WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, September 8, 2009

ทำไมเราต้องปฏิวัติอำนาจอำมาตย์

ที่มา Thai E-News


โดย ใจ อึ๊งภากรณ์
8 กันยายน 2552

ผมอยากชวนให้ท่านร่วมปฏิวัติด้วย เราต้องมีพรรค มีกลุ่มศึกษา ต้องถกเถียงเพื่อความชัดเจน ต้องร่วมกันนำจากรากหญ้า เพราะถ้าเราร่วมกันนำจากรากหญ้า เราจะพลิกวัฒนธรรมการเป็น “ผู้ตามที่ฟังแต่ผู้นำ” ที่อำมาตย์ชื่นชมมานาน


ในฐานะที่ผมสนับสนุนแนว “ปฏิวัติอำนาจอำมาตย์” ซึ่งเป็นแนวทางเลือกหนึ่งในขบวนการเสื้อแดง

ผมอยากจะอธิบายเหตุผลและอธิบายว่าการปฏิวัติที่ว่านี้คืออะไร เพราะขบวนการเสื้อแดงถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่เราทุกคนต้องร่วมกันคิด ร่วมกันถกเถียงระหว่าง “แนวปฏิวัติ” กับ “แนวปฏิรูป”

ลักษณะของอำนาจอำมาตย์

อำนาจอำมาตย์เป็นอำนาจในเชิง “ระบบ” ไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล และไม่ได้อยู่ที่สถาบันเดียวในสังคมไทย มันเป็นอำนาจที่ใช้ผ่านการควบคุม “รัฐ” ซึ่งรัฐในที่นี้มันใหญ่กว่าแค่รัฐบาล

ในกรณี “รัฐอำมาตย์” มันประกอบไปด้วย ทหาร(ชั้นสูง) ตำรวจ(ชั้นสูง) ศาล ข้าราชการ(ชั้นสูง) นักการเมืองและนายทุนอนุรักษ์นิยม องค์มนตรีและ(เซ็นเซอร์) และกลุ่มคนเหล่านี้ มีอิทธิพลในการคุมทรัพยากร สื่อ องค์กรศาสนา และระบบการศึกษาอีกด้วย

รัฐอำมาตย์ไทยมีศูนย์กลางอำนาจที่กองทัพ เพราะกองทัพผูกขาดอำนาจในการใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่รักประชาธิปไตย แต่อำมาตย์ทุกรูปแบบทั่วโลกต้องอาศัยการกล่อมเกลาทางความคิดเพื่อหวังสร้างความชอบธรรม พูดง่ายๆ อำนาจของอำมาตย์ขึ้นอยู่กับการปราบและการชักชวนพอๆ กัน

สถาบันเบื้องบนมีบทบาทหลักในการกล่อมเกลา ดังนั้นอำมาตย์ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ จะใช้ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” เป็นคำขวัญ และจะกล่อมเกลาให้เราคิดว่าใครที่ไม่จงรักภักดีเป็น “ศัตรูของชาติ”

แต่แท้ที่จริงการจงรักภักดีที่ว่านี้ มันเป็นการจงรักภักดีต่ออำมาตย์ทั้งหมด ไม่ใช่แค่สถาบันเดียว ที่สำคัญทหารและส่วนอื่นๆ ของอำมาตย์อาจสร้างภาพเสมอว่า “ไปรับคำสั่งมาจากเบื้องบน” แต่ที่จริงมันเป็นละครที่เล่นให้เราดู อำนาจในการตัดสินใจอะไรๆ อยู่ที่พวกนายพลและส่วนอื่นๆ ของอำมาตย์

แต่เขาเชิดชูสถาบันเพื่อให้ความชอบธรรมกับสิ่งที่เขาเองเลือกทำเพื่อผลประโยชน์ของเขาเอง ซึ่งไม่ต่างจากการที่คนในสังคมอื่นๆ อ้างศาสนาเพื่อให้ความชอบธรรมกับสิ่งที่ตนเองทำ คนที่ใครๆคิดว่าเป็น “ตัวละครเอก” และผู้ที่อยู่ในครอบครัวทุกคนเกือบจะไม่มีอำนาจอะไรเลย และแถมไม่มีความคิดยาวไกล ไม่มีข้อเสนออะไรที่สร้างสรรค์ และไม่มีความกล้าหาญในการนำ ได้แต่ยอมให้คนชม ยอมให้คนหมอบกราบ เพราะพึงพอใจในการร่วมกินกับอำมาตย์

