าใจ เพราะหากไม่ทำตามคำสั่งก็ถูกดำเนินคดีฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 อีก ซึ่งจุดอ่อนคือ เราไม่มีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยการควบคุมดูแลการชุมนุมประท้วง ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยต้องรีบไปจัดทำกฎหมายดังกล่าวให้เรียบร้อย" นายสุเทพกล่าว
เมื่อถามว่า ตำรวจที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. อาจจะเกียร์ว่างในการดูแลการชุมนุมคนเสื้อแดง 19 กันยายน นายสุเทพกล่าวว่า คงไม่เกิดปัญหาเช่นนั้น เพราะตนจะประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง ซึ่งในรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวเลยทำให้ไม่มีกฎหมายรองรับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่