ซึ่งแปลว่าการที่บุคคลคนหนึ่งจะหายไปในที่สุดตามธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ จะไม่ทำให้อำมาตย์หมดไป และมันแปลว่าถ้าเราจะล้มอำมาตย์ เราต้องตัดกำลังและอำนาจของทหารเป็นสำคัญ

การล้มอำมาตย์เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เกมส์เด็กเล่น และไม่ใช่ความเพ้อฝัน ที่อื่นเขาก็ทำได้ แต่ถ้าเราเลือกที่จะปล่อยไว้เพื่อหวังหาทางสันติ มันไม่มีหลักประกันว่าเราจะได้ประชาธิปไตยแท้มา และไม่มีหลักประกันว่าเขาจะไม่ปราบเราด้วยความรุนแรง

อย่าลืมว่าอำมาตย์ก่อเหตุนองเลือดสี่ครั้ง คือ ๑๔ ตุลา ๖ตุลา พฤษภา๓๕ และเมษา๕๒ ทั้งๆที่ผู้ชุมนุมล้วนแต่ปราศจากอาวุธ และในหลายกรณียังชูรูปกษัตริย์อีกด้วย

ใครที่หวังว่าเรารอการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ เป็นคนที่ลืมว่าอำมาตย์ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสามครั้ง ด้วยรัฐประหาร ๑๙ กันยา ด้วยรัฐประหารตุลาการ และด้วยการก่อจลาจล และซื้อตัวคนอย่างเนวิน เขาจะไม่ยอมรับกติกาประชาธิปไตย มันชัดเจนมานาน

การปฏิวัติหมายถึงอะไร?


มันแล้วแต่คนจะตีความ แต่สำหรับผม มันมีสองส่วนที่สำคัญพอๆ กันคือ

1. สิ่งที่เราจะทำหลังจากที่ยึดอำนาจทางการเมืองมาได้ คือต้องยกเลิกส่วนต่างๆ ของอำมาตย์ แปลว่าต้องตัดกำลัง และอำนาจของทหาร ต้องปลดนายพลระดับสูงที่ไม่รักประชาธิปไตยออกให้หมด ต้องเอาอิทธิพลกองทัพออกจากสื่อ และต้องตัดงบประมาณทหารอย่างหนัก

*เราจะเอาเงินส่วนนี้ไปพัฒนารัฐสวัสดิการได้ และควรนำความเชี่ยวชาญของนายทหารธรรมดาระดับล่างๆ มาช่วยสังคม เช่นกู้ภัยและพัฒนาสาธารณูปโภค

*เราจะต้องปลดศาลตุลาการที่รับใช้อำมาตย์และมีสองมาตรฐานออกให้หมด นำนักกฎหมายและประชาชนที่รักประชาธิปไตยเข้ามาแทน พร้อมมีระบบลูกขุน

*เราจะต้องเอาสื่อออกจากมืออำมาตย์และตั้งกรรมการบริหารจากประชาชนรากหญ้า

*เราจะต้องปฏิรูปชีวิตตำรวจ เพื่อตัดวัฒนธรรมคอร์รับชั่นออกไป เพื่อให้ตำรวจมีศักดิ์ศรีและรับใช้ดูแลประชาชน

*เราจะต้องเปลี่ยนระบบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยคล้ายฝรั่งเศส อินเดีย ไต้หวัน หรือเยอรมัน แทนที่จะหวังว่าเป็นแบบอังกฤษหรือญี่ปุ่น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มีอะไรที่จะถูกแอบอ้างมาเพื่อทำความเลวในอนาคต เหมือนที่เคยแอบอ้างมาในอดีต และเพื่อให้พลเมืองทุกคนเท่าเทียมกันจริงๆ และที่สำคัญเพื่อประหยัดเงินและนำมาใช้สร้างรัฐสวัสดิการ

สรุปแล้วการปฏิวัติมีหนึ่งความหมายในด้านผล คือการเปลี่ยนโครงสร้างสังคมการเมืองแบบถอนรากถอนโคน

2. เมื่อเราต้องเปลี่ยนสังคมแบบถอนรากถอนโคน เราต้องพูดถึงอำนาจและวิธีการในการเปลี่ยนสังคม ซึ่งแน่นอนคงไม่ใช่แค่รอวันเลือกตั้งเพื่อให้เขาทำรัฐประหารอีก หรือไปเดินขบวนเฉยๆ เพื่อให้เขาปราบอีก และในความเห็นผม เราไม่ควรเดินแนวจับอาวุธ เพราะการจับอาวุธเหมือนที่พรรคคอมมิวนิสต์ไทยเคยทำ เป็นการตัดบทบาทมวลชนเสื้อแดงล้านๆ คนออกไป เพื่อยกหน้าที่ในการปลดแอกประชาชนให้กับกองกำลังไม่กี่หมื่นคน และเป็นการลดทอนพลังความสร้างสรรค์และเสรีภาพในการถกเถียงของคนเสื้อแดงอีกด้วย เพราะต้องปิดลับสั่งการจากบนลงล่าง

*ดังนั้นเราต้องเดินหน้าต่อไปในการสร้างขบวนการเสื้อแดง เราต้องขยายไปสู่สหภาพแรงงานเพื่อใช้พลังการนัดหยุดงาน เราต้องสร้างมิตรภาพกับตำรวจและทหารชั้นล่างที่เป็นลูกหลานพี่น้องเรา

*เราต้องสร้างพรรคเพื่อประกาศจุดยืนที่จะล้มอำมาตย์และร่างรัฐธรรมนูญใหม่

*และเราต้องฝึกฝนการใช้มวลชนเพื่อบล็อคการเอารถถังหรือทหารออกมาในการปราบประชาชน

*นอกจากนี้เราต้องเริ่มสร้างหน่ออ่อนของรัฐใหม่ที่เราต้องการคือ ในชุมชนที่เราเข้มแข็งต้องสร้างระบบบริหารของเราเพื่อแข่งกับระบบบริหารของอำมาตย์

*ต้องมีสื่อของเรา ต้องทำให้เป็น “เขตปลอดอำมาตย์” และต้องประสานกันระหว่างชุมชนแบบนี้ทั่วประเทศ เป้าหมายคือการท้าทายอำนาจรัฐอำมาตย์ในทุกรูปแบบ

*เราต้องสร้างองค์กรของคนเสื้อแดงเพื่อช่วยเหลือให้สวัสดิการและความรู้ให้กับประชาชน ซึ่งจะช่วยในการครองใจมวลชนและเตรียมตัวยึดอำนาจ ตัวอย่างที่ดีคือพรรค ฮามาส หรือเฮสโบลาในตะวันออกกลาง เพียงแต่เราจะไม่ใช้ลัทธิศาสนา

*ที่สำคัญมากๆ เราต้องกล้าซื่อสัตย์ ยอมรับข้อผิดพลาดในอดีตและปัจจุบัน ไม่เล่นพรรคเล่นพวกโดยไร้เหตุผล และรู้จักสามัคคีกับคนที่รักประชาธิปไตยที่มองต่างมุมกับเรา เพื่อให้มวลชนไว้ใจเรา ในที่สุดเมื่อเราพร้อม เราจะลุกฮือทั่วประเทศและยึดสถานที่ราชการต่างๆ พร้อมตัดกำลังของกองทัพ

คำถาม

มันจะนำไปสู่สงครามกลางเมืองไหม?... ไม่ เพราะสงครามกลางเมืองเรามีอยู่แล้วทุกวันนี้

มันจะนำไปสู่การนองเลือดไหม? ... นั้นขึ้นอยู่กับอำมาตย์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา เพราะเราไม่ใช่ผู้ก่อความรุนแรง ถ้าเรามีมวลชนจำนวนมาก ทหารชั้นล่างจะเลิกฟังผู้บังคับบัญชา และเราจะลดความเสี่ยงได้บ้าง แต่เราก็ควรเตรียมพร้อมที่จะโต้ตอบความรุนแรง ด้วยวิธีที่เรารู้จักจาก พฤษภา ๓๕ หรือ ๑๔ ตุลา หรือจากการต่อสู้ของประชาชนใน อิหร่าน จีน เวนเนสุเอลา ฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆ อีกมากมาย

เรามีหลักประกันอะไรว่าจะชนะ? ... ไม่มี นี่คือโลกจริง แต่การปฏิรูปประนีประนอมจะไม่มีวันรื้อถอนอำนาจอำมาตย์ได้ เราจะได้แต่ “ทนอยู่กับมัน” และ “อาศัยความเมตตาของอำมาตย์”

มันจะใช้เวลานานไหม? ... คงจะใช้ เพราะเราต้องเตรียมตัว แต่การประนีประนอมจะใช้เวลานานกว่าอีก เพราะต้องไปเริ่มจากศูนย์ใหม่ในอนาคตเพราะเราจะไม่ได้ประชาธิปไตยแท้

เราจะปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมด้วยหรือไม่? ... ผมเป็นนักสังคมนิยมและมองว่าระบบกลไกตลาดของทุนนิยมมีปัญหา เพราะทำลายชีวิตประชาชนท่ามกลางการขูดรีด ทำลายสิ่งแวดล้อม และนำระบบเศรษฐกิจสู่วิกฤตเป็นประจำ ผมมีความหวังว่าท่ามกลางการต่อสู้ คนเสื้อแดงจะเริ่มมองว่าสังคมนิยมเป็นเป้าหมายที่ดีเหมือนผม และเราจะได้ร่วมกันวางแผนเศรษฐกิจใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน

สังคมนิยมที่ผมชื่นชมจะมีประชาธิปไตยและจะต่างจากเผด็จการคอมมิวนิสต์ในลาว คิวบา เกาหลีเหนือ หรือแบบที่เคยมีในจีนหรือรัสเซีย และมันจะก้าวหน้ากว่าสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ยอมรับทุนนิยม อย่างที่เห็นในสแกนดิเนเวียด้วย อย่างไรก็ตามคนเสื้อแดงหลายคนอาจยังไม่เป็นนักสังคมนิยม แต่เราจะสามัคคีและเดินหน้าร่วมกันเพื่อปฏิวัติอำมาตย์

กลุ่ม “สยามแดง” คืออะไร? ... ผมไม่ทราบเพราะผมไม่ได้มีส่วนในการก่อตั้งกลุ่มที่มีชื่อแบบนี้ ผมเพียงแต่เขียนและเผยแพร่ “แถลงการณ์สยามแดง” เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยแท้และระบบสาธารณะรัฐ ผมใช้คำว่า “สยาม” ในแถลงการณ์เพื่อต่อต้านแนวคิดชาตินิยม “ไทย” ที่กดขี่เพื่อนๆ เชื้อชาติอื่น โดยเฉพาะเพื่อนชาวมาเลย์มุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ และผมใช้ “แดง” เพราะผมเป็นเสื้อแดง และเป็นสังคมนิยม

ผมหวังว่าผมได้อธิบายจุดยืน “ปฏิวัติ” ของผมให้ท่านเข้าใจในฐานะที่ผมเป็นคนเสื้อแดงคนหนึ่ง ผมอยากชวนให้ท่านร่วมปฏิวัติด้วย เราต้องมีพรรค มีกลุ่มศึกษา ต้องถกเถียงเพื่อความชัดเจน ต้องร่วมกันนำจากรากหญ้า เพราะถ้าเราร่วมกันนำจากรากหญ้า เราจะพลิกวัฒนธรรมการเป็น “ผู้ตามที่ฟังแต่ผู้นำ” ที่อำมาตย์ชื่นชมมานาน

ผมยอมรับว่าสิ่งที่ผมเสนอ มันเขียนง่าย โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่อยู่ในประเทศ ดังนั้นเพื่อนๆ เสื้อแดงต้องตัดสินใจเอง ทุกคนมีสิทธิ์กลัว ทุกคนมีสิทธิ์มองต่างมุม แต่เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไม่คิดอีกแล้ว คำถามที่เราต้องตอบคือ เราจะทำงานหนัก เราจะเสียสละ เราจะเสี่ยงภัย เพื่อชัยชนะอันยิ่งใหญ่และงดงามของประชาชน

หรือจะยอมจำนน ประนีประนอมไปก่อน และอดทนกับการปกครองเผด็จการต่อไปอีกนาน?

หมายเหตุไทยอีนิวส์:บทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียน กองบรรณาธิการไทยอีนิวส์ ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยแต่อย่างใด